คำวินิจฉัยที่ 62/2547

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๖๒/๒๕๔๗

วันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๔๗

เรื่อง คำพิพากษาหรือคำสั่งที่ถึงที่สุดระหว่างศาลขัดแย้งกันตามมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒

คำพิพากษาศาลปกครองกลาง

ระหว่าง
คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๙

การเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดกรณีคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ถึงที่สุดระหว่างศาลขัดแย้งกัน ตามมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.๒๕๔๒

ข้อเท็จจริงในคดี
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งรับโอนอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการของกรมการศึกษานอกโรงเรียน ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการพ.ศ. ๒๕๔๖ มาตรา ๒ และมาตรา ๕๙ วรรคสอง ส่งเรื่องมายังคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ขอให้วินิจฉัยชี้ขาดกรณีคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ถึงที่สุดระหว่างศาลปกครองและศาลยุติธรรมขัดแย้งกันในคดีที่มีข้อเท็จจริงเป็นเรื่องเดียวกันตามมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ กรณีนายพนมศรีราม ซึ่งขณะเกิดเหตุดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดพัทลุง ร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์เนื่องจากกรมการศึกษานอกโรงเรียนซึ่งผู้ร้องทุกข์เป็นข้าราชการในสังกัด มีคำสั่งให้ผู้ร้องทุกข์รับผิดทางละเมิดจากการขับรถยนต์กระบะของทางราชการประสบอุบัติเหตุ ได้รับความเสียหาย และมีคำสั่งเรียกให้ผู้ร้องทุกข์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ทางราชการโดยไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่พ.ศ.๒๕๓๙ โดยขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว ซึ่งต่อมาศาลปกครองกลางได้รับโอนเรื่องร้องทุกข์ดังกล่าวมาและมีคำพิพากษาให้ยกฟ้อง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๗๓๓/๒๕๔๔ หมายเลขแดงที่๙๕๓/๒๕๔๕ ระหว่างนายพนม ศรีราม ผู้ฟ้องคดี กรมการศึกษานอกโรงเรียนที่ ๑กระทรวงการคลังที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี โดยวินิจฉัยว่า ผู้ฟ้องคดีกระทำการโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง และต้องชดใช้เงิน ๗๙,๘๘๙ บาท เต็มจำนวนของความเสียหาย คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ซึ่งสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการเห็นว่าคำพิพากษาของศาลปกครองกลางขัดแย้งกับคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค ๙ ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่๑๑๕๐/๒๕๔๔ หมายเลขแดงที่ ๘๗๕/๒๕๔๕ ระหว่างกรมการศึกษานอกโรงเรียน โจทก์ นายพนม ศรีราม จำเลย ซึ่งโจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายจากการกระทำละเมิดแก่ทางราชการจำนวน ๗๙,๘๘๙ บาท โดยศาลแขวงสงขลาได้มีคำพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายจำนวน ๒๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ต่อมาโจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยชดใช้เงินเต็มจำนวนของความเสียหายซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค ๙ วินิจฉัยว่า จำเลยไม่ควรต้องชดใช้เงินเต็มจำนวนของความเสียหาย และพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายจำนวน ๕๐,๐๐๐บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ จึงขอให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยเกี่ยวกับการปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา การบังคับค่าสินไหมทดแทนเอาแก่จำเลย (ผู้ฟ้องคดี) ต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๙ หรือคำพิพากษาศาลปกครองกลาง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๔ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ถ้ามีคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ถึงที่สุดระหว่างศาลขัดแย้งกันในคดีที่มีข้อเท็จจริงเป็นเรื่องเดียวกัน จนเป็นเหตุให้คู่ความไม่ได้รับการเยียวยา ความเสียหายหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือมีความขัดแย้งในเรื่องฐานะหรือความสามารถของบุคคล คู่ความ หรือบุคคลซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากคำพิพากษาหรือคำสั่งดังกล่าวอาจยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการเพื่อขอให้วินิจฉัยเกี่ยวกับการปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลดังกล่าวได้ภายในหกสิบวัน นับแต่วันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งที่ออกภายหลังถึงที่สุด…”
กรณีนี้โจทก์และผู้ฟ้องคดีได้นำคดีขึ้นสู่ศาลสองศาล คือ ศาลแขวงสงขลาซึ่งเป็นศาลยุติธรรม และศาลปกครองกลางซึ่งเป็นศาลปกครอง โดยคดีในทั้งสองศาลนั้นมีมูลความแห่งคดีจากเรื่องการกระทำละเมิดของจำเลย ในการที่ขับรถยนต์ราชการไปเกิดอุบัติเหตุเป็นเหตุให้ทางราชการได้รับความเสียหาย จึงเป็นคดีซึ่งมีข้อเท็จจริงเป็นเรื่องเดียวกันตามมาตรา ๑๔เมื่อศาลทั้งสองศาลตัดสินในจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยต้องรับผิดแตกต่างกัน และคำพิพากษาของศาลทั้งสองศาลนั้นถึงที่สุดแล้วย่อมเป็นเหตุให้คู่ความไม่อาจบังคับหรือปฏิบัติการชำระหนี้ได้ถูกต้อง ถือได้ว่าเป็นกรณีมีคำพิพากษาที่ถึงที่สุดระหว่างศาลขัดแย้งกัน ชอบที่คู่ความจะยื่นคำร้องขอให้มีการวินิจฉัยตามมาตรานี้ได้ แม้ว่าโจทก์จะยื่นคำร้องเมื่อพ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่วันที่คำพิพากษาของศาลยุติธรรมซึ่งพิพากษาภายหลังถึงที่สุด แต่กำหนดเวลาดังกล่าวหาใช่อายุความที่จะต้องฟ้องคดีภายในกำหนด เมื่อปรากฏว่าคู่ความยังคงไม่ได้รับการเยียวยาความเสียหาย เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลสมควรรับคำร้องของกระทรวงศึกษาธิการซึ่งรับโอนอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการของโจทก์ไว้พิจารณา ตามข้อบังคับคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ว่าด้วยวิธีการเสนอเรื่อง การพิจารณาและวินิจฉัย พ.ศ. ๒๕๔๔ ข้อ ๔
คำพิพากษาในคดีของทั้งสองศาลวินิจฉัยข้อเท็จจริงตรงกันว่า จำเลยเป็นเจ้าหน้าที่กระทำการในการปฏิบัติหน้าที่โดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง และต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ คงวินิจฉัยแตกต่างกันในจำนวนค่าเสียหายจึงต้องพิจารณาต่อไปว่า โจทก์ควรบังคับค่าสินไหมทดแทนเอาแก่จำเลยเพียงบางส่วนของจำนวนความเสียหายตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๙ หรือใช้มาตรการบังคับทางปกครองเต็มจำนวนความเสียหายตามคำพิพากษาศาลปกครองกลาง
การกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ต่อหน่วยงานของรัฐกรณีที่เป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ภายใต้บังคับมาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ ซึ่งบัญญัติเพื่อใช้บังคับแก่การกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่เป็นการเฉพาะโดยกำหนดหลักเกณฑ์แตกต่างจากหลักเกณฑ์เรื่องความรับผิดทางละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความรับผิดที่เจ้าหน้าที่ต้องรับผิดทางละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่เฉพาะกรณีกระทำโดยจงใจให้เกิดความเสียหายหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเท่านั้น หรือเรื่องการแบ่งแยก ความรับผิดของเจ้าหน้าที่แต่ละคนโดยมิให้นำหลักลูกหนี้ร่วมมาใช้บังคับ ด้วยความมุ่งหมายที่จะให้เกิดความเป็นธรรมแก่เจ้าหน้าที่ซึ่งมีการบังคับบัญชากำกับและมีความรับผิดทางวินัยอยู่อีกส่วนหนึ่งด้วย เพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของรัฐ ดังนั้น เมื่อจำเลยเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และ การกระทำละเมิดของจำเลยอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติฉบับนี้โดยตรง ความเสียหายที่อยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยแต่ลำพังในฐานะที่เป็นผู้ขับรถยนต์ไปเกิดอุบัติเหตุ ไม่ปรากฏว่าหน่วยงานของรัฐหรือผู้อื่นมาเกี่ยวข้องต้องรับผิดชอบด้วย ทั้งโจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐได้ดำเนินการไปตามพระราชบัญญัตินี้จนถึงขั้นออกคำสั่งทางปกครองให้จำเลยชำระเงินค่าเสียหาย และมีการตรวจสอบความชอบของการดำเนินการโดยศาลปกครองกลางซึ่งเป็นฝ่ายตุลาการแล้วด้วย จึงควรให้มีการดำเนินการไปจนจบขั้นตอนโดยพิจารณาใช้มาตรการบังคับทางปกครองให้คำสั่งทางปกครองได้มีการบังคับการให้เกิดผล เพื่อให้การเป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติฉบับนี้
ฉะนั้น กรณีนี้จึงสมควรให้โจทก์ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑) ใช้มาตรการบังคับทางปกครองบังคับค่าสินไหมทดแทนเอาแก่จำเลย (ผู้ฟ้องคดี) ตามคำพิพากษาศาลปกครองกลางโดยมิให้บังคับคดีเอาค่าสินไหมทดแทนรวมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๙
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีคำพิพากษาที่ถึงที่สุดขัดแย้งกัน ระหว่างศาลปกครองกลางและศาลอุทธรณ์ภาค ๙ ให้คู่ความปฏิบัติไปตามคำพิพากษาศาลปกครองกลาง โดยมิให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๙

(ลงชื่อ) ศุภชัย ภู่งาม (ลงชื่อ) เฉลิมชัย เกษมสันต์
(นายศุภชัย ภู่งาม) (หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท วิรัตน์ บรรเลง (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(วิรัตน์ บรรเลง) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share