คำวินิจฉัยที่ 25/2549

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒๕/๒๕๔๙

วันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๔๙

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘

ศาลแรงงานกลาง
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแรงงานกลางโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคสาม ซึ่งเป็นกรณีศาลที่รับฟ้องเห็นว่าคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจและศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๔๘ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย(อ.ส.ค.) โจทก์ ยื่นฟ้อง นางสินีนาถ ไคลมี จำเลย ต่อศาลแรงงานกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่๕๓๙๘/๒๕๔๘ ความว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๑๔ มีวัตถุประสงค์ด้านส่งเสริมกิจการโคนมและด้านธุรกิจอุตสาหกรรมโคนม จำเลยเป็นพนักงานของโจทก์ตั้งแต่วันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๓๑ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งหัวหน้าหน่วยแผนกฝึกอบรม สถาบันวิจัยและพัฒนาโคนมของโจทก์ เดิมระหว่างวันที่ ๑กุมภาพันธ์ ๒๕๓๘ ถึงวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๓๙ จำเลยดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป ๕ ฝ่ายบริการ มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดจ้างตามข้อบังคับว่าด้วยการพัสดุของโจทก์จนถึงการทำนิติกรรมสัญญาให้ได้มาซึ่งสิ่งของและการจ้างตามสัญญา เมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน๒๕๓๘ โจทก์ได้ทำสัญญาว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัด กระนวนไชยยงค์ก่อสร้าง ทำการก่อสร้างอาคารสำนักงาน บ้านพักและปัจจัยพื้นฐานของโรงงานนมภาคตะวันออกเฉียงเหนือจังหวัดขอนแก่น ค่าจ้างจำนวน ๓๗,๘๐๐,๐๐๐ บาท โดยจำเลยเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการเสนอผู้มีอำนาจเพื่อขออนุมัติจัดจ้างตลอดจนการทำนิติกรรมสัญญาจนเสร็จสิ้น ซึ่งในการทำสัญญาดังกล่าวจำเลยได้รับมอบอากรแสตมป์สำหรับปิดผนึกสัญญาจ้างจากห้างหุ้นส่วนจำกัดกระนวนไชยยงค์ก่อสร้างแล้ว แต่ไม่นำไปปิดผนึกสัญญาตามหน้าที่ ไม่เก็บรักษาอากรแสตมป์ไว้และได้สูญหายไป ต่อมาวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘ โจทก์ได้ให้อัยการจังหวัดสระบุรีดำเนินคดีแพ่งกับห้างหุ้นส่วนจำกัดกระนวนไชยยงค์ก่อสร้าง ฐานผิดสัญญาจ้างและเรียกค่าเสียหายปรากฏว่าสัญญาดังกล่าวไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากร จึงแจ้งให้จำเลยตรวจสอบและจัดส่งอากรแสตมป์ที่ผู้รับจ้างมอบให้ไว้ แต่จำเลยไม่ได้ส่งมอบให้ โจทก์ต้องซื้ออากรแสตมป์ใหม่เพื่อใช้ปิดผนึกสัญญาเป็นจำนวนเงิน ๓๗,๘๐๐ บาท โจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยชำระเงินดังกล่าวแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำละเมิด ผิดสัญญาจ้างต่อโจทก์ ละเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน จำนวน ๓๗,๘๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยได้ทำบันทึกส่งสัญญาว่าจ้างพร้อมอากรแสตมป์ให้สำนักผู้อำนวยการเพื่อตรวจร่างสัญญา แผนกกฎหมายส่งกลับมาที่จำเลย จำเลยได้แนบเอกสารตามที่แผนกกฎหมายสั่ง แล้วส่งสัญญาผ่านสำนักผู้อำนวยการเพื่อเสนอให้ผู้อำนวยการลงนามเสร็จแล้ว จึงส่งกลับมาฝ่ายจัดซื้อโดยมีนางทัศนา ร่าเริง เป็นเจ้าหน้าที่จัดเก็บสัญญา ต่อมาวันที่ ๑มกราคม ๒๕๔๐ จำเลยได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกควบคุม อากรแสตมป์สูญหายมิได้เกิดจากความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลย แต่เกิดจากความบกพร่องของเจ้าหน้าที่จัดเก็บสัญญาของโจทก์เอง โจทก์รู้ว่าอากรแสตมป์สูญหายตั้งแต่ปี๒๕๔๑ และรู้ตัวเจ้าหน้าที่ผู้จะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนนับถึงวันฟ้องเกิน ๒ ปี จึงขาดอายุความตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ การสอบสวนกระทำโดยมิชอบ การแต่งตั้งคณะกรรมการไม่ชอบด้วยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า ตามคำฟ้องและคำให้การเป็นเรื่องที่โจทก์เป็นหน่วยงานของรัฐฟ้องจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของโจทก์ว่ากระทำละเมิดเป็นเหตุให้โจทก์เสียหาย ขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน คดีไม่มีประเด็นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานหรือพิพาทเกี่ยวกับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง หรือเกี่ยวกับการคุ้มครองแรงงานไม่มีลักษณะเป็นคดีแรงงาน อันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน ตามมาตรา๘ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.๒๕๒๒ แต่น่าจะเป็นคดีปกครอง อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นโจทก์ในคดีนี้ เป็นรัฐวิสาหกิจจัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๑๔ และเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ แต่โดยที่โจทก์กับจำเลย อยู่ในฐานะเป็นนายจ้างและลูกจ้างภายใต้บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๓ ประกอบกับคำฟ้องของโจทก์ระบุว่าจำเลยได้กระทำละเมิดต่อโจทก์จากการละเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่และความเสียหายของโจทก์เกิดจากการกระทำละเมิดผิดสัญญาจ้างของจำเลย จึงถือได้ว่าคดีนี้เป็นคดีพิพาทอันเกิดแต่มูลละเมิดระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างสืบเนื่องจากข้อพิพาทแรงงานหรือเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงาน ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน ตามมาตรา ๘ (๕) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ ศาลปกครอง จึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ ตามนัยมาตรา ๙ วรรคสอง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องคดีนี้สรุปได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคล จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทยพ.ศ.๒๕๑๔ มีวัตถุประสงค์ด้านส่งเสริมกิจการโคนมและด้านธุรกิจอุตสาหกรรมโคนม จำเลยเป็นพนักงานของโจทก์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งหัวหน้าหน่วยแผนกฝึกอบรม สถาบันวิจัยและพัฒนาโคนม ขณะดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป ๕ ฝ่ายบริการ จำเลยมีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดจ้างตามข้อบังคับว่าด้วยการพัสดุของโจทก์จนถึงการทำนิติกรรมสัญญาให้ได้มาซึ่งสิ่งของและการจ้างตามสัญญา เมื่อโจทก์ทำสัญญาว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดกระนวนไชยยงค์ก่อสร้าง ให้ทำการก่อสร้างอาคารสำนักงาน บ้านพักและปัจจัยพื้นฐานของโรงงานนมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดขอนแก่นในวงเงินค่าจ้างจำนวน ๓๗,๘๐๐,๐๐๐บาทจำเลยได้รับมอบอากรแสตมป์สำหรับปิดผนึกสัญญาจ้างจากห้างหุ้นส่วนจำกัดกระนวนฯ แล้ว แต่ไม่นำไปปิดผนึกสัญญาตามหน้าที่ ไม่เก็บรักษาอากรแสตมป์ไว้ และได้สูญหายไป โจทก์ต้องซื้ออากรแสตมป์ใหม่เพื่อใช้ปิดผนึกสัญญาเป็นจำนวนเงิน ๓๗,๘๐๐ บาท เพื่อให้สัญญามีความสมบูรณ์ใช้อ้างเป็นพยานหลักฐานในการที่โจทก์ให้อัยการจังหวัดสระบุรีดำเนินคดีแพ่งกับห้างหุ้นส่วนจำกัดกระนวนไชยยงค์ก่อสร้าง ฐานผิดสัญญาจ้างและเรียกค่าเสียหายได้ โจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยชำระเงินดังกล่าวแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำละเมิด ผิดสัญญาจ้างต่อโจทก์ ละเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงฟ้องขอให้จำเลยชำระเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย จำเลยให้การว่า