แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒๖/๒๕๔๙
วันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๔๙
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง
พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔)
ศาลจังหวัดนครสวรรค์
ระหว่าง
ศาลปกครองพิษณุโลก
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดนครสวรรค์โดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๔๗ เทศบาลตำบลเกาะสมุย โจทก์ ยื่นฟ้องธนาคารเอเซีย จำกัด (มหาชน) จำเลย ต่อศาลจังหวัดนครสวรรค์ เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๔๑๘/๒๕๔๗ความว่าเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๓๖ บริษัท เฟอร์รี่ไลน์ จำกัด (มหาชน) ได้ทำสัญญาเช่าสะพานท่าเทียบเรือเกาะสมุย จากโจทก์ มีกำหนดเวลาเช่า ๒๐ ปี นับแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๓๖ ถึงวันที่๓๐ กันยายน ๒๕๕๖ คิดเป็นค่าเช่าทั้งสิ้น ๖,๖๑๓,๑๙๐ บาท ชำระค่าเช่าเป็นรายปีในอัตราปีละ๒๐๐,๐๐๐ บาท และเพิ่มขึ้นในปีต่อไป ๕ % ของเงินค่าเช่าปีก่อน หากชำระเกินกำหนดเวลาผู้เช่าจะต้องชำระเบี้ยปรับแก่โจทก์ในอัตราร้อยละ ๑.๕ ต่อเดือนของเงินที่ค้างชำระ หากบริษัทผู้เช่าผิดสัญญาข้อใดข้อหนึ่ง โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ทันทีและมีสิทธิริบหลักประกันตามสัญญาค้ำประกัน จำเลยโดยสำนักงานสาขาจังหวัดนครสวรรค์ได้ทำสัญญาค้ำประกันเพื่อเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาเช่าของบริษัทผู้เช่าดังกล่าวในวงเงิน ๓๓๐,๖๖๐ บาท หากบริษัทผู้เช่าดังกล่าวไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือผิดเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่งตามสัญญาเช่า จำเลยจะต้องชำระเงิน ๓๓๐,๖๖๐ บาท ให้แก่โจทก์ทันทีโดยมิต้องเรียกร้องให้บริษัทผู้เช่าชำระก่อนบริษัทผู้เช่าได้เข้าครอบครองใช้ประโยชน์ในท่าเทียบเรือที่เช่าตลอดมา ต่อมาบริษัทผู้เช่าผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าตามกำหนดตั้งแต่ค่าเช่าปีที่ ๙ เป็นต้นมา และโจทก์ทราบว่าผู้เช่าเป็นบุคคลล้มละลาย เมื่อพ้นกำหนดเวลายื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แล้ว โจทก์จึงแจ้งให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญาค้ำประกัน แต่จำเลยไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยร้อยละ ๗ ครึ่งต่อปี ในต้นเงิน ๓๓๐,๖๖๐ บาท นับแต่วันที่จำเลยผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยให้การต่อสู้คดีว่า จำเลยได้ทำสัญญาค้ำประกันให้แก่โจทก์จริง แต่โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้บริษัท เฟอร์รี่ไลน์ จำกัด (มหาชน) ชำระหนี้ตามสัญญา เพราะตามสัญญาข้อ๒๒ กำหนดว่า ถ้าผู้เช่าผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใด ผู้ให้เช่ามีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ทันที และเมื่อผู้ให้เช่าได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาแล้ว ผู้เช่ายินยอมให้ผู้ให้เช่าริบหลักประกัน และตามหนังสือสัญญาค้ำประกันได้กำหนดไว้ว่า “หากบริษัท เฟอร์รี่ไลน์ จำกัด (มหาชน) ปฏิบัติผิดเงื่อนไขข้อหนึ่งข้อใดของสัญญาเช่าซึ่งโจทก์มีสิทธิริบหลักประกันหรือเรียกค่าปรับ หรือค่าเสียหายจากบริษัท เฟอร์รี่ไลน์ จำกัด (มหาชน) จำเลยจะยอมชำระเงินแทนให้ทันที” โจทก์ยังไม่ได้บอกเลิกสัญญา