คำวินิจฉัยที่ 24/2549

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒๔/๒๕๔๙

วันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๙

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง
พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)

ศาลแขวงนครศรีธรรมราช
ระหว่าง
ศาลปกครองนครศรีธรรมราช

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแขวงนครศรีธรรมราชโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๔๗ นายประโลม มิตรรัตน์ นางสุนีย์ มิตรรัตน์นายรัตน์ กรดกางกั้น และนางติเหมียหรือตีเหมี้ยหรือเหมีย กรดกางกั้น โจทก์ ยื่นฟ้อง กรมทางหลวงชนบท จำเลย ต่อศาลแขวงนครศรีธรรมราช เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๐๘๓-๑๐๘๖/๒๕๔๗ ตามลำดับ ต่อมาศาลมีคำสั่งให้รวมการพิจารณาเป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๐๘๓ -๑๐๘๖/๒๕๔๗ โดยให้เรียกนายประโลมว่า โจทก์ที่ ๑ เรียกนางสุนีย์ว่า โจทก์ที่ ๒ เรียกนายรัตน์ว่า โจทก์ที่ ๓ เรียกนางติเหมียหรือตีเหมี้ยหรือเหมียว่า โจทก์ที่ ๔ คำฟ้องทั้งสี่สำนวนสรุปความได้ว่า โจทก์ที่ ๑ และที่ ๒ เป็นบิดามารดาของนางสาวอัจฉรา มิตรรัตน์ ผู้ตายที่ ๑ โจทก์ที่ ๓ และที่ ๔ เป็นบิดาและมารดาของเด็กหญิงกฤษณา กรดกางกั้น ผู้ตายที่ ๒ ยื่นฟ้องคดีต่อศาล ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหาย อันเนื่องมาจากจำเลยซึ่งเป็นหน่วยราชการกระทำละเมิด ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในการดูแลบำรุงรักษาถนน ต้นไม้ หรือสิ่งปลูกสร้างเพื่อป้องกันมิให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้ถนน โดยมิได้ตัดแต่งต้นทองหลางซึ่งอยู่บริเวณไหล่ถนนทางหลวงชนบทสาย นศ. ๓๐๕๐ แยกทางหลวงหมายเลข ๔๐๑ – บ้านนอกท่า ซึ่งโคนต้นผุกลวงเป็นโพรงมาเป็นเวลานาน เป็นเหตุให้ต้นทองหลางหักโค่นล้มทับรถจักรยานยนต์คันที่ผู้ตายทั้งสองนั่งซ้อนท้ายมา ทำให้ผู้ตายทั้งสองได้รับบาดเจ็บและถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพราะต้นทองหลางที่เกิดเหตุในคดีนี้ขึ้นอยู่ในเขตทางหลวงชนบท จำเลยไม่ได้เป็นผู้ปลูกและไม่ได้บำรุงรักษา และไม่ทราบว่าผู้ใดเป็นผู้ปลูกเป็นรั้วของชาวบ้าน ก่อนเกิดเหตุไม่ปรากฏว่ามีเหตุบ่งชี้ว่าจะเกิดภยันตรายหรือจะล้มลงเป็นอันตรายต่อผู้ใช้รถใช้ถนน เนื่องจากต้นทองหลางดังกล่าวมีลักษณะสมบูรณ์เขียวสด ไม่มีลักษณะจะโค่นล้ม เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงเป็นเหตุสุดวิสัย จำเลยไม่ได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ
จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีที่พิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ และเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ซึ่งเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๒) (๓)
ศาลแขวงนครศรีธรรมราชเห็นว่า คดีนี้โจทก์ทั้งสี่ฟ้องอ้างเหตุละเมิดที่เกิดขึ้นว่าเป็นผลอันเนื่องมาจากการที่จำเลยในฐานะผู้ครอบครองต้นทองหลาง ซึ่งขึ้นอยู่ในเขตทางหลวงชนบท ไม่ตัดแต่งหรือบำรุงรักษาไม่เพียงพอ ทำให้ต้นทองหลางล้มทับบุตรของโจทก์จำเลยต่อสู้ว่า ก่อนเกิดเหตุไม่มีเหตุบ่งชี้ว่าต้นทองหลางจะเกิดภยันตรายหรือจะล้มลงเป็นอันตรายต่อผู้ใช้รถใช้ถนนในทำนองว่าจำเลยได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรเพื่อปัดป้องมิให้เกิดความเสียหายแล้ว คดีจึงต้องพิจารณาว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นมาจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยในการที่ไม่ตัดแต่งหรือบำรุงรักษาต้นทองหลางไม่เพียงพอ อันถือได้ว่าเป็นการกระทำทางกายภาพ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม (ตามนัยคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๕/๒๕๔๕)
ศาลปกครองนครศรีธรรมราชเห็นว่า คดีนี้จะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองหรือไม่ ต้องพิจารณาก่อนว่า จำเลยมีหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติเกี่ยวกับทางหลวงชนบทหรือไม่ เมื่อพิจารณาตาม ข้อ ๑ ของกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมทางหลวงชนบท กระทรวงคมนาคม พ.ศ. ๒๕๔๕ ได้กำหนดให้กรมทางหลวงชนบท กระทรวงคมนาคม มีภารกิจเกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวง การก่อสร้างและบำรุงรักษาทางหลวงให้มีโครงข่ายทางหลวงที่สมบูรณ์ ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยในการเดินทาง โดยให้มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้ (๑) ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยทางหลวง เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับทางหลวงชนบท รวมทั้งกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง (๒) วิจัยและพัฒนางานก่อสร้าง บูรณะและบำรุงรักษาทางหลวงชนบท (๓) ดำเนินการจัดทำมาตรฐาน และข้อกำหนดทางหลวงชนบทตลอดจนกำกับและตรวจสอบเพื่อให้มีการดำเนินการตามเกณฑ์มาตรฐานและข้อกำหนด (๔)ดำเนินการฝึกอบรมและจัดทำคู่มือตลอดจนให้คำปรึกษาแนะนำเกี่ยวกับวิศวกรรมงานทางแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (๕) ร่วมมือและประสานงานด้านงานทางกับองค์การและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศ (๖) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่ของกรม หรือตามที่กระทรวงหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย ประกอบกับมาตรา ๙ และมาตรา ๒๐ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. ๒๕๓๕ กำหนดว่า ทางหลวงชนบท คือ ทางหลวงนอกเขตเทศบาลหรือเขตสุขาภิบาลที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดหรือกรมทางหลวงชนบทเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง ขยาย บูรณะ และบำรุงรักษา และได้ลงทะเบียนไว้เป็นทางหลวงชนบท โดยมีอธิบดีกรมทางหลวงชนบทเป็นเจ้าหน้าที่กำกับ ตรวจตราและควบคุมทางหลวง และงานทางที่เกี่ยวกับทางหลวงชนบทและทางหลวงสุขาภิบาล และมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน กำหนดว่า งานทาง หมายความว่า กิจการใดที่ทำเพื่อหรือเนื่องในการสำรวจการก่อสร้าง การขยาย การบูรณะ หรือการบำรุงรักษาทางหลวงหรือการจราจรบนทางหลวง จะเห็นได้ว่า การดำเนินการเกี่ยวกับทางหลวงชนบทนั้น เป็นอำนาจหน้าที่ของจำเลยโดยเฉพาะซึ่งได้แก่ การก่อสร้าง บูรณะ และบำรุงรักษา สำหรับการบำรุงรักษานั้นย่อมหมายรวมถึงการดำเนินการใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานทางตามนัยมาตรา ๔แห่งพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งรวมถึงการดูแลต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ในเขตทางหลวงมิให้เป็นภยันตรายหรืออาจก่อให้เกิดอันตรายทั้งแก่ผู้ใช้รถใช้ถนนและตัวถนนด้วย คดีนี้คู่ความรับกันว่า ต้นทองหลางขึ้นอยู่ในเขตทาง จึงเป็นอำนาจหน้าที่ของจำเลยโดยตรงที่จะต้องตรวจดู หรือตัดแต่ง หรือโค่นต้นทองหลาง เพื่อมิให้เกิดภยันตรายได้ และโดยที่อำนาจหน้าที่ดังกล่าวเป็นอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ การที่จำเลยไม่ได้ตรวจดูหรือตัดแต่ง หรือโค่นต้นทองหลางจนเป็นเหตุให้ต้นทองหลางดังกล่าวโค่นทับผู้ตายทั้งสอง ย่อมเป็นผลมาจากการที่จำเลยละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองส่วนข้อเท็จจริงตามคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๕/๒๕๔๕ นั้น เป็นกรณีที่กรุงเทพมหานครเข้าไปปักเสาไฟฟ้าในบริเวณลานจอดรถตลาดนัดสนามหลวง ๒ ธนบุรี แต่ไม่ปักยึดให้มั่นคงแข็งแรง เป็นเหตุให้เสาไฟฟ้าดังกล่าวล้มทับรถยนต์ของโจทก์เสียหาย อันถือว่าเป็นการกระทำทางกายภาพ ซึ่งเป็นการกระทำละเมิดที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ธรรมดา หรือการกระทำละเมิดที่ไม่ได้เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ข้อเท็จจริงตามคำวินิจฉัยดังกล่าวจึงมีความแตกต่างกับข้อเท็จจริงในคดีนี้

