คำวินิจฉัยที่ 61/2547

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๖๑/๒๕๔๗

วันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๔๗

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลปกครองเชียงใหม่
ระหว่าง
ศาลจังหวัดแพร่

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองเชียงใหม่โดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจของศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและรับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
นางอัญชลี เกียรติสมบูรณ์ ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องอธิบดีกรมที่ดิน ที่ ๑ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองเชียงใหม่เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๖๙/๒๕๔๗ ความว่า ผู้ฟ้องคดีได้ครอบครองที่ดิน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๗๕๐ ตำบลไผ่โทน อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ จำนวนเนื้อที่ ๔-๑-๔๓ ไร่ โดยซื้อที่ดินดังกล่าวมาจากนางคำแดง โพธิ์เงิน มาเป็นเวลา๒๑ปี และได้ปลูกต้นมะม่วง มะขาม ลำไยไว้ในที่ดินนั้น ต่อมา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้มีหนังสือที่ มท๐๕๑๖.๒/๓๗๖๙๖ ลงวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๔๖ แจ้งเพิกถอน น.ส. ๓ ก. ของผู้ฟ้องคดีตามคำสั่งอธิบดีกรมที่ดินที่ ๒๙๖๒/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๔๖ โดยอ้างว่าที่ดินของผู้ฟ้องคดีอยู่ในเขตที่สงวนหวงห้ามตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดินบริเวณเขาผาหมูเขาแม่กะทิง เขาถ้ำบ่อแก้ว เขาห้วยแก้ด เขาห้วยโรง และทางแยกเข้าไปขนหินในท้องที่ตำบลร้องกวางและตำบลไผ่โทน อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ พ.ศ. ๒๔๘๑ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวของอธิบดีกรมที่ดินเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากที่ดินของผู้ฟ้องคดีไม่ได้อยู่ในที่สงวนหวงห้ามดังกล่าวหมดทั้งแปลง จึงได้อุทธรณ์คำสั่งนั้นต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งต่อมา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้มีหนังสือแจ้งผู้ฟ้องคดีว่าคำสั่งดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายแล้วและจะได้นำอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีเสนอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ พิจารณาต่อไป และภายหลังผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้มีหนังสือแจ้งว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีคำสั่งยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีจึงฟ้องคดีต่อศาลปกครองเชียงใหม่ ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และคำสั่งยกอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้การว่า ที่ดินพิพาทตาม น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๗๕๐ ตำบลไผ่โทน อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ ไม่ได้อยู่ในเขตที่สงวนแต่เพียงบางส่วนตามที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้าง แต่อยู่ในเขตที่ดินสงวนหวงห้ามซึ่งราชพัสดุจังหวัดแพร่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นที่ดินสงวนของกรมทางหลวง หมายเลขทะเบียน พร ๑๙ หมดทั้งแปลง ส่วนการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีคำสั่งเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๗๕๐ ตำบลไผ่โทน อำเภอร้องกวางจังหวัดแพร่ ตามคำสั่งกรมที่ดินที่ ๒๙๖๒/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๔๖ เพราะการออก น.ส. ๓ ก. ดังกล่าวเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจาก น.ส. ๓ ก. ดังกล่าวได้ออกทับที่สงวนหวงห้ามตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดินบริเวณเขาผาหมู เขาแม่กะทิง เขาถ้ำบ่อแก้ว เขาห้วยแก้ด เขาห้วยโรง และทางแยกเข้าไปขนหินในท้องที่ตำบลร้องกวางและตำบลไผ่โทน อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ พ.ศ. ๒๔๘๑ และ น.ส. ๓ ก. นี้ได้ออกทับที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครอง (ส.ค. ๑) เลขที่ ๙๔ ที่กรมทางหลวงในขณะนั้นแจ้งการครอบครองไว้และราชพัสดุจังหวัดแพร่ได้ขึ้นทะเบียนที่สงวนของกรมทางหลวง ทะเบียนเลขที่ พร ๑๙ ตำบลไผ่โทน อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ เนื้อที่ ๑๕-๓-๖๖ ไร่ ใช้ประโยชน์ในราชการกระทรวงคมนาคม (กรมทางหลวง)
