แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒๘/๒๕๔๕
วันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๔๕
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
ศาลจังหวัดสงขลา
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดสงขลาโดยสำนักงานศาลยุติธรรมได้ส่งเรื่องมาให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยตามมาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งเป็นกรณีที่คู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจของศาลที่รับฟ้อง ซึ่งศาลที่รับฟ้องเห็นว่า คดีไม่อยู่ในเขตอำนาจของตน จึงได้จัดทำความเห็นส่งไปให้ศาลที่คู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องร้องว่าคดีนั้นอยู่ในเขตอำนาจ แต่ศาลผู้รับความเห็นเห็นว่าคดีนั้นไม่อยู่ในเขตอำนาจของตนเช่นกัน ศาลผู้ส่งความเห็นจึงได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาด
ข้อเท็จจริงในคดี
บริษัทฉลองกรุงการเกษตร จำกัด เป็นโจทก์ยื่นฟ้ององค์การบริหารส่วนตำบลชิงโค ที่ ๑ และนายเจษฎา คงเชื้อโรจน์ ที่ ๒ เป็นจำเลยต่อศาลจังหวัดสงขลาอ้างว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่งอกริมตลิ่ง (ชายทะเล) จากที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๗ ตำบลชิงโค อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา เนื้อที่ ๓ ไร่ ๓ งาน ๘๔ ตารางวา เมื่อวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๓๔ คณะกรรมการตรวจสอบสภาพที่ดินที่งอกริมตลิ่ง จังหวัดสงขลา ตรวจสอบและกำหนดว่าแนวที่งอกของโจทก์สามารถออกโฉนดที่ดินได้ วันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ โจทก์ได้นำเจ้าหน้าที่ที่ดินจังหวัดสงขลาดำเนินการรังวัดเพื่อออกโฉนดที่ดิน แต่จำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ คัดค้านและระหว่างเดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๓ ถึงเดือนมกราคม ๒๕๔๔ จำเลยทั้งสองเข้าไปขุดคูทำถนน ตัดโค่นต้นสน สร้างศาลา และปักป้ายประกาศไว้ในที่งอกดังกล่าวของโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหายไม่อาจใช้ประโยชน์ในที่ดินได้ ซึ่งโจทก์อาจนำที่ดินออกให้ผู้อื่นเช่าได้ในอัตราเดือนละ ๒๐,๐๐๐ บาท โจทก์ขอให้ศาลจังหวัดสงขลาบังคับจำเลยทั้งสองดังนี้
๑. ออกไปจากที่ดินของโจทก์และห้ามเกี่ยวข้องอีกต่อไป
๒. รื้อถอนศาลา ป้ายประกาศ ถมคูและจัดทำที่ดินของโจทก์ให้อยู่ในสภาพเดิม
๓. ชำระค่าเสียหายนับแต่วันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ จนถึงวันฟ้องเป็นจำนวน ๑๖๐,๐๐๐ บาท และค่าเสียหายในอัตราเดือนละ ๒๐,๐๐๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองและบริวารจะออกจากที่ดินของโจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า ที่ดินที่โจทก์อ้างว่าเป็นที่งอกริมตลิ่งและเป็นของโจทก์นั้นไม่ใช่ที่งอกริมตลิ่งแต่เป็นที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งประชาชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันมา โจทก์ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามฟ้อง ชาวบ้านได้ร่วมกันสร้างศาลาใหม่แทนของเดิมและได้ร่วมกันออกเงินทำถนนสาธารณะในที่ดินพิพาท ต้นสนในที่ดินพิพาทเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ไม่ใช่ของโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง และคดีนี้เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง ศาลจังหวัดสงขลาไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้
ศาลจังหวัดสงขลาเห็นว่า ข้ออ้างแห่งสภาพความผิดตามที่จำเลยทั้งสองกล่าวเป็นการปฏิบัติการของฝ่ายปกครองท้องถิ่น เพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของส่วนรวม ถือเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ทางปกครอง เมื่อเกิดความเสียหายแก่โจทก์ซึ่งเป็นเอกชน จึงเป็นการกระทำละเมิดโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ ถือเป็นข้อพิพาทที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลจังหวัดสงขลา
ศาลปกครองกลางเห็นว่า มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในเรื่องที่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรเท่านั้น บทบัญญัติดังกล่าวหาได้ให้อำนาจศาลปกครองพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในเรื่องที่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการกระทำหรือการละเว้นการกระทำที่มิได้มีลักษณะเช่นว่านี้ได้ การที่จำเลยทั้งสองเข้าไปขุดคู ทำถนน ตัดต้นไม้และสร้างศาลาในที่พิพาท ซึ่งโจทก์อ้างว่าก่อความเสียหายแก่โจทก์และเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ในคดีนี้ แม้จะเป็นการจัดทำกิจการที่มาตรา ๖๗ และมาตรา ๖๘ แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและการบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ บัญญัติให้จำเลยทั้งสองมีหน้าที่ต้องทำและอาจจัดทำแต่ไม่ปรากฏว่าในการเข้าไปขุดคู ทำถนน ตัดต้นไม้และสร้างศาลาในที่พิพาท จำเลยจำต้องใช้และได้ใช้อำนาจตามกฎหมายเฉพาะใด ๆ เพื่อให้การดำเนินการดังกล่าวบรรลุผล คดีนี้จึงไม่ใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายและไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง แต่อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรมที่จะพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่ง
