คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5176/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเปิดบัญชีกับโจทก์สองบัญชี เป็นบัญชีกระแสรายวันและบัญชีออมทรัพย์ที่สาขาย่อยสะพานปลาระนอง เมื่อวันที่ 28ธันวาคม 2537 ลูกค้าของจำเลยนำเช็คธนาคารแห่งประเทศไทยจำนวนเงิน 1,000,000 บาท พร้อมเงินสด 59,518 บาท มาฝากเข้า บัญชีออมทรัพย์ของจำเลยโดยวิธีโอนเงินจากสาขาระนอง มายังสาขาย่อยสะพานปลาระนอง สาขาระนอง ดำเนินการโอนเงินแล้วปรากฏที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ ว่าการสื่อสารปลายทางขัดข้อง ลูกค้าของโจทก์จึงนำเช็คพร้อมเงินสดจำนวนดังกล่าวกลับไป แล้วนำไปฝากเข้าบัญชีออมทรัพย์ของจำเลยที่สาขาย่อย สะพานปลาระนอง ในวันเดียวกัน ต่อมาโจทก์ตรวจสอบบัญชีของโจทก์พบว่าเกิดการผิดพลาดเพราะสาขาระนองสามารถโอนเงินจำนวนดังกล่าวเข้า บัญชีเงินฝากของจำเลยในวันที่ 28 ธันวาคม 2537 ได้บัญชีของจำเลยจึงมีรายการซ้ำซ้อน ทำให้เงินในบัญชีของจำเลย เพิ่มขึ้น 1,059,518 บาท ดังนี้ เมื่อลูกค้าของจำเลยรับเช็ค และเงินสดคืนไปจากโจทก์สาขาระนองและนำมาเข้าบัญชีออมทรัพย์ของจำเลยที่สาขาย่อยสะพานปลาระนองแล้ว สาขาระนอง ของโจทก์จึงไม่ต้องโอนเงินมาเข้าบัญชีของจำเลยที่สาขาย่อย สะพานปลาระนองอีก การที่เกิดการผิดพลาดโดยสาขาระนอง ของโจทก์โอนเงินมาเข้าบัญชีของจำเลยที่สาขาย่อยสะพานปลาระนองอีกและจำเลยรับเงินจำนวนที่โอนมาไว้โดยที่จำเลยได้รับเงิน จำนวนเดียวกันจากลูกค้าของจำเลยแล้ว ถือไม่ได้ว่าจำเลยรับ เงินจากโจทก์ไว้โดยสุจริต จำเลยจึงต้องคืนเงินที่รับเกินมา ทั้งหมดให้โจทก์ และอายุความเรื่องลาภมิควรได้ในกรณีเช่นนี้ ย่อมเริ่มนับตั้งแต่วันที่ฝ่ายตรวจสอบบัญชีของโจทก์ตรวจพบ ในวันที่ 24 มีนาคม 2538 โจทก์ฟ้องคดีในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2539 ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 419

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 677,500 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน600,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 600,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้จากพยานหลักฐานโจทก์และจำเลยว่า จำเลยเปิดบัญชีกับโจทก์สองบัญชีเป็นบัญชีกระแสรายวันและบัญชีออมทรัพย์ที่สาขาย่อยสะพานปลาระนองเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2537 ลูกค้าของจำเลยนำเช็คธนาคารแห่งประเทศไทย จำนวนเงิน 1,000,000 บาท พร้อมเงินสด59,518 บาท มาฝากเข้าบัญชีออมทรัพย์ของจำเลยโดยวิธีโอนเงินจากสาขาระนองมายังสาขาย่อยสะพานปลาระนอง สาขาระนองดำเนินการโอนเงินแล้วปรากฏที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ ว่าการสื่อสารปลายทางขัดข้อง ลูกค้าของโจทก์จึงนำเช็คพร้อมเงินสดจำนวนดังกล่าวกลับไป แล้วนำไปฝากเข้าบัญชีออมทรัพย์ของจำเลยที่สาขาย่อยสะพานปลาระนองในวันเดียวกัน ต่อมาโจทก์ตรวจสอบบัญชีของโจทก์พบว่าเกิดการผิดพลาดเพราะสาขาระนองสามารถโอนเงินจำนวนดังกล่าวเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยในวันที่ 28 ธันวาคม 2537 ได้บัญชีของจำเลยจึงมีรายการซ้ำซ้อนทำให้เงินในบัญชีของจำเลยเพิ่มขึ้น 1,059,518 บาท โจทก์จึงทวงถามให้จำเลยคืนเงินที่เกินจำนวนดังกล่าว จำเลยคืนเงินให้โจทก์ 459,518 บาท ส่วนที่เหลืออีก 600,000 บาท จำเลยไม่ยอมคืน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประการแรกว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ทราบความผิดพลาดตั้งแต่วันที่โอนเงินคือวันที่ 28 ธันวาคม 2537 แล้วโจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2539 พ้นกำหนด 1 ปีฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความนั้น การโอนเงินเข้าบัญชีของจำเลยที่สาขาย่อยสะพานปลาระนองได้ทำการโอนมาจากสาขาระนองซึ่งเป็นคนละสาขากัน จึงเชื่อได้ว่าโจทก์ไม่ทราบการผิดพลาดในวันโอนและน่าเชื่อตามที่โจทก์นำสืบว่า โจทก์ทราบการผิดพลาดเมื่อฝ่ายตรวจสอบบัญชีของโจทก์ไปตรวจพบในวันที่ 24 มีนาคม 2538 ซึ่งจำเลยมิได้นำสืบให้เห็นว่าโจทก์ทราบในวันอื่น จึงถือว่าโจทก์ทราบว่าโจทก์มีสิทธิเรียกเงินคืนได้ในวันดังกล่าว เมื่อโจทก์ฟ้องคดีในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2539 ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประการต่อไปว่าจำเลยได้รับเงินฝากเข้าบัญชีของจำเลยไว้โดยสุจริต และต้องคืนเงินให้โจทก์หรือไม่เพียงใด ในข้อนี้ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยได้รับเงินจากโจทก์มาโดยสุจริตในฐานะลาภมิควรได้ โดยไม่ล่วงรู้ถึงความผิดพลาด จำเลยจึงมีหน้าที่เพียงคืนเงินให้แก่โจทก์เท่าที่เหลือจากการใช้เงินในขณะล่วงรู้เท่านั้น โจทก์ได้โอนเงินเข้าบัญชีให้จำเลยเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2537 จำเลยไม่ทราบ จนกระทั่งวันที่ 10 มกราคม 2538 จำเลยได้ใช้จ่ายเงินไปจนเหลือเงินในบัญชีเพียง 35,768.39 บาท หลังจากวันที่ 10มกราคม 2538 จำเลยทำการค้ามีเงินเข้าออกตลาดมาจนถึงวันที่1 มีนาคม 2538 ในบัญชีของจำเลยมีเงินจำนวน 2,234,189.34 บาท เงินจำนวนดังกล่าวนี้มิใช่เงินของโจทก์ แต่เป็นเงินของจำเลยที่ได้จากการค้าในภายหลังจากวันที่ 10 มกราคม 2538 จำเลยจึงไม่ต้องคืนให้โจทก์นั้น เห็นว่า ในวันที่ 28 ธันวาคม 2537เมื่อลูกค้าของจำเลยรับเช็คและเงินสดคืนไปจากโจทก์สาขาระนองและนำมาเข้าบัญชีออมทรัพย์ของจำเลยที่สาขาย่อยสะพานปลาระนองแล้ว สาขาระนองของโจทก์จึงไม่ต้องโอนเงินมาเข้าบัญชีของจำเลยที่สาขาย่อยสะพานปลาระนองอีก การที่เกิดการผิดพลาดโดยสาขาระนองของโจทก์โอนเงินมาเข้าบัญชีของจำเลยที่สาขาย่อยสะพานปลาระนองอีก และจำเลยรับเงินจำนวนที่โอนมาไว้โดยที่จำเลยได้รับเงินจำนวนเดียวกันจากลูกค้าของจำเลยแล้ว ถือไม่ได้ว่าจำเลยรับเงินจากโจทก์ไว้โดยสุจริต จำเลยจึงต้องคืนเงินที่รับเกินมาทั้งหมดให้โจทก์ เมื่อจำเลยชำระให้โจทก์แล้ว 459,518 บาท จำเลยจึงต้องคืนเงินส่วนที่เหลืออีก 600,000 บาท ให้โจทก์ตามฟ้อง
พิพากษายืน

Share