คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 709/2503

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยต้องโทษฐานลักทรัพย์ ศาลจำคุก 6 เดือนต่อมาจำเลยต้องโทษฐานทำร้ายร่างกาย ต่อสู้เจ้าพนักงานและเมาสุราศาลรวมกะทงลงโทษจำคุก 1 ปีแต่ฐานทำร้ายร่างกายนั้นศาลวางโทษจำคุก 4 เดือนความผิดฐานทำร้ายร่างกายจึงนำมากักกันจำเลยไม่ได้คงเหลือโทษฐานลักทรัพย์ครั้งเดียวที่เป็นโทษฐานที่ระบุไว้ในมาตรา 41 ประมวลกฎหมายอาญาและมีกำหนดโทษจำคุกถึง 6 เดือนศาลจึงมีอำนาจตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 14 ที่จะสั่งตามที่เห็นสมควรศาลจึงอาจสั่งให้ยกเลิกการกักกันให้จำเลยได้

ย่อยาว

คดีนี้ศาลอาญาพิพากษาว่าจำเลยเสพย์สุราอาละวาดและทำร้ายร่างกายเป็นความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา 254, 335(13) ให้รวมกระทงลงโทษจำคุก 6 เดือน เพิ่มโทษตามมาตรา 72 อีก 1 ใน 3 จำคุก 8 เดือนกับให้ลงโทษกักกันผู้มีสันดานเป็นผู้ร้าย พ.ศ. 2479 มาตรา 4, 8, 9อีก 3 ปี คดีถึงที่สุด

ต่อมาจำเลยยื่นคำร้องขอให้ยกเลิกโทษกักกันโดยมีประมวลกฎหมายอาญาขึ้นใหม่ ศาลอาญามีคำสั่งว่าโทษกักกันได้เปลี่ยนมาเป็นวิธีการเพื่อความปลอดภัยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 15 แล้วตามรูปคดีจำเลยยังไม่อาจได้รับผลตามมาตรา 24 15 ให้ยกคำร้อง

จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยต้องโทษฐานลักทรัพย์จำคุก6 เดือน พ้นโทษแล้วต้องโทษฐานฐานทำร้ายร่างกาย ต่อสู้เจ้าพนักงาน เมาสุราจำคุก 1 ปี นอกนี้ไม่เข้าเกณฑ์ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 41 แต่โทษฐานทำร้ายร่างกาย ต่อสู้เจ้าพนักงาน เมาสุรานั้นจำเลยถูกศาลพิพากษาเรียงกระทง เฉพาะความผิดฐานทำร้ายร่างกายศาลจำคุก 4 เดือน โทษครั้งนี้จึงนำมากักกันจำเลยไม่ได้คงเหลือฐานลักทรัพย์ครั้งเดียว จึงพิพากษากลับคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ยกเลิกการกักกันคดีนี้เสีย

โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาเห็นว่าคดีนี้มีแต่โทษลักทรัพย์ครั้งเดียวที่เป็นโทษในฐานที่ระบุไว้ในมาตรา 41 และมีกำหนดโทษจำคุกถึง 4 เดือน ศาลจึงมีอำนาจตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 14 ที่จะสั่งตามที่เห็นสมควร ที่ศาลอุทธรณ์สั่งยกเลิกการกักกันให้จำเลยเสียชอบแล้ว

พิพากษายืน

Share