คำวินิจฉัยที่ 39/2554

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๓๙/๒๕๕๔

วันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๕๔

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลจังหวัดเชียงใหม่
ระหว่าง
ศาลปกครองเชียงใหม่

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดเชียงใหม่โดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๕๑ บริษัทวังกุหลาบ จำกัด ที่ ๑ นายวีระวัฒน์ สัตยานุรักษ์ ที่ ๒ นางสาวเพ็ญสุข ตันตรานนท์ ที่ ๓ นายณรงค์ แย้มประเสริฐ ที่ ๔ นางพรรณี สุนทรแสน ที่ ๕ นางอรวรรณ เที่ยงธรรม ที่ ๖ บริษัทเนชัลรัล เพลส์ จำกัด ที่ ๗ โจทก์ ยื่นฟ้อง กรมที่ดิน ที่ ๑ กระทรวงมหาดไทย ที่ ๒ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ที่ ๓ สำนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ ที่ ๔ ที่ว่าการอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ที่ ๕ สำนักงานที่ดินอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ที่ ๖ จำเลย ต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๑๔๕/๒๕๕๑
ความว่า เดิมโจทก์ที่ ๑ เป็นเจ้าของที่ดินซึ่งมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) ตั้งอยู่ตำบลแม่แรม อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน ๔๐ แปลง ต่อมาโจทก์ที่ ๑ โอนที่ดิน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๗๑๘ แก่โจทก์ที่ ๒ และที่ ๔ เลขที่ ๗๓๘ แก่โจทก์ที่ ๓ เลขที่ ๗๔๖ แก่โจทก์ที่ ๕ เลขที่ ๗๗๑ แก่โจทก์ที่ ๖ และเลขที่ ๘๔๒ แก่โจทก์ที่ ๗ แต่จำเลยทั้งหกเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) ที่ดินของโจทก์ทั้งเจ็ดโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากที่ดินของโจทก์ทั้งเจ็ดไม่ใช่ที่ป่าตามคำวินิจฉัยของจำเลยทั้งหกตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๔ (๑) และพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ มาตรา ๔ และมาตรา ๑๒ วรรคท้าย เพราะโจทก์ทั้งเจ็ดรับโอนที่ดินดังกล่าวมาจากเจ้าของที่ดินเดิมซึ่งครอบครองและทำประโยชน์มาก่อนประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับและก่อนคณะรัฐมนตรีประกาศเป็นเขตป่าไม้ถาวร การกระทำของจำเลยทั้งหกดังกล่าวทำให้โจทก์ทั้งเจ็ดเสียหายไม่สามารถจำหน่ายที่ดิน ซึ่งแบ่งเป็นแปลงย่อยและจัดทำสาธารณูปโภคแล้วให้บุคคลทั่วไปได้ ขอให้บังคับจำเลยทั้งหกชำระเงินค่าเสียหาย แก่โจทก์ทั้งเจ็ดตามสัดส่วนที่ถือครองรวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน ๑๖๑,๒๙๘,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย ในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ ๑ และให้คืน น.ส. ๓ ก. ทั้งหมดแก่โจทก์ทั้งเจ็ด
จำเลยทั้งหกให้การว่า โจทก์ทั้งเจ็ดไม่มีอำนาจฟ้อง คดีของโจทก์ทั้งเจ็ดอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองเชียงใหม่ เพราะมูลความแห่งคดีเป็นเรื่องกล่าวหาว่าจำเลยทั้งหกซึ่งเป็นส่วนราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจออกคำสั่งทางปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นฟ้องซ้อนกับคดีหมายเลขดำที่ ๖๑/๒๕๕๑ ของศาลปกครองเชียงใหม่ ส่วนการถือครองและการออก น.ส.๓ ก. สำหรับที่ดินของโจทก์ทั้งเจ็ดดำเนินการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากออกทับเขตป่าไม้ถาวร ป่าแม่ริม แปลงที่ ๑ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๐๙ ส่วนที่โจทก์ทั้งเจ็ดอ้างว่าเจ้าของที่ดินเดิมครอบครองและทำประโยชน์มาก่อนประมวลกฎหมายที่ดิน ใช้บังคับและก่อนคณะรัฐมนตรีประกาศเป็นป่าไม้ถาวรนั้น ก็ไม่ปรากฏว่าในชั้นขอออก น.ส. ๓ ก. ดังกล่าว ผู้ขอมีหลักฐานสำหรับที่ดินใดๆ มาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ จึงไม่สามารถออก น.ส. ๓ ก. โดยวิธีการเดินสำรวจตามประมวลกฎหมายที่ดินได้ การที่จำเลยที่ ๑ มีคำสั่งเพิกถอน น.ส. ๓ ก. ในที่ดินของโจทก์ทั้งเจ็ด จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยทั้งหกจึงไม่ต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งเจ็ด ที่ดินของโจทก์ทั้งเจ็ดมีราคาประเมินตามท้องตลาดเพียงตารางวาละ ๑,๒๕๐ บาท การที่โจทก์ทั้งเจ็ดเรียกค่าเสียหายมาตารางวาละ ๖,๐๐๐ บาท เป็นการเรียกค่าเสียหายเกินความจริง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยทั้งหกยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า มูลเหตุแห่งการฟ้องคดี สืบเนื่องมาจากความเสียหายอันเกิดจากการที่โจทก์ทั้งเจ็ดกล่าวหาว่าจำเลยทั้งหกร่วมกันกระทำการ โดยใช้อำนาจในตำแหน่งที่เกี่ยวกับการพิจารณาออกคำสั่งให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก. ) ในที่ดินพิพาทของโจทก์ทั้งเจ็ดโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจตามกฎหมายออกคำสั่งทางปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
