คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 40/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยบุกรุกปลูกสร้างอาคารในที่ดิน น.ส.3 เลขที่1384 ของโจทก์ จำเลยที่ 1 ต่อสู้ว่า ไม่ได้บุกรุกที่ดินโจทก์ แต่ จำเลยครอบครองปรปักษ์ที่ดิน น.ส.3 เลขที่ 1091 ซึ่งพอแปลความได้ ว่า ที่ดินส่วนที่จำเลยที่ 1 ปลูกสร้างอาคารอยู่ในเขตที่ดินของตน คดีจึงมีประเด็นว่า อาคารของจำเลยที่ 1 ปลูกสร้างอยู่ในเขตที่ดิน ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของโจทก์ หรือของจำเลยที่ 1 การที่ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์จึงพิพากษายืน ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น หาใช่เป็นการพิพากษาเกินคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ไม่ ข้อที่ว่าจำเลยที่ 1 ครอบครองที่ดินพิพาทโดยสุจริต ชอบที่ศาลอุทธรณ์จะสั่งให้โจทก์ใช้ค่าที่ดินที่เพิ่มขึ้นเพราะสร้าง โรงเรือนนั้นให้แก่จำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1310 จำเลยที่ 1 มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวไว้ในศาลชั้นต้น และมิใช่ปัญหาเกี่ยวกับความสงบ เรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่เท่าใดจำไม่ได้ เดือนมิถุนายนพ.ศ. 2529 เวลากลางวัน จำเลยกับพวกสมคบกันเข้าไปในที่ดินของโจทก์ตาม น.ส.3 เลขที่ 1384 ตำบลบ้านเป้า อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง และใช้จอบ เสียม มีด ไม้ ตัดฟันขุดที่ดิน เทปูนก่ออิฐปลูกอาคารบนที่ดิน โจทก์ห้ามแล้วจำเลยกับพวกก็ไม่ฟังทั้งนี้โดยจำเลยกับพวกเจตนาจะเอาที่ดินของโจทก์ไปเป็นของตน หรือเพื่อจะรบกวนการครอบครองที่ดินของโจทก์โดยปกติสุข ทำให้โจทก์เสียหายขาดประโยชน์ไม่ได้ใช้ที่ดินตามปกติ เป็นเงิน 5,000 บาท เหตุเกิดที่ตำบลบ้านเป้า อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 365, 83 ให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดิน น.ส.3 เลขที่ 2384 และให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินออกไป กับชดใช้ค่าเสียหาย 5,000 บาท แก่โจทก์
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูลเฉพาะจำเลยที่ 1ในข้อหาบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 ให้ประทับฟ้องและให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 และบริวารไม่ได้บุกรุกหรือสร้างสิ่งปลูกสร้างในที่ดิน น.ส.3 เลขที่ 1384 ของโจทก์ จำเลยที่ 1 ครอบครองที่ดิน น.ส.3 เลขที่ 1091 มาแต่ปี พ.ศ. 2521โดยสงบ เปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ถึงแก่ความตายนายสมชายจิวะกุลชัยนันท์ บุตรโจทก์ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 ให้จำคุก 6 เดือนและปรับ 2,000 บาทโทษจำคุกให้รอไว้มีกำหนด 2 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทน ให้จำเลยที่ 1 และบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์ตาม น.ส.3 เลขที่ 1384และรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไป ให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 1,000 บาท คำขอนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างอุทธรณ์
ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 จำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย ศาลอุทธรณ์ภาค 2 สั่งจำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 1เฉพาะส่วนอาญา ส่วนคดีแพ่ง นายฉัตรไชย สุรัสสนันท์ บุตรจำเลยที่ 1 ขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลอุทธรณ์ภาค 2 อนุญาต
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 600 บาท
