แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒๓/๒๕๔๙
วันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๙
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน
พ.ศ. ๒๕๒๒
ศาลแรงงานภาค ๙
ระหว่าง
ศาลปกครองสงขลา
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแรงงานภาค ๙ โดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๒ วรรคสอง ซึ่งเป็นกรณีที่ศาลหนึ่งไม่รับฟ้อง เพราะเห็นว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจของอีกศาลหนึ่ง เมื่อมีการฟ้องคดีต่ออีกศาลหนึ่งแล้ว ศาลดังกล่าวเห็นว่าคดีนั้นไม่อยู่ในเขตอำนาจเช่นกัน
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ นายทรงธรรม จั่นทรัพย์ โจทก์ ยื่นฟ้องสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ที่ ๑ กรมบัญชีกลางที่ ๒ จำเลย ต่อศาลแรงงานภาค ๙ เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๔๙๑/๒๕๔๘ ขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของจำเลยทั้งสองที่สั่งให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่จำเลยที่ ๑ กรณีโจทก์กระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่อันเนื่องมาจากกรณีสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางจังหวัดนครศรีธรรมราช เขต ๑ อนุมัติจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลผิดระเบียบ เป็นเหตุให้นางสุกานดารักษ์ศรีทอง ลูกจ้างตำแหน่งพนักงานบริการ สังกัดสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางอำเภอท่าศาลา รับเงินไปโดยไม่มีสิทธิ ทำให้จำเลยที่ ๑ ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนเงิน๑๒๓,๙๓๕.๕๐ บาท โดยจำเลยทั้งสองอ้างว่า โจทก์ซึ่งขณะเกิดเหตุดำรงตำแหน่งหัวหน้าสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางอำเภอท่าศาลา ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ไม่ตรวจสอบการจัดทำสัญญาจ้างนางสุกานดา ทำให้หัวหน้าแผนกธุรการและพัสดุซึ่งมีหน้าที่จัดทำสัญญา ทำสัญญาจ้างและเอกสารแนบท้ายสัญญาไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด และมีการอนุมัติการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลของนางสุกานดาเกินสิทธิจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามส่วนในอัตราร้อยละ ๔๐ เป็นเงินจำนวน ๓๗,๙๕๗.๔๐บาท ภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับทราบ หากไม่พอใจมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้ภายใน ๙๐ วัน นับแต่วันได้รับหนังสือตามมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ โจทก์เห็นว่าคำสั่งดังกล่าวของจำเลยทั้งสองไม่ชอบด้วยกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับ เนื่องจากโจทก์ไม่ได้กระทำการใดๆ อันถือได้ว่าเป็นการละเมิดต่อจำเลยทั้งสอง เพราะในการทำสัญญาจ้างนางสุกานดา โจทก์ไม่ใช่ผู้มีอำนาจลงนามทำสัญญา และไม่มีหน้าที่สำคัญในการจัดทำเอกสาร ตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารทั้งหมดว่าถูกต้องตามระเบียบหรือไม่ อำนาจหน้าที่ในการลงนามทำสัญญาเป็นของหัวหน้าสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางจังหวัด ส่วนหน้าที่ในการจัดทำ จัดเตรียม และตรวจสอบความถูกต้องของสัญญานั้นเป็นของเจ้าหน้าที่อื่นซึ่งมิใช่โจทก์ โจทก์เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยเพียงในฐานะพยานในสัญญา ส่วนข้อกล่าวหาที่ว่าโจทก์เป็นผู้อนุมัติการจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลผิดพลาด โจทก์ได้พิจารณาจากเอกสารที่ได้จัดทำไว้ เมื่อสัญญาจ้างนางสุกานดาได้มีการลงนามในสัญญาโดยผู้มีอำนาจแล้ว สัญญาดังกล่าวจึงมีผลผูกพันบังคับใช้โจทก์ไม่อาจล่วงรู้ได้เลยว่าสัญญานั้นจะทำไว้ถูกต้องหรือไม่ เพียงใด ทั้งตามหน้าที่ในการจัดทำเรื่องการอนุมัติการขอเบิกเงินในแต่ละครั้งนั้นจะมีขั้นตอนการเบิกเงินที่เป็นระบบ โจทก์ได้กระทำการไปโดยความระมัดระวังตามสมควรแก่เหตุแล้ว ทั้งการเรียกให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายกรณีนี้ยังขาดอายุความในการเรียกร้องตามมาตรา ๑๐ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ แล้ว โจทก์จึงฟ้องคดีต่อศาลแรงงานภาค ๙ เป็นคดีนี้
