คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15779/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บทบัญญัติตาม พ.ร.ก.การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 มาตรา 30 ทวิ วรรคสอง เป็นกฎหมายพิเศษยกเว้นเฉพาะการโอนหนี้ที่ไม่ต้องบอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้หรือลูกหนี้จะต้องยินยอมด้วยในการโอนเท่านั้น โดยการโอนหนี้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ลูกหนี้หรือบุคคลภายนอกได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 306 วรรคแรก แต่มิได้บัญญัติยกเว้นให้ถือว่าลูกหนี้ได้ให้ความยินยอมโดยมิได้อิดเอื้อน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 308 ทั้งหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องเป็นเพียงการบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ อ. จำกัด (มหาชน) ให้แก่โจทก์แล้ว ดังนั้น จำเลยย่อมยกข้อต่อสู้ที่มีต่อผู้โอนขึ้นต่อสู้โจทก์ผู้รับโอนว่าจำเลยเป็นหนี้กู้ยืมโจทก์ตามคำให้การได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้จำนวน 3,095,115.38 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 30 ต่อปีของต้นเงินจำนวน 1,218,260.86 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยไถ่ถอนการจำนำใบหุ้นของบริษัทหลักทรัพย์เอกธำรงเคจีไอ จำกัด (มหาชน) ใบหุ้นเลขที่ 01710100006977 จำนวน 5,000 หุ้น ไปจากโจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนำและทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์จนครบ
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 400,195.17 บาท พร้อมดอกเบี้ยของต้นเงิน 396,824.42 บาท ในอัตราร้อยละ10 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2540 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2540 ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ให้หักเงินจำนวน 24,300 บาท ออกจากดอกเบี้ยค้างชำระ ณ วันที่ 1มกราคม 2542 กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ7,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินให้แก่โจทก์จำนวน1,228,941.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงิน 1,218,260.86 บาท นับแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้นำเงินที่จำเลยชำระหนี้ให้แก่บริษัทเจ้าหนี้เดิมเป็นจำนวน 24,300 บาท มาคิดหักชำระหนี้ ณ วันที่ชำระหนี้ในดอกเบี้ยและในต้นเงินตามกฎหมาย ให้จำเลยชดใช้ค่าทนายความจำนวน 5,000 บาท แทนโจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 มาตรา 30 ทวิ วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า การประกาศตามวรรคหนึ่ง ให้ถือเป็นการบอกกล่าวการโอนทรัพย์สินแก่ลูกหนี้ บุคคลภายนอกที่ได้ให้ประกันหนี้เดิม และบุคคลซึ่งมีส่วนได้เสียในทรัพย์สินที่จะขาย ในกรณีที่บุคคลดังกล่าวมีข้อต่อสู้เกี่ยวกับทรัพย์สินที่จะขายนั้น ให้ยื่นคำคัดค้านโดยชี้แจงเหตุผลและหลักฐานที่เกี่ยวข้องต่อคณะกรรมการตามมาตรา 30 ก่อนกำหนดวันขายทรัพย์สินไม่น้อยกว่าสามวันทำการ หากพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าวแล้วมิได้ยื่นคำคัดค้านการขายทรัพย์สินนั้น ให้ถือว่าลูกหนี้ บุคคลภายนอกที่ได้ให้ประกันหนี้เดิมและบุคคลซึ่งมีส่วนได้เสียในทรัพย์สินที่จะขายได้ให้ความยินยอมกับการโอนทรัพย์สินที่จะขายนั้นแล้ว วันที่ 15 ธันวาคม 2542 โจทก์ซื้อทรัพย์สินมาจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เอกพัฒน์ จำกัด (มหาชน) วันที่ 1 ธันวาคม 2540 จำเลยคงค้างชำระหนี้กู้ยืมบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เอกพัฒน์ จำกัด (มหาชน) จำนวนเงิน 1,218,260.86 บาท และดอกเบี้ย 10,680.64 บาท รวมเป็นเงิน 1,228,941.50 บาท ตามสัญญาขายสำหรับการจำหน่ายของ ปรส. จำเลยจะยกข้อต่อสู้ที่มีต่อผู้โอนขึ้นต่อสู้โจทก์ผู้รับโอนว่าจำเลยเป็นหนี้กู้ยืมโจทก์ตามคำให้การไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 308 วรรคแรก ซึ่งจำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายนี้ เห็นว่า บทบัญญัติตามพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 มาตรา 30 ทวิ วรรคสอง เป็นกฎหมายพิเศษยกเว้นเฉพาะการโอนหนี้ที่ไม่ต้องบอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้หรือลูกหนี้จะต้องยินยอมด้วยในการโอนเท่านั้น โดยการโอนหนี้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ลูกหนี้หรือบุคคลภายนอกได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306 วรรคแรก แต่มิได้บัญญัติยกเว้นให้ถือว่าลูกหนี้ได้ให้ความยินยอมโดยมิได้อิดเอื้อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 308 วรรคแรก ทั้งหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องลงวันที่ 28 มีนาคม 2543 เป็นเพียงการบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เอกพัฒน์ จำกัด (มหาชน) ให้แก่โจทก์แล้ว ดังนั้น จำเลยย่อมยกข้อต่อสู้ที่มีต่อผู้โอนขึ้นต่อสู้โจทก์ผู้รับโอนว่าจำเลยเป็นหนี้กู้ยืมโจทก์ตามคำให้การได้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share