คำวินิจฉัยที่ 22/2549

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒๒/๒๕๔๙

วันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๔๙

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลจังหวัดชัยนาท
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดชัยนาทส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดีและศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๔๘ นายมนัส การภักดี ที่ ๑ นางวาส สินตะมะที่๒นายเสนาะ การภักดี ที่ ๓ นายหนา การะภักดี ที่ ๔ โจทก์ได้ยื่นฟ้อง กรมที่ดิน ที่ ๑ นายบุญนาค การภักดี ที่ ๒ ร้อยตำรวจเอกสมเกียรติ อุดรสอาด ที่ ๓ นายนริศ สำราญรื่น ที่ ๔นางสาวภาณินนาถ การภักดี ที่ ๕ จำเลย ต่อศาลจังหวัดชัยนาท เป็นคดีหมายเลขดำที่๑๐๑๒/๒๕๔๘ ความว่า ก่อนที่นางเขียว การะภักดี ซึ่งเป็นมารดาของจำเลยที่ ๒ และโจทก์ทั้งสี่จะเสียชีวิตได้ทำพินัยกรรม ลงวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๘ ต่อหน้าพยาน ๒ คน โดยประสงค์จะยกที่ดินแปลงโฉนดที่ดินเลขที่ ๖๖๓๐ ตำบลสุขเดือนห้า (กะบกเตี้ย) อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท เนื้อที่ ๒๔ ไร่ ๓๓ ตารางวา ให้แก่จำเลยที่ ๒ และแต่งตั้งให้จำเลยที่ ๓ เป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรม โดยขณะทำพินัยกรรมนางเขียวอยู่ในสภาพวิกลจริต ต่อมา จำเลยที่ ๓ได้ดำเนินการโอนที่ดินให้แก่จำเลยที่ ๒ แต่ไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากนามสกุลของผู้ทำพินัยกรรมในใบมรณบัตรไม่ตรงกับในพินัยกรรม ซึ่งต่อมาก็ได้รับการรับรองจากปลัดอำเภอกิ่งอำเภอเนินขามว่าเป็นนามสกุลเดียวกันตามคำแนะนำของจำเลยที่ ๔ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานที่ดินสำนักงานที่ดินจังหวัดชัยนาท สาขาหันคา และได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์โฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นของจำเลยที่ ๒ เมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๔๑ ต่อมาจำเลยที่ ๒ ได้จดทะเบียนให้ที่ดินแปลงดังกล่าวแก่จำเลยที่ ๕ ซึ่งเป็นบุตร จากนั้นจำเลยที่ ๕ ได้ประกาศขายที่ดินแปลงดังกล่าว เมื่อโจทก์ทั้งสี่ทราบเรื่องและเห็นว่า การกระทำดังกล่าวไม่ถูกต้องเนื่องจากโจทก์ทั้งสี่ในฐานะทายาทของผู้ตายและเป็นผู้ครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าวมาแต่เดิม โดยแบ่งปันทำกินเป็นส่วนสัดมาไม่น้อยกว่า ๔๐ ปี ซึ่งจำเลยที่ ๒ ก็ทราบดี โจทก์ทั้งสี่จึงได้ขออายัดการเปลี่ยนแปลงผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าว และเห็นว่าการกระทำของจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ ก่อให้เกิดความเสียหาย เพราะผู้ทำพินัยกรรมมีอายุมากและเจ็บป่วยทุกขเวทนาทั้งมีสภาพวิกลจริต อันทำให้พินัยกรรมดังกล่าวตกเป็นโมฆียะและ โจทก์ทั้งสี่มีอำนาจเพิกถอนได้ แต่การกระทำของจำเลยที่ ๔ ขณะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าวมีเจตนาหลีกเลี่ยงไม่ให้โจทก์คนหนึ่งคนใดในสี่คนได้ทราบเรื่อง และยินยอมละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับหรือข้อกำหนดของจำเลยที่ ๑ โดยประกาศคำขอรับมรดกของจำเลยที่ ๒ และการจัดการมรดกของจำเลยที่ ๓ เมื่อวันที่ ๒๐เมษายน ๒๕๔๑ ณ ที่ว่าการกำนันและบริเวณที่ดินของผู้ขอในเขตพื้นที่ตำบลสุขเดือนห้าซึ่งไม่ใช่ในเขตพื้นที่ตำบลกะบกเตี้ยอันเป็นที่ตั้งของที่ดินตามที่ระบุไว้ในพินัยกรรมและในสำเนาโฉนด อันเป็นการกระทำโดยเจตนาหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ทำให้โจทก์ทั้งสี่สูญเสียโอกาสในการเข้าแย้งสิทธิ จำเลยที่ ๔ จึงต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้น จำเลยที่ ๑ เป็นต้นสังกัดของจำเลยที่ ๔ จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ด้วย ขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ถึงที่ ๔ ร่วมกันรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมต่อโจทก์ทั้งสี่ เป็นเงิน ๑๕๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย ในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับจากวันที่ศาลมีคำพิพากษาจนกว่าจะชำระเสร็จและให้เพิกถอนพินัยกรรมของนางเขียว ฉบับวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๘ และให้เพิกถอนการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในโฉนดที่ดินเลขที่ ๖๖๓๐ เมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๔๑ และวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๔๘ โดยมีคำสั่งว่าการประกาศนิติกรรมการให้ของสำนักงานที่ดินจังหวัดชัยนาท สาขาหันคา เมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๔๑ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๕ ให้การว่า จำเลยทั้งห้าไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจศาล ที่โจทก์ฟ้อง ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม การทำพินัยกรรมถูกต้องสมบูรณ์โดยจำเลยที่ ๓เป็นผู้จัดทำพินัยกรรมให้ตามแบบของการทำพินัยกรรมตามกฎหมาย มิได้มีเจตนาทุจริตข่มขู่ให้สัญญาหรือหลอกลวงให้ผู้ทำพินัยกรรมหลงเชื่อแต่อย่างใด การรับมรดกและการจดทะเบียนรับโอนที่ดินตามพินัยกรรมชอบด้วยกฎหมาย ทั้งจำเลยที่ ๒ ได้ชำระหนี้ให้แก่สถาบันการเงินเนื่องจากที่ดินดังกล่าว ติดภาระจำนอง การที่จำเลยที่ ๒ โอนกรรมสิทธิ์ให้จำเลยที่ ๕ จึงชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งสี่ไม่มีสิทธิเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวและไม่มีสิทธิเพิกถอนพินัยกรรมด้วย จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๕ ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๑ และที่ ๔ ให้การว่า จำเลยที่ ๔ ได้สอบสวนพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องโดยปฏิบัติตามกฎหมาย กฎกระทรวง และระเบียบของกรมที่ดินแล้วเชื่อว่า จำเลยที่๒ เป็นทายาทโดยพินัยกรรมจริง จึงได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามพินัยกรรมให้จำเลยที่ ๒ จึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๑ และที่ ๔ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีในส่วนที่โจทก์ยื่นฟ้อง จำเลยที่ ๑ และที่ ๔ นั้น อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดชัยนาทพิจารณาแล้วเห็นว่า การที่โจทก์ทั้งสี่ฟ้องเรียกค่าเสียหายจาก จำเลยที่ ๑ และที่ ๔ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐอ้างว่าจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง และละเลยในการปฏิบัติตามกฎระเบียบโดยละเว้นไม่มีการประกาศถึงการขอโอนทรัพย์ตามพินัยกรรม ณ ตำบลกะบกเตี้ย อันเป็นตำบลที่ที่ดินตามที่ยกให้โดยพินัยกรรมตั้งอยู่ ซึ่งในประเด็นนี้เป็นการฟ้องให้หน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐรับผิดในทางละเมิดชดใช้ค่าเสียหายที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำไปในการปฏิบัติหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองพ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) (๒) และ (๓) ส่วนที่โจทก์ทั้งสี่ฟ้องให้ เพิกถอนพินัยกรรมและการจดทะเบียนรับมรดกตามพินัยกรรมนั้นเป็นประเด็นพิพาทเกี่ยวกับพินัยกรรม สิทธิในทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมที่จะต้องวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประเด็นดังกล่าวจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ประเด็นพิพาททั้งสองประเด็นดังกล่าวนั้นไม่เกี่ยวเนื่องกัน เนื่องจากการเรียกค่าเสียหายในคดีนี้เป็นการฟ้องคดีขอให้เจ้าหน้าที่ของรัฐรับผิดเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่แยกต่างหากจากการวินิจฉัยว่าพินัยกรรมดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และมีผลให้ต้องเพิกถอนการจดทะเบียนรับพินัยกรรมดังกล่าวหรือไม่ ไม่มีผลต่อคำวินิจฉัยที่ต้องเป็นไปในทางเดียวกัน จึงต้องแยกพิจารณาจากกันในศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษา ดังนั้น ในประเด็นที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับหรือข้อกำหนดของกรมที่ดินซึ่งจำเลยที่ ๑ และที่ ๔ ต้องรับผิดจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) (๒) และ (๓) ส่วนการขอให้เพิกถอนพินัยกรรมและการจดทะเบียนรับมรดกตามพินัยกรรมอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ตามนัย คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ที่ ๓/๒๕๔๕
