คำวินิจฉัยที่ 6/2558

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่เอกชนเจ้าของที่ดินมีโฉนดฟ้ององค์การบริหารส่วนตำบลหนองทุ่มว่าได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีขุดลอกห้วยมะม่วงตอนล่างซึ่งอยู่ติดกับที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง ทำให้ต้นไม้ และพืชผลทางการเกษตรที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองปลูกไว้ได้รับความเสียหาย และนำดินที่ขุดจากที่ดินหัวไร่ปลายนาของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ประมาณ ๒ ไร่ ไปขาย ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าที่ดิน ค่าต้นไม้ และค่าขาดรายได้ ให้ทำข้อตกลงขนาดความกว้างของลำห้วยร่วมกัน ให้ออกเอกสารสิทธิที่ดินหัวไร่ปลายนาให้แก่ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ โดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน ให้ขุดลอกลำห้วยโดยมีขนาดเท่ากันทั้งลำห้วย และให้ทำฝายกั้นน้ำ ศาลมีคำสั่งไม่รับฟ้องคดีของผู้ฟ้องคดีที่ ๒ ไว้พิจารณา เนื่องจากขณะยื่นฟ้องที่ดินของผู้ฟ้องคดีที่ ๒ ยังไม่มีการขุดลอกลำห้วยรุกล้ำแต่อย่างใด ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ผู้ถูกฟ้องคดีได้ตรวจสอบพบว่า ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ บุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองและทำประโยชน์ในที่สาธารณประโยชน์ (ลำห้วยมะม่วง) และการเข้าขุดลอกลำห้วยเป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในการดูแลและคุ้มครองป้องกันที่ดิน อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตามกฎหมาย เห็นว่า การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๖/๒๕๕๘

วันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลปกครองขอนแก่น
ระหว่าง
ศาลจังหวัดขอนแก่น

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองขอนแก่นโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๕๖ นางจอม ธงน้อย ที่ ๑ นางถนอมทรัพย์ ไสยโสภณ ที่ ๒ ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้ององค์การบริหารส่วนตำบลนาหนองทุ่ม ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองขอนแก่น เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๖๒๕/๒๕๕๖ ความว่า ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๔๐๙๓ เนื้อที่ ๒ ไร่ ๒ งาน ๓๐ ตารางวา โดยเป็นที่หัวไร่ปลายนาที่ทำประโยชน์อีกประมาณ ๗ ไร่ และโฉนดเลขที่ ๖๔๕๗๗ เนื้อที่ ๐๙ ตารางวา ตั้งอยู่ที่ตำบลนาหนองทุ่ม อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น ส่วนผู้ฟ้องคดีที่ ๒ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๔๐๙๑ เนื้อที่ ๖ ไร่ ๒ งาน ๓๐ ตารางวา ตั้งอยู่ที่ตำบลนาหนองทุ่ม อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีได้ขุดลอกห้วยมะม่วงตอนล่างซึ่งอยู่ติดกับที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง ทำให้ต้นไม้ และพืชผลทางการเกษตรที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองปลูกไว้ได้รับความเสียหาย และนำดินที่ขุดจากที่ดินหัวไร่ปลายนาของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ประมาณ ๒ ไร่ ไปขาย ทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้รับความเสียหาย ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าที่ดิน ค่าต้นไม้ และค่าขาดรายได้ ให้ทำข้อตกลงขนาดความกว้างของลำห้วยร่วมกัน ให้ออกเอกสารสิทธิที่ดินหัวไร่ปลายนาให้แก่ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ โดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน ให้ขุดลอกลำห้วยโดยมีขนาดเท่ากันทั้งลำห้วย และให้ทำฝายกั้นน้ำ
ศาลปกครองขอนแก่นมีคำสั่งไม่รับฟ้องคดีของผู้ฟ้องคดีที่ ๒ ไว้พิจารณา เนื่องจากขณะยื่นฟ้องที่ดินของผู้ฟ้องคดีที่ ๒ ยังไม่มีการขุดลอกลำห้วยรุกล้ำแต่อย่างใด ผู้ฟ้องคดีที่ ๒ จึงไม่ใช่ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย
ผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ผู้ถูกฟ้องคดีได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงตามที่นายอำเภอชุมแพแจ้งให้ดำเนินการกรณีมีผู้ร้องเรียนว่า สามีผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ใช้รถแบ็คโฮขุดดินถมลำห้วยสาธารณะเพื่อทำเป็นแปลงที่นา พบว่าผู้ฟ้องคดีที่ ๑ บุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองและทำประโยชน์ในที่สาธารณประโยชน์ (ลำห้วยมะม่วง) ซึ่งอยู่นอกเขตที่ดินของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ จึงแจ้งความดำเนินคดีผู้ฟ้องคดีที่ ๑ และสามี ฐานร่วมกันบุกรุกและขัดขวาง เจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ คดีอยู่ระหว่างการสอบสวนเพิ่มเติมของพนักงานอัยการ ขณะเดียวกัน ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ได้เป็นโจทก์ฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีเป็นจำเลยที่ ๑ และผู้แทนผู้ถูกฟ้องคดีเป็นจำเลยที่ ๒ ต่อศาลจังหวัดขอนแก่น เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๒๐๗๑/๒๕๕๖ ข้อหาร่วมกันบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์ในที่ดินพิพาท คดีอยู่ระหว่างการไต่สวนมูลฟ้อง การเข้าขุดลอกลำห้วยมะม่วงเป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในการดูแลและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตามกฎหมาย
ผู้ถูกฟ้องคดียื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองขอนแก่นพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อพิจารณาคำฟ้องและคำขอในคดีนี้แล้ว เห็นว่า เป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ได้กล่าวอ้างว่าผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งเป็นราชการส่วนท้องถิ่น มีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการบริการสาธารณะในเขตพื้นที่เพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นของตนเองในการจัดให้มีและบำรุงรักษาทางบก ทางน้ำ และทางระบายน้ำ การจัดให้มีน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และการเกษตร และการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ตามมาตรา ๖๗ (๑) และ (๔) และมาตรา ๖๘ (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ ประกอบกับมาตรา ๑๖ (๒) และ (๒๙) แห่งพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๒ ดังนั้น การดำเนินโครงการขุดลอกลำห้วยมะม่วง เพื่อพัฒนาทางน้ำ หรือทางระบายน้ำ การพัฒนาแหล่งน้ำอุปโภคบริโภค รวมทั้งการป้องกันอุทกภัย ล้วนอยู่ในอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีโดยตรง เมื่อการใช้อำนาจตามบทกฎหมายดังกล่าวของผู้ถูกฟ้องคดีไปก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แม้ในการวินิจฉัยว่าการใช้อำนาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ศาลจำต้องแสวงหาข้อเท็จจริงและพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาท ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ เป็นผู้มีสิทธิครอบครองหรือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน แต่ประเด็นดังกล่าวเป็นเพียงประเด็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลจะต้องพิจารณาในเนื้อหาของคดีอันเป็นประเด็นย่อยหนึ่งในหลายประเด็นปัญหาที่จะพิจารณาว่าผู้ถูกฟ้องคดีได้กระทำการขุดลอกห้วยมะม่วงเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีที่ ๑ หรือไม่เท่านั้น แม้การพิจารณาในเรื่องกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในทรัพย์สินจะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือประมวลกฎหมายที่ดินก็ตาม แต่การนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดี ก็มิใช่เกณฑ์การพิจารณาลักษณะคดีว่าอยู่ในเขตอำนาจของศาลใด และไม่มีบทบัญญัติใดห้ามศาลปกครองมิให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดี หรือมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกำหนดให้เป็นอำนาจของศาลหนึ่งศาลใดที่จะนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายเหล่านั้นมาวินิจฉัยข้อพิพาทของคดีไว้โดยเฉพาะ นอกจากนั้น มาตรา ๗๑ (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินมีผลผูกพันบุคคลภายนอก อันเป็นบทบัญญัติที่ยืนยันให้เห็นว่าศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