อนึ่ง ก่อนยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลแรงงานภาค ๙ โจทก์เคยยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลปกครองสงขลา เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๑๐/๒๕๔๘ แต่ศาลปกครองสงขลา มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณา โดยให้เหตุผลว่าคดีไม่อยู่ในอำนาจศาลปกครองที่จะรับไว้พิจารณา ตามมาตรา ๙ วรรคสอง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ แต่อยู่ในเขตอำนาจศาลแรงงานตามมาตรา ๘ วรรคหนึ่ง (๕) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า ตามคำฟ้องของโจทก์ว่า จำเลยที่ ๒ ได้มีเอกสารแจ้งผลให้จำเลยที่ ๑ ทราบถึงความรับผิดทางละเมิดของ ๑. นางสุมาลี ภูวราพันธ์ ๒. นายทรงธรรมจั่นทรัพย์ ๓. นายสมคิด พัฒนไทยานนท์ แล้วให้จำเลยที่ ๑ แจ้งให้บุคคลทั้งสามรับผิด จึงเป็นคำสั่งทางปกครองตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙มิใช่การกระทำละเมิดตามมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. ๒๕๒๒ และมิใช่คำสั่งของพนักงานเกี่ยวกับแรงงานสัมพันธ์ ศาลแรงงานภาค ๙ไม่มีอำนาจรับคดีไว้พิจารณา ขอให้ส่งเรื่องให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางวินิจฉัยตามมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒
ศาลแรงงานภาค ๙ ตรวจคำฟ้องแล้วเห็นว่า กรณีมีปัญหาว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานหรือไม่ และส่งสำนวนให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางวินิจฉัย
อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางเห็นว่า โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๑ มีคำสั่งโดยไม่ถูกต้องตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงาน และกระทำละเมิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงาน คดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงาน และเป็นคดีอันเกิดแต่มูลละเมิดระหว่างนายจ้างและลูกจ้างเกี่ยวเนื่องกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงาน ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ (๑) และ(๕) ส่วนคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๒ นั้น ตามคำฟ้องปรากฏเพียงว่าจำเลยที่ ๒ มีฐานะเป็นกรม สังกัดกระทรวงการคลัง จำเลยที่ ๒ ได้มีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาความรับผิดทางละเมิดแก่จำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๑ ได้แจ้งให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายเท่านั้น โดยไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ ๒ กับโจทก์มีนิติสัมพันธ์ตามสัญญาจ้างแรงงานต่อกัน คดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๒ จึงไม่มีลักษณะเป็นคดีแรงงานตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๕) บัญญัติให้ศาลแรงงานมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานหรือตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง รวมถึงคดีอันเกิดแต่มูลละเมิดระหว่างนายจ้างและลูกจ้างสืบเนื่องจากข้อพิพาทแรงงานหรือเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงาน และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคสอง (๓) บัญญัติให้คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลแรงงานไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