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า ตามคำฟ้องโจทก์ทั้งสี่กล่าวอ้างว่าได้รับความเสียหายจากการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ราชการของจำเลยที่ ๔ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ และอยู่ในสังกัดของจำเลยที่ ๑ โดยร่วมมือกับจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ในการจดทะเบียนโอนที่ดินมรดกตามพินัยกรรมให้แก่จำเลยที่ ๒ โดยมีเจตนาหลีกเลี่ยงไม่ให้โจทก์คนหนึ่งคนใดในสี่คนทราบเรื่องการโอนที่ดินแปลงพิพาท อีกทั้งละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับหรือข้อกำหนดของกรมที่ดินหรือกระทำการโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเกี่ยวกับการประกาศคำขอรับมรดกของจำเลยที่ ๒ และการจัดการมรดกของจำเลยที่ ๓ โดยมิได้มีการปิดประกาศเรื่องดังกล่าวในพื้นที่ตำบลกะบกเตี้ย อำเภอหันคาจังหวัดชัยนาท ซึ่งเป็นท้องที่ที่ที่ดินตามพินัยกรรมตั้งอยู่ทำให้โจทก์ทั้งสี่ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย กรณีตามคำฟ้องจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ปฏิบัติ จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจาณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เห็นว่า ข้อหาและประเด็นที่ศาลจะต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๑ และที่ ๔ กระทำละเมิด และจำเลยที่ ๑ และที่๔ จะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสี่หรือไม่เป็นข้อหาและประเด็นรอง ซึ่งในคดีนี้ข้อหาและประเด็นหลักเป็นกรณีที่ศาลจะต้องวินิจฉัยให้ได้ความเสียก่อนว่า โจทก์ทั้งสี่มีสิทธิที่จะได้รับทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมของนางเขียว ฉบับลงวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๘ หรือไม่และพินัยกรรมฉบับดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ทั้งผลของ คำพิพากษาหรือคำสั่งย่อมมีผลกระทบกระเทือนต่อสิทธิของโจทก์ทั้งสี่โดยตรง ซึ่งการวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวเป็นการวินิจฉัยเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของพินัยกรรมและสิทธิในทรัพย์สินระหว่างคู่กรณีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม เมื่อศาลยุติธรรมมีอำนาจวินิจฉัยข้อหาและประเด็นหลักแห่งคดีแล้ว ย่อมมีอำนาจวินิจฉัยข้อหาและประเด็นรองในคดีเดียวกันด้วย ดังนั้นคดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว สำหรับคดีนี้ราษฎรทั้งสี่เป็นโจทก์ยื่นฟ้องเอกชนรวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานทางปกครองว่าทำละเมิด เรียกค่าเสียหาย ให้เพิกถอนพินัยกรรมและให้เพิกถอนการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในโฉนดที่ดินตามพินัยกรรมพิพาททั้งสองศาลมีความเห็นพ้องต้องตรงกันว่า ประเด็นที่โจทก์ทั้งสี่ฟ้องขอให้เพิกถอนพินัยกรรมและการจดทะเบียนรับมรดกตามพินัยกรรมนั้น เป็นประเด็นพิพาทเกี่ยวกับพินัยกรรม สิทธิในทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมที่จะต้องวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม คงเหลือประเด็นที่โจทก์ทั้งสี่ฟ้องจำเลยที่ ๑ และที่๔ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและเป็นหน่วยงานทางปกครองว่าทำละเมิดขอให้ชดใช้ค่าเสียหายอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง เห็นว่า ตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสี่อ้างว่า การทำพินัยกรรมยกที่ดินให้จำเลยที่ ๒ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และจำเลยที่๔ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่สังกัดในหน่วยงานของจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง ร่วมมือกับจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินมรดกตามพินัยกรรมให้แก่จำเลยที่ ๒โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ รับผิดชดใช้ค่าเสียหายอย่างลูกหนี้ร่วม ให้เพิกถอนพินัยกรรม และเพิกถอนการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในที่ดินตามพินัยกรรมพิพาท ส่วนจำเลยที่ ๑ และที่ ๔ ให้การว่า จำเลยที่ ๔ ได้สอบสวนพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องโดยปฏิบัติตามกฎหมาย กฎกระทรวง และระเบียบของกรมที่ดินแล้วเชื่อว่า จำเลยที่ ๒ เป็นทายาทโดยพินัยกรรมจริง จึงจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามพินัยกรรมให้จำเลยที่ ๒ ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๕ ให้การว่า การทำพินัยกรรมถูกต้องสมบูรณ์โดยจำเลยที่ ๓ เป็นผู้จัดทำพินัยกรรมให้ตามแบบของการทำพินัยกรรมตามกฎหมาย มิได้มีเจตนาทุจริตข่มขู่ให้สัญญาหรือหลอกลวงให้ผู้ทำพินัยกรรมหลงเชื่อแต่อย่างใด การรับมรดกและการจดทะเบียนรับโอนที่ดินตามพินัยกรรมชอบด้วยกฎหมาย การที่จำเลยที่ ๒ โอนกรรมสิทธิ์ให้จำเลยที่ ๕ จึงชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งสี่ไม่มีสิทธิ เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวและไม่มีสิทธิเพิกถอนพินัยกรรมด้วย จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๕ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสี่ ขอให้ยกฟ้อง
คดีจึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้จำเลยที่ ๒ ตามพินัยกรรมดังกล่าวว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ในเรื่องการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติไว้ว่า
มาตรา ๑๒๙๘ ทรัพยสิทธิทั้งหลายนั้น ท่านว่าจะก่อตั้งขึ้นได้แต่ด้วยอาศัยอำนาจในประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น
มาตรา ๑๒๙๙ ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น ท่านว่าการได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้นไม่บริบูรณ์ เว้นแต่นิติกรรมจะได้ทำเป็นหนังสือและได้จดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่
ถ้ามีผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม สิทธิของผู้ได้มานั้น ถ้ายังมิได้จดทะเบียนไซร้ ท่านว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนไม่ได้ และสิทธิอันยังมิได้จดทะเบียนนั้น มิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนโดยสุจริตแล้ว
ดังนั้น ทรัพยสิทธิในอสังหาริมทรัพย์จะก่อตั้งขึ้นได้เฉพาะแต่ด้วยผลทางกฎหมายและต้องทำการจดทะเบียนต่อเจ้าหน้าที่ โดยกฎหมายกำหนดวิธีปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ไว้ในประมวลกฎหมายที่ดินและกฎกระทรวง ซึ่งการที่กฎหมายกำหนดไว้เช่นนี้ก็เพื่อรับรองสิทธิในทรัพย์สินของบุคคลและขจัดข้อพิพาทให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด โดยมีเจ้าหน้าที่และหน่วยงานของรัฐเป็นผู้ดำเนินการให้การจดทะเบียนหรือการกระทำต่าง ๆ ของเจ้าหน้าที่ก็จำต้องพิจารณาถึงสิทธิในทางแพ่งของบุคคลผู้มาขอจดทะเบียนเป็นสำคัญ สำหรับในเรื่องนี้การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามพินัยกรรมดังกล่าวว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ข้อเท็จจริงว่า การทำพินัยกรรมยกที่ดินให้จำเลยที่ ๒ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งหากได้ความว่า การทำพินัยกรรมถูกต้องชอบด้วยกฎหมายแล้ว การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้จำเลยที่ ๒ ตามพินัยกรรมพิพาทก็ย่อมจะชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน มีผลให้กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์โอนไปเป็นของจำเลยที่ ๒ แต่หากการทำพินัยกรรมไม่ชอบด้วยกฎหมาย การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม การโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้จำเลยที่ ๒ ตามพินัยกรรมพิพาทก็ย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีผลให้กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ไม่ตกเป็นของจำเลยที่ ๒ แต่เป็นทรัพย์มรดกตกทอดแก่ทายาทต่อไป และเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสี่ด้วย ข้อพิพาทในคดีนี้เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากพินัยกรรม และสิทธิในทรัพย์มรดกตามพินัยกรรม จึงเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิของบุคคลในทางแพ่ง อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ทั้งการที่โจทก์ทั้งสี่ขอให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๔ รับผิดในมูลละเมิดร่วมกับจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ อย่างลูกหนี้ร่วมด้วยนั้น ก็เป็นข้อพิพาทที่เกี่ยวเนื่องกันและมูลความแห่งคดีเป็น การชำระหนี้ที่แบ่งแยกจากกันมิได้ ดังนั้น ข้อพิพาทในประเด็นนี้ จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมเช่นกัน
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดี ระหว่าง นายมนัส การภักดี ที่ ๑ นางวาส สินตะมะ ที่๒นายเสนาะ การภักดี ที่ ๓ นายหนา การะภักดี ที่ ๔ โจทก์ กรมที่ดิน ที่ ๑ นายบุญนาค การภักดี ที่ ๒ ร้อยตำรวจเอกสมเกียรติ อุดรสอาด ที่ ๓ นายนริศ สำราญรื่น ที่ ๔ นางสาวภาณินนาถ การภักดี ที่ ๕ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ชาญชัย ลิขิตจิตถะ (ลงชื่อ) วิชัย วิวิตเสวี
(นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ) (นายวิชัย วิวิตเสวี)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท สายัณห์ อรรถเกษม (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สายัณห์ อรรถเกษม) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

คมศิลล์ คัด/ทาน

Share