แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๔๗/๒๕๕๔
วันที่ ๑ กันยายน ๒๕๕๔
เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
ศาลจังหวัดนางรอง
ระหว่าง
ศาลปกครองนครราชสีมา
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดนางรองโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ นายจง มาดาโต ที่ ๑ นายวีรพงษ์ มาดาโต ที่ ๒ นายประภาส มาดาโต ที่ ๓ นางจันทร์เพ็ญ รัตนนท์ ที่ ๔ โจทก์ ยื่นฟ้องนายคำจันทร์ อนันมา จำเลย ต่อศาลจังหวัดนางรอง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๒๘/๒๕๕๒ ความว่า โจทก์ทั้งสี่ครอบครองและทำประโยชน์ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. ๔-๐๑ ข) เลขที่ ๒๐๘๓ ตำบลห้วยหิน อำเภอหนองหงส์ จังหวัดบุรีรัมย์ เนื้อที่ ๒๘ ไร่ ๑ งาน ๒๑ ตารางวา ซึ่งเดิมเป็นของนางผม อนันมา ภรรยาของโจทก์ที่ ๑ และมารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๔ โจทก์ทั้งสี่และนางผมร่วมกันทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทเรื่อยมา จนกระทั่งวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๔๑ นางผมถึงแก่ความตายโจทก์ทั้งสี่ยังคงร่วมกันทำประโยชน์ในที่ดินแปลงดังกล่าวตลอดมา เมื่อปี ๒๕๔๘ จำเลยซึ่งเป็นพี่ชายของนางผม ได้ขอทำนาในที่ดินของโจทก์ทั้งสี่ทางด้านทิศตะวันออกเป็นเนื้อที่ประมาณ ๑๔ ไร่ จนกระทั่งปี ๒๕๕๑ จำเลยเปลี่ยนจากทำนาเป็นทำไร่อ้อย ซึ่งต่อมาปลายปี ๒๕๕๑ โจทก์ทั้งสี่ไม่ประสงค์ให้จำเลยทำไร่อ้อยจึงบอกกล่าวให้จำเลยรื้อถอนอ้อยและออกจากที่ดิน แต่จำเลยไม่ยอมออกจากที่ดินของโจทก์ทั้งสี่โดยอ้างว่า ที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นมรดกของบิดามารดาจำเลย อันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสี่ ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งว่าที่ดินพิพาทเป็นสิทธิของโจทก์ทั้งสี่ ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้อง ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสี่ปีละ ๕๐,๐๐๐ บาท นับแต่ปี ๒๕๕๑ เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกจากที่ดินพิพาท
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ทั้งสี่ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินผู้มีสิทธิทำกิน ไม่ได้เป็นผู้ครอบครองหรือร่วมกันทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทและไม่มีคุณสมบัติตามกฎหมายที่จะได้รับสิทธิในที่ดินจากสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่ดินตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. ๔-๐๑ ข) ที่โจทก์กล่าวอ้างกับที่ดินที่จำเลยครอบครองทำประโยชน์มิใช่แปลงเดียวกัน อีกทั้งไม่ได้อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน ข้อกล่าวอ้างของโจทก์ทั้งสี่เป็นความเท็จ จำเลยซื้อสิทธิการครอบครองในที่ดินมาจากนางเบ็ญจวรรณ สุธีมีชัยกุล โดยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวตั้งแต่ปี ๒๕๑๒ จนถึงปัจจุบัน เนื้อที่ ๗๑ ไร่ ๒ งาน ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓) ทะเบียนเล่ม ๑๑ หน้า ๑๗๑ สารบบเล่ม หมู่ที่ ๑๔ หน้า ๔๒ ตำบลห้วยหิน (หนองกระทิง) อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งภายหลังจำเลยได้แบ่งที่ดินส่วนหนึ่งให้นางผมเข้าร่วมกันทำประโยชน์โดยเป็นการครอบครองแทนจำเลย โดยไม่เคยขายหรือถูกเวนคืนตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนให้แก่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๑๘ การที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมออกหนังสืออนุญาตให้ผู้ใดเข้าทำประโยชน์ในที่ดินของจำเลยตาม ส.ป.ก. ๔-๐๑ ข ดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง และหากหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. ๔-๐๑ ข) ที่มีชื่อนางผมทับซ้อนกับที่ดินของจำเลยตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓) ดังกล่าว ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้เพิกถอนหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. ๔-๐๑ ข) ดังกล่าว และห้ามมิให้โจทก์ทั้งสี่และบริวารรบกวนสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลย กับให้โจทก์ทั้งสี่ชำระค่าเสียหาย
โจทก์ทั้งสี่ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ทั้งสี่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท เนื่องจากโจทก์ที่ ๑ เป็นคู่สมรสของนางผม และโจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๔ เป็นบุตรของนางผมจึงเป็นทายาทโดยธรรมของนางผมและมีสิทธิที่จะเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท การออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. ๔-๐๑ ข) เป็นการออกโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยไม่มีสิทธิฟ้องเพิกถอนหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. ๔-๐๑ ข) ได้ ขอให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย
