แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๓๙/๒๕๔๘
วันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๘
เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลจังหวัดสมุทรสาคร
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองส่งความเห็นให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจของศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและรับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๔๕ นายพิฉัตร โภชนสมบูรณ์ ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องกรมทางหลวงแผ่นดิน ที่ ๑ การประปาส่วนภูมิภาค ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี ความว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๐๕๙๕ และ ๑๐๕๙๖ ตำบลอ้อมน้อย อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร เดิมที่ดินทั้งสองแปลงแบ่งแยกมาจากที่ดินมีโฉนดไม่ทราบเลขที่ของนายแล โพธิถนอม และเคยถูกแบ่งหักให้เป็นทางหลวงแผ่นดินสายธนบุรี-นครปฐม (ถนนเพชรเกษม ๔) ตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในขณะนั้น ผู้ฟ้องคดีได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งสองแปลงมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๗ นับแต่ได้กรรมสิทธิ์มาไม่ปรากฏว่าที่ดินได้ถูกเวนคืนเพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดิน ต่อมาวันเดือนปีใดไม่ปรากฏแน่ชัด ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ บุกรุกเข้าไปก่อสร้างเสาและคานคอนกรีตและวางท่อประปารุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสองแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตหรือยินยอมจากผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีจึงยื่นคำขอรังวัดสอบเขตที่ดินทั้งสองแปลง แต่ในวันทำการรังวัด พนักงานเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ คัดค้านการรังวัดสอบเขตโดยอ้างว่าผู้ฟ้องนำชี้แนวเขตรุกล้ำเข้าไปในเขตทางหลวงถนนเพชรเกษม ๔ จะต้องแบ่งหักที่ดินบริเวณดังกล่าวเนื้อที่ ๒๒ ตารางวา ให้เป็นทางหลวงแผ่นดินไม่เช่นนั้นจะไม่รับรองแนวเขตให้ ต่อมา เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรสาคร สาขากระทุ่มแบน ทำการสอบสวนไกล่เกลี่ย แต่คู่กรณีไม่สามารถตกลงกันได้ ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองกลาง ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองร่วมกันรื้อถอนเสาคานคอนกรีตเสริมเหล็กและท่อประปาออกจากแนวเขตที่ดินของผู้ฟ้องคดี หากขัดขืนให้ผู้ฟ้องคดีมีอำนาจรื้อถอนได้โดยให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายและค่าเสียหาย และขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งห้ามมิให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองขัดขวางการรังวัดปักหมุดหลักเขตที่ดินทั้งสามหมุดหลักเขตตามคำฟ้อง และห้ามเกี่ยวข้องกับที่ดินดังกล่าว
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ให้การว่า การคัดค้านการรังวัดโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๐๕๙๕ และ ๑๐๕๙๖ เป็นไปเนื่องจากผู้ฟ้องคดีชี้แนวเขตรุกล้ำเขตทางหลวง ซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรสาครได้ทำการสอบสวนไกล่เกลี่ยแต่ไม่สามารถตกลงกันได้ ข้อกล่าวอ้างของผู้ฟ้องคดีว่าที่ดินตามที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดียังไม่แน่นอนและชัดเจน ทั้งยังหาข้อยุติไม่ได้เพราะการตรวจสอบแนวเขตที่ดินของผู้ฟ้องคดีนำชี้เฉพาะด้านที่ติดเขตทางหลวงโดยไม่ปรากฏหลักฐานว่าหมุดแนวเขตที่ดินจุดอื่นมีปัญหาหรือไม่ เพียงใด เนื้อที่ดินที่ปรากฏในโฉนดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๗ เป็นเพียงเนื้อที่ดินโดยประมาณเท่านั้น ยิ่งกว่านั้นหมุดหลักเขตแนวเขตที่ดินด้านพิพาทที่ติดแนวเขตทางหลวงก็ไม่ปรากฏหรือมีหลักฐานหลงเหลือเพื่อบ่งชี้แสดงแนวเขต จึงไม่อาจพิสูจน์ข้อกล่าวอ้างของผู้ฟ้องคดีได้
ต่อมา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่าคดีนี้อยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรม เพราะผู้ฟ้องคดีอ้างว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ก่อสร้างถนนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้ฟ้องคดี และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ให้การว่า ที่ดินที่พิพาทกันเป็นเขตทางหลวง กรณีจึงเป็นการพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน โดยมีประเด็นว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ใดซึ่งการพิจารณาสิทธิในที่ดินพิพาทระหว่างคู่ความต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และยังต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายที่ดินประกอบด้วย ดังนั้น คดีที่เป็นประเด็นโดยตรงเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินของบุคคล ผู้ฟ้องคดีจึงชอบจะฟ้องคดีในประเด็นนี้ต่อศาลยุติธรรม ทั้งนี้ตามนัยคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๒๘/๒๕๔๕ และที่ ๓๐/๒๕๔๕