อนึ่ง ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้การโต้แย้งอำนาจศาลว่า ตามคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีอ้างว่าที่ดินตามหนังสือ น.ส. ๓ ก. ของผู้ฟ้องคดีไม่ได้อยู่ในที่สงวนหวงห้ามตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่๑ มีคำสั่งเพิกถอน กรณีจึงเป็นเรื่องที่คู่กรณีโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทว่าเป็นที่สาธารณประโยชน์ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีอำนาจออกคำสั่งเพิกถอนหรือไม่ โดยไม่มีประเด็นโต้แย้งเกี่ยวกับกระบวนการหรือขั้นตอนและวิธีการในการออกคำสั่งเพิกถอนหรือการใช้อำนาจตามกฎหมายของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองแต่อย่างใดซึ่งการที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีได้จะต้องฟังข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์หรือเป็นที่ดิน น.ส.๓ ก. ที่ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิครอบครอง การพิจารณาสิทธิในที่ดินพิพาทของคู่กรณีจะต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และประมวลกฎหมายที่ดินประกอบกัน ดังนั้น คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง เทียบตามนัยคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ที่๒๙/๒๕๔๕ และคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๓๓๑/๒๕๔๕
ศาลปกครองเชียงใหม่เห็นว่า ตามคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่๒๙/๒๕๔๕ และคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๓๓๑/๒๕๔๕ ที่ผู้ถูกฟ้องคดีอ้างนั้น ประเด็นแห่งข้อพิพาทแตกต่างจากคดีนี้ กล่าวคือ ข้อพิพาทตามคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลหรือคำสั่งศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว เป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีโต้แย้งการรังวัดที่ดินเพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงโดยผู้ฟ้องคดีอ้างว่ามีสิทธิครอบครองในที่ดินดังกล่าว ประเด็นข้อพิพาทจึงเป็นการโต้แย้งกันว่าผู้ใดมีสิทธิในที่ดินที่พิพาท แต่คดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าผู้ถูกฟ้องคดีออกคำสั่งเพิกถอน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๗๕๐ ของผู้ฟ้องคดีโดยมิชอบ เพราะที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. เลขที่๗๕๐ดังกล่าวมิได้อยู่ในเขตสงวนหวงห้ามตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดินบริเวณเขาผาหมู เขาแม่กะทิง เขาถ้ำบ่อแก้ว เขาห้วยแก้ด เขาห้วยโรง และทางแยกเข้าไปขนหินในท้องที่ตำบลร้องกวางและตำบลไผ่โทน อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ พ.ศ. ๒๔๘๑ ประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีจึงเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับการกระทำหรือการออกคำสั่งของเจ้าหน้าที่ของรัฐว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นข้อพิพาทตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แม้การวินิจฉัยว่าคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีดังกล่าวจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อาจต้องก้าวล่วงไปวินิจฉัยว่าที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีครอบครองนั้นอยู่ในเขตหวงห้ามตามพระราชกฤษฎีกาหรือไม่ แต่ก็มิได้เป็นการวินิจฉัยถึงสิทธิเกี่ยวกับที่ดินโดยตรงหากแต่เป็นประเด็นเกี่ยวพันกับประเด็นหลักคือประเด็นคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งศาลปกครองมีอำนาจวินิจฉัยได้ตามระเบียบที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด พ.ศ. ๒๕๔๓ ข้อ ๔๑ วรรคสอง ศาลปกครองเชียงใหม่จึงเห็นว่าคดีนี้เป็นข้อพิพาทที่อยู่ในเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองซึ่งในคดีนี้คือ ศาลปกครองเชียงใหม่
ศาลจังหวัดแพร่เห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีโต้แย้งคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองที่ให้เพิกถอน น.ส. ๓ ก. พิพาทของผู้ฟ้องคดีว่าที่ดินพิพาทไม่ได้อยู่ในเขตที่สงวนหวงห้ามตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดินบริเวณเขาผาหมู เขาแม่กะทิง เขาถ้ำบ่อแก้วเขาห้วยแก้ดเขาห้วยโรง และทางแยกเข้าไปขนหินในท้องที่ตำบลร้องกวางและตำบลไผ่โทน อำเภอร้องกวางจังหวัดแพร่ พ.ศ. ๒๔๘๑ โดยไม่มีประเด็นโต้แย้งว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองออกคำสั่งเพิกถอนหรือใช้อำนาจตามกฎหมายในการออกคำสั่งเพิกถอนหรือยกอุทธรณ์โดยไม่ถูกต้องตามขั้นตอนและวิธีการของกฎหมาย ดังนั้น การที่ศาลจะมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และคำสั่งยกอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ หรือไม่ จึงต้องพิจารณาให้ได้ข้อเท็จจริงก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ซึ่งอยู่ในเขตที่หวงห้ามตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวหรือเป็นที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิครอบครองโดยชอบ ซึ่งการพิจารณาสิทธิในที่ดินพิพาทและกฎหมายอื่นที่บัญญัติไว้เป็นพิเศษ เมื่อพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๙ มิได้กำหนดให้ศาลปกครองมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สิน ดังนั้น คดีที่เป็นประเด็นโดยตรงเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินของบุคคลจึงอยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรม ทั้งนี้ ตามนัยคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๔/๒๕๔๖ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลจังหวัดแพร่