ระหว่างพิจารณา จำเลยยื่นคำร้องขอให้เรียกสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลมีคำสั่งให้นายอำเภอหนองหงส์ จังหวัดบุรีรัมย์ รังวัดสอบเขตว่า ที่ดินตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. ๔-๐๑ ข) เลขที่ ๒๐๘๓ อยู่ในเขตที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก) เลขที่ ๔๒ หรือไม่ ผลการรังวัดสอบเขตปรากฏว่า ที่ดินตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. ๔-๐๑ ข) ดังกล่าวอยู่ในเขตที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของจำเลย ศาลจึงมีคำสั่งเรียกสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเข้ามาเป็นจำเลยร่วม
จำเลยร่วมยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า ตามคำร้องของจำเลยนั้นเป็นการโต้แย้งว่า จำเลยร่วมได้พิจารณาและมีมติอนุญาตให้นางผม เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขอให้เพิกถอนหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน ถือเป็นการโต้แย้งคำสั่งในทางปกครองอันอยู่ในอำนาจพิจารณาและพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดนางรองพิจารณาแล้วเห็นว่า จากการรังวัดสอบเขตได้ความว่า ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓) ซึ่งมีชื่อจำเลยเป็นผู้เข้าทำประโยชน์อยู่ก่อนแล้ว ต่อมาจำเลยร่วมออกหนังสืออนุญาตให้นางผมเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินทับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวบางส่วน จำเลยขอให้เพิกถอนหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินดังกล่าว การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอได้นั้น จึงต้องพิจารณาให้ได้ความว่าที่ดินพิพาทเป็นสิทธิของโจทก์ทั้งสี่หรือจำเลย อันเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองนครราชสีมาพิจารณาแล้วเห็นว่า เกณฑ์การพิจารณาในเรื่องเขตอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลปกครองและศาลยุติธรรมจะต้องพิจารณาเขตอำนาจของศาลปกครองเป็นสำคัญ หากคดีพิพาทใดอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองแล้ว ศาลยุติธรรมย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนั้น ตามนัยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๑๘ ประกอบมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง การออกเอกสาร ส.ป.ก. ๔-๐๑ เป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ และสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จำเลยร่วมมีฐานะเป็นกรม ตามมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๑๘ และมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน จำเลยร่วมจึงเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แม้คดีนี้จะเป็นกรณีที่เอกชนฟ้องเอกชน แต่เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้สืบเนื่องมาจากการที่จำเลยร่วมออก ส.ป.ก. ๔-๐๑ ให้แก่นางผม ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายและศาลได้มีคำสั่งเรียกสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเข้ามาเป็นจำเลยร่วม มีผลทำให้คดีนี้เป็นคดีพิพาทกันระหว่างหน่วยงานของรัฐกับเอกชนอันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครองในการออก ส.ป.ก. ๔-๐๑ อันเป็นคำสั่งทางปกครอง ที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งศาลปกครองมีอำนาจออกคำบังคับได้ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
สำหรับประเด็นปัญหาว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่โจทก์หรือจำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองและทำประโยชน์นั้น เป็นประเด็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลจะต้องพิจารณาในเนื้อหาของคดีอันเป็นเพียงประเด็นปัญหาย่อยหนึ่งในหลายประเด็นปัญหาที่จะพิจารณาว่าการดำเนินการออก ส.ป.ก ๔-๐๑ ให้แก่นางผมเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และแม้การพิจารณาว่าโจทก์ทั้งสี่เป็นผู้มีสิทธิครอบครองและทำประโยชน์ในที่พิพาทหรือไม่จะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือประมวลกฎหมายที่ดินก็ตาม แต่การพิจารณาในปัญหาดังกล่าวมิใช่เกณฑ์การพิจารณาว่า คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลใด อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกำหนดให้เป็นอำนาจเฉพาะศาลหนึ่งศาลใดเท่านั้นที่จะนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้ ศาลปกครองจึงนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ มาตรา ๗๑ (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินมีผลผูกพันบุคคลภายนอก คู่กรณีที่เกี่ยวข้องอาจอ้างกับบุคคลภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกจะมีสิทธิดีกว่า อันเป็นบทบัญญัติที่ยืนยันให้เห็นว่าศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินและนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาวินิจฉัยข้อพิพาทในคดีได้ ดังนั้นคดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
