แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างก่อนเลิกสัญญา ซึ่งตามคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายโดยกล่าวด้วยว่า โจทก์ได้ติดตามทวงถามค่าเช่าซื้อจากจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ถือได้ว่าเป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายในการที่จำเลยที่ 1 ใช้รถยนต์อันเป็นทรัพย์ของโจทก์ตลอดเวลาที่จำเลยที่ 1 ครอบครองรถยนต์ของโจทก์อยู่ ศาลจึงมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายได้ ส่วนกรณีที่สองโจทก์ฟ้องเรียกค่าขาดราคาเนื่องจากโจทก์ขายทอดตลาดรถยนต์ที่เช่าซื้ออยู่แล้ว แต่ยังไม่คุ้มราคาค่าเช่าซื้อที่ค้าง และกรณีที่สามโจทก์ฟ้องเรียกค่าใช้จ่ายในการติดตามรถยนต์ที่เช่าซื้อคืน ทั้งสามกรณีดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติกำหนดอายุความใช้บังคับโดยตรงจึงต้องนำบทบัญญัติว่าด้วยเรื่องอายุความตามมาตรา 193/30 แห่ง ป.พ.พ. มาใช้บังคับ ซึ่งกำหนดอายุความ 10 ปี
กรณีที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นค่าเช่าซื้อก่อนเลิกสัญญานั้น เมื่อโจทก์ติดตามยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนได้เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2541 สัญญาเช่าซื้อจึงเลิกกัน โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2545 ยังไม่เกิน 10 ปี คำฟ้องโจทก์กรณีนี้จึงยังไม่ขาดอายุความ กรณีที่สองที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าขาดราคาทรัพย์ที่เช่าซื้อนั้น เมื่อโจทก์ขายรถยนต์ที่เช่าซื้อให้แก่บุคคลภายนอกวันที่ 2 มิถุนายน 2541 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2545 ยังไม่เกิน 10 ปี คำฟ้องของโจทก์ที่เรียกค่าขาดราคาจึงยังไม่ขาดอายุความ ส่วนกรณีที่สามโจทก์ฟ้องเรียกค่าใช้จ่ายในการติดตามรถยนต์ที่เช่าซื้อคืน โจทก์ติดตามได้รถยนต์ที่เช่าซื้อคืนเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2541 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2545 ยังไม่เกิน 10 ปี คำฟ้องของโจทก์ส่วนนี้จึงยังไม่ขาดอายุความเช่นกัน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 119,207 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1, ที่ 2, และที่ 4 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน 74,000 บาท กับให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 600 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2540 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ยี่ห้อฮอนด้า หมายเลขทะเบียน 5ช – 3700 กรุงเทพมหานคร ไปจากโจทก์ในราคา 202,230 บาท ตกลงชำระค่าเช่าซื้อรวม 30 งวด งวดละ 6,741 บาท ชำระงวดแรกวันที่ 11 เมษายน 2540 งวดต่อไปชำระทุกวันที่ 11 ของเดือนถัดไป มีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 5 ประจำวันวันที่ 11 สิงหาคม 2540 เป็นต้นมา โจทก์ติดตามยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนได้เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2541 สัญญาเช่าซื้อจึงเลิกกัน ต่อมาเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2541 โจทก์ขายรถยนต์ที่เช่าซื้อให้แก่บุคคลภายนอกในราคา 122,727.97 บาท มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ว่า คำฟ้องของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ซึ่งแยกพิจารณาคำฟ้องของโจทก์ได้เป็น 3 กรณี กรณีแรกโจทก์ฟ้องเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างก่อนเลิกสัญญา ซึ่งตามคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายโดยกล่าวด้วยว่า โจทก์ได้ติดตามทวงถามค่าเช่าซื้อจากจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงถือได้ว่าเป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายในการที่จำเลยที่ 1 ใช้รถยนต์อันเป็นทรัพย์ของโจทก์ตลอดเวลาที่จำเลยที่ 1 ครอบครองรถยนต์ของโจทก์อยู่ ศาลจึงมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายได้ ส่วนกรณีที่สองโจทก์ฟ้องเรียกค่าขาดราคาเนื่องจากโจทก์ขายทอดตลาดรถยนต์ที่เช่าซื้อแล้ว แต่ยังไม่คุ้มราคายังขาดอยู่จำนวน 52,538 บาท และกรณีที่สามโจทก์ฟ้องเรียกค่าใช้จ่ายในการติดตามรถยนต์ที่เช่าซื้อคืน ทั้งสามกรณีดังกล่าว ไม่มีบทบัญญัติกำหนดอายุความใช้บังคับโดยตรงจึงต้องนำบทบัญญัติกำหนดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 มาใช้บังคับ ซึ่งกำหนดให้มีอายุความ 10 ปี กรณีแรกที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นค่าเช่าซื้อก่อนเลิกสัญญาตามข้อเท็จจริง โจทก์ยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2541 สัญญาเช่าซื้อจึงเลิกกันในวันดังกล่าว โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2545 ยังไม่เกิน 10 ปี คำฟ้องของโจทก์กรณีนี้จึงยังไม่ขาดอายุความ กรณีที่สองที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าขาดราคานั้น ตามข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ขายทอดตลาดรถยนต์ที่เช่าซื้อไปเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2541 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2545 ยังไม่เกิน 10 ปี คำฟ้องของโจทก์ที่เรียกค่าขาดราคาจึงยังไม่ขาดอายุความ ส่วนกรณีที่สามโจทก์ฟ้องเรียกค่าใช้จ่ายในการติดตามรถยนต์ที่เช่าซื้อคืน ตามข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ติดตามได้รถยนต์ที่เช่าซื้อคืนเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2545 ยังไม่เกิน 10 ปี คำฟ้องของโจทก์ส่วนนี้จึงยังไม่ขาดอายุความเช่นกัน คำพิพากษาศาลชั้นต้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 3 ใช้ค่าทนายความในชั้นนี้ 600 บาท แทนโจทก์