แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๕๐/๒๕๕๕
วันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๕
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑)
ศาลจังหวัดสมุทรปราการ
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดสมุทรปราการส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๕๓ นายจิโรช อิฐรัตน์ โจทก์ ยื่นฟ้อง นางสาวบังอร พงษ์เจริญ ในฐานะนายทะเบียน สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดสมุทรปราการ จำเลย เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๖๗๑/๒๕๕๓ ความว่า เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๕๓ นางสาวลัดดา วิศวผลบุญ และนายอรรถพงษ์ เกตุราทร ยื่นคำขอจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมจำนวนกรรมการและดวงตราบริษัทไทยสตีลบาร์ส จำกัด ต่อจำเลย โดยแจ้งกับจำเลยในฐานะนายทะเบียนสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท จังหวัดสมุทรปราการ ด้วยข้อความอันเป็นเท็จว่า ในการประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทไทยสตีลบาร์ส จำกัด ครั้งที่ ๑/๒๕๕๓ เมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๕๓ ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นซึ่งมีนางสาวลัดดาเป็นประธาน ที่ประชุมได้มีมติให้แก้ไขเพิ่มเติมดวงตราบริษัทให้เป็นตราแบบใหม่และแก้ไขเพิ่มเติมจำนวนและชื่อกรรมการของบริษัท โดยให้โจทก์ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งประธานกรรมการและกรรมการบริษัทออกจากตำแหน่ง ทั้งที่ในการประชุมดังกล่าวมีโจทก์เป็นประธานการประชุม และที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นไม่ได้มีมติในเรื่องดังกล่าวหรือในเรื่องอื่นใด เนื่องจากมีผู้เข้าร่วมประชุมไม่ครบองค์ประชุมจึงไม่สามารถดำเนินการประชุมต่อไปได้ นางสาวลัดดาและนายอรรถพงษ์กลับทำรายงานการประชุมอันเป็นเท็จและปิดบังความจริง ทำให้จำเลยหลงเชื่อรับจดทะเบียนตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ ๒๙๘๓/๒๕๕๓ ลงวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๕๓ ต่อมาเมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๕๓ โจทก์มีหนังสือถึงจำเลยขอให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนดังกล่าว แต่จำเลยเพิกเฉยไม่ดำเนินการให้โจทก์ การกระทำดังกล่าวเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ ทำให้โจทก์ตลอดจนผู้ถือหุ้นอื่นได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยเพิกถอนรายการจดทะเบียนบริษัทไทยสตีลบาร์ส จำกัด ตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ ๒๙๘๓/๒๕๕๓ ลงวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๕๓ และให้ดำเนินการนำรายการจดทะเบียนต่างๆ ของเดิมที่มีอยู่ก่อนการจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมมาจดไว้ในทะเบียนบริษัทไทยสตีลบาร์ส จำกัด
จำเลยให้การว่า การรับจดทะเบียนของจำเลยเป็นการจดทะเบียนโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว การบรรยายฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องที่โจทก์ต้องฟ้องนางสาวลัดดาและนายอรรถพงษ์ซึ่งพิพาทกับโจทก์ เมื่อศาลมีคำพิพากษาแล้วโจทก์จึงจะมีสิทธิที่จะนำคำพิพากษาที่ถึงที่สุดมาขอให้จำเลยเพิกถอนรายการจดทะเบียนดังกล่าว ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า การที่จำเลยไม่ดำเนินการเพิกถอนรายการจดทะเบียนของบริษัทไทยสตีลบาร์ส จำกัด เป็นการกระทำในฐานะผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย จึงเป็นคำสั่งทางปกครอง และคดีนี้เป็นกรณีพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชนที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดสมุทรปราการพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้จะสืบเนื่องมาจากจำเลยปฏิเสธที่จะดำเนินการเพิกถอนรายการจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมกรรมการและดวงตราบริษัทไทยสตีลบาร์ส จำกัด ตามที่โจทก์ร้องขอก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของโจทก์ที่ฟ้องคดีต่อศาลก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองและคุ้มครองสิทธิของโจทก์ว่า