โจทก์ทั้งเจ็ดยื่นคำคัดค้านว่า คดีอยู่ในเขตอำนาจของศาลจังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจาก เคยมีแนวคำวินิจฉัยในมูลคดีที่มีลักษณะเดียวกันไว้แล้ว ตามคำสั่ง ศป ๐๐๐๗/ธ ๑๐๓๒ เรื่องการโอนคดี ซึ่งอยู่ในสำนวนคดีหมายเลขแดงที่ ๑๑๓/๒๕๕๑ ของศาลจังหวัดเชียงใหม่
ศาลจังหวัดเชียงใหม่พิจารณาแล้วเห็นว่า ประเด็นข้อพิพาทที่สำคัญตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งเจ็ด และคำให้การของจำเลยทั้งหกมีอยู่ว่า ที่ดินพิพาทตามฟ้องอยู่ในเขตป่าไม้ถาวร ป่าแม่ริม แปลงที่ ๑ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๐๙ หรือเป็นที่ดินที่โจทก์ทั้งเจ็ดมีสิทธิครอบครองตามกฎหมาย จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองเชียงใหม่พิจารณาแล้วเห็นว่า เกณฑ์การพิจารณาในเรื่องเขตอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลปกครองและศาลยุติธรรมจะต้องพิจารณาเขตอำนาจของศาลปกครองเป็นสำคัญ หากคดีพิพาทใดอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองแล้ว ศาลยุติธรรมย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนั้น ตามนัยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๑๘ ประกอบมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง นอกจากนี้การพิจารณาเขตอำนาจของศาลในคดีพิพาทต่างๆ จะต้องพิจารณาจากคำฟ้องและคำขอของโจทก์หรือผู้ฟ้องคดีแล้วแต่กรณีเป็นหลัก เมื่อพิจารณาคำฟ้องและคำขอของโจทก์ทั้งเจ็ดแล้ว เห็นว่า โจทก์ทั้งเจ็ดประสงค์จะฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ ๑ และให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ ๑ อันสืบเนื่องจากการที่อธิบดีกรมที่ดินซึ่งเป็นข้าราชการในสังกัดจำเลยที่ ๑ อาศัยอำนาจตามมาตรา ๖๑ แห่งประมวลกฎหมายที่ดินออกคำสั่งเพิกถอน น.ส. ๓ ก. ที่พิพาทซึ่งโจทก์ทั้งเจ็ดเห็นว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งเจ็ด และโดยที่การเพิกถอน น.ส. ๓ ก. ดังกล่าวเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายของอธิบดีกรมที่ดินมีผลกระทบต่อสิทธิของโจทก์ทั้งเจ็ด จึงเป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ การที่โจทก์ทั้งเจ็ด นำคดีมาฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งหก ซึ่งมีจำเลยที่ ๑ เป็นหน่วยงานของรัฐในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่คืออธิบดีกรมที่ดินได้กระทำในการปฏิบัติตามหน้าที่ตามมาตรา ๕ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ รวมทั้งให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ ๑ ที่ออกโดยอธิบดีกรมที่ดินดังกล่าวด้วย จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และการแก้ไขหรือบรรเทาความเดือดร้อนเสียหายหรือยุติข้อโต้แย้งนั้น ศาลปกครองมีอำนาจกำหนดคำบังคับโดยสั่งเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ ๑ ที่ออกโดยอธิบดีกรมที่ดินและให้จำเลยที่ ๑ ใช้เงินแก่โจทก์ทั้งเจ็ดได้ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่ง พระราชบัญญัติเดียวกัน แม้ว่าการที่ศาลจะมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ ๑ และให้จำเลยที่ ๑ ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งเจ็ดได้ ศาลอาจต้องพิจารณาในปัญหาว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งเจ็ดตามที่กล่าวอ้างหรืออยู่ในเขตป่าไม้ถาวร เพื่อที่จะนำไปสู่ประเด็นข้อพิพาทว่า คำสั่งของจำเลยที่ ๑ ที่เพิกถอน น.