คำวินิจฉัยที่ 57/2553

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๕๗/๒๕๕๓

วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๓

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔)

ศาลปกครองพิษณุโลก
ระหว่าง
ศาลจังหวัดพิจิตร

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองพิษณุโลกโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ กรมทางหลวง ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องห้างหุ้นส่วนจำกัด บางมูลนากเหล็กเพชร ที่ ๑ นายสุพจน์ อุฬารวงศ์ ที่ ๒ นายสุภรณ์ พรธาดาวิทย์ ที่ ๓ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองพิษณุโลก เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๒๐/๒๕๕๒ ความว่า เมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๔๔ ผู้ฟ้องคดีทำสัญญาจ้างผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ให้ก่อสร้างทางหลวงหมายเลข ๑๑๕ สามแยกทางหลวงหมายเลข ๑๑๗ – เทศบาลเมืองพิจิตร ตอน ๒A ระหว่าง กม.๗๗+๐๐ – กม.๗๗+๘๘๐ อำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร โดยในสัญญาข้อ ๒.๗ และข้อ ๒.๘ กำหนดให้ผู้รับจ้างต้องจัดทำเครื่องหมายจราจรบนผิวทางและติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างบนทางหลวง อีกทั้ง ผู้รับจ้างจะต้องจัดหา จัดทำและติดตั้งป้ายเครื่องหมายและสัญญาณจราจรชั่วคราวตามมาตรฐานกรมทางหลวง และตามแนวทางปฏิบัติการติดตั้งเครื่องหมายและสัญญาณจราจรสำหรับการจัดซ่อมถนนและงานสาธารณูปโภคของส่วนราชการ ซึ่งผู้รับจ้างต้องถือปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับของทางราชการที่เกี่ยวข้องกับงานจ้างโดยเคร่งครัด และสัญญาข้อ ๑๑ กำหนดให้ผู้รับจ้างจะต้องรับผิดต่ออุปัทวเหตุ ความเสียหาย หรือภยันตรายใด ๆ อันเกิดจากการปฏิบัติงานของผู้รับจ้าง การฝ่าฝืนหากเกิดความเสียหายอันเนื่องจากการกระทำที่ผิดกฎหมาย ผู้รับจ้างจะต้องรับผิด ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๔๗ นายฐานตะวัน เกตุงาม ขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ๖ ฮ ๒๙๗๙ กรุงเทพมหานคร ซึ่งเอาประกันภัยไว้กับบริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด มาตามถนนสายพิจิตร – สามง่าม บริเวณ กม. ๘๒+๓๐๐ ซึ่งเป็นทางต่างระดับและอยู่ในระหว่างผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ทำการก่อสร้าง ทำให้รถยนต์เสียหลักตกถนนได้รับความเสียหาย บริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด ผู้รับประกันภัยเป็นโจทก์ยื่นฟ้องผู้ฟ้องคดีเป็นจำเลยต่อศาลแพ่ง (คดีหมายเลขดำที่ ๓๒๘/๒๕๔๘ หมายเลขแดงที่ ๓๐๒๕/๒๕๕๐) โดยศาลแพ่งพิจารณาแล้วเชื่อว่าบริเวณที่เกิดเหตุไม่ติดสัญญาณไฟกระพริบที่จุดป้ายเครื่องหมายและไม่มีแสงสว่างจากโคมไฟฟ้าข้างทาง แม้ว่าสัญญาจ้างกำหนดให้ผู้รับจ้างเป็นผู้จัดทำและติดตั้งป้ายเครื่องหมายและสัญญาณไฟก็ตาม แต่จำเลยมีหน้าที่รับผิดชอบในการบูรณะบำรุงรักษาถนนที่เกิดเหตุ ย่อมมีหน้าที่กำกับตรวจสอบและจัดให้มีการติดตั้งป้ายเครื่องหมายและสัญญาณไฟให้เป็นไปโดยถูกต้อง การกระทำของจำเลยเป็นการละเว้นการกระทำตามหน้าที่ถือได้ว่าจำเลยกระทำโดยประมาทเลินเล่อทำให้ทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหาย พิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน ๖๗๙,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ผู้ฟ้องคดีได้นำเงินไปวางศาลเพื่อชำระหนี้แล้วเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๕๐ จำนวน ๘๔๖,๐๗๗.๗๒ บาท คดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์ ผู้ฟ้องคดีจึงใช้สิทธิไล่เบี้ยแจ้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามร่วมกันชำระเงินดังกล่าวแก่ผู้ฟ้องคดี แต่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามเพิกเฉย ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามกระทำผิดข้อกำหนดสัญญาจ้างข้อ ๒.๗ และข้อ ๒.๘ โดยไม่ทำการติดตั้งสัญญาณไฟกระพริบที่จุดตั้งป้ายเครื่องหมายและไม่มีแสงสว่างโคมไฟฟ้าข้างทางบริเวณที่เกิดเหตุ ทำให้นายฐานตะวันขับรถยนต์เสียหลักตกถนนได้รับความเสียหาย เป็นเหตุให้ศาลแพ่งพิพากษาให้ผู้ฟ้องคดีต้องชำระเงินค่าเสียหายให้แก่ผู้รับประกันภัย ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน จำนวน ๙๓๒,๗๖๕.๙๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินจำนวน ๘๔๖,๐๗๗.