แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒๙/๒๕๔๕
วันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๕
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
ศาลจังหวัดมุกดาหาร
ระหว่าง
ศาลปกครองนครราชสีมา
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดมุกดาหารได้ส่งเรื่องมาให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยตามมาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งเป็นกรณีที่คู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจของศาลที่รับฟ้องซึ่งศาลที่รับฟ้องเห็นว่า คดีไม่อยู่ในเขตอำนาจของตน จึงได้จัดทำความเห็นส่งไปให้ศาลที่คู่ความ ฝ่ายที่ถูกฟ้องร้องว่าคดีนั้นอยู่ในเขตอำนาจ แต่ศาลผู้รับความเห็นเห็นว่า คดีนั้นไม่อยู่ในเขตอำนาจของตน เช่นกัน ศาลผู้ส่งความเห็นจึงได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาด
ข้อเท็จจริงในคดี
นางหลิด คล่องแคล่ว เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายชัยวัฒน์ อิทธิวรรณพงศ์ นายอำเภอคำชะอี เป็นจำเลย ต่อศาลจังหวัดมุกดาหาร อ้างว่า โจทก์เป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดินตั้งอยู่บ้านหนองเอี่ยนคง หมู่ที่ ๙ ตำบลน้ำเที่ยง อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร เนื้อที่ประมาณ ๒๐ ไร่ ๓ งาน ๘๓ ตารางวา โจทก์ได้รับที่ดินแปลงดังกล่าวมาจากบิดาโจทก์โดยครอบครองสืบสิทธิติดต่อกันมา และโจทก์ได้เข้าครอบครองเพื่อตนเองแสดงความเป็นเจ้าของมาโดยตลอด โดยไม่มีผู้ใดรบกวนการครอบครองหรือคัดค้านการครอบครองของโจทก์และไม่เคยเป็นที่สาธารณะ แต่จำเลยในฐานะนายอำเภอคำชะอีได้ขอให้อธิบดีกรมที่ดินออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงในที่ดินสาธารณประโยชน์ ๑ แปลง ชื่อห้วยทราย มีเนื้อที่ ๑๐ ไร่ ๒ งาน โดยอ้างว่า เป็นที่สาธารณประโยชน์ประเภทสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน แต่เมื่อผู้แทนนายอำเภอนำช่างรังวัดปรากฏว่า ได้เนื้อที่ทั้งหมดจำนวน ๔๔ ไร่ ๑ งาน ๓๓ ตารางวา ซึ่งได้รุกล้ำที่ดิน ที่อยู่ในความครอบครองของโจทก์เป็นเนื้อที่จำนวน ๒๐ ไร่ ๓ งาน ๘๓ ตารางวา โจทก์ได้ยื่นหนังสือคัดค้านการรังวัดในส่วนที่รุกล้ำที่ดินของโจทก์ และต่อมาสำนักงานที่ดินจังหวัดมุกดาหารสาขาคำชะอีได้ออกประกาศเพื่อแจกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงแปลงห้วยทราย โจทก์จึงคัดค้านการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเฉพาะส่วนที่รุกล้ำที่ดินของโจทก์อีกครั้งหนึ่ง การกระทำของจำเลยที่นำเจ้าพนักงานที่ดินไปทำการรังวัดรุกล้ำที่ดินของโจทก์เพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงโดยโจทก์มิได้สละสิทธิครอบครองหรือให้ความยินยอมเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิการครอบครองของโจทก์และเป็นการรบกวนโต้แย้งสิทธิ อันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ขอให้ศาลพิพากษาว่า โจทก์เป็น เจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินแปลงพิพาทจำนวนเนื้อที่ ๒๐ ไร่ ๓ งาน ๘๓ ตารางวา และให้จำเลยชำระ ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนโจทก์
จำเลยโดยนายจุมพล สุโขยะชัย พนักงานอัยการ ทนายจำเลย ให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ซึ่งสงวนไว้สำหรับประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันและไม่ใช่ที่ดินที่โจทก์ มีสิทธิครอบครองตามที่โจทก์กล่าวอ้าง จำเลยจึงมีสิทธิขอออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงสำหรับที่ดินแปลงพิพาทได้โดยชอบด้วยระเบียบและกฎหมาย และกรณีจะเป็นประการใดก็ตามจำเลยเห็นว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลนี้ เนื่องจากข้อหาที่โจทก์กล่าวอ้างเป็นการกล่าวอ้างจำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ โดยอ้างว่าคำสั่งของจำเลยเป็นคำสั่งหรือการปฏิบัติราชการที่มีผลกระทบต่อโจทก์ ดังนั้น จำเลยจึงเห็นว่าเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๘ และมาตรา ๙ จึงขอให้ศาลชี้ขาดปัญหาข้อกฎหมายและจำหน่ายคดีของโจทก์ด้วย
ศาลจังหวัดมุกดาหารเห็นว่า ข้อพิพาทระหว่างโจทก์จำเลยเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือเป็นการออกคำสั่งหรือกระทำการใด ๆ อันไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งกรณีดังกล่าวน่าจะอยู่ในอำนาจของศาลปกครองที่จะพิจารณาพิพากษาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑)
