คำวินิจฉัยที่ 60/2547

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๖๐/๒๕๔๗

วันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๔๗

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง

ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช
ระหว่าง
ศาลปกครองนครศรีธรรมราช

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีที่คู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดีและศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๔๖ นายเวสารัช เนินพลอย เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง กรมศิลปากร ที่ ๑ นายจรัล เหมทานนท์ ที่ ๒ นายสุทธิพงษ์ พรรณกลิ่น ที่ ๓ จำเลย ต่อศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๓๕๘/๒๕๔๖ ความว่า จำเลยที่ ๑ มีฐานะเป็นนิติบุคคลประเภทกรมสังกัดรัฐบาล มีหน้าที่จัดการดูแลการบริหารของหน่วยงานในสังกัดให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ วิทยาลัยนาฏศิลปนครศรีธรรมราชเป็นหน่วยงานของรัฐที่ขึ้นตรงต่อจำเลยที่ ๑ มีหน้าที่จัดการเรียนการสอนให้กับนักศึกษา ที่เข้ารับการศึกษา มีนายจรัล เหมทานนท์ จำเลยที่๒เป็นผู้อำนวยการมีอำนาจดำเนินกิจการต่าง ๆ แทนวิทยาลัย จำเลยที่ ๓ เป็นข้าราชการในสังกัดจำเลยที่ ๑ เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการวิทยาลัยนาฏศิลปนครศรีธรรมราช ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ ๓กระทำการในฐานะรักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการวิทยาลัยนาฏศิลปนครศรีธรรมราช โดยจำเลยที่ ๓ ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ ๒ ให้กระทำการรักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการวิทยาลัยนาฏศิลปนครศรีธรรมราช จำเลยทั้งสามได้ว่าจ้างโจทก์ให้ดำเนินการจัดให้มีการเรียนการสอนการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์และระบบการสื่อสารผ่านเครือข่ายเชื่อมโยงในกลุ่มผู้ใช้บริการ (อินเตอร์เน็ต) ให้แก่นักศึกษาของวิทยาลัยนาฏศิลปนครศรีธรรมราช โดยโจทก์จะต้องจัดหา เครื่องคอมพิวเตอร์พร้อมอุปกรณ์กับจัดหาเชื่อมต่อเครือข่ายสื่อสาร ๑๑ ชุด ติดตั้งในวิทยาลัยนาฏศิลปนครศรีธรรมราช และจำเลยทั้งสามจะชำระค่าจ้างให้แก่โจทก์เต็มราคาตามจำนวนนักศึกษาที่ลงทะเบียนเรียนวิชาดังกล่าวในอัตราคนละ ๓๐๐ บาท ต่อภาคเรียน จำเลยทั้งสามจะต้องชำระค่าจ้างให้แก่โจทก์ภายใน ๑๐ วันนับแต่วันลงทะเบียนเรียนสิ้นสุด สัญญาจ้างดังกล่าวมีกำหนด ๕ ปี หรือ ๑๐ ภาคเรียน หลังทำสัญญาโจทก์ได้จัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์พร้อมอุปกรณ์และจัดให้มีการเชื่อมต่อกับระบบเครือข่ายสื่อสาร (อินเตอร์เน็ต) ๑๑ ชุด นำไปติดตั้งในวิทยาลัยนาฏศิลปนครศรีธรรมราช เสร็จตามสัญญา โจทก์ได้เข้าไปทำการสอนนักศึกษาในภาคเรียนต่าง ๆ แต่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสามชำระค่าจ้างให้แก่โจทก์ไม่ครบถ้วน โดยค้างชำระค่าจ้างแก่โจทก์ในภาคเรียนแรกจนถึงภาคเรียนที่ ๕ ต่อมาจำเลยทั้งสามไม่ยอมให้โจทก์เข้าทำการสอนและไม่ยอมชำระค่าจ้างให้แก่โจทก์ตามสัญญา โจทก์จึงได้มอบหมายให้ทนายความมีหนังสือ ทวงถามค่าจ้างให้แก่โจทก์ตามสัญญา ภายหลังจำเลยทั้งสามรับหนังสือดังกล่าว จึงเรียกโจทก์เจรจาและยินยอมให้โจทก์ทำการสอนต่อไปจนครบสัญญา และยินยอมชำระค่าจ้างให้โจทก์บางส่วน และในภาคเรียนที่ ๕ จำเลยทั้งสามแจ้งต่อโจทก์ขอเลิกสัญญา โดยจะชำระเงินให้โจทก์บางส่วน แต่จำเลยทั้งสามไม่คืน เครื่องคอมพิวเตอร์พร้อมอุปกรณ์ ๑๑ ชุดแก่โจทก์ โจทก์ไม่รับข้อเสนอของจำเลยทั้งสาม การกระทำของจำเลยทั้งสามก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ จึงฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าจ้างและค่าเสียหาย จำนวน ๑,๒๒๙,๑๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปีของเงินต้นดังกล่าว นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยทั้งสามคืนเครื่องคอมพิวเตอร์พร้อมอุปกรณ์ ๑๑ ชุด แก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยสมบูรณ์หากไม่คืนในสภาพเรียบร้อยสมบูรณ์ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเครื่องคอมพิวเตอร์พร้อมอุปกรณ์แก่โจทก์ จำนวน ๖๕๐,๐๐๐ บาท
