คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5210/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาเช่าระบุว่า เมื่อครบกำหนดอายุสัญญาเช่า 1 ปีแรกผู้ให้เช่าให้สิทธิแก่ผู้เช่าพิจารณารับโอนสิทธิการเช่าสถานที่เช่าได้ โดยผู้ให้เช่ายินดีโอนสิทธิการเช่าที่ผู้ให้เช่ามีอยู่กับบริษัท ม.และให้ผู้เช่าผ่อนชำระกับบริษัทม.ต่อไป ข้อสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาต่างตอบแทนโดยโจทก์ผู้ให้เช่าให้คำมั่นว่าเมื่อครบกำหนด 1 ปีแรก หากจำเลยประสงค์จะรับโอนสิทธิการเช่าก็ทำได้แม้ในสัญญาดังกล่าวจะไม่ได้กำหนดระยะเวลาให้จำเลยแสดงเจตนารับโอนสิทธิการเช่าไว้ก็ตาม แต่ตามเจตนารมณ์ของการทำสัญญา โจทก์จำเลยก็พึงคาดหมายได้ว่าจำเลยจะต้องแสดงเจตนารับโอนสิทธิการเช่าในระยะเวลาพอสมควรนับแต่เมื่อครบกำหนดอายุสัญญาเช่า 1 ปีแรก เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า สัญญาเช่าครบกำหนด 1 ปีแรกวันที่ 20 พฤศจิกายน 2531 และครบกำหนดระยะเวลาเช่า3 ปีวันที่ 20 พฤศจิกายน 2533 จำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์โอนสิทธิการเช่าเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2533 ซึ่งแม้จะเป็นเวลาก่อนครบกำหนดอายุสัญญาเช่าประมาณ 5 เดือน แต่ก็เป็นเวลาภายหลังครบกำหนดสัญญาเช่า 1 ปีแรก ล่วงพ้นไปแล้วถึง 1 ปี 6 เดือน จะพึงเห็นได้ว่าจำเลยแสดงเจตนาที่จะรับโอนสิทธิการเช่าเป็นระยะเวลาเนิ่นนานเกินสมควรที่จะคาดหมายได้ว่าจำเลยยังคงประสงค์ที่จะขอรับโอนสิทธิการเช่าอยู่อีก ทั้งโจทก์ก็ยืนยันว่าเมื่อครบสัญญา1 ปีแรกแล้ว โจทก์ได้ถาม ส.กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยว่าจะตกลงรับโอนสิทธิการเช่าหรือไม่ ก็ตอบว่าขณะนั้นพื้นที่บริษัท ม.โอนสิทธิการเช่ากันตารางเมตรละ 60,000 บาท จำเลยจะต้องรับโอนสิทธิการเช่าจากโจทก์ตารางเมตรละ 65,000 บาท จึงไม่ต้องการรับโอน ดังนั้นการที่จำเลยปล่อยระยะเวลาให้ล่วงพ้นกำหนดการเช่า 1 ปีแรก ออกไปถึง1 ปี 6 เดือน ประกอบกับจำเลยเคยบอกโจทก์ว่าไม่ต้องการรับโอนสิทธิการเช่าจึงฟังได้ว่าจำเลยไม่มีเจตนาที่จะรับโอนสิทธิการเช่าพื้นที่ตามสัญญาแล้ว คำมั่นของโจทก์ที่จะต้องให้จำเลยรับโอนสิทธิการเช่าจึงสิ้นผลผูกพัน เมื่อการเช่าพื้นที่พิพาทครบกำหนดตามสัญญาเช่าแล้ว จำเลยจึงต้องส่งมอบพื้นที่เช่าคืนโจทก์
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า เมื่อสัญญาเช่าครบกำหนดแล้วจำเลยอยู่ในสถานที่เช่าเป็นการอยู่โดยละเมิดต่อโจทก์ และพื้นที่พิพาทก็ดีขึ้นกว่าระยะแรกที่เปิดศูนย์การค้า สมควรกำหนดค่าเสียหายเดือนละ 300,000 บาท จำเลยอุทธรณ์ว่ายังไม่ตรงกับความจริงและสูงเกินไป อันเป็นการกล่าวอ้างเพื่อให้จำเลยต้องรับผิดค่าเสียหายน้อยลง แต่จำเลยไม่ได้กล่าวโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าศาลชั้นต้นกำหนดค่าเสียหายไม่ตรงความจริงอย่างไรและเป็นจำนวนสูงเกินไปเพียงใด หรือที่ถูกต้องเหมาะสมควรเป็นอย่างไรเพราะเหตุผลใดจึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชัดแจ้งตาม ป.วิ.พ.มาตรา 225 วรรคหนึ่ง การที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยให้นั้นชอบแล้ว แม้ในชั้นฎีกาจำเลยจะฎีกาในปัญหาเดียวกับในชั้นอุทธรณ์โดยเพิ่มเติมข้อโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นเข้ามา ก็ถือว่าเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ.มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
เงินมัดจำและเงินที่วางต่อสำนักงานวางทรัพย์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเงินค่าเช่า ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา และค่าโทรศัพท์ที่จำเลยจะต้องรับผิดตามสัญญาเช่า ไม่ใช่เป็นเงินค่าทดแทนความเสียหายที่เกิดจากการทำละเมิดของจำเลยต่อโจทก์ จึงนำเงินจำนวนดังกล่าวมาหักจากค่าเสียหายอันเกิดจากมูลละเมิดที่จำเลยจะต้องรับผิดชดใช้แก่โจทก์ไม่ได้

Share