คดีนี้ ขณะเกิดเหตุโจทก์ดำรงตำแหน่งหัวหน้าสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางอำเภอท่าศาลา สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑หน่วยงานต้นสังกัดซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจจัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง พ.ศ. ๒๕๐๓ มีฐานะเป็นนิติบุคคล และจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นส่วนราชการฐานะกรมสังกัดกระทรวงการคลัง อันเนื่องมาจากกรณีจำเลยทั้งสองมีคำสั่งให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายกรณีโจทก์กระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ไม่ตรวจสอบการจัดทำสัญญาจ้างนางสุกานดารักษ์ศรีทอง ลูกจ้างในสังกัดสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางอำเภอท่าศาลา ซึ่งหัวหน้าแผนกธุรการและพัสดุจัดทำสัญญาจ้างและเอกสารแนบท้ายสัญญาไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด และมีการอนุมัติการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลเกินสิทธิ เป็นเหตุให้สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางจังหวัดนครศรีธรรมราช เขต ๑ ได้รับความเสียหายจากการอนุมัติจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลผิดระเบียบ ซึ่งโจทก์เห็นว่าคำสั่งของจำเลยทั้งสองไม่ชอบด้วยกฎหมาย ระเบียบและข้อบังคับ โจทก์ไม่ได้กระทำละเมิด ขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว เห็นว่า แม้จำเลยทั้งสองเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒และเป็นคดีที่โจทก์ฟ้องว่าคำสั่งของจำเลยทั้งสองที่เรียกให้โจทก์ชำระเงินอันเนื่องมาจากการกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่พ.ศ.๒๕๓๙ เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่นิติสัมพันธ์ระหว่างจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจกับโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดจำเลยที่ ๑ อยู่ในฐานะการเป็นนายจ้างและลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงาน และมูลเหตุในการออกคำสั่งดังกล่าวของจำเลยทั้งสองสืบเนื่องมาจากการที่โจทก์ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง อันถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจ้างแรงงาน เป็นผลให้จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นนายจ้างได้รับความเสียหาย จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานและเป็นคดีอันเกิดแต่มูลละเมิดระหว่างนายจ้างและลูกจ้างสืบเนื่องจากข้อพิพาทแรงงานหรือเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา๘ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๕) คดีจึงเข้าข้อยกเว้นที่ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคสอง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน ซึ่งกรณีจำเลยที่ ๑ ดังกล่าว ทั้งศาลปกครองและศาลยุติธรรมต่างมีความเห็นพ้องกันว่าเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลแรงงานซึ่งเป็นศาลในสังกัดศาลยุติธรรม ประเด็นว่าคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑อยู่ในอำนาจของศาลปกครองหรือศาลยุติธรรมเป็นอันยุติไปตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคสอง
สำหรับคดีของจำเลยที่ ๒ เป็นกรณีที่ทั้งศาลปกครองและศาลยุติธรรมต่างปฏิเสธว่าเป็นคดีที่ไม่อยู่ในเขตอำนาจของตนตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๒ วรรคสอง นั้น เห็นว่า เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายกรณีจำเลยที่ ๑ มีคำสั่งตามความเห็นของจำเลยที่ ๒เรียกให้โจทก์ชำระเงินอันเนื่องมาจากการกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่อันเป็นมูลคดีเดียวกันกับการฟ้องคดีจำเลยที่ ๑ แม้จำเลยที่ ๒ กับโจทก์ไม่มีนิติสัมพันธ์ตามสัญญาจ้างแรงงานต่อกัน แต่เมื่อเป็นกรณีพิพาทที่มีมูลความแห่งคดีเดียวกันกับคดีระหว่างโจทก์และจำเลยที่ ๑ และเพื่อให้คดีทั้งสองได้ดำเนินกระบวนพิจารณาที่ศาลเดียว ทั้งนี้ เพื่อให้คำพิพากษาเป็นไปในแนวทางเดียวกัน คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายทรงธรรม จั่นทรัพย์ โจทก์ สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง จำเลยที่ ๑ กรมบัญชีกลาง จำเลยที่ ๒ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ปัญญา ถนอมรอด (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายปัญญา ถนอมรอด) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท สายัณห์ อรรถเกษม (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สายัณห์ อรรถเกษม) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
คมศิลล์ คัด/ทาน
๖