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
คดีนี้ โจทก์ทั้งสี่เป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยซึ่งเป็นส่วนราชการฐานะเป็นกรมสังกัดกระทรวงคมนาคม ตามมาตรา ๒๑ (๗) แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวงกรม พ.ศ. ๒๕๔๕ โดยกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมทางหลวงชนบท กระทรวงคมนาคมพ.ศ. ๒๕๔๕ กำหนดให้มีภารกิจเกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวง การก่อสร้างและบำรุงรักษาทางหลวงให้มีโครงข่ายทางหลวงที่สมบูรณ์ ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศเพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยในการเดินทาง โดยมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการดำเนินการเกี่ยวกับทางหลวงชนบทหลายประการ จำเลยจึงเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองพ.ศ. ๒๕๔๒ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงตามคำฟ้องคดีนี้โจทก์ทั้งสี่ฟ้องว่า จำเลยละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในการดูแลบำรุงรักษาถนน ต้นไม้ หรือสิ่งปลูกสร้างเพื่อป้องกันมิให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้ถนน มิได้ตัดแต่งต้นทองหลางซึ่งขึ้นอยู่บริเวณไหล่ถนนทางหลวงชนบท โคนต้นผุกลวงเป็นโพรงมาเป็นเวลานาน เป็นเหตุให้ต้นทองหลางหักโค่นล้มทับรถจักรยานยนต์ ทำให้บุตรของโจทก์ทั้งสี่ได้รับบาดเจ็บและถึงแก่ความตาย ขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายประโลม มิตรรัตน์ ที่ ๑ นางสุนีย์ มิตรรัตน์ที่ ๒ นายรัตน์ กรดกางกั้น ที่ ๓ และนางติเหมียหรือตีเหมี้ยหรือเหมีย กรดกางกั้น ที่ ๔โจทก์ กรมทางหลวงชนบท จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) ปัญญา ถนอมรอด (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายปัญญา ถนอมรอด) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท สายัณห์ อรรถเกษม (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สายัณห์ อรรถเกษม) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

คมศิลล์ คัด/ทาน

Share