คำวินิจฉัยที่ 44/2554

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๔๔/๒๕๕๔

วันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๕๔

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)

ศาลจังหวัดสีคิ้ว
ระหว่าง
ศาลปกครองนครราชสีมา

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดสีคิ้วโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๕๒ นางวารุณี สุนยี่ขัน ที่ ๑ นางสาวนิลาวัล บุญโปรด ที่ ๒ โจทก์ ยื่นฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ ๑ ดาบตำรวจจำนงค์ แก้วหาญ ที่ ๒ บริษัทกรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) ที่ ๓ จำเลย ต่อศาลจังหวัดสีคิ้ว เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๓๔/๒๕๕๒ ความว่า เมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจในสังกัดและบังคับบัญชาของจำเลยที่ ๑ ได้ขับรถยนต์ หมายเลขทะเบียน ถก ๙๕๑ กรุงเทพมหานคร ของจำเลยที่ ๑ ซึ่งได้เอาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ ๓ ไปปฏิบัติหน้าที่ราชการในทางการงานของจำเลยที่ ๑ โดยขับรถยนต์คันดังกล่าวกลับจากการไปรับตัวผู้ต้องหาคดีลักทรัพย์กลับสถานีตำรวจภูธรปากช่อง มาตามถนนสายปากช่อง – หัวลำ มุ่งหน้าไปยังอำเภอปากช่อง เมื่อมาถึงบริเวณที่เกิดเหตุซึ่งสภาพถนนเป็นทางลาดลงและเป็นเวลากลางคืนมีแสงสว่างไม่เพียงพอต่อการมองเห็น ตามวิสัยและพฤติการณ์ของบุคคลในภาวะเช่นจำเลยที่ ๒ ต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ โดยลดความเร็วของรถลงและขับรถให้อยู่ในช่องเดินรถของตนเองเพื่อความปลอดภัยหากมีรถคันอื่นแล่นสวนทางมา แต่จำเลยที่ ๒ ได้ขับรถยนต์คันดังกล่าวด้วยความประมาทโดยขับด้วยความเร็วสูงและล้ำเข้าไปในช่องเดินรถฝั่งตรงข้าม เป็นเหตุให้ชนกับรถจักรยานยนต์ หมายเลขทะเบียน งคง ๖๕๐ นครราชสีมา ที่โจทก์ที่ ๑ ขับสวนทางมาในช่องเดินรถของตนอย่างแรง ทำให้โจทก์ที่ ๑ ผู้ขับขี่และโจทก์ที่ ๒ ซึ่งนั่งซ้อนท้ายมาได้รับบาดเจ็บสาหัส ต้องเจ็บป่วยด้วยอาการทุกขเวทนาทรมานจนไม่สามารถประกอบอาชีพการงานตามปกติได้เกินกว่า ๒๐ วัน และรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวของโจทก์ที่ ๑ ได้รับความเสียหายทั้งคัน การกระทำดังกล่าวของจำเลยที่ ๒ เป็นการกระทำโดยประมาทและได้กระทำไปในขณะปฏิบัติหน้าที่ราชการในทางการงานของจำเลยที่ ๑ และเป็นละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชดใช้เงินค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง จำนวน ๑๔,๐๑๒,๐๔๓ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๒ เนื่องจากคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ ๒ กระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ในทางการงานของจำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ ขับรถยนต์คันเกิดเหตุกลับจากไปรับตัวผู้ต้องหาในคดีลักทรัพย์มายังสถานีตำรวจภูธรปากช่องพร้อมพนักงานสอบสวน โจทก์ทั้งสองย่อมต้องฟ้องจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐต้นสังกัด แต่จะฟ้องจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ไม่ได้ ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๕ เหตุที่เกิดขึ้นมิได้เกิดจากการกระทำโดยประมาทของจำเลยที่ ๒ แต่เกิดจากความประมาทเลินเล่อของโจทก์ที่ ๑ ที่ขับรถล้ำเส้นกึ่งกลางทางเดินรถเข้าไปในช่องเดินรถสวนซึ่งเป็นช่องเดินรถของจำเลยที่ ๒ ในระยะกระชั้นชิด โดยไม่ได้ใช้ความระมัดระวังในการขับรถตามสมควร และค่าเสียหายที่เรียกร้องนั้นสูงเกินส่วน ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๓ ให้การว่า ขณะเกิดเหตุคดีนี้จำเลยที่ ๒ ได้ปฏิบัติหน้าที่ราชการตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาตามลำดับขั้นของจำเลยที่ ๑ จริง แต่จำเลยที่ ๒ ไม่ได้ประมาทหรือกระทำละเมิดตามที่ฟ้อง หากแต่เป็นความประมาทของโจทก์ที่ ๑ เองแต่เพียงฝ่ายเดียว จำเลยที่ ๑ จึงไม่ต้องรับผิด จำเลยที่ ๓ จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองเช่นกัน ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นการยื่นฟ้องหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐว่ากระทำประมาทเลินเล่อ ทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครอง อันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ปฏิบัติ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)
ศาลจังหวัดสีคิ้วพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้จำเลยที่ ๒ เป็นข้าราชการสังกัดจำเลยที่ ๑ จึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เมื่อเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์ทั้งสองกล่าวหาว่า จำเลยที่ ๒ ขับรถยนต์ของจำเลยที่ ๑ ที่เอาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ ๓ โดยประมาท เป็นเหตุให้เฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์ของโจทก์ที่ ๑ ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับบาดเจ็บ และรถจักรยานยนต์ของโจทก์ที่ ๑ ได้รับความเสียหาย ลักษณะของพฤติกรรมต่างๆ ที่โจทก์ทั้งสองอ้างเป็นการกล่าวถึงขั้นตอนที่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ ๒ ในขณะขับรถยนต์คันดังกล่าวเพื่อรับตัวผู้ต้องหามาควบคุมที่สถานีตำรวจ เพื่อให้การรับตัวผู้ต้องหากลับมาควบคุมที่สถานีตำรวจภูธรปากช่องบรรลุผล อันถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทั่วไปเท่านั้น หาใช่เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายแต่อย่างใดไม่ ทั้งการที่จะพิจารณาว่าจำเลยทั้งสามจะต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองหรือไม่เพียงใดนั้น ก็เป็นข้อพิพาทที่เกี่ยวพันกัน ซึ่งศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าจำเลยที่ ๒ กระทำละเมิดหรือไม่ ดังนั้น ข้อพิพาทในคดีนี้จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย อันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) หากแต่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมศาลปกครองนครราชสีมาพิจารณาแล้วเห็นว่า บทบัญญัติในมาตรา ๒๒๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีปกครองไว้เป็นการเฉพาะ ดังนั้น ในการพิจารณาเขตอำนาจศาลระหว่างศาลปกครองและศาลยุติธรรม จึงต้องพิจารณาเขตอำนาจของศาลปกครองเป็นหลัก หากคดีใดไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองจึงจะอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม และหากคดีใดอยู่ในอำนาจของศาลปกครองแล้วศาลยุติธรรมย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษา โดยที่มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มุ่งหมายให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่นหรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมถึงการกระทำละเมิดที่เกิดจากการดำเนินกิจการทางปกครอง ดังนั้น คดีนี้มูลเหตุแห่งการฟ้องคดีเกิดจากจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ปฏิบัติหน้าที่พลขับของร้อยเวรสอบสวน โดยจำเลยที่ ๒ ขับรถยนต์ของทางราชการของจำเลยที่ ๑ ซึ่งทำประกันภัยไว้กับจำเลยที่ ๓ เพื่อไปรับตัวผู้ต้องหาในคดีลักทรัพย์กลับไปยังสถานีตำรวจภูธรปากช่อง โดยเดินทางพร้อมกับพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรปากช่องซึ่งเป็นร้อยเวร และได้ควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ที่กระบะหลังรถ จำเลยที่ ๒ ได้ขับรถยนต์มาตามถนนสายปากช่อง – หัวลำ และเกิดเฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ของโจทก์ที่ ๑ เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองได้รับบาดเจ็บสาหัสและทำให้ทรัพย์ได้รับความเสียหาย เห็นว่า จำเลยที่ ๑ เป็นหน่วยงานของรัฐที่จำเลยที่ ๒ อยู่ในสังกัด มาตรา ๖ (๗) แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๗ บัญญัติให้มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติการอื่นใดเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่ ตามมาตรา ๖ (๑) (๒) (๓) (๔) หรือ (๕) เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จำเลยที่ ๒ เป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับและคำสั่งของจำเลยที่ ๑ หรือตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา เหตุพิพาทเกิดขึ้นในขณะที่จำเลยที่ ๒ ปฏิบัติหน้าที่เป็นพลขับของร้อยเวรสอบสวนขับรถยนต์ของทางราชการระหว่างทางเพื่อรับตัวผู้ต้องหาในคดีอาญาไปยังสถานีตำรวจภูธรปากช่อง เมื่อพิจารณาถึงเป้าหมายการเดินทางเพื่อไปปฏิบัติหน้าที่ทางปกครองอันเป็นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสอบสวนตามอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ตามนัยมาตรา ๖ (๗) แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๗ อันเป็นการดำเนินกิจการทางปกครองของหน่วยงานทางปกครอง และมิใช่เป็นการกระทำตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเป็นการเฉพาะ ดังนั้น คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งมีลักษณะเป็นคดีปกครองตามมาตรา ๒๒๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้จำเลยที่ ๑ เป็นส่วนราชการมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๗ จึงมีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ จำเลยที่ ๒ เป็นเจ้าพนักงานตำรวจในสังกัดจำเลยที่ ๑ จึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) บัญญัติให้ “ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร” อันเป็นการกำหนดประเภทคดีปกครองที่เกิดจากการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ โดยมุ่งหมายให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดที่เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐเท่านั้น ไม่รวมถึงการกระทำละเมิดอันมิได้เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ เมื่อเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้โจทก์ทั้งสองอ้างว่า จำเลยที่ ๒ ขับรถยนต์ของจำเลยที่ ๑ ที่ได้เอาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ ๓ ไปปฏิบัติหน้าที่ราชการในทางการงานของจำเลยที่ ๑ โดยขับรถยนต์คันดังกล่าวกลับจากการไปรับตัวผู้ต้องหาคดีลักทรัพย์กลับสถานีตำรวจภูธรปากช่อง แต่จำเลยที่ ๒ ขับรถยนต์คันดังกล่าวโดยประมาทชนกับรถจักรยานยนต์ของโจทก์ที่ ๑ ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย จึงเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ ๒ กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองโดยการขับรถ อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทั่วไป หาใช่เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายแต่อย่างใดไม่ ดังนั้น ข้อพิพาทในคดีนี้ จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แต่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนางวารุณี สุนยี่ขัน ที่ ๑ นางสาวนิลาวัล บุญโปรด ที่ ๒ โจทก์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ ๑ ดาบตำรวจจำนงค์ แก้วหาญ ที่ ๒ บริษัทกรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) ที่ ๓ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) สบโชค สุขารมณ์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายสบโชค สุขารมณ์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท ศิลปชัย สรภักดี (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ศิลปชัย สรภักดี) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share