คำวินิจฉัยที่ 45/2554

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๔๕/๒๕๕๔

วันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๕๔

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)

ศาลจังหวัดระยอง
ระหว่าง
ศาลปกครองระยอง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดระยองโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๕๑ เด็กชายธนภัทร สุทธศิลป์ โดยนางสาวอุมาพร พรหมบุตร ผู้แทนโดยชอบธรรม ที่ ๑ นางสาวอุมาพร พรหมบุตร ที่ ๒ นายชาติ สุทธศิลป์ ที่ ๓ โจทก์ ยื่นฟ้อง นางสาวทัศนีย์ สว่างแจ้ง ที่ ๑ เทศบาลตำบลบ้านปลวกแดง ที่ ๒ นายชัยยงค์ คูเพ็ญวิจิตตระการ ที่ ๓ นายเดชา สุนทราเดชอังกูร ที่ ๔ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอปลวกแดง ที่ ๕ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเขต ๒ (ภาคกลาง) จังหวัดชลบุรี ที่ ๖ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ที่ ๗ จำเลย ต่อศาลจังหวัดระยอง เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๔๙๐๓/๒๕๕๑ ความว่า โจทก์ที่ ๑ เป็นเด็กนักเรียนชั้นอนุบาล ๒ ของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลปลวกแดง จำเลยที่ ๑ และครูประจำวันได้ปล่อยให้เด็กนักเรียนของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโจทก์ที่ ๑ ออกมาเล่นนอกบริเวณอาคารเรียน ซึ่งจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ และครูเวรประจำวันทราบดีว่าที่ตั้งของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอยู่ติดกับที่ทำการของจำเลยที่ ๕ และไม่มีรั้วกั้นแนวเขต จำเลยที่ ๕ โดยการบริหารจัดการของจำเลยที่ ๔ นำเสาไฟฟ้าจำนวนมากมาวางกองซ้อนกันหลายชั้น ติดกับแนวเขตศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในลักษณะที่อาจเป็นอันตราย แต่จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ไม่ห้ามเด็กนักเรียนของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กรวมทั้งโจทก์ที่ ๑ วิ่งเล่นเข้าไปใกล้เสาไฟฟ้าดังกล่าว เป็นเหตุให้โจทก์ที่ ๑ ถูกเสาไฟฟ้าที่จำเลยที่ ๔ และที่ ๕ กองไว้หล่นทับโจทก์ที่ ๑ ได้รับบาดเจ็บสาหัส การได้รับบาดเจ็บสาหัสของโจทก์ที่ ๑ เกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ซึ่งมีหน้าที่ป้องกันอุบัติเหตุและอุบัติภัยไม่ให้เกิดกับเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กด้วยการจัดสภาพแวดล้อมทั้งภายในอาคารและนอกอาคารให้ปลอดภัย โดยในส่วนของภายนอกอาคารต้องมีรั้วกั้นบริเวณให้เป็นสัดส่วน แต่จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ กลับละเลยไม่ทำรั้ว ประกอบกับจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ไม่ใช้ความระมัดระวังปล่อยให้เด็กในความดูแลรวมทั้งโจทก์ที่ ๑ ไปวิ่งเล่นในบริเวณแนวเขตที่ติดต่อระหว่างศูนย์พัฒนาเด็กเล็กกับที่ทำการของจำเลยที่ ๕ ส่วนจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๗ มีหน้าที่จัดหาสถานที่เพื่อจัดเก็บเสาไฟฟ้าเพื่อป้องกันอุบัติเหตุอุบัติภัยไม่ให้เกิดกับบุคคลอื่นแต่ไม่ใช้ความระมัดระวังให้เพียงพอโดยนำเสาไฟฟ้ามาวางกองหลายชั้นและระหว่างชั้นได้นำท่อนไม้รองหนุนไว้ซึ่งไม่มีความแข็งแรงรองรับน้ำหนักของเสาไฟฟ้า และละเลยไม่จัดเปลี่ยนท่อนไม้ที่ใช้รองเสาไฟฟ้าให้อยู่ในสภาพที่แข็งแรง อีกทั้งจำเลยที่ ๕ ถึงที่ ๗ สามารถนำเสาไฟฟ้าไปกองไว้ที่อื่นซึ่งไม่ติดกับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเพื่อป้องกันไม่ก่อให้เกิดอันตรายแก่บุคคลอื่นแต่หาได้ทำเช่นนั้นไม่ ทำให้โจทก์ที่ ๑ ได้รับความเสียหายแก่ร่างกาย อนามัยและจิตใจ ขอให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันชำระเงินจำนวน ๒๓,๑๑๒,๕๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และชำระเงินจำนวน ๔๗๑,๓๓๑.๖๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตรา ร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ ๒ และที่ ๓
จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ และจำเลยที่ ๗ ให้การว่า ขณะเกิดเหตุโจทก์ที่ ๓ ไม่ใช่บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ที่ ๑ โจทก์ที่ ๓ จดทะเบียนรับรองบุตรหลังเกิดเหตุคดีนี้ โจทก์ที่ ๓ จึงไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ได้ใช้ความระมัดระวังโดยการจัดให้มีครูประจำชั้นและครูพี่เลี้ยงในการดูแลนักเรียนของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจำนวนห้องละ ๒ คน เพียงพอที่จะดูแลเด็กนักเรียนแต่ละห้อง โดยครูทั้งสองจะต้องอยู่กับเด็กนักเรียนตลอดเวลาและมีประตูทางเข้าออกเพียงด้านเดียวและเปิดปิด เป็นเวลา จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ และครูประจำศูนย์เด็กเล็กได้ห้ามเด็ดขาดไม่ให้เด็กนักเรียนไปเล่นบริเวณที่เกิดเหตุ การเกิดอุบัติเหตุครั้งนี้จึงไม่ได้เกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ และเกิดเพราะเหตุสุดวิสัย สถานที่กองเสาไฟฟ้าเดิมมีรั้วขึงลวดล้อมรอบแต่ถูกคนร้ายลักตัดลวดไป คงเหลือแต่เสาไม้ปักเป็นแนว การเก็บและกองเสาไฟฟ้าได้จัดให้มีท่อนไม้หมอนวางกั้นกลางขนาดตามที่กำหนดไว้ในหนังสือสั่งการของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค มีความมั่นคงแข็งแรงปลอดภัยในการรองรับน้ำหนัก เสาไฟฟ้าอย่างเพียงพอและใช้งานประมาณ ๒ เดือนก่อนเกิดเหตุ การที่เสาไฟฟ้าหล่นทับมือและเท้าของโจทก์ที่ ๑ นั้น เป็นเสาไฟฟ้าต้นริมสุดในชั้นที่ ๕ สาเหตุมาจากการปีนเหนี่ยวรั้งเสาไฟฟ้า อุบัติเหตุม จึงเกิดจากเหตุสุดวิสัย ไม่ใช่เกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๗ ค่าเสียหายสูงเกินจริง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลจังหวัดระยองมีคำสั่งไม่รับฟ้องโจทก์ทั้งสามสำหรับจำเลยที่ ๕ และที่ ๖ เนื่องจากไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคลเป็นเพียงหน่วยงานย่อยในสังกัดจำเลยที่ ๗ เท่านั้น
จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ และจำเลยที่ ๗ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้ตามคำฟ้องโจทก์ทั้งสามอ้างว่า จำเลยที่ ๗ มีหน้าที่จัดหาสถานที่เพื่อจัดเก็บเสาไฟฟ้าเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ และอุบัติภัย มิให้เกิดกับบุคคลอื่น อันเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ ๗ มีหน้าที่จัดให้มีและบำรุงรักษาสิ่งสาธารณูปโภค และระบบสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่น แต่จำเลยที่ ๗ มิได้จัดเก็บ และบำรุงสาธารณูปโภค และสิ่งบริการสาธารณะให้มีความปลอดภัยอย่างเพียงพอ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคล จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามนัยคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๑๔/๒๕๔๗, ๑๕/๒๕๔๗ และ ๑๐/๒๕๔๘