สัญญาเช่าจึงยังไม่เลิกกัน โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้บริษัทผู้เช่ารับผิดชำระหนี้ และไม่มีสิทธิริบหลักประกันของจำเลย จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ส่วนประเด็นที่โจทก์กล่าวอ้างมาในฟ้องเพื่อเรียกร้องเอาจากจำเลยมิใช่เกิดจากโจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องเนื่องมาจากบริษัท เฟอร์รี่ไลน์ จำกัด (มหาชน) ผิดสัญญาเช่า แต่โจทก์ประสงค์จะใช้สิทธิเนื่องมาจากโจทก์ไม่ได้ยื่นขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของบริษัทดังกล่าวให้ทันกำหนดเวลาตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ และเป็นอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่เพียงผู้เดียวที่จะจัดการทรัพย์สินหรือหนี้สินของบริษัท เฟอร์รี่ไลน์ จำกัด (มหาชน) ลูกหนี้ กรณีจึงเป็นเรื่องที่โจทก์ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อกองทรัพย์สินของลูกหนี้ในคดีล้มละลายและพิสูจน์หนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เสียก่อนว่าบริษัทผู้เช่ามีความผูกพันและผิดเงื่อนไขผิดสัญญาต่อโจทก์ประการใดเสียก่อน โจทก์จึงจะเกิดสิทธิเรียกร้องเอาจากจำเลย เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ โจทก์ยังไม่เกิดสิทธิตามกฎหมายที่จะเรียกร้องเอาจากจำเลย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า สัญญาเช่าสะพานท่าเทียบเรือเกาะสมุยเป็นสัญญาที่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาจัดให้บริการสาธารณะ สัญญาที่จัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค เป็นสัญญาทางปกครอง แม้โจทก์จะฟ้องคดีนี้ให้จำเลยรับผิดตามสัญญาค้ำประกันซึ่งเป็นสัญญาทางแพ่ง แต่สัญญาค้ำประกันก็เป็นสัญญาอุปกรณ์ของสัญญาเช่าท่าเทียบเรือเกาะสมุยอันเป็นสัญญาหลัก บริษัท เฟอร์รี่ไลน์ จำกัด (มหาชน) ถูกศาลล้มละลายกลางสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว โจทก์ต้องไปยื่นคำขอรับชำระหนี้เพื่อพิสูจน์ว่าโจทก์มีสิทธิเรียกร้องตามสัญญาเช่าหรือไม่เพียงใด คดีนี้จึงมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับสัญญาเช่าดังกล่าวอันเป็นสัญญาหลักก่อน จึงจะมีผลไปถึงสัญญาค้ำประกันต่อไป กรณีพิพาทเกี่ยวกับการให้ชำระเงินตามสัญญาค้ำประกันจึงควรดำเนินกระบวนพิจารณายังศาลที่มีเขตซึ่งอยู่ในเขตอำนาจเดียวกันกับศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่พิพาทเกี่ยวกับสัญญาหลัก เมื่อสัญญาหลักเป็นสัญญาทางปกครอง อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองคดีพิพาทเกี่ยวกับการให้ชำระเงินตามสัญญาค้ำประกัน จึงอยู่ในอำนาจศาลปกครอง
ศาลจังหวัดนครสวรรค์เห็นว่า แม้โจทก์ซึ่งเป็นคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองในราชการส่วนท้องถิ่น และจำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งจะเป็นเอกชนก็ตามแต่จำเลยเป็นผู้ค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาเช่าสะพานท่าเทียบเรือเกาะสมุย ระหว่างโจทก์กับบริษัท เฟอร์รี่ไลน์ จำกัด (มหาชน) ถือว่านิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยผูกพันกันตามสัญญาอุปกรณ์ จึงต้องอาศัยข้อพิจารณาจากสัญญาประธานดังกล่าวด้วย เมื่อพิจารณาสัญญาทั้งสองฉบับแล้ว