แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
คดีนี้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นสถานศึกษาในสังกัดของทบวงมหาวิทยาลัยและมีฐานะเป็นกรม จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง มีอำนาจหน้าที่ในการบริการสาธารณะด้านการศึกษาระดับอุดมศึกษาในการจัดการเรียนการสอนและการวิจัย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ทำสัญญาจ้างผู้ฟ้องคดีในตำแหน่งอาจารย์ประจำหลักสูตรสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศ สัญญานี้จึงเป็นสัญญาเพื่อจัดหาบุคคลมาดำเนินการบริการสาธารณะด้านการศึกษาของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นความสัมพันธ์ตามกฎหมายมหาชนเพื่อให้บริการสาธารณะบรรลุผล ไม่ใช่ความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างตามกฎหมายเอกชน สัญญาพิพาทจึงเป็นสัญญาที่ให้ผู้ฟ้องคดีเข้าดำเนินงานหรือร่วมจัดทำบริการสาธารณะ ตามนิยามสัญญาทางปกครองของมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ข้อพิพาทเกี่ยวกับการเลิกจ้างหรือสิ้นสุดระยะเวลาจ้างโดยไม่ปฏิบัติตามประกาศของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒๗/๒๕๕๙
วันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๕๙
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔)
ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลแรงงานกลาง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดีและศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๕๗ นางสุจินตรา จินตโรจน์ ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ ๑ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ ที่ ๒ อาจารย์ใหญ่โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ ๓ คณะกรรมการอุทธรณ์และร้องทุกข์ประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (ก.อ.ม.) ที่ ๔ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ บ. ๒๑๘/๒๕๕๗ ความว่า เมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๕๔ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งกระทำการแทนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้จ้างผู้ฟ้องคดีในตำแหน่งอาจารย์ประจำหลักสูตรสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศและเป็นหัวหน้างานเว็บไซต์ตามสัญญาจ้างพนักงานมหาวิทยาลัยเงินรายได้ ในตำแหน่งอาจารย์ มีกำหนดระยะเวลา ๑ ปี และได้ต่อสัญญา ครั้งที่ ๒ ต่อมาเมื่อครบกำหนดสัญญาจ้างครั้งที่ ๒ ผู้ฟ้องคดียังคงปฏิบัติหน้าที่เดิมโดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ยังคงจ่ายค่าจ้างให้แก่ผู้ฟ้องคดีมาโดยตลอด เมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๕๖ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ออกประกาศคณะกรรมการบริหารงานบุคคลประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรื่องการกำหนดระยะเวลาการจ้างและรูปแบบสัญญาจ้างพนักงานมหาวิทยาลัยเงินรายได้ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยประกาศฉบับดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๖ ประกาศดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจ้าง ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งกระทำการแทนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จะต้องดำเนินการจัดทำสัญญาจ้างกับผู้ฟ้องคดีให้เป็นไปตามประกาศดังกล่าว โดยสัญญาต้องมีกำหนดระยะเวลา ๓ ปี ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๖ ถึงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๙ เนื่องจากผู้ฟ้องคดีผ่านการทำงานตามสัญญาจ้างมาแล้ว ๒ ครั้ง แต่ผู้ฟ้องคดีได้รับหนังสือแจ้งยกเลิกการจ้างผู้ฟ้องคดีตั้งแต่วันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๕๗ โดยให้เหตุผลว่า ผลการประเมินของผู้ฟ้องคดีไม่เป็นไปตามเกณฑ์การประเมินผลการปฏิบัติงานพนักงานมหาวิทยาลัยเงินรายได้ในปีการศึกษา ๒๕๕๖ ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นหนังสืออุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ และมีหนังสือร้องเรียนถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เพื่อขอความเป็นธรรมกรณีผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ มีหนังสือแจ้งสิ้นสุดระยะเวลาการจ้างผู้ฟ้องคดีโดยไม่มีอำนาจกระทำได้หรือนอกขอบอำนาจ และกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ไม่ดำเนินการจัดทำสัญญาจ้างกับผู้ฟ้องคดีตามประกาศดังกล่าวของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งเป็นการเพิกเฉยละเลยไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบแบบแผนของทางราชการ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ไม่ดำเนินการพิจารณาอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีภายในระยะเวลา ๙๐ วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือพิจารณาอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี ตามข้อ ๑๕ ของประกาศสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรื่อง ข้อบังคับว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ พ.ศ. ๒๕๕๒ การกระทำดังกล่าวทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหาย ต้องขาดรายได้และเสียสิทธิต่าง ๆ ที่ผู้ฟ้องคดีจะได้รับตามกฎหมายและตามสวัสดิการกล่าวคือไม่ได้รับเงินเดือนในอัตราเดือนละ ๒๔,๘๕๘ บาท รวม ๒๙ เดือน เป็นเงิน ๗๒๐,๘๘๒ บาท เสียเงินรายได้จากเงินสมทบที่จะได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นเงิน ๒๑,๖๒๖.๔๖ บาท เสียสิทธิที่จะได้รับเงินสมทบจากประกันสังคมที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จะต้องจ่ายเงินสมทบให้กับผู้ฟ้องคดีเป็นเงิน ๒๑,๗๕๐ บาท เสียสิทธิเกี่ยวกับสวัสดิการในการเบิกค่ารักษาพยาบาลแก่บุคคลในครอบครัวแบบเหมาจ่ายต่อปีรวมเป็นเงิน ๑๕๐,๐๐๐ บาท เสียสิทธิในการเบิกค่าการศึกษาบุตร เป็นเงิน ๙๕,๗๕๐ บาท และเสียหายจากการต้องผ่อนชำระเงินกู้ยืมเพื่อการบริโภคสินเชื่อโครงการสวัสดิการเงินกู้สมาชิก ช.พ.ค. ซึ่งคำนวณค่าเสียหายในส่วนนี้เป็นเงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนคำสั่งการแจ้งสิ้นสุดระยะเวลาการจ้าง ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จัดทำสัญญาจ้างตามระยะเวลาการจ้าง และรูปแบบสัญญาจ้างที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กำหนดและให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ ร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีรวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๑,๑๑๐,๐๐๘.๔๖ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๗.๕ ต่อปี
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ให้การว่า ผู้ฟ้องคดีได้รับการว่าจ้างตำแหน่งอาจารย์โดยใช้เงินรายได้ของโครงการพหุภาษา โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำสัญญาจ้างปีต่อปี โดยการจ้างพนักงานมหาวิทยาลัยรายได้อยู่ภายใต้ประกาศสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรื่อง ข้อบังคับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ว่าด้วยการบริหารงานบุคคลสำหรับพนักงานมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ว่าด้วยการบริหารงานบุคคลสำหรับพนักงานมหาวิทยาลัยรายได้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๔๖ แต่ผู้ฟ้องคดีไม่ผ่านการประเมินผลการปฏิบัติงานพนักงานมหาวิทยาลัยเงินรายได้ สัญญาจ้างจึงยุติลงตามข้อบังคับข้อ ๒๔.๕ และสัญญาจ้างข้อ ๒ เมื่อสถานภาพการเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยเงินรายได้ของผู้ฟ้องคดีสิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๖ สิทธิ สวัสดิการและเงินรายได้ย่อมสิ้นสุดไปด้วยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จึงไม่ต้องจัดทำสัญญาจ้างให้แก่ผู้ฟ้องคดีและผู้ฟ้องคดีไม่มีสิทธิเรียกร้องให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ชดใช้ค่าเสียหายได้ ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีสถานะเป็นนิติบุคคลมีอำนาจหน้าที่ในการบริการสาธารณะด้านการศึกษาระดับอุดมศึกษาในการจัดการเรียนการสอนและการวิจัย ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๔๑ ซึ่งนิติบุคคลนั้นจะสามารถจัดทำบริการสาธารณะที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ได้ก็ด้วยบุคคลธรรมดา โดยบุคคลธรรมดาที่จะเข้ามาเป็นผู้ดำเนินงานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ ได้นั้น ก็โดยการเข้ามาเป็นราชการ โดยอาศัยอำนาจฝ่ายเดียวในการออกคำสั่งบรรจุและแต่งตั้งภายหลังจากการสอบแข่งขันหรือสอบคัดเลือกหรือโดยอาศัยการทำสัญญาเพื่อจัดหาบุคคลมาดำเนินการบริการสาธารณะนั้น เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้จ้างผู้ฟ้องคดีตามสัญญาจ้างพนักงานมหาวิทยาลัยเงินรายได้ในตำแหน่งอาจารย์มีกำหนดเวลา ๑ ปี เพื่อทำหน้าที่สอนให้ความรู้แก่นักศึกษาและประชาชนซึ่งเป็นบริการสาธารณะด้านการศึกษา สัญญาจ้างดังกล่าวจึงมีผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองเป็นคู่สัญญาฝ่ายหนึ่ง และมีวัตถุประสงค์ให้ผู้ฟ้องคดีเข้าดำเนินงานหรือเข้าร่วมดำเนินงานในการจัดทำบริการสาธารณะด้านการศึกษา เพื่อให้การจัดทำบริการสาธารณะด้านการศึกษาตามอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ บรรลุผล สัญญาระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จึงมีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ จึงทำให้คดีพิพาทนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ศาลแรงงานพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้คดีนี้ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนฟ้องหน่วยงานทางปกครอง แต่การวินิจฉัยว่า นิติสัมพันธ์ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จ้างผู้ฟ้องคดีทำงานตำแหน่งอาจารย์ตามสำเนาสัญญาจ้างพนักงานมหาวิทยาลัยเงินรายได้ เป็นการจ้างแรงงานหรือไม่ ต้องพิจารณาเนื้อหาของนิติสัมพันธ์หรือสัญญาตามกฎหมายเอกชนเป็นหลักสำคัญ เมื่อปรากฏว่า ข้อสัญญาตามสัญญาจ้างมีลักษณะเป็นข้อสัญญาที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างคู่สัญญาซึ่งเป็นผู้ตกลงทำงานให้ฝ่ายหนึ่งและผู้ตกลงจ่ายค่าจ้างอีกฝ่ายหนึ่งเช่นเดียวกับข้อกำหนดในสัญญาจ้างแรงงานทั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๓ ลักษณะ ๖ และมีข้อกำหนดในการเลิกจ้างเช่นเดียวกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๙ นิติสัมพันธ์ระหว่างผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงมีลักษณะเป็นสัญญาจ้างแรงงานมิใช่สัญญาทางปกครองประกอบกับคำขอบังคับตามคำขอท้ายฟ้องข้อ ๓ ซึ่งเป็นคำขอหลักตามวัตถุประสงค์ของผู้ฟ้องคดี มีลักษณะเป็นคำขออันเกี่ยวด้วยกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม กฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และค่าเสียหายอันเกิดจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙ ข้อพิพาทระหว่างผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ จึงเป็นข้อพิพาทที่เกิดจากการจ้างแรงงาน ส่วนพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๗ มาตรา ๔ บัญญัติคำนิยามพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา หมายความว่า บุคคลซึ่งได้รับการจ้างให้ทำงานในสถาบันอุดมศึกษาโดยได้รับค่าจ้างหรือค่าตอบแทนจากเงินงบประมาณแผ่นดินหรือเงินรายได้ของสถาบันอุดมศึกษา บทบัญญัติดังกล่าวเป็นเพียงบทบัญญัติที่กำหนดให้บุคคลซึ่งได้รับการจ้างตามสัญญาจ้างพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาเงินรายได้มีอำนาจ หน้าที่ และความรับผิดชอบตามกฎหมายในฐานะเป็นพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาเท่านั้น มิใช่บทบัญญัติที่กำหนดให้บุคคลซึ่งได้รับการจ้างตามสัญญาจ้างให้ทำงานในสถาบันอุดมศึกษาเงินรายได้มีฐานะเป็นเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานของรัฐเช่นเดียวกับข้าราชการหรือลูกจ้างที่ได้รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณแผ่นดินประเภทเงินเดือน ซึ่งได้รับการยกเว้นตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๔ วรรคหนึ่ง (๑) มิให้นำบทบัญญัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานมาใช้บังคับแต่ประการใด คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงาน หรือตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง หรือกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน และกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ วรรคหนึ่ง (๑) (๒) อันอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลแรงงาน
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นสถานศึกษาในสังกัดของทบวงมหาวิทยาลัยซึ่งจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๔๑ และมีฐานะเป็นกรมตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ อยู่ในวันที่พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. ๒๕๔๖ ใช้บังคับ จึงมีฐานะเป็นสถานศึกษาที่เป็นนิติบุคคลในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษาตามมาตรา ๘๒ แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน จึงเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เมื่อโจทก์อ้างว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้ทำสัญญาจ้างผู้ฟ้องคดีในตำแหน่งอาจารย์ประจำหลักสูตรสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศ เมื่อครบกำหนดสัญญาจ้างครั้งที่ ๒ ผู้ฟ้องคดียังคงปฏิบัติหน้าที่เดิมและได้รับค่าจ้างมาโดยตลอด ทั้งที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ต้องทำสัญญาจ้างกับผู้ฟ้องคดีมีกำหนดระยะเวลา ๓ ปี ตามประกาศคณะกรรมการบริหารงานบุคคลประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรื่องการกำหนดระยะเวลาการจ้างและรูปแบบสัญญาจ้างมหาวิทยาลัยเงินรายได้ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ไม่ต่อสัญญาให้ผู้ฟ้องคดี กลับมีหนังสือแจ้งยกเลิกการจ้างโดยให้เหตุผลว่าผลการประเมินของผู้ฟ้องคดีไม่เป็นไปตามเกณฑ์ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ไม่จัดทำสัญญาจ้างตามประกาศดังกล่าว แต่กลับแจ้งสิ้นสุดระยะเวลาการจ้างทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหาย ขอให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งการแจ้งสิ้นสุดระยะเวลาการจ้าง ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จัดทำสัญญาจ้างตามระยะเวลาการจ้างและให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ ร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีรวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๑,๑๑๐,๐๐๘.๔๖ บาท พร้อมดอกเบี้ย กรณีจึงมีปัญหาต้องพิจารณาว่าสัญญาจ้างพนักงานมหาวิทยาลัยเงินรายได้ฉบับพิพาทเป็นสัญญาทางปกครองหรือสัญญาทางแพ่ง เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในเรื่องดังต่อไปนี้ (๔) คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองและมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน บัญญัติว่าสัญญาทางปกครอง หมายความรวมถึง สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ เมื่อคดีนี้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีอำนาจหน้าที่ในการบริการสาธารณะด้านการศึกษาระดับอุดมศึกษาในการจัดการเรียนการสอนและการวิจัย โดยสัญญาพิพาทเป็นสัญญาเพื่อจัดหาบุคคลมาดำเนินการบริการสาธารณะด้านการศึกษา ซึ่งจ้างผู้ฟ้องคดีให้ปฏิบัติหน้าที่อาจารย์ประจำหลักสูตรสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศอันเป็นการจัดทำบริการสาธารณะของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ตามกฎหมายมหาชนเพื่อให้บริการสาธารณะบรรลุผล ไม่ใช่ความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างตามกฎหมายเอกชน สัญญาพิพาทจึงเป็นสัญญาที่ให้ผู้ฟ้องคดีเข้าดำเนินงานหรือร่วมจัดทำบริการสาธารณะ ตามนิยามสัญญาทางปกครองของมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ข้อพิพาทเกี่ยวกับการเลิกจ้างหรือสิ้นสุดระยะเวลาจ้างโดยไม่ปฏิบัติตามประกาศของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นางสุจินตรา จินตโรจน์ ผู้ฟ้องคดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่ ๑ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ ที่ ๒ อาจารย์ใหญ่โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ ๓ คณะกรรมการอุทธรณ์และร้องทุกข์ประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (ก.อ.ม.) ที่ ๔ ผู้ถูกฟ้องคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) วีระพล ตั้งสุวรรณ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายวีระพล ตั้งสุวรรณ) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) ชาญชัย แสวงศักดิ์
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายชาญชัย แสวงศักดิ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