คำวินิจฉัยที่ 27/2549

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒๗/๒๕๔๙

วันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๔๙

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔)

ศาลจังหวัดลพบุรี
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดลพบุรีโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๔๘ ห้างหุ้นส่วนจำกัดกลุ่มผู้เลี้ยงโคนมเขื่อนป่าสักโจทก์ ยื่นฟ้อง องค์การบริหารส่วนตำบลโคกกะเทียม จำเลย นางพรรณนิภา แหยมทิพย์ จำเลยร่วม ต่อศาลจังหวัดลพบุรี เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๗๒๒/๒๕๔๘ ความว่า เมื่อวันที่ ๑๖กันยายน๒๕๔๖ วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๖ วันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๖ วันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๔๖ วันที่ ๕มกราคม ๒๕๔๗ ต้นเดือนมิถุนายน ๒๕๔๗ วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๔๗ วันที่ ๑ สิงหาคม๒๕๔๗วันที่ ๑ กันยายน ๒๕๔๗ ต้นเดือนมิถุนายน ๒๕๔๗ และวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๗ จำเลยซื้อผลิตภัณฑ์นมพาสเจอร์ไรซ์ชนิดจืด ขนาด ๒๐๐ ซีซี แบบถุง และผลิตภัณฑ์นมยูเอชทีชนิดจืดขนาด ๒๐๐ ซีซี แบบกล่อง หลายงวดหลายครั้ง โดยโจทก์และจำเลยมีข้อตกลงกันว่าจะชำระราคาให้แก่โจทก์ เมื่อโจทก์ส่งมอบผลิตภัณฑ์นมแต่ละงวดการสั่งซื้อภายในกำหนด ๑๕ วัน และอย่างช้าที่สุดไม่เกิน ๒ เดือน ในการซื้อขายโจทก์มอบอำนาจให้นางพรรณิภา หรือนางพรรณนิภา แหยมทิพย์ จำเลยร่วม เป็นผู้ดำเนินการแทน เว้นแต่ในเรื่องการรับเงินค่าสินค้า จำเลยได้รับสินค้าครบถ้วนแล้วยังค้างชำระราคาแก่โจทก์เป็นเงิน ๓๖๔,๓๔๙.๖๐ บาท โจทก์ได้มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระเงินแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย จึงฟ้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้เงิน๓๗๕,๕๐๔.๖๙ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๓๖๔,๓๔๙.๖๐ บาทนับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ในการทำสัญญาซื้อขายผลิตภัณฑ์นมโจทก์ได้มอบอำนาจและมอบหมายให้นางพรรณนิภา แหยมทิพย์ จำเลยร่วมเป็นผู้ทำสัญญา รวมทั้งดำเนินการยื่นซองเปิดซอง สอบราคา ออกใบเสร็จรับเงินและประทับตราสำคัญของโจทก์ทำการแทนโจทก์ตลอดมาอันเป็นการดำเนินการแทนในฐานะตัวแทนและตัวแทนเชิดของโจทก์ โจทก์ในฐานะตัวการย่อมต้องผูกพัน ในผลการดำเนินการดังกล่าวของจำเลยร่วม จำเลยได้ชำระหนี้แก่โจทก์โดยชอบด้วยกฎหมายครบถ้วนตามสัญญาแล้ว จึงไม่มีหนี้ค้างชำระแต่อย่างใด ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยร่วมให้การว่า ได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ให้มีอำนาจดำเนินการในการซื้อซอง ยื่นซอง เปิดซองสอบราคา ทำสัญญาขายผลิตภัณฑ์นมให้แก่จำเลยและรับเช็คจากจำเลยจริงได้รับเช็คค่าผลิตภัณฑ์นมจากจำเลยและส่งมอบให้โจทก์แล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาล ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า สัญญาซื้อขายนมเป็นสัญญาที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษาอันเป็นบริการสาธารณะ สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาทางปกครอง ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดลพบุรีพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีฐานะเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล ตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบลพ.ศ. ๒๕๓๗ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ การที่จำเลยซื้อผลิตภัณฑ์นมจากโจทก์โดยกำหนดให้โจทก์ส่งมอบผลิตภัณฑ์นมจืดชนิดถุงและชนิดกล่องที่โรงเรียนที่อยู่ในความรับผิดชอบของจำเลย เห็นได้ว่า การจัดซื้อผลิตภัณฑ์นมของจำเลยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักเรียนในความรับผิดชอบของจำเลยได้ดื่มนมทุกวัน อันเป็นการดำเนินกิจการเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนซึ่งเป็นกิจการในวัตถุประสงค์ของจำเลยตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารสภาตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๒๓ (๖) ถือได้ว่าเป็นเรื่องที่หน่วยงานทางปกครองมอบให้เอกชนเข้าดำเนินการจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค จึงเป็นสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกันคดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง สำหรับคดีของจำเลยร่วมนั้น ตามคำร้องของจำเลยที่ขอให้เรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดี จำเลยร่วมอาจถูกฟ้องเพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยหรือเพื่อชดใช้ค่าทดแทนได้หากจำเลยแพ้คดี มูลคดีจึงเป็นเรื่องเกี่ยวพันกัน คดีในส่วนของจำเลยร่วม จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองเช่นเดียวกัน
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่า จำเลย เป็นหน่วยงานราชการบริหารส่วนท้องถิ่น แม้จะเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาถึงเนื้อหาของสัญญาซื้อผลิตภัณฑ์นม ซึ่งกระทำในรูปแบบของสัญญาซื้อขายและบางครั้งจัดทำเป็นใบสั่งซื้อสินค้า มิได้มีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว แต่มีเพียงเงื่อนไขข้อกำหนดให้โจทก์ส่งผลิตภัณฑ์นมตามชนิดคุณภาพกำหนดเวลา และสถานที่ที่จำเลยกำหนดเท่านั้น เพียงเพื่อให้ได้สินค้าตามที่ต้องการ หากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขจำเลยมีสิทธิริบหลักประกัน แม้จะมีข้อตกลงแนบท้ายสัญญาว่า โจทก์ต้องเป็นผู้ประกอบการที่มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่กรมปศุสัตว์รับรองให้จำหน่ายนม หรือต้องมีหนังสือรับรองการจำหน่ายนมที่กรมปศุสัตว์ออกให้ รวมทั้งหากกรมปศุสัตว์ตรวจพบว่านมที่จัดซื้อมีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐาน หรือมีการปลอมปนนมผง กรมปศุสัตว์ จะยกเลิกการรับรอง หรือจำเลยยกเลิกสัญญาการจัดซื้อนมได้ทันทีก็ตาม แต่เงื่อนไขดังกล่าวเป็นเงื่อนไขปกติทั่วไปในการซื้อขายสินค้า มิได้แสดงให้เห็นว่าเป็นเอกสิทธิ์ใดที่กำหนดให้จำเลยมีอำนาจเหนือโจทก์ อีกทั้งการจัดซื้อผลิตภัณฑ์นมให้เด็กนักเรียนดื่มในโรงเรียน มิใช่วัตถุประสงค์หลักในการจัดทำบริการสาธารณะด้านการศึกษา สัญญาดังกล่าวจึงมิใช่สัญญาทางปกครอง ข้อพิพาทในคดีนี้จึงมิใช่ข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เป็นสัญญาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของเสรีภาพ ความเสมอภาค และความสมัครใจในการทำสัญญา วัตถุประสงค์เพื่อมุ่งหมายให้ได้รับสินค้าตามปริมาณและคุณภาพที่สั่งซื้อ จึงมีลักษณะเป็นสัญญาทางแพ่ง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ข้อพิพาทในคดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องสรุปได้ว่า องค์การบริหารส่วนตำบลโคกกะเทียม จำเลยซื้อผลิตภัณฑ์นมพาสเจอร์ไรซ์ชนิดจืด ขนาด ๒๐๐ ซีซี แบบถุงและผลิตภัณฑ์นมยูเอชทีชนิดจืด ขนาด ๒๐๐ ซีซี แบบกล่อง จากโจทก์ หลายงวดหลายครั้งโดยมีข้อตกลงกันว่าจะชำระราคาให้แก่โจทก์ เมื่อโจทก์ส่งมอบผลิตภัณฑ์นมแต่ละงวดการสั่งซื้อภายในกำหนด ๑๕ วัน และอย่างช้าที่สุดไม่เกิน ๒ เดือน ในการซื้อขายโจทก์มอบอำนาจให้นางพรรณิภา หรือนางพรรณนิภา แหยมทิพย์ จำเลยร่วม เป็นผู้ดำเนินการแทน เว้นแต่ในเรื่องการรับเงินค่าสินค้า จำเลยได้รับสินค้าครบถ้วนแล้ว ยังค้างชำระราคาแก่โจทก์เป็นเงิน๓๖๔,๓๔๙.๖๐ บาท โจทก์ได้มีหนังสือ ทวงถามให้จำเลยชำระเงินแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชดใช้เงินพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ ส่วนจำเลยให้การว่า ในการทำสัญญาซื้อขายผลิตภัณฑ์นมโจทก์ได้มอบอำนาจและมอบหมายให้ นางพรรณนิภา แหยมทิพย์ จำเลยร่วมเป็นผู้ทำสัญญา รวมทั้งดำเนินการยื่นซอง เปิดซองสอบราคาออกใบเสร็จรับเงินและประทับตราสำคัญของโจทก์ทำการแทนโจทก์ตลอดมาอันเป็นการดำเนินการแทนในฐานะตัวแทนและตัวแทนเชิดของโจทก์ โจทก์ในฐานะตัวการย่อมต้องผูกพันในผลการดำเนินการดังกล่าวของจำเลยร่วม จำเลยได้ชำระหนี้แก่โจทก์โดยชอบด้วยกฎหมายครบถ้วนตามสัญญาแล้ว จึงไม่มีหนี้ค้างชำระแต่อย่างใด ขอให้ยกฟ้อง จำเลยร่วมให้การว่า ได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ให้มีอำนาจดำเนินการในการซื้อซอง ยื่นซอง เปิดซองสอบราคา ทำสัญญาขายผลิตภัณฑ์นม ให้แก่จำเลยและรับเช็คจากจำเลยจริง ได้รับเช็คค่าผลิตภัณฑ์นมจากจำเลยและส่งมอบให้โจทก์แล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาล ขอให้ยกฟ้องเช่นกัน
คดีจึงมีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า สัญญาซื้อขายผลิตภัณฑ์นมระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาทางแพ่งหรือสัญญาทางปกครอง เห็นว่า องค์การบริหารส่วนตำบลโคกกะเทียม จำเลยเป็นราชการส่วนท้องถิ่น มีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มีอำนาจหน้าที่ในการพัฒนาตำบลทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ตามมาตรา ๖๖ แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ รวมทั้งมีหน้าที่ส่งเสริมการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม และส่งเสริมการพัฒนาสตรี เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ และผู้พิการ ตามมาตรา ๖๗ (๕) และ (๖) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน และโดยที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๓ บัญญัติว่า “สัญญาทางปกครอง หมายความรวมถึง สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค หรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ” สัญญาซื้อขายผลิตภัณฑ์นมฉบับพิพาทนี้จึงเป็นสัญญาที่มีจำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองเป็นคู่สัญญาฝ่ายหนึ่ง แต่สัญญาทางปกครองนั้นจะต้องมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค หรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ หรือเป็นสัญญาที่หน่วยงานทางปกครองให้โจทก์เข้าดำเนินการหรือเข้าร่วมดำเนินการบริการสาธารณะโดยตรงหรือเป็นสัญญาที่มีข้อกำหนดในสัญญาซึ่งมีลักษณะพิเศษที่แสดงถึงเอกสิทธิ์ของรัฐ ทั้งนี้เพื่อให้การดำเนินกิจการทางปกครองอันเป็นบริการสาธารณะบรรลุผล สำหรับสัญญาซื้อขายผลิตภัณฑ์นมฉบับพิพาท แม้จะมีจำเลยซึ่งมีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครองและเป็นคู่สัญญาฝ่ายผู้ซื้อโดยโจทก์ซึ่งเป็นคู่สัญญาฝ่ายผู้ขายจะต้องส่งมอบให้แก่โรงเรียนในสังกัดของจำเลยเพื่อให้เด็กนักเรียนได้ดื่ม อันเป็นหน้าที่ส่วนหนึ่งของจำเลยในการส่งเสริมการศึกษาและส่งเสริมการพัฒนาเด็ก ตามมาตรา ๖๗ (๕) และ (๖) แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบลพ.ศ. ๒๕๓๗ ก็ตาม แต่ไม่ปรากฏว่าผลิตภัณฑ์นมที่จำเลยซื้อจากโจทก์นั้นเป็นอุปกรณ์สำคัญที่จำเลยใช้ในการบริการสาธารณะ คงเป็นเพียงเครื่องมือส่วนหนึ่งในการให้บริการสาธารณะของจำเลย สัญญาซื้อขายผลิตภัณฑ์นมระหว่างจำเลยกับโจทก์จึงเป็นเพียงสัญญาจัดหาพัสดุธรรมดาที่สนับสนุนการจัดทำบริการสาธารณะเท่านั้น ทั้งสัญญาดังกล่าวก็ไม่มีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค หรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ หรือเป็นสัญญาที่หน่วยงานทางปกครองให้โจทก์เข้าดำเนินการหรือเข้าร่วมดำเนินการบริการสาธารณะโดยตรง หรือเป็นสัญญาที่มีข้อกำหนดในสัญญาซึ่งมีลักษณะพิเศษที่แสดงถึงเอกสิทธิ์ของรัฐ ทั้งนี้เพื่อให้การดำเนินกิจการทางปกครองอันเป็นบริการสาธารณะบรรลุผลแต่อย่างใด ดังนั้น สัญญาซื้อขายผลิตภัณฑ์นมฉบับพิพาทจึงมิใช่เป็นสัญญาทางปกครอง แต่เป็นสัญญาที่คู่สัญญาทำขึ้นโดยมุ่งผูกพันด้วยใจสมัครบนพื้นฐานแห่งความเท่าเทียมกัน อันเป็นสัญญาทางแพ่งที่มีหน่วยงานทางปกครองเป็นคู่สัญญาเท่านั้น ข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยและจำเลยร่วมในคดีนี้ จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แต่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดี ระหว่าง ห้างหุ้นส่วนจำกัดกลุ่มผู้เลี้ยงโคนมเขื่อนป่าสักโจทก์ องค์การบริหารส่วนตำบลโคกกะเทียม จำเลย นางพรรณนิภา แหยมทิพย์ จำเลยร่วม อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ปัญญา ถนอมรอด (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายปัญญา ถนอมรอด) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท สายัณห์ อรรถเกษม (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สายัณห์ อรรถเกษม) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

คมศิลล์ คัด/ทาน

Share