ศาลปกครองกลางเห็นว่า คดีนี้อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง เนื่องจากศาลปกครองชั้นต้นได้เคยมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องคดีนี้ไว้พิจารณาเพราะเห็นว่าคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจศาล แต่ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งที่ ๒๕๒/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๔๖ วินิจฉัยว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่ศาลปกครองอาจกำหนดคำบังคับตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้ตามมาตรา ๗๒ (๓) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน
ศาลจังหวัดสมุทรสาครเห็นว่า คดีนี้แม้โจทก์จะพิพาทกับจำเลยที่ ๑ เกี่ยวกับการรังวัดสอบเขต แต่ก็เป็นการรังวัดสอบเขตที่พิพาทเกี่ยวกับอาณาเขตของที่ดิน ซึ่งโจทก์อ้างว่าจำเลยที่ ๑ นำชี้เขตทางหลวงรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ และโจทก์ยังอ้างว่าจำเลยที่ ๒ บุกรุกเข้ามาวางท่อประปาในที่ดินของโจทก์ทำให้โจทก์เสียหาย ก่อนจะวินิจฉัยให้จำเลยทั้งสองต้องรับผิดตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์หรือไม่ จำเป็นต้องวินิจฉัยเสียก่อนว่า ที่ดินตรงที่พิพาทกันเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์หรือจำเลยที่ ๑ ตามประมวลกฎหมายที่ดินและประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คำฟ้องคดีนี้จึงมิใช่คดีปกครองที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ หากแต่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นศาลยุติธรรม
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องและคำให้การคดีนี้สรุปได้ว่า ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๐๕๙๕ และ ๑๐๕๙๖ ตำบลอ้อมน้อย อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร นับแต่ได้กรรมสิทธิ์มาไม่ปรากฏว่าที่ดินได้ถูกเวนคืนเพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดิน แต่วันเดือนปีใดไม่ปรากฏแน่ชัด ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ รุกล้ำเข้าไปก่อสร้างเสาคานคอนกรีตและวางท่อประปาในที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสองแปลงโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือยินยอมจากผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีจึงยื่นคำขอรังวัดสอบเขตที่ดินทั้งสองแปลง แต่เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ คัดค้านการรังวัดอ้างว่าผู้ฟ้องคดีนำชี้แนวเขตรุกล้ำเข้าไปในเขตทางหลวง เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรสาคร สาขากระทุ่มแบน ทำการสอบสวนไกล่เกลี่ย แต่คู่กรณีไม่สามารถตกลงกันได้ ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาล ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองร่วมกันรื้อถอนเสาคานคอนกรีตเสริมเหล็กและท่อประปาออกจากแนวเขตที่ดินพิพาท หากขัดขืนให้ผู้ฟ้องคดีมีอำนาจรื้อถอนได้โดยให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายและค่าเสียหาย และขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งห้ามมิให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองขัดขวางการรังวัดปักหมุดหลักเขตที่ดินตามคำฟ้อง และห้ามมิให้เกี่ยวข้องกับที่พิพาทของผู้ฟ้องคดีอีกต่อไป ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ให้การว่า คัดค้านการรังวัดโฉนดพิพาทเนื่องจากผู้ฟ้องคดีชี้แนวเขตรุกล้ำเขตทางหลวงซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรสาครทำการสอบสวนไกล่เกลี่ยแต่ไม่สามารถตกลงกันได้ ข้อกล่าวอ้างของผู้ฟ้องคดีว่าที่ดินตามที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดียังไม่แน่นอนและชัดเจนทั้งยังหาข้อยุติไม่ได้ ดังนั้น คดีนี้จึงเป็นกรณีที่ยังมีการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน และผู้ฟ้องคดีมุ่งประสงค์ให้ศาลมีคำพิพากษารับรองและคุ้มครองสิทธิในที่ดินของผู้ฟ้องคดีเป็นสำคัญ การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้นั้นจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีหรือเป็นที่ดินในเขตทางหลวง คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินระหว่างคู่กรณี อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนายพิฉัตร โภชนสมบูรณ์ ผู้ฟ้องคดีกรมทางหลวงแผ่นดิน ที่ ๑ การประปาส่วนภูมิภาค ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ชาญชัย ลิขิตจิตถะ (ลงชื่อ) วิชัย วิวิตเสวี
(นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ) (นายวิชัย วิวิตเสวี)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท สายัณห์ อรรถเกษม (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สายัณห์ อรรถเกษม) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
??
??
??
??
๔