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือ
ศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องและคำให้การคดีนี้สรุปได้ว่า ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓ ก.) เลขที่ ๗๕๐ ตำบลไผ่โทน อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ จำนวนเนื้อที่ ๔-๑-๔๓ ไร่ ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑มีคำสั่งเพิกถอน น.ส. ๓ ก. ของผู้ฟ้องคดี โดยอ้างว่าที่ดินของผู้ฟ้องคดีอยู่ในเขตที่สงวนหวงห้ามตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดินบริเวณเขาผาหมู เขาแม่กะทิงเขาถ้ำบ่อแก้ว เขาห้วยแก้ดเขาห้วยโรง และทางแยกเข้าไปขนหินในท้องที่ตำบลร้องกวางและตำบลไผ่โทน อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ พ.ศ. ๒๔๘๑ ผู้ฟ้องคดีจึงอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวโดยขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เนื่องจากที่ดินของผู้ฟ้องคดีไม่ได้อยู่ในที่สงวนหวงห้ามดังกล่าวหมดทั้งแปลง แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เห็นว่าคำสั่งดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายแล้วผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จึงมีคำสั่งยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี จึงขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และคำสั่งยกอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้การว่า ที่ดินพิพาทไม่ได้อยู่ในเขตที่สงวนแต่เพียงบางส่วนตามที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้าง แต่อยู่ในเขตพื้นที่สงวนหวงห้ามตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดินบริเวณเขาผาหมู ฯ หมดทั้งแปลง และขึ้นทะเบียนตามทะเบียนแสดงที่ดินนอกเขตทางหลวงไว้แล้ว การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีคำสั่งให้เพิกถอน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๗๕๐ ของผู้ฟ้องคดี และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีคำสั่งยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี เป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมายตามรูปแบบและขั้นตอนของกฎหมายโดยสุจริตและเป็นการใช้ดุลพินิจโดยชอบแล้ว เพราะการออก น.ส.๓ก. ดังกล่าวเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น การที่ศาลจะพิจารณาว่าคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทตามที่กล่าวอ้างหรือไม่แล้วจึงจะพิจารณาในประเด็นอื่นได้ต่อไป กรณีเป็นการโต้แย้งกันเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินอันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมดังนั้นคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนางอัญชลี เกียรติสมบูรณ์ ผู้ฟ้องคดี อธิบดีกรมที่ดิน ที่ ๑ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ซึ่งในคดีนี้ได้แก่ ศาลจังหวัดแพร่

(ลงชื่อ) ศุภชัย ภู่งาม (ลงชื่อ) เฉลิมชัย เกษมสันต์
(นายศุภชัย ภู่งาม) (หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท วิรัตน์ บรรเลง (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(วิรัตน์ บรรเลง) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

(สำเนา)

Share