คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 363/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในฎีกาของโจทก์ทนายโจทก์ลงชื่อจะมาทราบคำสั่งศาลในวันที่23ธันวาคม2537ถ้าไม่มาให้ถือว่าทราบคำสั่งแล้วศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของโจทก์เมื่อวันที่20ธันวาคม2537ดังนี้ถือว่าโจทก์ได้ทราบคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้นำส่งสำเนาฎีกาแก่จำเลยที่2ภายใน15วันตั้งแต่วันที่23ธันวาคม2537แล้วเมื่อโจทก์ไม่นำส่งสำเนาฎีกาตามคำสั่งศาลชั้นต้นถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้องฎีกาสำหรับจำเลยที่2ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา174(2)ประกอบด้วยมาตรา246,247 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่1และที่2ร่วมกันชำระเงินจำนวน192,500บาทให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จจำเลยที่1อุทธรณ์โจทก์มิได้อุทธรณ์เท่ากับโจทก์ไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายเพิ่มจากที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่1และที่2ชำระให้โจทก์ทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์คงมีจำนวน192,500บาทเมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์โจทก์ฎีกาทุนทรัพย์ในชั้นฎีกาจึงมีเพียง192,500บาทซึ่งไม่เกินสองแสนบาทต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา248วรรคแรกและจะนำดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จอันเป็นค่าเสียหายในอนาคตมารวมคำนวณเป็นทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาเพื่อให้เกินสองแสนบาทหาได้ไม่อีกทั้งโจทก์จะฎีกาโดยถือตามทุนทรัพย์ที่ฟ้องในศาลชั้นต้นก็ไม่ได้เช่นกัน ศาลอุทธรณ์ฟังว่าโจทก์มิใช่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกพ่วงคันพิพาทจึงไม่มีอำนาจฟ้องการที่โจทก์ฎีกาอ้างว่าโจทก์เป็นผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกพ่วงคันพิพาทจึงมีอำนาจฟ้องจึงเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ฟังมาเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยข้อกฎหมายที่โจทก์ยกขึ้นอ้างเป็นฎีกาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา248วรรคแรก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้เช่ารถยนต์บรรทุกสิบล้อพ่วงยี่ห้อฮีโน่ คันหมายเลขทะเบียนตัวถัง เอฟ เอ็น 227 แอล ดีเลขคัสซี 11810 ป้ายแดง มาจากบริษัทก่อสร้างสหพันธุ์ จำกัดจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกสิบล้อคันหมายเลขทะเบียน 86-4201 กรุงเทพมหานคร โดยมีนายพรโชค เพ็ญสิริสุนทรเป็นผู้เอาประกันภัย จำเลยที่ 2 เป็นผู้ขับรถยนต์บรรทุกคันที่จำเลยที่ 1 รับประกันภัย ไปในทางการที่จ้างหรือได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 3 ให้กระทำแทน จำเลยที่ 3 เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกคันที่จำเลยที่ 1 รับประกันภัย เมื่อวันที่ 13สิงหาคม 2533 นายทัน ทองบุญ ลูกจ้างโจทก์ขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อพร้อมกระบะพ่วงป้ายแดงไปส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าตามถนนบางพลีมุ่งหน้าไปทางแยกบางนา-ตราด เมื่อมาถึงที่เกิดเหตุจำเลยที่ 2ซึ่งขับรถยนต์บรรทุกคันที่จำเลยที่ 1 รับประกันภัยจากทางแยกด้านบางนา-ตราด มุ่งหน้าจะไปทางลาดกระบัง ด้วยความประมาทของจำเลยที่ 2 ซึ่งขับรถยนต์บรรทุกมาด้วยความเร็วสูงล้ำเข้ามาในช่องเดินรถที่นายทันลูกจ้างโจทก์ขับมา เป็นเหตุให้รถยนต์บรรทุกทั้งสองคันชนกัน รถยนต์บรรทุกโจทก์ได้รับความเสียหายไม่สามารถวิ่งได้ จึงต้องว่าจ้างรถยก ยกรถยนต์บรรทุกโจทก์ไปซ่อมที่อู่เป็นเงิน 2,500 บาท เสียค่าซ่อม 170,000 บาท และต้องใช้เวลาในการซ่อมแซมนานถึง 90 วัน ทำให้โจทก์ไม่สามารถนำรถยนต์บรรทุกออกไปทำการรับจ้างบรรทุกสินค้าซึ่งจะได้กำไรเดือนละ 50,000 บาทโจทก์ขาดประโยชน์ จึงขอคิดค่าเสียหายในส่วนนี้เป็นเงิน150,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 322,500 บาท จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 86-4201 กรุงเทพมหานครจำเลยที่ 2 ผู้ทำละเมิดและจำเลยที่ 3 ในฐานะนายจ้าง