โจทก์ยังคงเป็นกรรมการบริษัทดังกล่าวเป็นสำคัญ ประกอบกับโจทก์อ้างว่ามติที่ประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นตามรายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัท ครั้งที่ ๑/๒๕๕๓ เมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๕๓ เป็นรายงานเท็จ การที่ศาลจะมีคำพิพากษาให้จำเลยเพิกถอนรายการจดทะเบียนของบริษัทไทยสตีลบาร์ส จำกัด ตามคำขอเลขที่ ๒๙๘๓/๒๕๕๓ ลงวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๕๓ ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ข้อเท็จจริงเสียก่อนว่าการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัทดังกล่าว ที่ประชุมมีมติอย่างไร กรณีจึงเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิทางแพ่งที่อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยในฐานะนายทะเบียนสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดสมุทรปราการ มีอำนาจหน้าที่ในการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนและบริษัทตามระเบียบสำนักงานทะเบียนกลาง ว่าด้วยการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนและบริษัท พ.ศ. ๒๕๔๙ ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในข้อ ๓ และข้อ ๔ แห่งกฎกระทรวงจัดตั้งสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท แต่งตั้งนายทะเบียน และกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนและบริษัท จำกัด พ.ศ. ๒๕๔๙ ออกตามความประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การที่จำเลยดำเนินการจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมกรรมการและดวงตราบริษัทไทยสตีลบาร์ส จำกัด ตามคำร้องของโจทก์ที่ขอเพิกถอนรายการจดทะเบียนดังกล่าว เป็นการดำเนินการตามข้อ ๔ วรรคหนึ่ง ของระเบียบดังกล่าวซึ่งเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายที่มีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิและหน้าที่ของผู้ยื่นคำขอ จึงเป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ เมื่อโจทก์ฟ้องว่า การที่จำเลยปฏิเสธคำร้องของโจท์ที่ขอเพิกถอนรายการจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมกรรมการและดวงตราบริษัทไทยสตีลบาร์ส จำกัด ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยมีประเด็นแห่งคดีที่ต้องวินิจฉัยว่า การที่จำเลยปฏิเสธคำร้องของโจทก์ที่ขอเพิกถอนรายการจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมกรรมการและดวงตราบริษัทไทยสตีลบาร์ส จำกัด เป็นคำสั่งทางปกครองที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แม้ในการที่ศาลจะวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวได้ ศาลจำต้องวินิจฉัยในเบื้องต้นว่า การประชุมและมติที่ประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นของบริษัทไทยสตีลบาร์ส จำกัด ครั้งที่ ๑/๒๕๕๓ เมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๕๓ ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยหุ้นส่วนและบริษัทหรือไม่ก็ตาม แต่ประเด็นดังกล่าวเป็นประเด็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลปกครองมีอำนาจวินิจฉัยได้ อีกทั้งอำนาจในการวินิจฉัยในประเด็นข้อเท็จจริงดังกล่าวก็ไม่ใช่เกณฑ์การพิจารณาว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลใด ดังนั้น ข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยในคดีนี้ จึงเป็นคดีพิพาทที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องคดีนี้สรุปได้ว่า เดิมโจทก์ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการและกรรมการบริษัทไทยสตีลบาร์ส จำกัด แต่เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๕๓ นางสาวลัดดา วิศวผลบุญ และนายอรรถพงษ์ เกตุราทร ยื่นคำขอจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมจำนวนกรรมการและดวงตราบริษัทไทยสตีลบาร์ส จำกัด โดยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อจำเลยในฐานะนายทะเบียนสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท จังหวัดสมุทรปราการว่า ในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัท เมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๕๓ ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นซึ่งมีนางสาวลัดดาเป็นประธาน ได้มีมติให้แก้ไขเพิ่มเติมจำนวนและชื่อกรรมการของบริษัท โดยให้โจทก์ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งประธานกรรมการและกรรมการบริษัทออกจากตำแหน่ง ทั้งที่ในการประชุมดังกล่าวมีโจทก์เป็นประธานในที่ประชุม และที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นไม่ได้มีมติในเรื่องดังกล่าวหรือในเรื่องอื่นใด เนื่องจากมีผู้เข้าร่วมประชุมไม่ครบองค์ประชุมจึงไม่สามารถดำเนินการประชุมต่อไปได้ นางสาวลัดดาและนายอรรถพงษ์กลับทำรายงานการประชุมอันเป็นเท็จและปิดบังความจริง ทำให้จำเลยหลงเชื่อรับจดทะเบียนตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ ๒๙๘๓/๒๕๕๓ ลงวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๕๓ โจทก์มีหนังสือถึงจำเลยขอให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนดังกล่าว แต่จำเลยไม่ดำเนินการให้โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยเพิกถอนรายการจดทะเบียนบริษัทดังกล่าว และให้ดำเนินการนำรายการจดทะเบียนต่างๆ ของเดิมที่มีอยู่ก่อนการจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมมาจดไว้ในทะเบียนบริษัทไทยสตีลบาร์ส จำกัด ส่วนจำเลยให้การว่า การรับจดทะเบียนเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ดังนั้น เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้จึงสืบเนื่องมาจากการที่จำเลยรับจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมจำนวนกรรมการและดวงตราของบริษัทไทยสตีลบาร์ส จำกัด ทำให้โจทก์พ้นจากการเป็นประธานกรรมการและกรรมการบริษัทฯ โดยขณะเกิดเหตุบริษัทดังกล่าวมีโจทก์เป็นกรรมการบริษัทผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทฯ และอ้างว่าการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ครั้งที่ ๑/๒๕๕๓ เมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๕๓ เป็นการประชุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการรับจดทะเบียนตามมติที่ประชุมดังกล่าวของจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย คดีนี้ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า มติที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ครั้งที่ ๑/๒๕๕๓ เมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๕๓ ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วนและบริษัทหรือไม่เป็นสำคัญ เมื่อบริษัทฯ เป็นนิติบุคคลมีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการค้าเพื่อแสวงหากำไรและเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก รัฐจึงได้กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ให้การก่อตั้ง การดำเนินกิจการ ตลอดจนการเลิกกิจการของนิติบุคคลต้องเป็นไปตามขั้นตอนและจดทะเบียน หากมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญก็ต้องนำไปแจ้งต่อนายทะเบียนด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรับรองสิทธิว่านิติบุคคลนั้นเป็นบุคคลตามกฎหมาย มีความสามารถที่จะทำนิติกรรมได้และเพื่อเปิดเผยให้บุคคลภายนอกได้รับรู้ถึงสถานะ อำนาจหน้าที่ของกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลนั้นๆ ซึ่งกระบวนการและขั้นตอนตามกฎหมายนี้เป็นไปเพื่อรับรองสิทธิของนิติบุคคลในทางแพ่งเท่านั้น มิใช่เรื่องทางปกครอง สถานภาพของบริษัทฯ จะเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่จึงต้องเป็นไปตามประสงค์ของผู้ถือหุ้นของบริษัทเป็นหลักซึ่งเป็นเรื่องทางแพ่ง มิใช่อยู่ที่การรับจดทะเบียนของจำเลย เมื่อศาลจำต้องพิจารณาถึงสิทธิในทางแพ่งเป็นสำคัญแล้ว ข้อพิพาทในคดีนี้ จึงมิใช่ข้อพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เป็นข้อพิพาททางแพ่งอันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายจิโรช อิฐรัตน์ โจทก์ นางสาวบังอร พงษ์เจริญ ในฐานะนายทะเบียน สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดสมุทรปราการ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท จิระ โกมุทพงศ์ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(จิระ โกมุทพงศ์) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