ศาลจังหวัดระยองพิจารณาแล้วเห็นว่า การที่โจทก์ทั้งสามฟ้องจำเลยที่ ๗ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๓ แต่มูลเหตุละเมิดที่โจทก์ทั้งสามฟ้องนั้นเกิดจากการที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอปลวกแดง ซึ่งเป็นหน่วยงานย่อยของจำเลยที่ ๗ นำเสาไฟฟ้าจำนวนมากมากองบนที่ดินติดแนวเขตของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กซึ่งมีเด็กนักเรียนซึ่งเป็นผู้เยาว์อายุไม่เกิน ๕ ปี อยู่เป็นจำนวนมากรวมทั้งโจทก์ที่ ๑ ด้วย โดยวางซ้อนกันหลายชั้น ระหว่างชั้นได้นำท่อนไม้รองหนุนไว้ซึ่งไม่มีความแข็งแรงในการรองรับน้ำหนักของเสาไฟฟ้า เป็นเหตุให้เสาไฟฟ้าหล่นทับโจทก์ที่ ๑ ได้รับอันตรายสาหัสนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามฟ้องมิใช่กรณีละเมิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎคำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร แต่เป็นการละเมิดจากการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติของจำเลยที่ ๗ ซึ่งไม่ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่กรณีในภาวะการณ์เช่นนั้น จึงมิใช่เกี่ยวกับการละเมิดทางปกครองตามนัยมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองระยองพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อพิจารณาจากคำฟ้องของโจทก์แล้ว เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๗ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง มีหน้าที่จัดหาสถานที่เพื่อจัดเก็บเสาไฟฟ้าเพื่อป้องกันอุบัติเหตุและอุบัติภัยมิให้เกิดกับบุคคลอื่น อันเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ ๗ มีหน้าที่จัดให้มีและบำรุงรักษาสิ่งสาธารณูปโภค และระบบสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่น การจัดให้มีและบำรุงรักษาสิ่งสาธารณูปโภคดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมาย ในการจัดระบบและให้บริการสาธารณะ ได้ละเลยต่อหน้าที่มิได้จัดเก็บบำรุงสาธารณูปโภคและสิ่งบริการสาธารณะให้มีความปลอดภัยอย่างเพียงพอ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อโจทก์ทั้งสาม นั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ. ๒๕๐๓ มาตรา ๑๓ (๖) บัญญัติให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค มีอำนาจกระทำการต่าง ๆ ภายในขอบวัตถุประสงค์ตามมาตรา ๖ และอำนาจเช่นว่านี้ให้รวมถึง…(๖) จัดระเบียบเกี่ยวกับความปลอดภัยในการใช้และรักษาทรัพย์สินของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เมื่อจำเลยที่ ๗ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองมีอำนาจหน้าที่ในการจัดระเบียบเกี่ยวกับความปลอดภัยในการใช้และรักษาทรัพย์สินของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคตามมาตรา ๑๓ (๖) แห่งพระราชบัญญัติการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ. ๒๕๐๓ ถูกฟ้องว่าละเลยไม่ใช้ความระมัดระวังอย่างเพียงพอในการจัดหาสถานที่เพื่อจัดเก็บเสาไฟฟ้าเพื่อป้องกันอุบัติเหตุมิให้เกิดกับบุคคลอื่น จนเป็นเหตุให้โจทก์ที่ ๑ ซึ่งวิ่งเล่นเข้าไปในบริเวณใกล้เสาไฟฟ้าดังกล่าว ถูกเสาไฟฟ้าที่กองไว้หล่นทับได้รับบาดเจ็บสาหัส มูลเหตุแห่งการทำละเมิดจึงเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติของจำเลยที่ ๗ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสาม คดีนี้จึงมีลักษณะเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครอง อันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ตามมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