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือจำเลย ปัญหาข้อนี้โจทก์อ้างว่าที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 1384ตามเอกสารหมาย จ.4 เป็นของตน จำเลยเข้าบุกรุกปลูกสร้างอาคารในที่ดินแปลงนี้ จำเลยที่ 1 ต่อสู้ว่าไม่ได้บุกรุกที่ดินแปลงดังกล่าวของโจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ได้ครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 1091 ตามเอกสารหมาย ล.5 โดยความสงบเปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521 ซึ่งพอแปลความได้ว่าจำเลยที่ 1 ต่อสู้ว่าที่ดินส่วนที่จำเลยที่ 1 ปลูกสร้างอาคารอยู่ในเขตที่ดินของตนจึงมีปัญหาว่า ที่ดินส่วนที่จำเลยที่ 1ปลูกสร้างอาคารตามฟ้องนั้นอยู่ในเขตที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 1384 ตามเอกสารหมาย จ.4 ของโจทก์ หรืออยู่ในเขตที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 1091 ตามเอกสารหมาย ล.5 ของจำเลยที่ 1 จึงรับฟังได้ว่าลำเหมืองนี้เป็นแนวเขตที่ดินด้านทิศใต้ของโจทก์มาแต่เดิม ที่จำเลยนำสืบว่าลำเหมืองแห่งนี้จำเลยเพิ่งขุดขึ้นหลังจากที่ซื้อที่ดินนี้มาประมาณ3 – 4 ปี เพื่อให้น้ำซึ่งไหลผ่านท่อลอดคลองชลประทานและไหลมาเจิ่งนองในที่ดินนี้ไหลไปทางถนนสายท่าล้อ ห้วยเป้ง นั้นเป็นการเบิกความลอย ๆ ไม่มีพยานหลักฐานอื่นสนับสนุน จึงมีน้ำหนักน้อยรับฟังหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ไม่ได้ จึงต้องฟังว่าที่ดินพิพาทส่วนที่อยู่ถัดลำเหมืองสาธารณะขึ้นไปเป็นที่ดินของโจทก์ ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาเกินคำขอท้ายฟ้องของโจทก์นั้น เห็นว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ฟังข้อเท็จจริงว่า ที่พิพาทเป็นของโจทก์ จึงได้พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอท้ายฟ้องของโจทก์แต่อย่างใด สำหรับฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 แล้วนั้น จำเลยที่ 1 ได้ให้การและนำสืบว่าจำเลยได้ครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 1091ตำบลบ้านเป้า อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปางมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521ปรากฏว่าโจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2529 และนำสืบว่าเมื่อระหว่างปลายเดือนพฤษภาคมถึงต้นเดือนมิถุนายน 2529 จำเลยได้บุกรุกที่ดินพิพาทเพื่อตั้งโรงงานโดยจำเลยที่ 1 ได้โทรศัพท์ไปบอกโจทก์ที่กรุงเทพฯ ว่า หากจำเลยถมที่ดินเกินเข้าไปในที่ดินของโจทก์ ก็จะคืนที่ดินส่วนที่เกินให้ โจทก์จึงให้บุตรชายไปดูโดยก่อนนั้นนายบุญศรีได้ไปบอกให้จำเลยทราบว่าที่ดินส่วนที่จำเลยถมเข้าไปนั้นเป็นที่ดินของโจทก์ เมื่อจำเลยโทรศัพท์ไปถึงโจทก์โจทก์ตอบจำเลยว่าถ้าที่ดินของจำเลยเกินที่ของโจทก์ต้องคืนให้โจทก์ถ้าที่ดินของโจทก์เกินที่ดินของจำเลยก็จะคืนให้จำเลยไป ในที่สุดจำเลยบอกโจทก์ว่าหากมีการรุกล้ำที่ดินของโจทก์จริงก็จะขอซื้อส่วนที่รุกล้ำ โจทก์ยินดีจะขายให้ในราคาไร่ละ 50,000 บาท แต่จำเลยก็ยังก่อสร้างต่อไป โจทก์จึงไปแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยฐานบุกรุก จำเลยที่ 1 จึงได้ให้นายบุญศรีมาพูดขอซื้อที่ดินพิพาทจากโจทก์ในราคาไร่ละ 40,000 บาท โจทก์ไม่ยอมขาย ในตอนต้นจำเลยที่ 1บุกรุกที่ดินเนื้อที่เพียงประมาณ 100 ตารางวา แต่ต่อมาบุกรุกเป็นเนื้อที่ 1 ไร่ เศษ ฝ่ายจำเลยที่ 1 เพียงแต่อ้างตนเองเป็นพยานนำสืบลอย ๆ ว่าเมื่อจำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินดังกล่าวในปีพ.ศ. 2521 มาแล้ว ได้ให้นายบุญศรีเข้าไปแผ้วถางที่ดิน โดยจ่ายค่าตอบแทนให้ 1,000 บาท แล้วให้นายศรีวงศ์เข้าทำนาบนที่ดินเท่านั้น มิได้ให้รายละเอียดยิ่งไปกว่านี้ จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ครอบครองที่ดินพิพาทมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521 ซึ่งเกิน 1 ปีตามที่จำเลยนำสืบ ที่ดินพิพาทจึงยังเป็นของโจทก์
ส่วนข้อที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ครอบครองที่ดินพิพาทโดยสุจริต ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ก็ชอบที่จะสั่งให้โจทก์ใช้ค่าที่ดินเพียงที่เพิ่มขึ้นเพราะสร้างโรงเรือนนั้นให้แก่จำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1310 นั้น จำเลยที่ 1 มิได้ยกปัญหาข้อนี้ขึ้นว่ากล่าวไว้ในศาลชั้นต้น และมิใช่ปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ส่วนฎีกาข้ออื่น ๆ ของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 แพ้คดีมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share