คำวินิจฉัยที่ 36/2554

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๓๖/๒๕๕๔

วันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๕๔

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)

ศาลแพ่งธนบุรี
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแพ่งธนบุรีโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๕๒ พลตำรวจตรีจตุรงค์ ภุมรินทร์ โจทก์ ยื่นฟ้องพลตำรวจตรีบุญส่ง พานิชอัตรา ที่ ๑ พันตำรวจเอกฉลองชัย บุรีรัตน์ ที่ ๒ จำเลย ต่อศาลแพ่งธนบุรี เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๒๔๕/๒๕๕๒ ความว่า เมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๔๖ พลตำรวจเอกสันต์ ศรุตานนท์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในขณะนั้น ได้มีคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ ๕๓๕/๒๕๔๖ แต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงกรณีปรากฏข่าวทางหนังสือพิมพ์ว่า การประกอบกิจการ อาบ อบ นวด ในเขตกรุงเทพมหานครจะต้องมีการจ่ายส่วยให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายระดับจึงจะสามารถประกอบกิจการได้ ถ้าไม่จ่ายก็จะถูกจับกุม โดยมีพลตำรวจโทอัมรินทร์ เนียมสกุล เป็นประธานกรรมการ จำเลยที่ ๑ เป็นกรรมการ และจำเลยที่ ๒ เป็นกรรมการและเลขานุการ พลตำรวจโทอัมรินทร์และจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันจัดทำรายงานผลการสืบสวนข้อเท็จจริงโดยมีเนื้อความบางส่วนเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ด้วยข้อความอันเป็นเท็จเพื่อปรักปรำโจทก์ ไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่เกิดจากพยานหลักฐานที่ได้จากการสืบสวนข้อเท็จจริง จึงเป็นการใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจโดยปราศจากพยานหลักฐานสนับสนุน และมีเจตนาหมิ่นประมาทโจทก์ด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมและไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นเหตุให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเชื่อและมีคำสั่งตั้งกรรมการสอบสวนวินัยโจทก์ร้ายแรงและมีคำสั่งสำรองราชการโจทก์ แต่หลังจากที่ได้มีการสอบสวนวินัยโจทก์ร้ายแรงแล้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้มีคำสั่งให้ยุติเรื่อง เนื่องจากโจทก์ไม่ได้กระทำผิดวินัยร้ายแรงตามที่ถูกกล่าวหาและโจทก์ไม่มีมลทินหรือมัวหมองในกรณีที่ถูกสอบสวนแต่อย่างใด การกระทำของพลตำรวจโทอัมรินทร์และจำเลยทั้งสองเป็นการร่วมกันกระทำละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียง เกียรติคุณ ครอบครัว วงศ์ตระกูล ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง และทางเจริญของโจทก์ และทำให้ต้องถูกสำรองราชการ เสียสิทธิในการได้รับการพิจารณาเลื่อนตำแหน่งที่สูงขึ้น ไม่ได้รับเงินประจำตำแหน่ง และทำให้ผู้บังคับบัญชา ผู้ใต้บังคับบัญชา และประชาชนเมื่อทราบข้อความหมิ่นประมาทดังกล่าวมองว่าโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทุจริตแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย เรียกรับผลประโยชน์จากประชาชน ขอให้ศาลมีคำพิพากษาบังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน ๔๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้ประกาศขอขมาโจทก์ทางหนังสือพิมพ์ เป็นเวลาติดต่อกัน ๗ วัน โดยค่าใช้จ่ายของจำเลยทั้งสองเองก่อนฟ้องคดีนี้ โจทก์ได้ฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลแขวงปทุมวันในความผิดฐานหมิ่นประมาท (คดีหมายเลขดำที่ ๒๐๒/๒๕๕๒ หมายเลขแดงที่ ๙๖๖/๒๕๕๒) ซึ่งจำเลยทั้งสองยอมรับผิดเป็นการส่วนตัวว่า การเสนอรายงานผลการสืบสวนข้อเท็จจริงเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ และจำเลยทั้งสองได้ลงประกาศในหนังสือพิมพ์ยอมรับผิดว่าการใส่ความหมิ่นประมาทโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์จึงยื่นคำร้องขอถอนฟ้อง ศาลอนุญาตและมีคำสั่งจำหน่ายคดีแล้วจำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองสืบสวนข้อเท็จจริงตามคำสั่งที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา ข้อเท็จจริงทุกอย่างเป็นไปตามพยานหลักฐานที่ได้จากการสืบสวน เมื่อจำเลยทั้งสองเสนอรายงานผลการสืบสวนข้อเท็จจริงต่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติแล้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติจะมีความเห็นอย่างใดก็เป็นดุลพินิจของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จำเลยทั้งสองไม่อาจแทรกแซงได้ การที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติตรวจรายงานผลการสืบสวนข้อเท็จจริงแล้วมีความเห็นให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงและสำรองราชการโจทก์ ก็แสดงว่ารายงานผลการสืบสวนข้อเท็จจริงของจำเลยทั้งสองถูกต้อง การกระทำของจำเลยทั้งสองไม่เป็นการละเมิดหรือหมิ่นประมาทโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ คดีขาดอายุความ และเมื่อการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ โจทก์จึงไม่อาจฟ้องจำเลยทั้งสองได้ แต่ต้องฟ้องหน่วยงานของรัฐคือสำนักงานตำรวจแห่งชาติโดยตรง ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๕ คำฟ้องของโจทก์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า การที่จำเลยทั้งสองสืบสวนข้อเท็จจริงและสรุปความเห็นเสนอต่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จึงเป็นการเตรียมการและดำเนินการของเจ้าหน้าที่เพื่อเสนอต่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เพื่อจัดให้มีคำสั่งทางปกครอง แม้ในที่สุดพยานหลักฐานจะรับฟังไม่ได้ว่าโจทก์กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามข้อกล่าวหา และได้มีการยุติเรื่องทางวินัยก็ตาม แต่การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่และเป็นการปฏิบัติตามวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง เป็นการใช้อำนาจตามที่กฎหมายกำหนด ดังนั้น การที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ฐานละเมิด เรียกค่าเสียหายโดยมีมูลคดีมาจากการที่จำเลยกระทำไปในการปฏิบัติราชการตามวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย นอกจากนี้ตามคำฟ้องโจทก์ยังกล่าวหาว่า จำเลยทั้งสองเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และโดยไม่สุจริต ปั้นแต่งเรื่องขึ้นเพื่อปรักปรำโจทก์ ใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ คำฟ้องของโจทก์เข้าลักษณะเป็นคดีปกครอง ศาลปกครองจึงมีอำนาจที่จะพิจารณาพิพากษาคดีนี้
โจทก์ยื่นคำร้องว่า การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้สืบเนื่องมาจากจำเลยทั้งสองยอมรับผิดเป็นการส่วนตัวในคดีอาญาที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลแขวงปทุมวันในความผิดฐานหมิ่นประมาท (คดีหมายเลขดำที่ ๒๐๒/๒๕๕๒ หมายเลขแดงที่ ๙๖๖/๒๕๕๒) ว่า จำเลยทั้งสองใส่ความหมิ่นประมาทโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย การสรุปรายงานผลการสืบสวนข้อเท็จจริงในส่วนที่เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์นั้น เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่นอกเหนือคำสั่งที่ ๕๓๕/๒๕๔๖ จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดเป็นการส่วนตัวต่อโจทก์ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลแพ่งธนบุรีพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อพิจารณารายงานผลการสืบสวนข้อเท็จจริงแล้ว การสืบสวนไม่ปรากฏพยานหลักฐานพอรับฟังได้ว่าโจทก์กระทำความผิดจริงตามข้อกล่าวหาได้ แต่จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นคณะกรรมการสืบสวนกลับสรุปความเห็นในทำนองว่า โจทก์กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหาจริง ซึ่งเป็นการสรุปความเห็นของจำเลยทั้งสองเอง โดยมิได้อาศัยพยานหลักฐานที่ได้จากการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยทั้งสอง การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงมิใช่การกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น ทั้งการกระทำละเมิดด้วยการนำข้อความอันเป็นเท็จไปกล่าวและไขข่าวให้แพร่หลายต่อประชาชนเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายนั้น ก็ไม่มีกฎหมายกำหนดให้จำเลยทั้งสองกระทำการดังกล่าวได้ คดีนี้จึงไม่ใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดอันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครอง ไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองที่จะพิจารณาพิพากษาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) คดีจึงอยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อพิจารณาบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แล้วย่อมเห็นได้ว่า คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น มีเหตุมาจากการกระทำของหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐในหลายกรณีด้วยกัน กล่าวคือ อาจจะเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากการออกกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรก็ได้ การพิจารณาว่าคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐจะอยู่ในอำนาจของศาลปกครอง หรือไม่ จึงต้องพิจารณาจากเหตุดังกล่าวเป็นกรณี ๆ ไป โดยพิจารณาจากสถานภาพและการกระทำของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ทำให้เกิดความเสียหายเป็นสำคัญ คดีนี้จำเลยทั้งสองได้รับการแต่งตั้งตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้เป็นคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง กรณีนายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ได้แถลงข่าวทางสื่อมวลชนว่ามีการส่งส่วยให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจในการประกอบกิจการสถานบริการ อาบ อบ นวด ซึ่งสร้างความเสื่อมเสียต่อภาพลักษณ์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผลจากการถูกแต่งตั้งย่อมทำให้จำเลยทั้งสองมีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดีเล่ม ๑ ตอน ๑ ประเภทบุคคล ลักษณะที่ ๑๖ ข้อ ๑๓ กำหนดไว้ โดยสามารถทำการสืบสวนข้อเท็จจริงและจัดทำรายงานเพื่อประกอบการพิจารณาสั่งการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติต่อไปได้ การที่จำเลยทั้งสองได้สอบปากคำผู้ที่เกี่ยวข้อง และสรุปว่าการแถลงข่าวของนายชูวิทย์เป็นความจริงและโจทก์มีพฤติการณ์เกี่ยวข้องในเรื่องดังกล่าว เห็นควรตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยโจทก์ จึงเป็นการดำเนินการสืบสวนข้อเท็จจริงเพื่อทราบรายละเอียดแห่งความผิดซึ่งถือเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ เพราะการสอบปากคำบุคคลดังกล่าว จำเป็นต้องมีคำสั่งเรียกบุคคลดังกล่าวมาให้ถ้อยคำอันถือได้ว่าเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมาย และการที่จำเลยทั้งสองจะกระทำการเช่นว่านั้นได้ก็เนื่องมาจากจำเลยทั้งสองได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงตามคำสั่งของสำนักงานตำรวจแห่งชาตินั่นเอง เพราะหากจำเลยทั้งสองไม่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงแล้ว ก็ไม่อาจมีอำนาจที่จะเรียกบุคคลเหล่านั้นมาให้ถ้อยคำได้ การดำเนินการของจำเลยทั้งสองในการสอบพยานบุคคลและสรุปผลการสืบสวนจากการให้ถ้อยคำและพยานหลักฐานต่างๆ ล้วนเป็นผลสืบเนื่องมาจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หาใช่เป็นการกระทำโดยส่วนตัวของจำเลยทั้งสองแต่อย่างใดไม่ เมื่อจำเลยทั้งสองเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและใช้อำนาจตามกฎหมายในการสืบสวนบุคคลที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงและสรุปว่าโจทก์มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องดังกล่าว และโจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองขอให้ชดใช้ค่าเสียหายทั้งที่เป็นตัวเงินและประกาศขอขมาทางหนังสือพิมพ์ ข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกันว่า จำเลยทั้งสองได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงกรณีปรากฏข่าวทางหนังสือพิมพ์ว่า การประกอบกิจการ อาบ อบ นวด ในเขตกรุงเทพมหานครจะต้องมีการจ่ายส่วยให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายระดับจึงจะสามารถประกอบกิจการได้ ถ้าไม่จ่ายก็จะถูกจับกุม จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันจัดทำรายงานผลการสืบสวนข้อเท็จจริงโดยมีเนื้อความบางส่วนเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ด้วยข้อความอันเป็นเท็จเพื่อปรักปรำโจทก์ ไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่เกิดจากพยานหลักฐานที่ได้จากการสืบสวนข้อเท็จจริง จึงเป็นการใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจโดยปราศจากพยานหลักฐานสนับสนุน และมีเจตนาหมิ่นประมาทโจทก์ด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมและไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นเหตุให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเชื่อและมีคำสั่งตั้งกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงและมีคำสั่งสำรองราชการโจทก์ แต่หลังจากที่ได้มีการสอบสวนวินัยร้ายแรงแล้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้มีคำสั่งให้ยุติเรื่อง เนื่องจากโจทก์ไม่ได้กระทำผิดวินัยร้ายแรงตามที่ถูกกล่าวหาและไม่มีมลทินหรือมัวหมองในกรณีที่ถูกสอบสวนแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการร่วมกันกระทำละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลมีคำพิพากษาบังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย และให้จำเลยทั้งสองประกาศขอขมาโจทก์ทางหนังสือพิมพ์ เห็นว่า การสืบสวนข้อเท็จจริงและจัดทำรายงานผลการสืบสวนข้อเท็จจริงของจำเลยทั้งสองเพื่อเสนอผู้บังคับบัญชาเป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ที่ได้รับแต่งตั้งตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมาย การที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการดำเนินการดังกล่าวของจำเลยทั้งสอง จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างพลตำรวจตรีจตุรงค์ ภุมรินทร์ โจทก์ พลตำรวจตรีบุญส่ง พานิชอัตรา ที่ ๑ พันตำรวจเอกฉลองชัย บุรีรัตน์ ที่ ๒ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของ
ศาลปกครอง

(ลงชื่อ) สบโชค สุขารมณ์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายสบโชค สุขารมณ์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท ศิลปชัย สรภักดี (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ศิลปชัย สรภักดี) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share