คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 696-698/2496

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่ดินมีตราจองก่อน พระราชบัญญัติออกโฉนดที่ดิน(ฉบับที่ 6)พ.ศ.2479 นั้นแม้เจ้าพนักงานจะได้ตราไว้ว่า ‘ได้ทำประโยชน์แล้ว’ หรือตราไว้ว่า’ทำประโยชน์สมควรแก่เนื้อที่’ แล้วศาลฎีกาก็เห็นว่า ตราจองชนิดนี้ถ้าผู้ถือตราจองได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินตลอดมาโดยมิได้ละทิ้งจนถึงวันประกาศใช้พระราชบัญญัติอกโฉนดที่ดิน (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2479แล้ว มาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวจึงรับรองว่าผู้ถือตราจองมีกรรมสิทธิ์ที่ดินตามตราจองนั้น
ฉะนั้นเมื่อก่อนออก พระราชบัญญัติออกโฉนดที่ดิน (ฉบับที่ 6)พ.ศ.2479เจ้าของที่ดินตามตราจอง แม้ที่ตราไว้ว่า’ได้ทำประโยชน์แล้ว’ ก็ตามถ้าได้ทอดทิ้งไม่ทำให้เป็นประโยชน์เกิน 3 ปีแล้วที่ดินนั้นก็กลับเป็นที่ว่างเปล่าตามเดิม และแม้จะโอนให้ใครๆ ต่อไป จะเป็นการโอนทางทะเบียนหรือไม่ก็ดี ผู้รับโอนก็ย่อมไม่ได้สิทธิอะไรในที่ดินนั้น

ย่อยาว

คดี 3 สำนวนนี้ โจทก์ฟ้องว่า ที่ดินของโจทก์ตามตราจองที่ 111 ซึ่งแยกมาจากตราจองที่ 1 ฯลฯ เนื้อที่ 90 ไร่ 3 งาน 28 วา นายสำราญขายให้โจทก์เป็นราคา2,000 บาท โดยแก้ทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ณ หอทะเบียนที่ดินเมื่อวันที่ 2 มกราคม2491 ต่อมาระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ และมีนาคม 2491 จำเลยทั้ง 3 สำนวนนี้ ได้บังอาจนำเจ้าพนักงานรังวัดรุกล้ำครอบครองที่ดินรายนี้ตลอดทั้งหมดทั้งแปลงเพื่อขอออกตราจองโดยอ้างว่า เป็นที่ดินของจำเลยแต่ละส่วน ฯลฯ จึงขอให้ศาลแสดงว่าที่ดินแปลงนี้เป็นของโจทก์ และขับไล่จำเลย

จำเลยทั้ง 3 สำนวนต่อสู้ว่า เมื่อ 14-15 ปีมานี้ จำเลยทุกคนเว้นแต่นางไปล่ ได้เข้าโก่นสร้างที่ป่าทำเป็นส่วนและนา ทั้งได้ปลูกเรือนอยู่ในที่ดินรายนี้ตลอดมา ฯลฯ และว่าตราจองที่ 1 มิได้ทำประโยชน์ภายในกำหนด 3 ปี ที่ดินคงเป็นป่าตามเดิม จึงไม่ทำให้ตราจองที่ 111 ซึ่งแยกมาเกิดสิทธิหวงห้ามแต่อย่างใด

ศาลชั้นต้นพิจารณาคดี 3 สำนวนนี้รวมกันฟังว่า ตราจองที่ 1 เป็นของนางหมา ๆ แบ่งขายให้นายชื่น จึงทำตราจองแยกออกเป็นตราจองที่ 111 ครั้น พ.ศ. 2490 นายชื่อขายให้นายสำราญพ.ศ. 2491 นายสำราญขายให้โจทก์ ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตตราจองของโจทก์ ตราจองที่ 111 นี้ตราไว้ว่า “ได้ทำประโยชน์แล้ว” โจทก์ย่อมมีกรรมสิทธิ์ในที่พิพาท จึงพิพากษาว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ ห้ามมิให้จำเลยเกี่ยวข้อง

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยทั้ง 3 สำนวนฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า ตราจองที่ 111 ซึ่งแยกมาจากตราจองที่ 1 นั้นเจ้าพนักงานได้ตราไว้ว่า “ได้ทำประโยชน์แล้ว” ทั้งตราจองที่ 1 เมื่อออกมาครบ 3 ปีแล้ว เจ้าพนักงานได้ตราไว้ว่า “ทำประโยชน์สมควรแก่เนื้อที่” แต่ตราจองทั้งสองที่นั้น มีหมายเหตุไว้ว่า ถ้าผู้ที่ถือที่ดินรายนี้ทอดทิ้งไว้ไม่ทำประโยชน์เกิน 3 ปี ที่นี้ต้องเป็นที่ว่างเปล่า ศาลฎีกาเห็นว่าตราจองชนิดนี้ ถ้าผู้ถือตราจองได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินตลอดมาโดยมิได้ละทิ้ง จนถึงวันประกาศใช้พระราชบัญญัติออกโฉนดที่ดิน (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2479 แล้วมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงรับรองว่าผู้ถือตราจองมีกรรมสิทธิ์ที่ดินตามตราจองนั้น

พิเคราะห์คำพยานทั้งสองฝ่ายแล้ว น่าเชื่อว่าเจ้าของตราจองเลขที่ 1 ได้ครอบครองที่ดินตามตราจองมาบ้างเป็นส่วนน้อย แล้วก็ตัดแบ่งขายไปหลายราย เฉพาะตราจองเลขที่ 111 นี้ ไม่ได้ความว่าเจ้าของเดิมได้ครอบครองมาก่อนแบ่งแยกอย่างไร ครั้นเมื่อแบ่งแยกโอนมาแล้วไม่ปรากฏชัดว่า ผู้รับโอนได้ครอบครองปลูกบ้านและทำนาตอนหนึ่ง ที่พิพาทนอกนั้นยังคงเป็นป่าอยู่ จึงต้องถือว่าตราจองเลขที่ 1 เฉพาะที่พิพาทเจ้าของตราจองได้ทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์เกิน 3 ปี ก่อนแยกที่พิพาทออกเป็นตราจองที่ 111 แล้วที่พิพาทกลับเป็นที่ว่างเปล่าตามเดิมนางหมาเจ้าของตราจองหามีสิทธิประการใดไม่เมื่อเป็นเช่นนี้การแยกตราจองออกเป็นตราจองที่ 111 แล้วโอนกันต่อไปก็ย่อมไร้ผล ไม่ทำให้โจทก์กลับมีสิทธิในที่พิพาท

จึงพิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์

Share