คำวินิจฉัยที่ 38/2554

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๓๘/๒๕๕๔

วันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๕๔

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔)

ศาลจังหวัดพะเยา
ระหว่าง
ศาลปกครองเชียงใหม่

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดพะเยาโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๒ นางจุฬารัตน์ กาตาสาย โจทก์ ยื่นฟ้องโรงเรียนบ้านปางงุ้น จำเลย ต่อศาลจังหวัดพะเยา เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๕๗๙/๒๕๕๒ ความว่า เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๕๒ โจทก์และจำเลยตกลงทำสัญญาซื้อขายครุภัณฑ์เครื่องคอมพิวเตอร์ จำนวน ๑๒ รายการ ราคารวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ๓๓๘,๐๐๐ บาท กำหนดส่งมอบสินค้าภายในวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๒ และเพื่อประกันการปฏิบัติตามสัญญาโจทก์ได้วางเงินประกันตามสัญญาซื้อขาย จำนวน ๑๖,๙๐๐ บาท โจทก์ได้จัดเตรียมสินค้าเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อส่งมอบให้คณะกรรมการตรวจรับพัสดุของจำเลยตรวจรับในวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๒ และแจ้งให้จำเลยทราบเมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๕๒ แต่ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านปางงุ้นซึ่งมีอำนาจกระทำการแทนจำเลยได้แจ้งขอเลื่อนการส่งมอบสินค้าเป็นวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๕๒ ต่อมาเมื่อวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๕๒ โจทก์ได้ส่งมอบและติดตั้งเครื่องพร้อมติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์ให้กับจำเลยเพื่อให้คณะกรรมการตรวจรับพัสดุทำการตรวจรับงาน แต่จำเลยแจ้งว่าสินค้าของโจทก์ไม่ถูกต้องตรงตามคุณสมบัติของสำนักงานพื้นที่การศึกษาขั้นพื้นฐานและไม่ยอมชำระราคา และแจ้งให้โจทก์นำสินค้ากลับคืนไป โจทก์จึงนำสินค้ากลับมาเก็บรักษาและทวงถามให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาหลายครั้ง แต่จำเลยบ่ายเบี่ยงเรื่อยมา โจทก์ได้ร้องขอความเป็นธรรมต่อสำนักงานพื้นที่การศึกษาขั้นพื้นฐานเขตที่ ๑ แต่ก็ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือใดๆ การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลมีคำพิพากษาบังคับให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายจำนวน ๒๙๔,๙๙๙ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเรื่อยไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากจำเลยไม่ใช่คู่สัญญาตามสัญญาพิพาท ผู้ซื้อที่แท้จริงคือ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และจำเลยไม่ได้ผิดสัญญาเนื่องจากโจทก์ส่งมอบสินค้าไม่ได้มาตรฐานตรงตามคุณลักษณะ จำเลยจึงแจ้งให้โจทก์ปรับปรุงแก้ไขและส่งมอบใหม่ แต่โจทก์ไม่มีสินค้ามาส่งมอบให้แก่จำเลย จำเลยจึงบอกเลิกสัญญา ค่าเสียหายที่โจทก์ฟ้องสูงเกินความจริง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า สัญญาซื้อขายพิพาทเป็นสัญญาที่ให้โจทก์จัดทำบริการสาธารณะ จึงมีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครอง การที่โจทก์ฟ้องจำเลยเพื่อเรียกค่าเสียหายโดยอ้างว่าจำเลยผิดสัญญาดังกล่าว จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดพะเยาพิจารณาแล้วเห็นว่า การพิจารณาคดีมีประเด็นว่า โจทก์หรือจำเลยเป็นผู้ผิดสัญญา แม้จำเลยจะเป็นหน่วยงานทางปกครอง แต่การพิจารณาไม่ได้พิจารณาก่อนที่จะมีการทำสัญญาว่าขั้นตอนเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะได้ล่วงเลยขั้นตอนดังกล่าวมาแล้ว เพียงแต่วินิจฉัยว่าฝ่ายใดเป็นผู้ผิดสัญญาเท่านั้น