จำเลยได้ทำบันทึกส่งสัญญาว่าจ้างพร้อมอากรแสตมป์ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจร่างสัญญาเมื่อผู้มีอำนาจลงนามเสร็จแล้ว จึงส่งกลับมาฝ่ายจัดซื้อโดยมีนางทัศนา ร่าเริง เป็นเจ้าหน้าที่จัดเก็บสัญญา อากรแสตมป์สูญหายมิได้เกิดจากความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลย แต่เกิดจากความบกพร่องของเจ้าหน้าที่จัดเก็บสัญญาของโจทก์เอง ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ การสอบสวนและการแต่งตั้งคณะกรรมการกระทำโดยมิชอบ ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่าองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) โจทก์ จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๑๔ ประกอบพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ โจทก์จึงเป็นรัฐวิสาหกิจ และเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองพ.ศ. ๒๕๔๒ มีวัตถุประสงค์ด้านส่งเสริมกิจการโคนม เช่น ส่งเสริมการเลี้ยง โคนมและสัตว์อื่นที่ให้น้ำนมและเนื้อ ฝึกอบรมบุคคลให้มีความรู้ความชำนาญในการเลี้ยงโคนมและสัตว์อื่นที่ให้น้ำนมและเนื้อ การผลิตน้ำนมและเนื้อ การประกอบผลิตภัณฑ์จากน้ำนมและเนื้อ ฯลฯ และด้านธุรกิจอุตสาหกรรมโคนม เช่นผลิต ซื้อ ขาย แลกเปลี่ยนและให้ซึ่งน้ำนมและเนื้อผลิตภัณฑ์จากน้ำนมและเนื้อ โคนมและสัตว์อื่นที่ให้น้ำนมและเนื้อ ตลอดจนอาหารสัตว์ น้ำเชื้อเอ็มบริโอ และอุปกรณ์ต่างๆ ดำเนินธุรกิจบริการเกี่ยวกับการเลี้ยงโคนมและสัตว์อื่นที่ให้น้ำนมและเนื้อและการผลิตผลิตภัณฑ์จากน้ำนมและเนื้อ และดำเนินกิจการที่เกี่ยวข้องหรือต่อเนื่องกับธุรกิจอุตสาหกรรมนม ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๑๔ มาตรา ๗ โดยมีผู้อำนวยการเป็นผู้แทนโจทก์ในการดำเนินกิจการดังกล่าว การดำเนินกิจการของโจทก์จึงเป็นไปในลักษณะของธุรกิจการค้า ดังนั้นการที่จำเลยซึ่งเป็นพนักงานตกลงเข้าทำงานกับโจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐและเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินกิจการไปในเชิงธุรกิจการค้า ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับพนักงานย่อมมีขึ้นเพื่อดำเนินกิจการในเชิงธุรกิจการค้าโจทก์กับจำเลยจึงอยู่ในฐานะของนายจ้างกับลูกจ้างและอยู่ภายใต้บังคับของสัญญาจ้างแรงงานตามกฎหมายแพ่งทั่วไป และพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๓ เมื่อมูลความแห่งคดีนี้เกิดจากการที่โจทก์อ้างว่า จำเลยซึ่งเป็นพนักงานขณะดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป ๕ ฝ่ายบริการ มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดจ้างตามข้อบังคับว่าด้วยการพัสดุของโจทก์จนถึงการทำนิติกรรมสัญญาให้ได้มาซึ่งสิ่งของและการจ้างตามสัญญา ผิดสัญญาจ้างละเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย และกระทำละเมิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างตามสัญญาจ้างแรงงาน ทำให้ได้รับความเสียหาย กรณีจึงเป็นข้อพิพาทที่เกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานหรือตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง และเป็นคดีอันเกิดแต่มูลละเมิดระหว่างนายจ้างและลูกจ้างเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงาน ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ (๑) และ (๕) คดีจึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคสอง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย(อ.ส.ค.) โจทก์ นางสินีนาถ ไคลมี จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ปัญญา ถนอมรอด (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายปัญญา ถนอมรอด) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท สายัณห์ อรรถเกษม (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สายัณห์ อรรถเกษม) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

คมศิลล์ คัด/ทาน

Share