๗๒ บาท ตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามให้การว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามไม่ต้องรับผิดตามสัญญาเนื่องจากผู้ฟ้องคดีทราบถึงสิทธิตามสัญญาอยู่ก่อนแล้วในขณะที่ตกเป็นจำเลยในคดีที่ผู้รับประกันภัยยื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง แต่ผู้ฟ้องคดีไม่ได้เรียกผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามเข้าเป็นจำเลยร่วม ทำให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามไม่มีโอกาสต่อสู้คดีกับบุคคลภายนอก ผู้ฟ้องคดีจึงเสี่ยงในความรับผิดตามลำพัง และผู้ฟ้องคดีไม่ได้ต่อสู้คดีจนถึงที่สุดเป็นข้อพิรุธถึงการสมยอมกัน ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามได้ปฏิบัติตามสัญญาจ้างทุกประการและ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของผู้ฟ้องคดีหรือตัวแทนโดยตลอด ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามจึงไม่ได้ประมาทเลินเล่อ ผู้ฟ้องคดีไม่มีสิทธิไล่เบี้ย ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า เนื่องจากคดีเป็นเรื่องฟ้องไล่เบี้ยเรียกค่าเสียหายจากการที่ผู้ฟ้องคดีได้รับผิดต่อบุคคลภายนอกตามคำพิพากษาของศาลยุติธรรม โดยคดีแพ่งดังกล่าวผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามมิได้เป็นจำเลยร่วมด้วย นอกจากนั้นคดีที่จะขึ้นสู่ศาลปกครองจะต้องเป็นคดีที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ อันเป็นการบังคับระหว่างหน่วยงานราชการและคู่สัญญาในเชิงสาธารณประโยชน์เท่านั้น แต่คดีนี้เป็นการฟ้องไล่เบี้ยเรียกค่าเสียหายตามสัญญาซึ่งไม่เป็นประโยชน์สาธารณะแต่ประการใด คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองพิษณุโลกพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีเป็นส่วนราชการฐานะเป็นกรมสังกัดกระทรวงคมนาคม โดยกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม พ.ศ. ๒๕๔๕ กำหนดให้มีภารกิจเกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวง การก่อสร้างและบำรุงรักษาทางหลวงให้มีโครงข่ายทางหลวงที่สมบูรณ์ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ และเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกรวดเร็ว และปลอดภัยในการเดินทาง โดยมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการดำเนินการเกี่ยวกับทางหลวงหลายประการ ผู้ฟ้องคดีจึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามเป็นเอกชน โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดมีผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ตามข้อเท็จจริงผู้ฟ้องคดีได้ตกลงทำสัญญาจ้างผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ให้ทำการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข ๑๑๕ สามแยกทางหลวงหมายเลข ๑๑๗-เทศบาลพิจิตร ตอน ๒ A สัญญาจ้างระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นสัญญาที่จัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคและถือเป็นสัญญาทางปกครอง ตามคำฟ้องที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดในสัญญาจ้างข้อ ๒.๗ และ ๒.๘ โดยไม่ทำการติดตั้งสัญญาณไฟกระพริบที่จุดติดตั้งป้ายเครื่องหมาย และไม่มีแสงสว่างจากโคมไฟฟ้าข้างทางในบริเวณที่เกิดเหตุ ทำให้มีผู้ขับรถยนต์ตกถนนได้รับความเสียหาย บริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด ผู้รับประกันภัยซึ่งรับช่วงสิทธิจากผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย จึงได้ฟ้องผู้ฟ้องคดีเป็นจำเลยต่อศาลแพ่งให้รับผิดในผลละเมิด และศาลแพ่งได้มีคำพิพากษาให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บริษัท ผู้ฟ้องคดีจึงนำเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยไปวางศาลเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาเป็นเงินจำนวน ๘๔๖,๐๗๗.๗๒ บาท เห็นได้ว่าตามรูปคดีเป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีประสงค์จะขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายจากการผิดสัญญาจ้างก่อสร้างถนน ตามจำนวนเงินที่ผู้ฟ้องคดีได้นำเงินไปวางเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลแพ่ง คดีดังกล่าวถือเป็นข้อพิพาทโดยตรงจากข้อกำหนดในสัญญาจ้างระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสาม ทั้งข้ออ้างของผู้ฟ้องคดีก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องมาจากสิทธิและหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามที่ต้องผูกพันตามสัญญาจ้างดังกล่าว อันเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดพิจิตรพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามซึ่งเป็นผู้ทำละเมิดให้ร่วมกันชำระเงินตามคำพิพากษาศาลแพ่งที่พิพากษาให้ผู้ฟ้องคดีชำระแก่บริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด โจทก์ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๓๐๒๕/๒๕๕๐ ระหว่างบริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด โจทก์ กรมทางหลวง จำเลย เรื่อง ละเมิด ประกันภัย อันเป็นการใช้สิทธิไล่เบี้ยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๒๙ (๓) ประกอบมาตรา ๒๒๗ โดยอาศัยสิทธิตามคำพิพากษาของศาลแพ่ง การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้นั้น ศาลจะต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามเป็นผู้ทำละเมิดทำให้บุคคลภายนอกได้รับความเสียหายหรือไม่ ซึ่งเป็นประเด็นเดียวกับประเด็นข้อพิพาทในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๓๐๒๕/๒๕๕๐ ของศาลแพ่ง ประเด็นข้อพิพาทจึงไม่ได้เกิดจากข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยตรง คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีเป็นหน่วยงานทางปกครองยื่นฟ้องห้างหุ้นส่วนจำกัดบางมูลนากเหล็กเพชร และหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างดังกล่าวอ้างว่า ผู้ฟ้องคดีว่าจ้างให้ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ก่อสร้างทางหลวงหมายเลข ๑๑๕ สามแยกทางหลวงหมายเลข ๑๑๗ – เทศบาลเมืองพิจิตร ตอน ๒A ระหว่าง กม.๗๗+๐๐ – กม.๗๗+๘๘๐ ในระหว่างก่อสร้างมีผู้ขับรถยนต์คันที่เอาประกันภัยไว้กับบริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด ประสบอุบัติเหตุในบริเวณดังกล่าว ผู้รับประกันภัยได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่เจ้าของรถยนต์และยื่นฟ้องผู้ฟ้องคดีต่อศาลแพ่ง โดยศาลแพ่งได้วินิจฉัยว่าบริเวณที่เกิดเหตุไม่ติดสัญญาณไฟกระพริบที่จุดป้ายเครื่องหมายและไม่มีแสงสว่างจากโคมไฟฟ้าข้างทาง แม้ว่าสัญญาจ้างกำหนดให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ในคดีนี้เป็นผู้จัดทำและติดตั้งป้ายเครื่องหมายและสัญญาณไฟ ก็ตาม แต่ผู้ฟ้องคดีมีหน้าที่รับผิดชอบในการบูรณะบำรุงรักษาถนนที่เกิดเหตุ ย่อมมีหน้าที่กำกับตรวจสอบและจัดให้มีการติดตั้งป้ายเครื่องหมายและสัญญาณไฟให้เป็นไปโดยถูกต้อง การกระทำของผู้ฟ้องคดีเป็นการละเว้นการกระทำตามหน้าที่ถือได้ว่าผู้ฟ้องคดีกระทำโดยประมาทเลินเล่อทำให้ทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหาย และพิพากษาให้ผู้ฟ้องคดีชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยให้แก่ผู้รับประกันภัย ผู้ฟ้องคดีได้นำเงินไปวางศาลเพื่อชำระหนี้แล้ว คดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์ ผู้ฟ้องคดีจึงใช้สิทธิไล่เบี้ยให้ผู้ถูกฟ้องคดี ทั้งสามร่วมกันชำระเงินดังกล่าวแก่ผู้ฟ้องคดีโดยมาฟ้องเป็นคดีนี้ ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามให้การว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามไม่ต้องรับผิดตามสัญญาเนื่องจากผู้ฟ้องคดีทราบถึงสิทธิตามสัญญาอยู่ก่อนแล้ว ในขณะที่ตกเป็นจำเลยในคดีที่ผู้รับประกันภัยยื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง แต่ผู้ฟ้องคดีไม่ได้เรียกผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามเข้าเป็นจำเลยร่วม ทำให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามไม่มีโอกาสต่อสู้คดีกับบุคคลภายนอก ผู้ฟ้องคดีจึงเสี่ยงในความรับผิดตามลำพัง และผู้ฟ้องคดีไม่ได้ต่อสู้คดีจนถึงที่สุดเป็นข้อพิรุธถึงการสมยอมกัน ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามได้ปฏิบัติตามสัญญาจ้างทุกประการและอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของผู้ฟ้องคดีหรือตัวแทนโดยตลอด ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามจึงไม่ได้ประมาทเลินเล่อ ผู้ฟ้องคดีไม่มีสิทธิไล่เบี้ย ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า ประเด็นเรื่องค่าเสียหายในคดีนี้จึงเป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องกับข้อพิพาทในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๓๐๒๕/๒๕๕๐ ซึ่งศาลแพ่งได้วินิจฉัยไว้แล้ว ข้อพิพาทในคดีนี้จึงควรที่จะได้รับการพิจารณาวินิจฉัย โดยศาลเดียวกัน คือศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างกรมทางหลวง ผู้ฟ้องคดี ห้างหุ้นส่วนจำกัดบางมูลนากเหล็กเพชร ที่ ๑ นายสุพจน์ อุฬารวงศ์ ที่ ๒ นายสุภรณ์ พรธาดาวิทย์ ที่ ๓ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) สบโชค สุขารมณ์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายสบโชค สุขารมณ์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท ศิลปชัย สรภักดี (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ศิลปชัย สรภักดี) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share