ส. ๓ ก. ของโจทก์ทั้งเจ็ดชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ตาม แต่โดยหลักแล้วหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ใช่ผู้ทรงกรรมสิทธิ์หรือทรงสิทธิครอบครองที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน หากแต่เป็นผู้ดูแลรักษา อีกทั้งในการดูแลรักษาสาธารณสมบัติของแผ่นดินของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐจำเป็นต้องใช้อำนาจตามกฎหมายของรัฐที่มีอยู่เหนือเอกชน กรณีจึงมิใช่คดีพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชนที่เกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ประกอบกับโจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๓ และที่ ๕ ถึงที่ ๗ ได้ยื่นฟ้องกรมที่ดินซึ่งเป็นจำเลยที่ ๑ ในคดีนี้ต่อศาลปกครองเชียงใหม่ ขอให้เพิกถอนคำสั่งของกรมที่ดินและให้คืนสิทธิ น.ส. ๓ ก. ที่ดินแปลงพิพาทให้แก่โจทก์ เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๖๑/๒๕๕๓ อันเป็นมูลคดีเดียวกันกับมูลคดีในคดีนี้ ด้วยเหตุนี้ เรื่องที่โจทก์ทั้งเจ็ดนำมาฟ้องจึงเป็นคดีพิพาทที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้แม้จำเลยทั้งหกจะเป็นหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่ตามคำฟ้องของโจทก์อ้างว่า โจทก์ที่ ๑ เป็นเจ้าของที่ดินมีหลักฐานเป็น น.ส. ๓ ก. จำนวน ๔๐ แปลง ตั้งอยู่ตำบลแม่แรม อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ต่อมาโจทก์ที่ ๑ โอนที่ดิน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๗๑๘ แก่โจทก์ที่ ๒ และที่ ๔ เลขที่ ๗๓๘ แก่โจทก์ที่ ๓ เลขที่ ๗๔๖ แก่โจทก์ที่ ๕ เลขที่ ๗๗๑ แก่โจทก์ที่ ๖ และเลขที่ ๘๔๒ แก่โจทก์ที่ ๗ แต่จำเลยทั้งหกเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) ของโจทก์ทั้งเจ็ดโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อ้างว่าเป็นที่ป่าไม้ถาวร การกระทำของจำเลยทั้งหก ทำให้โจทก์ทั้งเจ็ดเสียหายไม่สามารถจำหน่ายที่ดิน ซึ่งแบ่งเป็นแปลงย่อยและจัดทำสาธารณูปโภคให้บุคคลทั่วไปได้ ขอให้บังคับจำเลยทั้งหกชำระเงินค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งเจ็ดตามสัดส่วนที่ดินที่ถือครอง พร้อมดอกเบี้ย และเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ ๑ และให้คืน น.ส. ๓ ก. ทั้งหมดแก่โจทก์ทั้งเจ็ด ส่วนจำเลยทั้งหกให้การว่า การถือครองและการออก น.ส. ๓ ก. สำหรับที่ดินของโจทก์ทั้งเจ็ดดำเนินการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากออกทับเขตป่าไม้ถาวร ป่าแม่ริม แปลงที่ ๑ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อปี ๒๕๐๙ ส่วนที่โจทก์ทั้งเจ็ด อ้างว่าเจ้าของที่ดินเดิมครอบครองและทำประโยชน์มาก่อนประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับและก่อนคณะรัฐมนตรีประกาศเป็นป่าไม้ถาวรนั้น ไม่ปรากฏว่าในชั้นขอออก น.ส. ๓ ก. ดังกล่าวผู้ขอมีหลักฐานสำหรับที่ดินใด ๆ มาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ จึงไม่สามารถออก น.ส. ๓ ก. โดยวิธีการเดินสำรวจตามประมวลกฎหมายที่ดินได้ จำเลยออกคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว จำเลยทั้งหกไม่ต้องร่วมกันรับผิดค่าเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ทั้งเจ็ดได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งเจ็ดตามที่กล่าวอ้างหรืออยู่ในเขตป่าไม้ถาวรเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างบริษัทวังกุหลาบ จำกัด ที่ ๑ นายวีระวัฒน์ สัตยานุรักษ์ ที่ ๒ นางสาวเพ็ญสุข ตันตรานนท์ ที่ ๓ นายณรงค์ แย้มประเสริฐ ที่ ๔ นางพรรณี สุนทรแสน ที่ ๕ นางอรวรรณ เที่ยงธรรม ที่ ๖ บริษัทเนชัลรัล เพลส์ จำกัด ที่ ๗ โจทก์ กรมที่ดิน ที่ ๑ กระทรวงมหาดไทย ที่ ๒ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ที่ ๓ สำนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ ที่ ๔ ที่ว่าการอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ที่ ๕ สำนักงานที่ดินอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ที่ ๖ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) สบโชค สุขารมณ์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายสบโชค สุขารมณ์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท ศิลปชัย สรภักดี (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ศิลปชัย สรภักดี) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share