จำเลยทั้งสามให้การว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยทั้งสามจึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าเสียหายตามฟ้อง จำเลยที่ ๓ ฟ้องแย้งเรียกค่าลงทะเบียนเรียนที่ได้จ่ายให้แก่โจทก์คืนจำนวน ๓๙๘,๕๐๘ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๗.๕ ต่อปีของต้นเงิน ๓๖๑,๓๕๐ บาท นับถัดแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จเนื่องจากโจทก์ไม่ได้เปิดบริการให้เด็กนักเรียนหรือนักศึกษาที่ได้ลงทะเบียนเรียนได้ใช้หรือเล่นอินเตอร์เน็ตตามสัญญา ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชรับคำฟ้องแย้งของ จำเลยที่ ๓ จำเลยที่ ๑ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่าคดีนี้เป็นคดีพิพาทที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชพิจารณาแล้วเห็นว่า สัญญาที่จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ว่าจ้างโจทก์ให้ดำเนินการจัดให้มีการเรียนการสอนการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์และระบบสื่อสารเครือข่ายเชื่อมโยงในกลุ่มผู้ใช้บริการ(อินเตอร์เน็ต) ให้แก่นักศึกษาของวิทยาลัยนาฏศิลปนครศรีธรรมราช มีลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทนซึ่งจะต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพราะสัญญาดังกล่าวเป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสามจะต้องเรียกเก็บค่าใช้บริการ(อินเตอร์เน็ต) จากนักศึกษาที่ลงทะเบียนเรียนวิชาดังกล่าวในอัตรา ๓๐๐ บาท ต่อคนต่อเทอม จึงเป็นการที่จำเลยทั้งสามมีหน้าที่จะต้องเรียกเก็บเงินดังกล่าวแทนโจทก์จากนักศึกษาแล้วนำเงินดังกล่าวมาชำระแก่โจทก์ ทั้งเงินที่จำเลยทั้งสามนำมาชำระแก่โจทก์นั้นก็มิใช่เป็นเงินที่ได้มาจากงบประมาณแผ่นดิน และสัญญาดังกล่าวก็ไม่มีลักษณะใด ที่แสดงให้เห็นว่าหน่วยงานของรัฐอันเป็นหน่วยงานทางปกครองได้เปรียบคู่สัญญา แต่เป็นเรื่องของ การที่จำเลยทั้งสามซึ่งเรียกเก็บเงินจากนักศึกษาแล้วไม่ยอมนำเงินดังกล่าวมาชำระโจทก์ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองนครศรีธรรมราชพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทกันตามสัญญาจ้างให้ดำเนินการจัดให้มีการเรียนการสอนการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์และระบบการสื่อสารผ่านเครือข่ายเชื่อมโยงในกลุ่มผู้ใช้บริการ(อินเตอร์เน็ต) การดำเนินการจัดให้มีการเรียนการสอนวิชาดังกล่าวแก่นักศึกษาในวิทยาลัยนาฏศิลปนครศรีธรรมราช ถือได้ว่าเป็นการจัดการศึกษาอบรมและเป็นบริการสาธารณะอย่างหนึ่งที่รัฐจะต้องจัดให้มีขึ้นตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๘๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ สัญญาจ้างที่พิพาทกันในคดีนี้จึงเป็นสัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ โดยมีจำเลยทั้งสามเป็นคู่สัญญาฝ่ายผู้ว่าจ้างมีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครองและเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ สัญญาพิพาทดังกล่าวจึงเป็นสัญญาทางปกครอง อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คือ คดีนี้ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือ ศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามฟ้องสรุปได้ว่า นายสุทธิพงษ์ พรรณกลิ่น จำเลยที่ ๓ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการวิทยาลัยนาฏศิลปนครศรีธรรมราชได้ทำสัญญาจ้างโจทก์ให้ดำเนินการจัดให้มีการเรียนการสอน การใช้เครื่องคอมพิวเตอร์และระบบการสื่อสารผ่านเครือข่ายเชื่อมโยงในกลุ่มผู้ใช้บริการ (อินเตอร์เน็ต) ให้แก่นักศึกษาของวิทยาลัยนาฏศิลปนครศรีธรรมราช มีกำหนด ๕ ปี โดยโจทก์จะต้องจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์พร้อมอุปกรณ์กับจัดหาเชื่อมต่อเครือข่ายสื่อสาร ๑๑ ชุด ติดตั้ง ในวิทยาลัยนาฏศิลปนครศรีธรรมราช และจำเลยจะชำระค่าจ้างให้แก่โจทก์เต็มราคาตามจำนวนนักศึกษาที่ลงทะเบียนเรียนวิชาดังกล่าวในอัตราคนละ๓๐๐ บาท ต่อภาคเรียน โจทก์ดำเนินการจัดหา