คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3524/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยปลูกสร้างอาคารผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตตั้งแต่ใบอนุญาตยังไม่หมดอายุ เป็นการกระทำความผิดสำเร็จแล้วกรรมหนึ่ง เมื่อใบอนุญาตหมดอายุแล้วจำเลยไม่ต่อใบอนุญาตก่อสร้างแต่ยังคงก่อสร้างต่อไปอีกย่อมเป็นการก่อสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาตอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 21,65,69 และ 71 อีกกรรมหนึ่ง เหตุบรรเทาโทษเป็นเหตุเฉพาะตัว ศาลอุทธรณ์ลดโทษให้จำเลยที่ไม่มีเหตุบรรเทาโทษย่อมไม่ถูกต้อง แต่โจทก์มิได้ฎีกา ศาลฎีกาไม่อาจแก้ไขได้ เพราะเป็นการพิพากษาเกินคำขอ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 กับพวก ร่วมกันกระทำความผิดหลายกรรมโดยร่วมกันก่อสร้างอาคารเพื่อพาณิชยกรรมและพักอาศัยผิดไปจากแผนผังบริเวณ แบบแปลน และรายการประกอบแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต ฝ่าฝืนคำสั่งให้ระงับการก่อสร้าง และให้รื้อถอนอาคารส่วนที่ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ ตลอดจนคำสั่งให้แก้ไขอาคารส่วนที่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 21, 22,31, 40, 42, 43, 65, 67, 69, 70, 71, 72, 79, 80 ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522 ลงวันที่8 มีนาคม 2522 ข้อ 30, 76 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 และขอให้สั่งปรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 เป็นรายวันตามกฎหมาย
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 และจำเลยที่ 7ถึงที่ 9 มีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 4,21, 22, 31, 40, 42, 43, 65, 67, 69, 70 ประกอบด้วยมาตรา 71, 72 ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522 ลงวันที่ 8 มีนาคม 2522 ข้อ 30, 76 ในข้อหาความผิดฐานก่อสร้างอาคารเพื่อพาณิชยกรรมให้ผิดไปจากแผนผังบริเวณแบบแปลนและรายการประกอบแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต และข้อหาความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างและให้รื้อถอนอาคารส่วนที่ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ ตลอดจนคำสั่งให้แก้ไขอาคารส่วนที่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ สำหรับจำเลยที่ 1ถึงที่ 5 และที่ 7 ที่ 8 เป็นความผิดสืบเนื่องเชื่อมโยงซ้ำซ้อนกันจึงเป็นกรรมเดียวกันอันเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักในข้อหาความผิดฐานก่อสร้างอาคารเพื่อพาณิชยกรรมให้ผิดไปจากแผนผังบริเวณ แบบแปลน และรายการประกอบแบบที่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 22, 31, 65, 69 และ 71 ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 สำหรับจำเลยที่ 1 ปรับ 100,000 บาท และปรับตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนวันละ 10,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2526ถึงวันฟ้องระยะหนึ่งรวม 1,395 วัน เป็นเงิน 13,950,000 บาทและปรับวันละ 10,000 บาท ตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าได้รื้อถอนหรือปฏิบัติให้ถูกต้อง ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 และที่ 7ถึงที่ 8 จำคุกคนละ 6 เดือน และปรับคนละ 100,000 บาท และปรับตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนวันละ 10,000 บาท นับตั้งแต่วันที่10 กุมภาพันธ์ 2526 ถึงวันฟ้องระยะหนึ่งรวม 1,395 วัน เป็นเงินคนละ 13,950,000 บาท และปรับวันละ 10,000 บาท ตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะได้รื้อถอนหรือปฏิบัติให้ถูกต้องสำหรับจำเลยที่ 9 จำคุก 6 เดือน และปรับ 40,000 บาท และปรับตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนวันละ 5,000 บาท นับตั้งแต่วันที่10 กุมภาพันธ์ 2526 ถึงวันฟ้องระยะหนึ่งรวม 1,395 วัน เป็นเงิน6,975,000 บาท และปรับวันละ 5,000 บาท ตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะได้รื้อถอนหรือปฏิบัติให้ถูกต้อง และในข้อหาความผิดฐานร่วมกันก่อสร้างอาคารเพื่อการพาณิชยกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาตอีกกระทงหนึ่ง จำเลยที่ 1 ปรับ 40,000 บาท และจำเลยที่ 2ถึงที่ 5 กับจำเลยที่ 7 ถึงที่ 8 จำคุกคนละ 6 เดือน และปรับคนละ40,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 9 จำคุก 6 เดือน และปรับ 20,000 บาทรวมแล้วปรับจำเลยที่ 1 จำนวน 14,090,000 บาท และปรับตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนวันละ 10,000 บาท นับตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะได้รื้อถอนหรือปฏิบัติให้ถูกต้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5กับที่ 7 ถึงที่ 8 จำคุกคนละ 12 เดือน และปรับคนละ 14,090,000 บาทและปรับตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนวันละ 10,000 บาท นับตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะได้รื้อถอนหรือปฏิบัติให้ถูกต้องจำเลยที่ 9 จำคุก 12 เดือน และปรับ 7,035,000 บาท และปรับตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนวันละ 5,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะได้รื้อถอนหรือปฏิบัติให้ถูกต้อง จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5และจำเลยที่ 7 ถึงที่ 9 ไม่เคยรับโทษจำคุกมาก่อน อาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด1 ปี ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30โดยให้กักขังแทนค่าปรับ มีกำหนดสองปีสำหรับจำเลยที่ 6 ให้ยกฟ้องโจทก์
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนและทางพิจารณาจำเลยที่ 1 และที่ 2นำสืบรับเข้ามา ซึ่งเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่มาก นับเป็นเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คนละกึ่งหนึ่ง คงปรับจำเลยที่ 1 จำนวน 50,000 บาท และปรับตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอีกวันละ 5,000 บาท นับตั้งแต่วันที่26 มกราคม 2527 จนกว่า จะได้รื้อถอนหรือปฏิบัติให้ถูกต้อง จำคุกจำเลยที่ 2 กำหนด 3 เดือน และปรับ 50,000 บาท และปรับตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอีกวันละ 5,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม 2527จนกว่าจะรื้อถอนหรือปฏิบัติให้ถูกต้อง ปรับจำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 5ที่ 7 และที่ 8 ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนคนละวันละ 10,000 บาทนับตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม 2527 จนกว่าจะรื้อถอนหรือปฏิบัติให้ถูกต้อง และปรับจำเลยที่ 9 ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนวันละ 5,000 บาทนับตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม 2527 จนกว่าจะรื้อถอนหรือปฏิบัติให้ถูกต้อง เฉพาะจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ให้ยกฟ้อง โจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 2ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 ที่ 8 และที่ 9 ในข้อหาความผิดฐานร่วมกันก่อสร้างอาคารเพื่อพาณิชยกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาตเสียด้วยนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่จำเลยที่ 1 กับพวกปลูกสร้างอาคารผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นเป็นการกระทำความผิดสำเร็จไปแล้วกรรมหนึ่ง และเมื่อครบกำหนดในใบอนุญาตให้ก่อสร้างจำเลยไม่ต่อใบอนุญาต แต่ยังคงก่อสร้างต่อไปอีก จึงเป็นการก่อสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 21, 65, 69และ 71 อีกกรรมหนึ่งต่างไปจากกรรมแรก และการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณาเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ศาลอุทธรณ์ลดโทษให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชอบแล้วแต่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลดโทษให้จำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 ที่ 8และที่ 9 ด้วยนั้น ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 ที่ 8และที่ 9 ให้การปฏิเสธทั้งในชั้นสอบสวนและในชั้นศาล ไม่มีเหตุบรรเทาโทษ ซึ่งเป็นเหตุเฉพาะตัว ศาลอุทธรณ์พิพากษาลดโทษให้จึงไม่ชอบ แต่โจทก์มิได้ฎีกา จึงไม่อาจแก้ไขได้เพราะจะเป็นการพิพากษาเกินคำขอในฟ้องฎีกาของโจทก์
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 7ที่ 8 และที่ 9 มีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522มาตรา 21, 65, 69 และ 71 ด้วยอีกกรรมหนึ่ง ลงโทษจำเลยที่ 1ปรับ 40,000 บาท จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 ที่ 8 จำคุกคนละ 6 เดือน และปรับคนละ 40,000 บาท จำเลยที่ 9 จำคุก 6 เดือนและปรับ 20,000 บาท จำเลยที่ 1 ที่ 2 ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 จำเลยที่ 1 ปรับ 20,000 บาทจำเลยที่ 2 จำคุก 3 เดือน ปรับ 20,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share