ศาลจังหวัดขอนแก่นพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ กล่าวอ้างว่า ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทและไม้ผลซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินพิพาทที่ผู้ถูกฟ้องคดีเข้าไปขุดดินและรื้อถอนไม้ผล เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ได้รับความเสียหาย ผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ที่ดินพิพาทอยู่ในแนวเขตของลำห้วยมะม่วง อันเป็นที่สาธารณประโยชน์ ผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินการขุดลอกที่ดินพิพาทเป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการดูแลคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน พ.ศ. ๒๕๕๓ คดีนี้ศาลจึงต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ หรือเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ในแนวเขตของลำห้วยมะม่วง จึงจะพิจารณาได้ว่าการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่เข้าไปขุดดินในที่ดินพิพาทเป็นละเมิดหรือไม่ และจะต้องชดใช้ค่าเสียหายจากการกระทำละเมิดในส่วนนี้เพียงใด ซึ่งต้องพิจารณาถึงสิทธิของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ในที่ดินพิพาท จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินของบุคคล อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ส่วนไม้ผลที่ถูกรื้อถอนในที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ที่อาจแยกพิจารณาเป็นประเด็นข้อพิพาทอีกส่วนหนึ่งต่างหากจากประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ในที่ดินพิพาท ไม้ผลดังกล่าวมิใช่ทรัพย์สินที่เป็นสาธารณประโยชน์ที่ผู้ถูกฟ้องคดีมีอำนาจหน้าที่ คุ้มครอง ดูแล รักษา ตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ และระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการดูแลคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน พ.ศ. ๒๕๕๓ ทั้งในประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการรื้อถอนไม้ผลนี้ ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ได้ฟ้องคดีอาญาต่อศาลจังหวัดขอนแก่นเป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๒๐๗๑/๒๕๕๖ โดยฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีเป็นจำเลยที่ ๑ ผู้แทนของผู้ถูกฟ้องคดีเป็นจำเลยที่ ๒ ในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๘ มาตรา ๓๕๙ ความผิดฐานบุกรุก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๒ ศาลมีคำสั่งประทับฟ้องในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๘ ส่วนความผิดฐานอื่นให้ยกฟ้อง การพิจารณาค่าเสียหายอันเกี่ยวกับไม้ผลที่ถูกรื้อถอน เป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินของบุคคล และเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นเอกชนยื่นฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง โดยอ้างว่า ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินมีโฉนดและเป็นที่หัวไร่ปลายนา ที่ทำประโยชน์อีกประมาณ ๗ ไร่ ตั้งอยู่ที่ตำบลนาหนองทุ่ม อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น ส่วนผู้ฟ้องคดีที่ ๒ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินมีโฉนด ตั้งอยู่ที่ตำบลนาหนองทุ่ม อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น เช่นกัน โดยผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีขุดลอกห้วยมะม่วงตอนล่างซึ่งอยู่ติดกับที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง ทำให้ต้นไม้ และพืชผลทางการเกษตรที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองปลูกไว้ได้รับความเสียหาย และนำดินที่ขุดจากที่ดินหัวไร่ปลายนาของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ประมาณ ๒ ไร่ ไปขาย ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าที่ดิน ค่าต้นไม้ และค่าขาดรายได้ ให้ทำข้อตกลงขนาดความกว้างของลำห้วยร่วมกัน ให้ออกเอกสารสิทธิที่ดินหัวไร่ปลายนาให้แก่ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ โดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน ให้ขุดลอกลำห้วยโดยมีขนาดเท่ากันทั้งลำห้วย และให้ทำฝายกั้นน้ำ ศาลมีคำสั่งไม่รับฟ้องคดีของผู้ฟ้องคดีที่ ๒ ไว้พิจารณา เนื่องจากขณะยื่นฟ้องที่ดินของผู้ฟ้องคดีที่ ๒ ยังไม่มีการขุดลอกลำห้วยรุกล้ำแต่อย่างใด ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ผู้ถูกฟ้องคดีได้ตรวจสอบพบว่า ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ บุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองและทำประโยชน์ในที่สาธารณประโยชน์ (ลำห้วยมะม่วง) และการเข้าขุดลอกลำห้วยมะม่วง เป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในการดูแลและคุ้มครองป้องกันที่ดิน อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตามกฎหมาย เห็นว่า การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนางจอม ธงน้อย ที่ ๑ นางถนอมทรัพย์ ไสยโสภณ ที่ ๒ ผู้ฟ้องคดี องค์การบริหารส่วนตำบลนาหนองทุ่ม ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share