คำวินิจฉัยที่ 35/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้คัดค้านที่ 3 เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายเพียงคนเดียวของผู้ตายจึงสมควรเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ส่วนผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 และ จ. ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านที่ 3 ไม่ใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย หรือบุตรที่ผู้ตายรับรองแล้ว ไม่ใช่ผู้สืบสันดาน และไม่ใช่ทายาทโดยธรรม ไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายและไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอ คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า ศาลสมควรเพิกถอนคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกทั้งสามแล้วตั้งผู้คัดค้านที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่ อันเป็นปัญหาที่ต้องบังคับตาม ป.พ.พ. ว่าด้วยมรดก บรรพ 6 ลักษณะ 4 แม้จะมีประเด็นวินิจฉัยเกี่ยวกับเรื่องผู้คัดค้านที่ 3 ว่าเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายหรือไม่แต่ก็เป็นเพียงประเด็นที่จะนำไปสู่การวินิจฉัยประเด็นสำคัญในคดี คือ ใครสมควรเป็นผู้จัดการมรดกเท่านั้น มิได้เป็นเรื่องเกี่ยวกับความเป็นบิดามารดาและบุตรตาม ป.พ.พ. บรรพ 5 โดยตรงอันจะเป็นคดีครอบครัวตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 10 (3)

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่านาง จ. เป็นน้องร่วมบิดามารดาเดียวกับนาย ว. ผู้ตายนาย ว. ไม่มีภริยาและบุตร เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2549 นาย ว. ถึงแก่ความตายด้วยสาเหตุการหายใจล้มเหลวจากเสมหะอุดตันนาง จ. จึงเป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของนาย ว. เพียงผู้เดียว ก่อนถึงแก่ความตายนาย ว. มีทรัพย์มรดกหลายรายการนาง จ. ไปติดต่อขอโอนทรัพย์มรดกของนาย ว. แล้วแต่เจ้าหน้าที่ไม่ดำเนินการให้จึงมีเหตุขัดข้องในการจัดการทรัพย์มรดก ขอให้ตั้งนาย ว. เป็นผู้จัดการมรดกของนาย ว. ผู้ตาย และศาลมีคำสั่งตั้งนาง จ. เป็นผู้จัดการมรดกของนาย ว. เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2550
ต่อมาผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นหลานผู้ตาย ยื่นคำร้องขอถอนนาง จ. จากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายและศาลมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับนาง จ. เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2557
วันที่ 24 มิถุนายน 2558 ผู้คัดค้านที่ 3 ยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย เป็นทายาทลำดับ 1 เพียงผู้เดียวของผู้ตายที่สมควรเป็นผู้จัดการมรดก ขอให้ถอนคำสั่งตั้งผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 และนาง จ. เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย และมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแต่เพียงผู้เดียว
ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 และนาง จ. ยื่นคำคัดค้านทำนองเดียวกันว่า ผู้คัดค้านที่ 3 ไม่ใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย หรือที่บุตรที่ผู้ตายรับรองแล้ว ไม่ใช่ผู้สืบสันดาน และไม่ใช่ทายาทโดยธรรม ไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตาย ขอให้ยกคำร้องขอของผู้คัดค้านที่ 3
ในวันนัดไต่สวนคำร้องขอ ศาลจังหวัดราชบุรีเห็นว่า กรณีมีปัญหาว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัวหรือไม่ จึงส่งสำนวนให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 11
วินิจฉัยว่า คดีนี้ผู้คัดค้านที่ 3 ยื่นคำร้องขอถอนผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 และ จ. จากการเป็นผู้จัดการมรดก โดยอ้างว่า ผู้คัดค้านที่ 3 เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายเพียงคนเดียวของผู้ตายจึงสมควรเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ส่วนผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 และ จ. ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านที่ 3 ไม่ใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย หรือบุตรที่ผู้ตายรับรองแล้ว ไม่ใช่ผู้สืบสันดาน และไม่ใช่ทายาทโดยธรรม ไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายและไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอ คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า ศาลสมควรเพิกถอนคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกทั้งสามแล้วตั้งผู้คัดค้านที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่ อันเป็นปัญหาที่ต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดก บรรพ 6 ลักษณะ 4 แม้จะมีประเด็นวินิจฉัยเกี่ยวกับเรื่องผู้คัดค้านที่ 3 ว่าเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายหรือไม่แต่ก็เป็นเพียงประเด็นที่จะนำไปสู่การวินิจฉัยประเด็นสำคัญในคดี คือ ใครสมควรเป็นผู้จัดการมรดกเท่านั้น มิได้เป็นเรื่องเกี่ยวกับความเป็นบิดามารดาและบุตรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 โดยตรงอันจะเป็นคดีครอบครัวตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 10 (3)
วินิจฉัยว่า คดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัว
วินิจฉัย ณ วันที่ 4 เดือน พฤษภาคม พุทธศักราช 2559

วีระพล ตั้งสุวรรณ
(นายวีระพล ตั้งสุวรรณ)
ประธานศาลฎีกา

Share