แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
คดีนี้เป็นคดีที่เอกชนยื่นฟ้องหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐว่า จำเลยที่ ๓ แจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าหน้าที่ที่ดินว่าตนมีสิทธิครอบครองที่ดินตาม น.ส. ๓ ได้ยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินต่อจำเลยที่ ๒ และนำเจ้าหน้าที่ทำการรังวัดและออกโฉนดที่ดินทับที่พิพาทใน น.ส. ๓ ก. ที่โจทก์ครอบครอง จำเลยที่ ๓ ได้จดทะเบียนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ ๔ และเข้าอยู่อาศัยในที่พิพาท ขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาทและเพิกถอนการจดทะเบียนขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ ๓ กับจำเลยที่ ๔ และดำเนินการออกโฉนดที่ดินให้โจทก์ เห็นว่า การที่ศาลจะพิพากษาหรือมีคำสั่งตามคำขอได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ตามที่กล่าวอ้างหรือไม่เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๔/๒๕๕๘
วันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘
เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
ศาลจังหวัดอุบลราชธานี
ระหว่าง
ศาลปกครองอุบลราชธานี
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดอุบลราชธานีโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๕๖ นายชาติชัย พงคพนาไกร โจทก์ ยื่นฟ้อง อธิบดีกรมที่ดิน ที่ ๑ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดอุบลราชธานี สาขาพิบูลมังสาหาร ที่ ๒ นางวิรัตน์ จันทฤดี ที่ ๓ นางสาววิยะดา บุญอ่อน ที่ ๔ จำเลย ต่อศาลจังหวัดอุบลราชธานี เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๒๑๓๙/๒๕๕๖ และ ๒๐๗๐/๒๕๕๖ ความว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตามหลักฐานหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๔๘๑ ตำบลฝางคำ อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี เนื้อที่ประมาณ ๑๙ ไร่ ๒ งาน ๕๐ ตารางวา จำเลยที่ ๓ ได้ยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินต่อจำเลยที่ ๒ โดยอาศัยหลักฐานหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓) เลขที่ ๑๗๑/๖๘ หมู่ที่ ๓ ตำบลคันไร่ (กุดชมภู) อำเภอสิรินธร (พิบูลมังสาหาร) จังหวัดอุบลราชธานี แต่จำเลยที่ ๓ แจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าหน้าที่ที่ดินว่าตนมีสิทธิครอบครองที่ดินตามหลักฐาน น.ส. ๓ เลขที่ ๑๗๑/๖๘ และนำเจ้าหน้าที่ของสำนักงานที่ดินจังหวัดอุบลราชธานี สาขาพิบูลมังสาหาร ทำการรังวัดและออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๙๘๗๑ ตำบลฝางคำ อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี ทับที่ดิน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๔๘๑ ที่โจทก์ครอบครอง ต่อมาจำเลยที่ ๓ ได้จดทะเบียนขายที่ดินตามหลักฐานโฉนดที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ ๔ ภายหลังจำเลยที่ ๔ พร้อมบริวารได้บุกรุกเข้าอยู่อาศัยโดยอ้างว่าเป็นเจ้าของที่ดิน ขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ ๙๘๗๑ เพิกถอนการจดทะเบียนขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ ๓ กับจำเลยที่ ๔ และดำเนินการออกโฉนดที่ดินให้โจทก์ พร้อมทั้งห้ามจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๔ เข้ายุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาท
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ ๒ ออกโฉนดที่ดินให้แก่จำเลยที่ ๓ โดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่ปรากฏว่าโจทก์มาคัดค้านการออกโฉนดแต่อย่างใด ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๓ ให้การว่า จำเลยที่ ๓ ซื้อที่ดินพิพาทซึ่งมีหลักฐานเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓) มาจากผู้มีชื่อ เมื่อปี ๒๕๑๒ และได้ขอออกเป็นโฉนดในปี ๒๕๕๕ โดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีการนำชี้รุกล้ำที่ดินของโจทก์ เมื่อออกโฉนดเสร็จสมบูรณ์จำเลยที่ ๓ ได้ขายที่ดินให้จำเลยที่ ๔ กรรมสิทธิ์จึงตกเป็นของจำเลยที่ ๔ โดยชอบ