ศาลปกครองนครราชสีมาได้แจ้งความเห็นไปยังศาลจังหวัดมุกดาหารว่า จำเลยเป็นนายอำเภอซึ่งเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินได้ยื่นความประสงค์ ต่ออธิบดีกรมที่ดินให้ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง โจทก์ได้ยื่นคำคัดค้านการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงดังกล่าว การกระทำของโจทก์และจำเลยเป็นการดำเนินการตามขั้นตอนแห่งประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๘ ตรี โดยมีข้อโต้แย้งกันว่า ที่ดินที่จำเลยนำรังวัดจำนวน ๒๐ ไร่ ๓ งาน ๘๓ ตารางวา เป็นที่สาธารณประโยชน์หรือเป็นที่ที่โจทก์มีสิทธิครอบครอง ดังนั้น จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินของบุคคล เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ตามนัยคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ที่ ๔/๒๕๔๕ ในคดีนี้ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาได้แก่ ศาลจังหวัดมุกดาหาร
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คือ การพิจารณาวินิจฉัยการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐเกี่ยวกับการโต้แย้งสิทธิในที่ดินของเอกชนอยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
สิทธิของบุคคลอันเกี่ยวกับที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๔ ทรัพย์สิน มาตรา ๑๒๙๘ ที่บัญญัติว่า “ทรัพยสิทธิทั้งหลายนั้น ท่านว่าจะก่อตั้งขึ้นได้แต่ด้วยอาศัยอำนาจในประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น” บทบัญญัติมาตรานี้กำหนดให้การพิจารณาข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินอยู่ในบังคับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือกฎหมายอื่นที่บัญญัติในเรื่องนั้นไว้เป็นพิเศษ
สำหรับคดีนี้คู่ความโต้แย้งกันเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทว่า เป็นที่ดินของโจทก์หรือเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์เป็นสำคัญโดยไม่มีประเด็นโต้แย้งเกี่ยวกับการออกคำสั่งหรือการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ของรัฐว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด ในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลคงมีประเด็นต้องพิจารณาให้ได้ความเพียงว่า ที่ดินนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ตามที่โจทก์กล่าวอ้างหรือไม่ ซึ่งการพิจารณาสิทธิในที่ดินพิพาทระหว่างคู่ความต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
“มาตรา ๑๓๐๔ สาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น รวมทรัพย์สินทุกชนิดของแผ่นดินซึ่งใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน เช่น
(๑) ที่ดินรกร้างว่างเปล่า และที่ดินซึ่งมีผู้เวนคืนหรือทอดทิ้งหรือกลับมาเป็นของแผ่นดินโดยประการอื่น ตามกฎหมายที่ดิน
(๒) ทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน เป็นต้นว่า ที่ชายตลิ่ง ทางน้ำ ทางหลวง ทะเลสาบ”
การพิจารณาสิทธิในที่ดินพิพาทคดีนี้ยังต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายที่ดิน ประกอบด้วย โดยจะต้องพิจารณาถึงสิทธิครอบครองและการใช้ประโยชน์ในที่ดินของคู่ความและพยานหลักฐานการใช้ประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่ตำบลน้ำเที่ยง อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร ซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ มิได้กำหนดให้ศาลปกครองมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สิน ดังนั้น คดีที่เป็นประเด็นโดยตรงเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินของบุคคลจึงอยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรม เมื่อการขอออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงมีการโต้แย้งสิทธิ ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดินจึงได้แก่ ศาลยุติธรรม ทั้งนี้ ตามนัยคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๒๘/๒๕๔๕
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีที่นางหลิด คล่องแคล่ว เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายชัยวัฒน์ อิทธิวรรณพงศ์ นายอำเภอคำชะอี เป็นจำเลย เกี่ยวกับสิทธิในที่ดินอยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรม ซึ่งในคดีนี้ได้แก่ ศาลจังหวัดมุกดาหาร
นายอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
นายอักขราทร จุฬารัตน นายโภคิน พลกุล
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
พลโท สมัยรบ สุทธิวาทนฤพุฒิ พลโท อาชวัน อินทรเกสร
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
นายพรชัย รัศมีแพทย์
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