ติดตั้งเครื่องคอมพิวเตอร์พร้อมอุปกรณ์กับเชื่อมต่อเครือข่ายสื่อสารดังกล่าวเสร็จตามสัญญา และได้เข้าไปทำการสอนนักศึกษาในภาคเรียนต่าง ๆ แต่ปรากฏว่าจำเลยไม่ชำระค่าจ้างให้แก่โจทก์ ต่อมาเมื่อโจทก์ได้มีหนังสือทวงถามจึงชำระให้บางส่วนและแจ้งต่อโจทก์ขอบอกเลิกสัญญา โดยจะชำระเงินให้โจทก์บางส่วน แต่ไม่คืนเครื่องคอมพิวเตอร์พร้อมอุปกรณ์ให้แก่โจทก์ โจทก์ไม่รับข้อเสนอ จึงได้บอกเลิกสัญญาและ ยื่นฟ้องกรมศิลปากร ที่ ๑ นายจรัล เหมทานนท์ (ผู้อำนวยการวิทยาลัยนาฏศิลปนครศรีธรรมราช) ที่ ๒ นายสุทธิพงษ์ พรรณกลิ่น ที่ ๓ เป็นจำเลยให้ชำระค่าจ้างและให้คืนเครื่องคอมพิวเตอร์พร้อมอุปกรณ์แก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยสมบูรณ์ หรือให้ชดใช้ค่าเครื่องคอมพิวเตอร์พร้อมอุปกรณ์แก่โจทก์หากไม่คืน ในสภาพเรียบร้อยสมบูรณ์ จำเลยทั้งสามให้การว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยทั้งสามจึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าเสียหายตามฟ้อง กรณีจึงเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาจ้างให้ดำเนินการจัดให้มีการเรียนการสอนการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์และระบบสื่อสารผ่านเครือข่ายเชื่อมโยงในกลุ่มผู้ใช้บริการ (อินเตอร์เน็ต) ให้แก่นักศึกษาของวิทยาลัยนาฏศิลปนครศรีธรรมราช
ประเด็นที่ต้องพิจารณาคือ สัญญาจ้างให้ดำเนินการจัดให้มีการเรียนการสอนการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์และระบบการสื่อสารผ่านเครือข่ายเชื่อมโยงในกลุ่มผู้ใช้บริการ (อินเตอร์เน็ต)ให้แก่นักศึกษาของวิทยาลัยนาฏศิลปนครศรีธรรมราช เป็นสัญญาทางแพ่งหรือสัญญาทางปกครองโดยที่มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองพ.ศ. ๒๕๔๒ ได้บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง และมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกันได้บัญญัติไว้ว่า “สัญญาทางปกครองหมายความรวมถึงสัญญาที่คู่สัญญา อย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง หรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะหรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค หรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ” กรมศิลปากรจำเลยที่ ๑ เป็นส่วนราชการระดับกรม จึงมีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครอง จำเลยที่ ๒ และที่ ๓เป็นข้าราชการสังกัดจำเลยที่ ๑ จึงมีฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ การที่จำเลยที่ ๓ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการวิทยาลัยนาฏศิลปนครศรีธรรมราช ได้ทำสัญญาว่าจ้างให้โจทก์ดำเนินการจัดให้มีการเรียนการสอนการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์และระบบการสื่อสารผ่านเครือข่ายเชื่อมโยงใน กลุ่มผู้ใช้บริการ (อินเตอร์เน็ต) ให้แก่นักศึกษาของวิทยาลัยมีกำหนด ๕ ปี นั้น เห็นว่า วิทยาลัยนาฏศิลปนครศรีธรรมราชมีหน้าที่จัดทำบริการสาธารณะทางด้านการเรียนการสอน จำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ เป็นคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเข้าทำสัญญาว่าจ้างดังกล่าว สัญญามีวัตถุประสงค์เพื่อให้เอกชนเข้าจัดทำบริการสาธารณะโดยจัดการศึกษาอบรมความรู้เกี่ยวกับการใช้ เครื่องคอมพิวเตอร์แก่นักศึกษา สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒เมื่อคดีนี้เป็นกรณีพิพาทเนื่องจากการเรียกร้องให้จำเลยชำระเงินตามสัญญาพิพาทดังกล่าว ซึ่งเป็นสัญญาทางปกครอง คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดี ระหว่าง นายเวสารัช เนินพลอย โจทก์ กรมศิลปากร ที่ ๑นายจรัล เหมทานนท์ ที่ ๒ นายสุทธิพงษ์ พรรณกลิ่น ที่ ๓ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ซึ่งในคดีนี้ได้แก่ ศาลปกครองนครศรีธรรมราช

(ลงชื่อ) ศุภชัย ภู่งาม (ลงชื่อ) เฉลิมชัย เกษมสันต์
(นายศุภชัย ภู่งาม) (หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท วิรัตน์ บรรเลง (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(วิรัตน์ บรรเลง) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share