เมื่อคดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในการออกคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ศาลยุติธรรมย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้ตามนัยมาตรา ๒๑๘ ประกอบกับมาตรา ๒๒๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์ทั้งสี่เป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยซึ่งเป็นเอกชนด้วยกัน โดยอ้างว่า โจทก์ทั้งสี่ครอบครองและทำประโยชน์ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. ๔-๐๑ ข) เลขที่ ๒๐๘๓ ตำบลห้วยหิน อำเภอหนองหงส์ จังหวัดบุรีรัมย์ เนื้อที่ ๒๘ ไร่ ๑ งาน ๒๑ ตารางวา เมื่อปี ๒๕๔๘ จำเลยขอใช้ประโยชน์ในที่ดินของโจทก์ทั้งสี่เป็นเนื้อที่ประมาณ ๑๔ ไร่ ต่อมาโจทก์ทั้งสี่ไม่ประสงค์ให้จำเลยใช้ประโยชน์ในที่ดินจึงบอกกล่าวให้จำเลยออกจากที่ดินของโจทก์ทั้งสี่ แต่จำเลยไม่ยินยอม ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งว่าที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นสิทธิของโจทก์ทั้งสี่ ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องและให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสี่ ส่วนจำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ทั้งสี่ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดิน ไม่ได้ครอบครองทำประโยชน์และไม่มีคุณสมบัติตามกฎหมายที่จะได้รับสิทธิในที่ดินจากสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่ดินตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. ๔-๐๑ ข) ที่โจทก์กล่าวอ้างกับที่ดินที่จำเลยครอบครองทำประโยชน์มิใช่แปลงเดียวกันและไม่ได้อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน ข้อกล่าวอ้างของโจทก์ทั้งสี่เป็นความเท็จ จำเลยซื้อสิทธิการครอบครองในที่ดินมาจากผู้มีชื่อ โดยมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓) โดยไม่เคยขายหรือถูกเวนคืนตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนให้แก่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๑๘ การที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมออกหนังสืออนุญาตให้ผู้ใดเข้าทำประโยชน์ในที่ดินของจำเลยตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. ๔-๐๑ ข) ดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง หากหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. ๔-๐๑ ข) แปลงที่โจทก์ทั้งสี่กล่าวอ้างทับซ้อนกับที่ดินของจำเลยตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓) ดังกล่าว ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้เพิกถอนหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. ๔-๐๑ ข) ดังกล่าว และห้ามมิให้โจทก์ทั้งสี่และบริวารรบกวนสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลย กับให้โจทก์ทั้งสี่ชำระค่าเสียหาย โจทก์ทั้งสี่ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ทั้งสี่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท การออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. ๔-๐๑ ข) เป็นการออกโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยไม่มีสิทธิฟ้องเพิกถอนหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. ๔-๐๑ ข) ได้ ขอให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย ซึ่งต่อมาศาลจังหวัดนางรองมีคำสั่งเรียกสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ดังนั้น กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินที่โจทก์ทั้งสี่และจำเลยต่างมีความมุ่งหมายในการฟ้องคดีเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองและคุ้มครองสิทธิในที่ดิน แม้จำเลยจะกล่าวอ้างว่าได้รับความเสียหายจากการที่จำเลยร่วมออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (สปก. ๔-๐๑ ข) โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (สปก. ๔-๐๑ ข) ดังกล่าว แต่เมื่อเหตุแห่งการฟ้องคดีกรณีดังกล่าวสืบเนื่องมาจากการออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (สปก. ๔-๐๑ ข.) ทับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓) ของจำเลย ประกอบกับโจทก์ทั้งสี่และจำเลยยังโต้แย้งกันเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน การที่ศาลจะพิพากษาหรือมีคำสั่งตามคำขอได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสี่ตามที่กล่าวอ้างหรือไม่เป็นสำคัญ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายจง มาดาโต ที่ ๑ นายวีรพงษ์ มาดาโต ที่ ๒ นายประภาส มาดาโต ที่ ๓ นางจันทร์เพ็ญ รัตนนท์ ที่ ๔ โจทก์ นายคำจันทร์ อนันมา จำเลย สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จำเลยร่วม อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) สบโชค สุขารมณ์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายสบโชค สุขารมณ์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท ศิลปชัย สรภักดี (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ศิลปชัย สรภักดี) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