จึงต้องร่วมกันรับผิดชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ดังกล่าว ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้เงิน 322,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์มิใช่เจ้าของผู้ครอบครองหรือเป็นผู้เช่ารถยนต์บรรทุกสิบล้อพ่วงยี่ห้อฮีโน่ จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 มิใช่เจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน86-4201 กรุงเทพมหานคร แต่รถยนต์คันดังกล่าวเป็นของผู้อื่นจำเลยที่ 2 มิได้เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 86-4201กรุงเทพมหานคร จากนายพรโชค พรสิริสุนทร เหตุคดีนี้มิใช่เกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 2 แต่เป็นความประมาทของลูกจ้างโจทก์รถยนต์บรรทุกโจทก์ได้รับความเสียหายเล็กน้อยหากทำการซ่อมแซมให้สู่สภาพเดิมจะสิ้นค่าซ่อมแซมไม่เกิน 50,000 บาท หากโจทก์นำรถยนต์บรรทุกไปรับจ้างจะมีกำไรอย่างสูงไม่เกินเดือนละ 10,000 บาทและความรับผิดชอบของจำเลยที่ 1 ตามกรมธรรม์ประกันภัยไม่เกิน50,000 บาท ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
โจทก์ทิ้งฟ้องจำเลยที่ 3 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 3 จากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2ร่วมกันชำระเงิน 192,500 บาท ให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของโจทก์ว่า สำเนาให้จำเลยให้โจทก์นำส่งภายใน 15 วัน ไม่มีผู้รับโดยชอบให้ปิด
ในการส่งหมายนัดและสำเนาฎีกา ปรากฎว่าส่งให้จำเลยที่ 1ได้โดยการปิดหมาย ส่วนจำเลยที่ 2 โจทก์มิได้นำส่งหมายนัดและสำเนาฎีกาให้ตามคำสั่งศาลชั้นต้น
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในฎีกาของโจทก์ ทนายโจทก์ลงชื่อจะมาทราบคำสั่งศาลในวันที่ 23 ธันวาคม 2537 ถ้าไม่มาให้ถือว่าทราบคำสั่งแล้วศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของโจทก์เมื่อวันที่ 20ธันวาคม 2537 ดังนี้ ถือว่าโจทก์ได้ทราบคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้นำส่งสำเนาฎีกาแก่จำเลยที่ 2 ภายใน 15 วัน ตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม2537 แล้ว เมื่อโจทก์ไม่นำส่งสำเนาฎีกาตามคำสั่งศาลชั้นต้นถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้องฎีกาสำหรับจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174(2) ประกอบด้วยมาตรา 246, 247จึงให้จำหน่ายคดีของโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 2 ออกเสียจากสารบบความของศาลฎีกา
สำหรับฎีกาของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่าคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 192,500 บาท ให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยที่ 1อุทธรณ์ โจทก์มิได้อุทธรณ์ เท่ากับโจทก์ไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายเพิ่มจากที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระให้โจทก์ดังนั้นทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์คงมีจำนวน 192,500 บาท เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง โจทก์ฎีกา ทุนทรัพย์ในชั้นฎีกาจึงมีเพียง 192,500 บาท ซึ่งไม่เกินสองแสนบาท จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา248 วรรคแรก และจะนำดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จอันเป็นค่าเสียหายในอนาคตมารวมคำนวณเป็นทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาเพื่อให้เกินสองแสนบาทหาได้ไม่ และโจทก์จะฎีกาโดยถือตามทุนทรัพย์ที่ฟ้องในศาลชั้นต้นก็ไม่ได้เช่นกัน ส่วนที่โจทก์ฎีกาอ้างว่าโจทก์เป็นผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกพ่วงคันพิพาทจึงมีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์ฟังว่าโจทก์มิใช่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกพ่วงคันพิพาทจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ดังนั้น ฎีกาของโจทก์จึงเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังมาเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยข้อกฎหมายที่โจทก์ยกขึ้นอ้าง จึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์ไม่ชอบศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายก ฎีกา ของ โจทก์

Share