คำวินิจฉัย
บริษัทฉลองกรุงการเกษตร จำกัด อ้างว่า ที่ดินชายทะเล (ริมตลิ่ง) ที่ติดต่อกับที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๗ ตำบลชิงโค อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา จำนวน ๓ ไร่ ๓ งาน ๘๔ ตารางวา เป็นที่งอกจากที่ดินของโจทก์ ที่งอกดังกล่าวจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ โดยคณะกรรมการตรวจสอบสภาพที่ดินที่งอกริมตลิ่ง จังหวัดสงขลา ได้ตรวจสอบและกำหนดว่าแนวที่งอกดังกล่าวของโจทก์สามารถออกโฉนดที่ดินได้ เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องขอออกโฉนดที่ดินกลับถูกองค์การบริหารส่วนตำบลชิงโค โดยนายเจษฎา คงเชื้อโรจน์ ประธานกรรมการบริหาร คัดค้าน และบริษัทฉลองกรุงการเกษตร จำกัด ยังอ้างว่าองค์การบริหารส่วนตำบลชิงโค โดยนายเจษฎา คงเชื้อโรจน์ ทำความเสียหายแก่ที่งอกดังกล่าวด้วย แต่องค์การบริหารส่วนตำบลชิงโค และนายเจษฎา คงเชื้อโรจน์ ปฏิเสธว่าที่ชายทะเลดังกล่าวไม่ใช่ที่งอกแต่เป็นที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันมาโดยตลอด อันเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คือ การพิจารณาวินิจฉัยเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินอยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว เห็นว่า สิทธิของบุคคลอันเกี่ยวกับที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๔ ทรัพย์สิน มาตรา ๑๒๙๘ ที่บัญญัติว่า “ทรัพยสิทธิทั้งหลายนั้น ท่านว่าจะก่อตั้งขึ้นได้แต่ด้วยอาศัยอำนาจในประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น” บทบัญญัติมาตรานี้กำหนดให้การพิจารณาข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินอยู่ในบังคับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือกฎหมายอื่นที่บัญญัติในเรื่องนั้นไว้เป็นพิเศษ
สำหรับคดีนี้คู่ความโต้แย้งกันเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทว่าเป็นที่งอกริมตลิ่งหรือเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์เป็นสำคัญ ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ตามที่โจทก์อ้างหรือไม่ จึงจะสามารถพิจารณาเกี่ยวกับความเสียหายของโจทก์และข้อต่อสู้ของจำเลยทั้งสองที่อ้างว่าไม่ได้กระทำการตามที่โจทก์กล่าวหาในคดีนี้ต่อไปได้ ซึ่งการพิจารณาสิทธิในที่ดินพิพาทระหว่างคู่ความเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
“มาตรา ๑๓๐๔ สาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น รวมทรัพย์สินทุกชนิดของแผ่นดิน ซึ่งใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน เช่น
(๑) ที่ดินรกร้างว่างเปล่า และที่ดินซึ่งมีผู้เวนคืนหรือทอดทิ้งหรือกลับมาเป็นของแผ่นดินโดยประการอื่น ตามกฎหมายที่ดิน
(๒) ทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน เป็นต้นว่า ที่ชายตลิ่ง ทางน้ำ ทางหลวง ทะเลสาบ
(๓) …
มาตรา ๑๓๐๘ ที่ดินแปลงใดเกิดที่งอกริมตลิ่ง ที่งอกย่อมเป็นทรัพย์สินของที่ดินแปลงนั้น”
การพิจารณาสิทธิในที่ดินพิพาทคดีนี้ยังต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายที่ดินประกอบด้วย โดยจะต้องพิจารณาถึงสิทธิครอบครองและการใช้ประโยชน์ในที่ดินของคู่ความและพยานหลักฐานการใช้ประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่ตำบลชิงโค อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ มิได้กำหนดให้ศาลปกครองมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สิน ดังนั้น คดีเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินของบุคคลจึงอยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรม เมื่อการขอออกโฉนดที่ดินมีการโต้แย้งสิทธิ ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดินจึงได้แก่ ศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีที่บริษัทฉลองกรุงการเกษตร จำกัด เป็นโจทก์ฟ้ององค์การบริหารส่วนตำบลชิงโค ที่ ๑ และนายเจษฎา คงเชื้อโรจน์ ที่ ๒ เกี่ยวกับสิทธิในที่ดินอยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรม ซึ่งในคดีนี้ได้แก่ ศาลจังหวัดสงขลา
นายสันติ ทักราล หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
นายอักขราทร จุฬารัตน นายโภคิน พลกุล
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
พลโท สมัยรบ สุทธิวาทนฤพุฒิ พลโท อาชวัน อินทรเกสร
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
นายพรชัย รัศมีแพทย์
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