และลักษณะของสัญญามิได้เป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค หรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ สัญญาซื้อขายพิพาทเกิดขึ้นจากโจทก์และจำเลยซึ่งอยู่ในฐานะที่เท่าเทียมกันแสดงเจตนาโดยใจสมัคร คดีพิพาทจึงไม่อยู่ในอำนาจศาลปกครองที่จะพิจารณาตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองเชียงใหม่พิจารณาแล้วเห็นว่า สัญญาซื้อขายพิพาทลงนามโดยผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านปางงุ้น ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ได้รับมอบอำนาจให้กระทำการแทนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สัญญาดังกล่าวจึงมีผลผูกพันสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานซึ่งเป็นส่วนราชการของกระทรวงศึกษาธิการ มีฐานะเป็นนิติบุคคลและเป็นกรมตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ตามมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. ๒๕๔๖ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดหลักเกณฑ์ แนวทาง และดำเนินการเกี่ยวกับการสนับสนุนทรัพยากร การจัดตั้ง จัดสรรทรัพยากร และบริหารงบประมาณอุดหนุนการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน การพัฒนาระบบการบริหาร และส่งเสริม ประสานงานเครือข่ายข้อมูลสารสนเทศ การนำเทคโนโลยีสารสนเทศไปใช้ในการเรียนการสอน รวมทั้งส่งเสริมการนิเทศการบริหารและการจัดการศึกษา และการพัฒนานวัตกรรมทางการศึกษา ฯลฯ ตามข้อ ๑ ของกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. ๒๕๔๖ กรณีจึงเป็นกิจการหรือภารกิจในการจัดทำบริการสาธารณะที่เกี่ยวกับการศึกษาอย่างหนึ่งที่รัฐเป็นผู้จัดทำ ซึ่งในปีงบประมาณ ๒๕๕๒ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานก็ได้มีการคัดเลือกจัดสรรระบบคอมพิวเตอร์เพื่อการเรียนการสอน CL ๑๐ และเมื่อพิจารณาข้อกำหนดแห่งสัญญาซื้อขายดังกล่าวที่ระบุเกี่ยวกับแบบแปลนห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ การส่งมอบที่ต้องติดตั้งให้เรียบร้อยสามารถใช้การได้ดีแล้ว เห็นว่า การจัดซื้อครุภัณฑ์ระบบคอมพิวเตอร์เพื่อการเรียนการสอน CL ๑๐ ให้แก่โรงเรียนบ้านปางงุ้น เป็นการดำเนินภารกิจตามอำนาจหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนให้แก่นักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็กและโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา การทำสัญญาซื้อครุภัณฑ์ระบบคอมพิวเตอร์ดังกล่าวโดยมีข้อกำหนดให้ผู้ขายติดตั้งพร้อมใช้งานได้ในห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ของโรงเรียนานปางงุ้นก็เพื่อให้นักเรียนของโรงเรียนบ้านปางงุ้นได้ใช้ในการศึกษาค้นคว้าหาความรู้ ครุภัณฑ์ระบบคอมพิวเตอร์เพื่อการเรียนการสอน CL ๑๐ จึงเป็นอุปกรณ์และเครื่องมือสำคัญที่ใช้ในการส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อให้การจัดทำบริการสาธารณะด้านการศึกษาบรรลุผล สัญญาซื้อขายครุภัณฑ์ระบบคอมพิวเตอร์ที่พิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นสัญญาทางปกครอง ตามนัยมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ดังนั้น การที่โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ส่งมอบและทำการติดตั้งเครื่องคอมพิวเตอร์ให้จำเลยแล้ว แต่จำเลยไม่ยอมรับเครื่องคอมพิวเตอร์ และไม่ยอมชำระเงินตามสัญญาซื้อขายให้แก่โจทก์ จึงฟ้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ กรณีจึงเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ทั้งนี้ ตามนัยคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๒๗/๒๕๕๑ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องคดีนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานมอบอำนาจให้จำเลยทำสัญญาซื้อขายครุภัณฑ์เครื่องคอมพิวเตอร์กับโจทก์ โดยโจทก์ได้ส่งมอบและติดตั้งเครื่องพร้อมติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์ให้กับจำเลยเพื่อให้คณะกรรมการตรวจรับพัสดุทำการตรวจรับงาน แต่จำเลยแจ้งว่าสินค้าของโจทก์ไม่ถูกต้องตรงตามคุณสมบัติของสำนักงานพื้นที่การศึกษาขั้นพื้นฐานและไม่ยอมชำระราคา และแจ้งให้โจทก์นำสินค้ากลับคืนไป โจทก์จึงนำสินค้ากลับมาเก็บรักษาและทวงถามให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาหลายครั้ง แต่จำเลยบ่ายเบี่ยงเรื่อยมา ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลมีคำพิพากษาบังคับให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย ส่วนจำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้ผิดสัญญาเนื่องจากโจทก์ส่งมอบสินค้าไม่ได้มาตรฐานตรงตามคุณลักษณะ จำเลยจึงแจ้งให้โจทก์ปรับปรุงแก้ไขและส่งมอบใหม่ แต่โจทก์ไม่มีสินค้ามาส่งมอบให้แก่จำเลย จำเลยจึงบอกเลิกสัญญา คดีนี้จึงต้องพิจารณาว่า สัญญาซื้อขายครุภัณฑ์เครื่องคอมพิวเตอร์ระหว่างโจทก์และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยจำเลยผู้รับมอบอำนาจ เป็นสัญญาทางแพ่งหรือสัญญาทางปกครอง เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) บัญญัติว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง และมาตรา ๓ บัญญัติว่า สัญญาทางปกครอง หมายความรวมถึง สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ คดีนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นส่วนราชการมีฐานะเป็นกรมตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ตามมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. ๒๕๔๖ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดหลักเกณฑ์ แนวทาง และดำเนินการเกี่ยวกับการสนับสนุนทรัพยากร การจัดตั้ง จัดสรรทรัพยากร และบริหารงบประมาณอุดหนุนการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน การพัฒนาระบบการบริหาร และส่งเสริม ประสานงานเครือข่ายข้อมูลสารสนเทศ การนำเทคโนโลยีสารสนเทศไปใช้ในการเรียนการสอน รวมทั้งส่งเสริมการนิเทศการบริหารและการจัดการศึกษา และการพัฒนานวัตกรรมทางการศึกษา ฯลฯ ตามข้อ ๑ ของกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. ๒๕๔๖ เมื่อสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานมอบอำนาจให้จำเลยซึ่งเป็นโรงเรียนในสังกัดทำสัญญาซื้อขายครุภัณฑ์เครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีสาระสำคัญให้โจทก์ซึ่งเป็นเอกชนจัดหาและส่งมอบครุภัณฑ์เครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อใช้ในการจัดการเรียนการสอนของจำเลย อันเป็นภารกิจเกี่ยวกับการจัดทำบริการสาธารณะด้านการศึกษาอย่างหนึ่ง ครุภัณฑ์เครื่องคอมพิวเตอร์ดังกล่าวจึงเป็นเครื่องมือหรืออุปกรณ์ในการจัดทำบริการสาธารณะของจำเลย สัญญาซื้อขายครุภัณฑ์เครื่องคอมพิวเตอร์ระหว่างโจทก์และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยจำเลยผู้รับมอบอำนาจ จึงเป็นสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ข้อพิพาทระหว่างโจทก์และจำเลยจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนางจุฬารัตน์ กาตาสาย โจทก์ โรงเรียนบ้านปางงุ้น จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) สบโชค สุขารมณ์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายสบโชค สุขารมณ์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท ศิลปชัย สรภักดี (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ศิลปชัย สรภักดี) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share