แต่อย่างไรก็ตาม คดีนี้แม้จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ และที่ ๗ จะยื่นคำร้องโต้แย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลเฉพาะมูลคดีที่เกิดจากการกระทำของจำเลยที่ ๗ ก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาคำร้องดังกล่าวโดยตลอดแล้วเห็นได้ว่า เป็นการประสงค์ที่จะโอนคดีทั้งคดีไปพิจารณาพิพากษาที่ศาลปกครอง โดยพิจารณาเห็นว่า จำเลยที่ ๒ เป็นราชการส่วนท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา ๕๐ (๖) และ (๗) แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๑๑ ประกอบกับมาตรา ๑๖ (๙) และ (๑๐) แห่งพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๒ ในการสังคมสงเคราะห์ การพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็ก สตรี คนชรา และผู้ด้อยโอกาส และการจัดการศึกษาให้แก่ราษฎร ซึ่งอำนาจหน้าที่ดังกล่าวย่อมรวมถึงการจัดให้มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในพื้นที่รับผิดชอบของจำเลยด้วย จำเลยที่ ๒ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และเป็นหน่วยงานของรัฐตามมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ ส่วนจำเลยที่ ๑ เป็นพนักงานส่วนท้องถิ่นสังกัดจำเลยที่ ๒ ตำแหน่งหัวหน้าศูนย์เด็กเล็ก จำเลยที่ ๓ เป็นนายกเทศมนตรีตำบลบ้านปลวกแดง จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ จึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และเป็นเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิด พ.ศ. ๒๕๓๙ เมื่อโจทก์ทั้งสามฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ และครูเวรประจำวันได้ปล่อยให้เด็กนักเรียนศูนย์พัฒนาเด็กเล็กรวมทั้งโจทก์ที่ ๑ ออกมาเล่นนอกบริเวณอาคารเรียน โดยจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ และครูเวรประจำวันทราบดีว่าที่ตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กดังกล่าวอยู่ติดกับที่ทำการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอปลวกแดงซึ่งมีเสาไฟฟ้าจำนวนมากวางกองเป็นชั้น ๆ หลายชั้น ชั้นละจำนวนหลายต้นติดกับแนวเขตศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในลักษณะที่น่าเป็นอันตราย แต่จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ และครูเวรประจำวันมิได้ใช้ความระมัดระวังโดยการห้ามมิให้เด็กนักเรียนรวมทั้งโจทก์ที่ ๑ วิ่งเล่นเข้าใกล้เสาไฟฟ้าดังกล่าว เป็นเหตุให้โจทก์ที่ ๑ ถูกเสาไฟฟ้าหล่นทับได้รับบาดเจ็บสาหัส ซึ่งเหตุดังกล่าวเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ และครูเวรประจำวันที่ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังในการดูแลเด็กนักเรียนที่อยู่ในความรับผิดชอบตามหน้าที่รวมทั้งมิได้จัดทำรั้วกั้นบริเวณศูนย์พัฒนาเด็กเล็กให้เป็นสัดส่วน จึงฟ้องขอให้จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายดังกล่าวร่วมกับจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๗ กรณีจึงเป็นการฟ้องกล่าวหาว่าหน่วยงานทางปกครองกระทำละเมิดอันเนื่องมาจากการดำเนินกิจการทางปกครองตามมาตรา ๒๒๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มูลคดีในส่วนนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เช่นเดียวกัน ดังนั้น คดีนี้ทั้งคดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่นหรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร บทบัญญัติดังกล่าวเป็นการกำหนดประเภทคดีปกครองที่เกิดจากการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ โดยมุ่งหมายให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดที่เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐเท่านั้น ไม่รวมถึงการกระทำละเมิดอันมิได้เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ คดีนี้จำเลยที่ ๒ เป็นราชการส่วนท้องถิ่น มีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครอง มีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา ๕๐ (๖) และ (๗) แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๑๑ ประกอบกับมาตรา ๑๖ (๙) และ (๑๐) แห่งพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๒ ในการสังคมสงเคราะห์ การพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็ก สตรี คนชรา และผู้ด้อยโอกาสและการจัดการศึกษาให้แก่ราษฎร มีจำเลยที่ ๓ เป็นผู้แทน และจำเลยที่ ๑ เป็นหัวหน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในสังกัด ส่วนจำเลยที่ ๗ เป็นรัฐวิสาหกิจมีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครอง มีวัตถุประสงค์ในการผลิต จัดให้ได้มา จัดส่ง และจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าในเขตส่วนภูมิภาคซึ่งอยู่นอกเขตท้องที่ที่การไฟฟ้านครหลวงดำเนินการอยู่ และในประเทศใกล้เคียง ตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ. ๒๕๐๓ มาตรา ๖ และมาตรา ๗ และมีอำนาจกระทำการต่าง ๆ ภายในขอบแห่งวัตถุประสงค์ดังกล่าว ซึ่งรวมถึงอำนาจจัดระเบียบเกี่ยวกับความปลอดภัยในการใช้และรักษาทรัพย์สินของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ตามมาตรา ๑๓ (๖) เมื่อโจทก์ ทั้งสามฟ้องว่า จำเลยที่ ๗ ไม่ใช้ความระมัดระวังให้เพียงพอในการนำเสาไฟฟ้ามาวางกองไว้หลายชั้นและระหว่างชั้นได้นำท่อนไม้รองหนุนไว้ซึ่งไม่มีความแข็งแรงรองรับน้ำหนัก และละเลยไม่จัดเปลี่ยนท่อนไม้ที่ใช้รองเสาไฟฟ้าให้อยู่ในสภาพที่แข็งแรง ทั้งไม่นำเสาไฟฟ้าไปกองไว้ที่อื่นซึ่งไม่ติดกับศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เป็นเหตุให้โจทก์ที่ ๑ ถูกเสาไฟฟ้าหล่นทับได้รับบาดเจ็บสาหัส ขอให้ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทน พฤติการณ์การกระทำของจำเลยที่ ๗ ที่โจทก์อ้าง กล่าวถึงการที่จำเลยที่ ๗ นำเสาไฟฟ้ามาวางกองหลายชั้นและระหว่างชั้นได้นำท่อนไม้รองหนุนไว้ซึ่งไม่มีความแข็งแรงรองรับน้ำหนัก และละเลยไม่จัดเปลี่ยนท่อนไม้ที่ใช้รองเสาไฟฟ้าให้อยู่ในสภาพที่แข็งแรง และไม่นำเสาไฟฟ้าไปกองไว้ที่อื่นที่ไม่ติดกับศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เป็นเหตุให้โจทก์ที่ ๑ ถูกเสาไฟฟ้าหล่นทับได้รับบาดเจ็บสาหัส เป็นอำนาจในการปฏิบัติหน้าที่โดยทั่วไปของจำเลยที่ ๗ เท่านั้น เหตุละเมิดหาใช่เกิดจากการใช้อำนาจในการผลิต จัดให้ได้มา จัดส่ง และจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าซึ่งเป็นอำนาจโดยตรงของจำเลยที่ ๗ แต่อย่างใด ดังนั้น ข้อพิพาทในคดีนี้จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แต่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างเด็กชายธนภัทร สุทธศิลป์ โดยนางสาวอุมาพร พรหมบุตร ผู้แทนโดยชอบธรรม ที่ ๑ นางสาวอุมาพร พรหมบุตร ที่ ๒ นายชาติ สุทธศิลป์ ที่ ๓ โจทก์ นางสาวทัศนีย์ สว่างแจ้ง ที่ ๑ เทศบาลตำบลบ้านปลวกแดง ที่ ๒ นายชัยยงค์ คูเพ็ญวิจิตตระการ ที่ ๓ นายเดชา สุนทราเดชอังกูร ที่ ๔ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอปลวกแดง ที่ ๕ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขต ๒ (ภาคกลาง) จังหวัดชลบุรี ที่ ๖ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ที่ ๗ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) สบโชค สุขารมณ์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายสบโชค สุขารมณ์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท ศิลปชัย สรภักดี (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ศิลปชัย สรภักดี) อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share