คำวินิจฉัยที่ 40/2548

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๔๐/๒๕๔๘

วันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๘

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลจังหวัดสุพรรณบุรี

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองส่งความเห็นให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคสาม ซึ่งเป็นกรณีศาลที่รับฟ้องคดีเห็นว่าคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจ และศาลที่ส่งความเห็นและรับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๔๔ นางพยอม พุ่มมะปราง ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสุพรรณบุรีสาขาเดิมบางนางบวช ที่ ๑ นายอำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี เป็นคดีของศาลปกครองกลางหมายเลขดำที่ ๒๕๔๐/๒๕๔๔ ความว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ที่ดินตั้งอยู่หมู่ที่ ๙ ตำบลเขาพระ อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี เนื้อที่ประมาณ ๔ ไร่ ๑ งาน ๙ ตารางวา โดยซื้อมาจากนายเฟื้อง นาเอก ในปี พ.ศ. ๒๕๔๑ ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นคำขอรังวัดออกโฉนดที่ดินเฉพาะรายโดยมิได้แจ้งการครอบครองในที่ดินแปลงดังกล่าว แต่ในวันรังวัดผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ คัดค้านการรังวัดโดยอ้างว่าที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีครอบครองทำประโยชน์และนำชี้รังวัดเป็น คลองสาธารณประโยชน์ และต่อมา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้แจ้งปฏิเสธไม่ออกโฉนดให้แก่ผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า คำสั่งดังกล่าวของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดโดยไม่ทำการสอบสวนเปรียบเทียบแต่รับฟังเพียงคำคัดค้านของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และไม่เรียกผู้ฟ้องคดีมาทำการสอบสวนหรือให้โอกาสแสดงหลักฐานหรือเอกสาร ทั้งไม่เรียกให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ส่งรายงานการพิจารณาของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงมาพิจารณาเปรียบเทียบกับข้อเท็จจริงที่ได้จากพยานหลักฐานของผู้ฟ้องคดี ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะอ้างได้ว่าที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีนำรังวัดออกโฉนดที่ดินเป็นคลองสาธารณประโยชน์ ที่ดินดังกล่าวไม่มีสภาพเป็นคลองสาธารณประโยชน์ที่ราษฎรใช้ประโยชน์ร่วมกัน แต่เป็นที่ดินที่มีการครอบครองทำประโยชน์ต่อเนื่องกันมาตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ. ๒๔๙๗ อีกทั้งที่ดินบริเวณโดยรอบได้มีการออก น.ส. ๓ ในที่ดินแล้ว การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบของทางราชการ ขอให้ศาลเพิกถอนคำคัดค้านของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา และขอให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ไม่อนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีออกโฉนดที่ดิน และให้ดำเนินการเพื่อการออกโฉนดที่ดินตามกฎหมายต่อไป
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ให้การว่า ได้กระทำการโดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบของทางราชการตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๓ (พ.ศ. ๒๕๓๗) หมวด ๓ ข้อ ๑๔ (๑) ที่ห้ามมิให้ออกโฉนดที่ดินในที่ดินที่ราษฎรใช้ประโยชน์ร่วมกัน และหนังสือเวียนของกระทรวงมหาดไทย ด่วนที่สุด ที่ มท ๐๗๑๙/ว ๑๑๑๐ ลงวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๔๐ และที่ มท ๐๗๑๙/ว ๕๒๕ ลงวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๒ เรื่อง ให้สอบผู้ปกครองท้องที่ก่อนออกโฉนดที่ดินที่ให้เจ้าพนักงานที่ดินมีหนังสือแจ้งนายอำเภอท้องที่หรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอออกไปร่วมเป็นพยานและตรวจสอบที่ดินที่ขอออกโฉนดว่าเป็นที่สงวนหวงห้ามหรือที่สาธารณประโยชน์อย่างใดหรือไม่ รวมทั้งได้ตรวจสอบการครอบครองทำประโยชน์ของผู้ฟ้องคดีด้วยแล้ว นอกจากนี้ เหตุที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไม่ทำการสอบสวนเปรียบเทียบเป็นไปเนื่องจากไม่มีกรณีต้องดำเนินการเพราะการสอบสวนเปรียบเทียบต้องกระทำภายหลังที่ได้ประกาศแจกโฉนดที่ดินครบกำหนด ๓๐ วันแล้ว แต่กรณีนี้ยังไม่มีการประกาศแจกโฉนดที่ดินแต่อย่างใด ทั้งผู้ขอ (ผู้ฟ้องคดี) ได้ขอให้เจ้าหน้าที่รอเรื่องไว้เพื่อไปตรวจสอบกับอำเภอก่อน อนึ่ง ในส่วนคำขอของผู้ฟ้องคดีที่ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ไม่อนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีออกโฉนดที่ดินนั้นเป็นความเข้าใจผิดและไม่ทราบข้อเท็จจริงของผู้ฟ้องคดี เพราะผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ยังไม่ได้มีคำสั่งให้ยกเลิกคำขอแต่ได้สั่งให้รอเรื่องไว้ก่อนจนกว่าผู้ฟ้องคดีจะได้ฟ้องคดีต่อศาลและเมื่อศาลมีคำสั่งประการใดแล้วก็ให้ดำเนินการไปตามนั้น
