คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8739/2552

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยซื้ออาคารชุดอุรุพงษ์คอนโดในระหว่างสมรสกับโจทก์ อาคารชุดดังกล่าวจึงเป็นสินสมรส ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1476 (1) และมาตรา 1480 วรรคหนึ่ง สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งในกรณีจำนองอสังหาริมทรัพย์ หากคู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทำนิติกรรมไปแต่เพียงฝ่ายเดียวหรือโดยปราศจากความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง คู่สมรสอาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ การที่จำเลยให้ถ้อยคำแก่เจ้าพนักงานที่ดินว่าเป็นโสดไม่เคยมีคู่สมรสไม่ว่าจะชอบหรือมิชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นการแจ้งความอันเป็นเท็จอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 137
เมื่ออาคารชุดอุรุพงษ์คอนโดเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์และจำเลย อำนาจการจัดการจำนองอาคารชุดดังกล่าวจึงเป็นของโจทก์และจำเลยร่วมกัน แม้จำเลยจะมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพียงผู้เดียวจำเลยก็ไม่มีอำนาจทำนิติกรรมโดยโจทก์ไม่ยินยอม การที่จำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานที่ดินดังกล่าวย่อมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายโดยไม่ต้องคำนึงว่าโจทก์ต้องร่วมรับผิดชำระหนี้จำนองหรือโจทก์มีสินสมรสเพิ่มขึ้นหรือไม่ โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้อง
การคุมความประพฤติจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 56 เป็นเพียงวิธีการที่ศาลกำหนดเงื่อนไขประกอบ การใช้ดุลพินิจรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยเท่านั้น บทบัญญัติดังกล่าวมิได้มีหลักเกณฑ์ว่า ความผิดที่จะกำหนดเงื่อนไขคุมความประพฤติต้องเป็นความผิดร้ายแรง หรือจำเลยต้องมีความประพฤติเสื่อมเสียหรือเป็นอันตรายต่อสังคม หรือติดยาเสพติดให้โทษดังที่จำเลยกล่าวอ้าง เมื่อปรากฏว่าศาลล่างทั้งสองรอการลงโทษจำคุกจำเลย การที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 56 จึงชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 จำคุก 4 เดือน และปรับ 1,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษมีกำหนด 1 ปี ให้จำเลยรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 3 เดือนต่อครั้ง ภายในกำหนด 1 ปี ตามที่จำเลยและพนักงานคุมประพฤติกำหนด (ที่ถูก ต้องระบุตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ด้วย) หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิยฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์จำเลยเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2544 จำเลยซื้ออาคารชุดอุรุพงษ์คอนโด และได้จดทะเบียนจำนองอาคารชุดดังกล่าวกับธนาคารอาคารสงเคราะห์ โดยเจ้าพนักงานที่ดินใช้ตรายางประทับข้อความว่า ข้าพเจ้านายวรวุฒิ ขอรับรองว่าข้าพเจ้ายังเป็นโสดไม่เคยมีคู่สมรส ไม่ว่าจะชอบหรือมิชอบด้วยกฎหมาย หากถ้อยคำที่ข้าพเจ้าให้นี้เป็นเท็จให้ใช้ถ้อยคำนี้ยันข้าพเจ้าในคดีอาญาได้ และจำเลยลงลายมือชื่อในฐานะผู้ให้ถ้อยคำ ตามบันทึกด้านหลังสัญญาจำนองเป็นประกัน คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า บันทึกด้านหลังดังกล่าวที่จำเลยลงลายมือชื่อไว้ท้ายบันทึกจะเป็นการแจ้งความเท็จหรือไม่ เห็นว่า จำเลยซื้ออาคารชุดอุรุพงษ์คอนโดในระหว่างสมรสกับโจทก์อาคารชุดดังกล่าวจึงเป็นสินสมรส ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1476 (1) และมาตรา 1480 วรรคหนึ่ง สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งในกรณีจำนองอสังหาริมทรัพย์ หากคู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทำนิติกรรมไปแต่เพียงฝ่ายเดียว หรือโดยปราศจากความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง คู่สมรสอาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ การที่จำเลยให้ถ้อยคำแก่เจ้าพนักงานที่ดินว่าเป็นโสดไม่เคยมีคู่สมรสไม่ว่าจะชอบหรือมิชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นการแจ้งความอันเป็นเท็จแม้จำเลยจะมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพียงผู้เดียวจำเลยก็ไม่มีอำนาจทำนิติกรรมโดยโจทก์ไม่ยินยอม การที่จำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานที่ดินว่า จำเลยเป็นโสด เจ้าพนักงานที่ดินจึงจดทะเบียนจำนองที่ดินให้จำเลย ย่อมให้โจทก์ได้รับความเสียหายแล้วโดยไม่ต้องคำนึงว่าโจทก์ต้องร่วมรับผิดชำระหนี้จำนองหรือโจทก์มีสินสมรสเพิ่มขึ้น โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้อง
การคุมความประพฤติของจำเลยเป็นเพียงวิธีการที่ศาลกำหนดเงื่อนไขประกอบการใช้ดุลพินิจรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยเท่านั้น บทบัญญัติดังกล่าวมิได้มีหลักเกณฑ์ว่า ความผิดที่จะกำหนดเงื่อนไขคุมความประพฤติต้องเป็นความผิดร้ายแรงหรือจำเลยต้องมีความประพฤติเสื่อมเสีย หรือเป็นอันตรายต่อสังคม หรือติดยาเสพติดให้โทษ
พิพากษายืน

Share