เห็นได้ว่าเป็นเรื่องที่โจทก์เข้าทำสัญญาทั้งสองฉบับอย่างเสมอภาคกันข้อตกลงตามสัญญาทั้งสองฉบับไม่ได้ให้เอกสิทธิ์แก่โจทก์หรือให้โจทก์มีอำนาจเหนือคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งแต่อย่างใด เป็นการตกลงผูกนิติสัมพันธ์กันโดยยึดหลักเกณฑ์ของสัญญาทั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงถือไม่ได้ว่าสัญญาเช่าและสัญญาค้ำประกันดังกล่าวเป็นสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองพิษณุโลกเห็นว่า พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ มาตรา ๕๑บัญญัติว่า ภายใต้บังคับแห่งกฎหมาย เทศบาลตำบลอาจจัดทำกิจการใดๆในเขตเทศบาลดังต่อไปนี้ (๓) ให้มีตลาด ท่าเทียบเรือและท่าข้าม การที่โจทก์ตกลงให้บริษัท เฟอร์รี่ไลน์ จำกัด(มหาชน) ทำสัญญาเช่าสะพานท่าเทียบเรือเกาะสมุยเป็นเวลา ๒๐ ปี เพื่อให้บริการแก่บุคคลทั่วไป เป็นการทำสัญญาที่มีลักษณะให้เอกชนเข้าจัดทำบริการสาธารณะ ประกอบกับข้อกำหนดในสัญญาบางข้อ โดยเฉพาะข้อ ๑๖ ที่กำหนดว่า ในระหว่างอายุสัญญาเช่า ถ้าผู้ให้เช่ามีความจำเป็นจะต้องใช้สถานที่เช่าเพื่อประโยชน์ของรัฐหรือของทางราชการ ผู้เช่ายินยอมให้ผู้ให้เช่าบอกเลิกสัญญาได้โดยบอกกล่าวเป็นหนังสือให้ผู้เช่าทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า ๓๐ วัน โดยผู้ให้เช่าไม่ต้องเสียค่าตอบแทนหรือค่าเสียหายใดๆ ให้แก่ผู้เช่าทั้งสิ้นข้อกำหนดในสัญญาดังกล่าวให้สิทธิหน่วยงานทางปกครองในการบอกเลิกสัญญาเพียงฝ่ายเดียว แสดงถึงลักษณะพิเศษซึ่งเป็นเอกสิทธิ์ของรัฐที่ไม่อาจพบในสัญญาทั่วไป สัญญาเช่าดังกล่าวจึงเป็นสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง เมื่อสัญญาค้ำประกันระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นสัญญาอุปกรณ์ของสัญญาเช่าดังกล่าว การพิจารณาข้อพิพาทเกี่ยวกับการขอให้จำเลยชำระเงินตามสัญญาค้ำประกันจึงควรดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลที่มีเขตอำนาจเดียวกันกับศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่พิพาทเกี่ยวกับสัญญาเช่าท่าเทียบเรือเกาะสมุย ซึ่งเป็นสัญญาหลัก คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาศาลปกครอง
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ สืบเนื่องมาจากจำเลยทำสัญญาค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาเช่าสะพานท่าเทียบเรือเกาะสมุยระหว่างบริษัท เฟอร์รี่ไลน์ จำกัด (มหาชน) กับโจทก์ โดยมีข้อตกลงว่าหากบริษัทผู้เช่าดังกล่าวไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือผิดเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่งตามสัญญาเช่าสะพานท่าเทียบเรือเกาะสมุย ฉบับลงวันที่ ๑ ตุลาคม๒๕๓๖ เอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข ๑ จำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันจะต้องชำระเงิน ๓๓๐,๖๖๐บาท ให้แก่โจทก์ทันทีโดยมิต้องเรียกร้องให้บริษัทผู้เช่าชำระก่อนตามหนังสือสัญญาค้ำประกันของธนาคารจำเลย ข้อ ๑ (เอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข ๒) ตามฟ้องโจทก์อ้างว่า เมื่อบริษัทเฟอร์รี่ไลน์ จำกัด (มหาชน) ไม่ชำระค่าเช่าปีที่ ๙ ตามกำหนดในสัญญาเช่าฯ เอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข ๑ ข้อ ๔ โจทก์ได้ติดตามทวงถามตลอดมาแต่ไม่สามารถติดต่อได้และทราบว่าบริษัท เฟอร์รี่ไลน์ จำกัด (มหาชน) ล้มละลาย เมื่อพ้นกำหนดเวลายื่นคำขอรับชำระหนี้แล้วโจทก์จึงแจ้งริบหลักประกันสัญญาตามสำเนาหนังสือแจ้งริบหลักประกันสัญญา (เอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข ๓) และหนังสือแจ้งยืนยันให้ธนาคารจำเลยชำระหนี้ (เอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข ๔) โดยจำเลยให้การว่า สัญญาระหว่างโจทก์กับบริษัท เฟอร์รี่ไลน์ จำกัด (มหาชน)ยังไม่เลิกกัน เพราะโจทก์ยังไม่ได้บอกเลิกสัญญาแก่ผู้เช่า โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องจำเลย และโจทก์ไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้และพิสูจน์หนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีที่บริษัท เฟอร์รี่ไลน์จำกัด (มหาชน) ต้องคำพิพากษาให้ล้มละลาย จึงไม่เกิดสิทธิตามกฎหมาย ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกร้องเอาจากจำเลย ข้อเท็จจริงตามคำฟ้อง คำให้การ และเอกสารที่ทั้งโจทก์และจำเลยแนบประกอบ จะเห็นได้ว่าบริษัท เฟอร์รี่ไลน์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นคู่สัญญาเช่าท่าเทียบเรือจากโจทก์ที่เป็นสัญญาหลัก ได้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลล้มละลาย ซึ่งเป็นศาลชำนัญพิเศษศาลหนึ่งในระบบศาลยุติธรรม จนศาลมีคำพิพากษาให้ล้มละลายแล้ว ตามสำเนาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและสำเนาคำพิพากษาให้บริษัท เฟอร์รี่ไลน์ จำกัด (มหาชน) ล้มละลายในคดีหมายเลขแดงที่ ๖๑๒/๒๕๔๔ ลงวันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๔๔ และวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๔๕ตามลำดับ สัญญาค้ำประกันที่จำเลยทำไว้กับโจทก์เพื่อค้ำประกันการเช่าดังกล่าว จำเลยยอมตนเข้าค้ำประกันเป็นไปตามความสมัครใจของจำเลย เป็นการเข้าทำสัญญาภายใต้หลักเสรีภาพของการทำสัญญาทางแพ่ง มีลักษณะเป็นสัญญาทางแพ่งโดยแท้และมีผลผูกพันจำเลยให้ต้องรับผิดต่อโจทก์ หากบริษัท เฟอร์รี่ไลน์ จำกัด (มหาชน) มีกรณีที่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ความผูกพัน
ที่จำเลยต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันร่วมกับบริษัท เฟอร์รี่ไลน์ จำกัด (มหาชน) ที่มีต่อโจทก์ซึ่งเป็นสัญญาทางแพ่งโดยแท้นั้นเชื่อมโยงกับการที่บริษัท เฟอร์รี่ไลน์ จำกัด (มหาชน) ต้องคำพิพากษาให้ล้มละลาย การที่โจทก์มิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีที่บริษัท เฟอร์รี่ไลน์ จำกัด(มหาชน) ต้องคำพิพากษาให้ล้มละลาย และจำเลยให้การต่อสู้ว่าเป็นเหตุให้โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้ ทำให้ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยนั้น เป็นประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติล้มละลาย ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลล้มละลาย จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙วรรคสอง (๓) พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีระหว่างโจทก์กับจำเลยในคดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง เทศบาลตำบลเกาะสมุย โจทก์ ธนาคารเอเซียจำกัด (มหาชน) จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) นายปัญญา ถนอมรอด (ลงชื่อ) นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายปัญญา ถนอมรอด) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท สายัณห์ อรรถเกษม (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สายัณห์ อรรถเกษม) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
๖