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ให้การว่า ได้กระทำการตามอำนาจหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว กล่าวคือ เมื่อมีการคัดค้านการออกโฉนดที่ดินของผู้ฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ในฐานะผู้ดูแลที่สาธารณประโยชน์ตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. ๒๔๕๗ ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งคณะกรรมการฯ แจ้งผลการตรวจสอบว่าที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีมาขอออกโฉนดที่ดินเป็นที่สาธารณประโยชน์ ซึ่งไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะออกโฉนดที่ดินให้ได้ โดยคณะกรรมการชุดดังกล่าวได้พิจารณาโดยรอบคอบแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จึงแจ้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ทราบและพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่
ในระหว่างพิจารณาศาลปกครองกลางเห็นว่า คดีนี้อยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรม เนื่องจากมูลเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าได้ครอบครองใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทและได้ยื่นคำขอรังวัดเพื่อออกโฉนดที่ดินปรากฏว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้คัดค้านการออกโฉนดที่ดินโดยเห็นว่าที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นที่สาธารณประโยชน์ตามมาตรา ๑๓๐๔ (๒) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีคำสั่งปฏิเสธไม่ออกโฉนดที่ดินให้ผู้ฟ้องคดี แม้คดีนี้มีประเด็นพิพาทที่ศาลจะต้องพิจารณาพิพากษาว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีคำสั่งปฏิเสธไม่ดำเนินการออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดี และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้คัดค้านการออกโฉนดที่ดินโดยอ้างเหตุผลข้อกฎหมายว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ปกครองดูแลรักษา จึงเป็นกรณีที่ศาลจะต้องวินิจฉัยความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ จึงรับคดีนี้ไว้พิจารณา แต่ต่อมาได้ปรากฏคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๓๙/๒๕๔๗ ที่ ๔๐/๒๕๔๗ ที่ ๔๑/๒๕๔๗ ที่ ๔๒/๒๕๔๗ ที่ ๔๓/๒๕๔๗ และที่ ๔๔/๒๕๔๗ โดยกรณีพิพาททำนองเดียวกันนี้ ในการพิจารณาคดีของศาลคงมีประเด็นต้องพิจารณาให้ได้ความว่า ที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีหรือเป็นที่สาธารณประโยชน์ จึงเป็นกรณีพิพาทอันเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินระหว่างคู่กรณี ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลจังหวัดสุพรรณบุรีเห็นว่า แม้คดีนี้จะมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยในเบื้องต้นว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์หรือไม่ แต่ในท้ายที่สุดศาลจะต้องพิพากษาว่าคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และมาตรา ๗๒ (๑) บัญญัติให้เป็นอำนาจของศาลปกครอง สำหรับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๔ และประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งจะต้องนำมาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินของผู้ฟ้องคดีในคดีนี้นั้น กฎหมายทั้งสองฉบับต่างบัญญัติขึ้นก่อนที่จะมีศาลปกครอง บทบัญญัติในกฎหมายทั้งสองฉบับต่างบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิของเอกชนและสาธารณประโยชน์ไว้ เช่น มาตรา ๑๓๐๖ และมาตรา ๑๓๐๗ บัญญัติให้สาธารณสมบัติของแผ่นดินมีลักษณะแตกต่างจากทรัพย์สินของเอกชน เป็นต้น ในกฎหมายทั้งสองฉบับนี้ไม่มีข้อความตอนใดระบุถึงเขตศาลที่จะฟ้องคดีไว้ ดังนั้น การที่จะต้องใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายทั้งสองปรับแก่คดีไม่เป็นเหตุให้คดีนี้ต้องพิจารณาพิพากษาโดยศาลยุติธรรม การที่จะต้องพิจารณาเขตอำนาจศาลย่อมต้องพิจารณาจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๗๖ และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ ซึ่งทั้งสองมาตราไม่ได้บัญญัติให้พิจารณาถึงอำนาจศาลที่จะวินิจฉัยประเด็นข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคดี แต่ได้บัญญัติถึงอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีทั้งคดี ดังนั้น การพิจารณาเขตอำนาจศาลจึงไม่อาจพิจารณาเป็นรายประเด็นในเนื้อหาของคดี แต่จะต้องพิจารณาถึงสภาพแห่งคดีโดยเฉพาะอย่างยิ่งคำขอบังคับ เช่น ถ้าเป็นคำขอให้ลงโทษทางอาญาแก่บุคคล เพราะผู้นั้นฝ่าฝืนอนุบัญญัติที่ออกตามกฎหมาย แม้จำเลยจะต่อสู้คดีว่า อนุบัญญัตินั้นออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลซึ่งมีอำนาจในคดีอาญา (ซึ่งก็คือศาลยุติธรรม) ย่อมมีอำนาจพิจารณาคดีนี้ทั้งคดีโดยวินิจฉัยในประเด็นเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของอนุบัญญัตินั้นก่อนแล้ว จึงพิจารณาพิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดหรือไม่ จะต้องรับโทษเพียงใด กล่าวคือ ศาลทุกศาลย่อมมีอำนาจที่จะวินิจฉัยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายทุกข้อที่ปรากฏในคดีตราบเท่าที่การวินิจฉัยนั้นเป็นการจำเป็นเพื่อนำไปสู่การพิจารณาพิพากษาคดีที่อยู่ในเขตอำนาจของตนให้เสร็จไปทั้งคดี เมื่อคดีนี้ผู้ฟ้องคดีไม่ได้ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาแสดงสิทธิว่าที่ดินเป็นของตน แต่ฟ้องเฉพาะให้ศาลเพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีโดยโต้แย้งว่า คำสั่งของผู้ฟ้องคดีทั้งสองไม่ถูกต้องตามกฎหมายเพราะคำสั่งดังกล่าวมีเหตุมาจากการวินิจฉัยสิทธิในที่ดินของผู้ฟ้องคดีผิดพลาด คำฟ้องดังกล่าวจึงมีลักษณะครบถ้วนตามความในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) คดีย่อมอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องและคำให้การคดีนี้สรุปได้ว่า ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าเป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ที่ดินตั้งอยู่หมู่ที่ ๙ ตำบลเขาพระ อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี ในปี พ.ศ. ๒๕๔๑ ผู้ฟ้องคดียื่นคำขอรังวัดออกโฉนดที่ดินเฉพาะรายโดยมิได้แจ้งการครอบครองในที่ดินแปลงดังกล่าว แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ คัดค้านการรังวัดโดยอ้างว่าที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีครอบครองทำประโยชน์และนำชี้รังวัดเป็นคลองสาธารณประโยชน์ ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ แจ้งปฏิเสธไม่ออกโฉนดให้แก่ผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเป็นการกระทำที่
ไม่ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบของทางราชการ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ออกคำสั่งโดยไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด ไม่ทำการสอบสวนเปรียบเทียบทั้งรับฟังแต่เพียงคำคัดค้านของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และไม่เรียกผู้ฟ้องคดีมาทำการสอบสวนหรือให้โอกาสแสดงหลักฐานหรือเอกสาร และไม่เรียกให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ส่งรายงานการพิจารณาของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงมาพิจารณาเปรียบเทียบกับข้อเท็จจริงที่ได้จากพยานหลักฐานของผู้ฟ้องคดี ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะอ้างได้ว่าที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีนำรังวัดออกโฉนดที่ดินเป็นคลองสาธารณประโยชน์ ที่ดินดังกล่าวไม่มีสภาพเป็นคลองสาธารณประโยชน์ที่ราษฎรใช้ประโยชน์ร่วมกัน แต่เป็นที่ดินที่มีการครอบครองทำประโยชน์ต่อเนื่องกันมาตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ. ๒๔๙๗ อีกทั้งที่ดินบริเวณโดยรอบได้มีการออก น.ส. ๓ ในที่ดินแล้ว ขอให้ศาลเพิกถอนคำคัดค้านของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา และขอให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ไม่อนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีออกโฉนดที่ดิน และให้ดำเนินการเพื่อการออกโฉนดที่ดินตามกฎหมายต่อไป ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้การในทำนองเดียวกันว่า กระทำการโดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบของทางราชการแล้ว และเหตุที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไม่ทำการสอบสวนเปรียบเทียบเป็นเพราะอยู่ระหว่างขั้นตอนดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งกำหนดให้กระทำภายหลังที่ได้ประกาศแจกโฉนดที่ดินครบกำหนด ๓๐ วันแล้ว แต่กรณีนี้ยังไม่มีการประกาศแจกโฉนดที่ดินแต่อย่างใด ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ยังไม่ได้มีคำสั่งให้ยกเลิกคำขอตามที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้าง แต่รอเรื่องไว้จนกว่าผู้ฟ้องคดีจะได้ฟ้องคดีต่อศาลและเมื่อศาลมีคำสั่งประการใดแล้วก็ให้ดำเนินการไปตามนั้น ดังนั้น คดีนี้จึงเป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีมุ่งประสงค์ให้ศาลมีคำพิพากษารับรองและคุ้มครองสิทธิในที่ดินของผู้ฟ้องคดี ทั้งคู่กรณีก็ยังโต้แย้งกันเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินว่าเป็นของผู้ฟ้องคดีหรือไม่เป็นสำคัญ ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีตามที่กล่าวอ้างหรือไม่ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินระหว่างคู่กรณี อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนางพยอม พุ่มมะปราง ผู้ฟ้องคดี เจ้าพนักงานที่ดินสาขาเดิมบางนางบวช ที่ ๑ นายอำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ชาญชัย ลิขิตจิตถะ (ลงชื่อ) วิชัย วิวิตเสวี
(นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ) (นายวิชัย วิวิตเสวี)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท สายัณห์ อรรถเกษม (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สายัณห์ อรรถเกษม) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
??

??

??

??

Share