จำเลยที่ ๔ ให้การว่า จำเลยซื้อที่ดินพิพาทมาโดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่ใช่ผู้ครอบครองที่ดินแปลงพิพาท ที่ดินที่โจทก์กล่าวอ้างตามฟ้องเป็นคนและแปลงกับที่ดินพิพาทของจำเลยที่ ๔ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า ข้อพิพาทในคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดอุบลราชธานีพิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสี่โดยอ้างว่าโจทก์เป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท และจำเลยที่ ๓ นำเจ้าพนักงานที่ดินไปรังวัดเพื่อออกโฉนดที่ดินทับที่ดินของโจทก์โดยมิชอบ จากนั้นนำที่ดินพิพาทไปขายให้แก่จำเลยที่ ๔ ดังนั้นการที่จะพิจารณาว่ามีเหตุให้เพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาทได้หรือไม่นั้นจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองอุบลราชธานีพิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีพิพาทเกิดจากการที่จำเลยที่ ๒ ได้ดำเนินการออกโฉนดที่ดินตามคำขอของจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นการใช้อำนาจตามมาตรา ๕๙ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ประกอบกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๓ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ ๒ ได้ปฏิบัติหน้าที่ไปโดยที่มีกฎหมายกำหนดไว้ให้ต้องปฏิบัติ ตลอดจนการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่จำเลยที่ ๒ ดำเนินการให้ระหว่างจำเลยที่ ๓ กับจำเลยที่ ๔ ก็เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ อันเป็นการใช้อำนาจทางปกครองที่มีผลกระทบต่อสิทธิหน้าที่ของบุคคล การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมดังกล่าวจึงเป็นคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ดังนั้น เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ ๒ ได้ดำเนินการออกโฉนดที่ดินตามหลักฐานโฉนดที่ดินเลขที่ ๙๘๗๑ ให้แก่จำเลยที่ ๓ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและภายหลังมีการจดทะเบียนขายที่ดินตามหลักฐานโฉนดที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ ๔ ขอให้จำเลยที่ ๑ เพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาทที่ออกให้แก่จำเลยที่ ๓ และดำเนินการลงเลขที่ดิน ๒๒๕ ตามหลักฐาน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๔๘๑ ในระวางแผนที่การออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ รวมทั้งให้เพิกถอนการจดทะเบียนขายที่ดินพิพาทตามหลักฐานโฉนดที่ดินพิพาท ระหว่างจำเลยที่ ๓ กับจำเลยที่ ๔ ให้จำเลยที่ ๒ ดำเนินการออกโฉนดที่ดินให้โจทก์ตามคำขอ กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และศาลปกครองมีอำนาจออกคำบังคับตามคำขอของโจทก์ดังกล่าวได้ ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ส่วนการพิจารณาถึงความรับผิดของจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ซึ่งเป็นกรณีที่มีมูลคดีเกี่ยวพันกับคดีพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง คดีในส่วนจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ จึงชอบที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลเดียวกัน เมื่อคดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้เป็นคดีที่เอกชนยื่นฟ้องหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐว่า จำเลยที่ ๓ แจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าหน้าที่ที่ดินว่าตนมีสิทธิครอบครองที่ดินตาม น.ส. ๓ เลขที่ ๑๗๑/๖๘ ได้ยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินต่อจำเลยที่ ๒ และนำเจ้าหน้าที่ทำการรังวัดและออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๙๘๗๑ ทับที่ดิน น.ส. ๓ ก. ๔๘๑ ที่โจทก์ครอบครอง ต่อมาจำเลยที่ ๓ ได้จดทะเบียนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ ๔ ซึ่งได้เข้าอยู่อาศัยในที่พิพาทโดยอ้างว่าเป็นเจ้าของที่ดิน ขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาทและเพิกถอนการจดทะเบียนขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ ๓ กับจำเลยที่ ๔ และดำเนินการออกโฉนดที่ดินให้โจทก์ จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ ๒ ออกโฉนดที่ดินให้แก่จำเลยที่ ๓ โดยชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง ส่วนจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ให้การว่า ซื้อที่ดินพิพาทซึ่งมีหลักฐาน น.ส. ๓ มาจากผู้มีชื่อและได้ขอออกเป็นโฉนดที่ดินโดยชอบด้วยกฎหมายไม่มีการนำชี้รุกล้ำที่ดินของโจทก์และได้ขายที่ดินให้จำเลยที่ ๔ กรรมสิทธิ์จึงตกเป็นของจำเลยที่ ๔ โดยชอบ ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า การที่ศาลจะพิพากษาหรือมีคำสั่งตามคำขอได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ตามที่กล่าวอ้างหรือไม่เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายชาติชัย พงคพนาไกร โจทก์ อธิบดีกรมที่ดิน ที่ ๑ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดอุบลราชธานี สาขาพิบูลมังสาหาร ที่ ๒ นางวิรัตน์ จันทฤดี ที่ ๓ นางสาววิยะดา บุญอ่อน ที่ ๔ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