แหล่งที่มา : สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๓ บัญญัตินิยาม “สัญญาทางปกครอง” หมายความรวมถึง สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐและมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ องค์การคลังสินค้าโจทก์เป็นรัฐวิสาหกิจจัดตั้งขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การคลังสินค้า พ.ศ. ๒๔๙๘ ออกตามความในมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ เพื่อดำเนินกิจการอันเป็นสาธารณประโยชน์หรือเพื่อประโยชน์ในการเศรษฐกิจ หรือช่วยเหลือในการครองชีพหรืออำนวยบริการแก่ประชาชน มีวัตถุประสงค์ทำกิจการทั้งปวงเกี่ยวกับสินค้าเกษตรและสินค้าอุปโภคบริโภค รวมทั้งธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตร และสินค้าอุปโภคบริโภค โจทก์จึงเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ สัญญาซื้อขายกุ้งพิพาทจึงเป็นสัญญาที่มีคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง แต่เมื่อพิจารณาลักษณะและข้อกำหนดในสัญญา เป็นสัญญาที่โจทก์ตกลงขายกุ้งขาวแวนนาไมแช่แข็งชนิดหัว จำนวน ๔๘๙,๖๕๔.๗๐๐ กิโลกรัม เป็นเงิน ๖๘,๓๑๔,๘๒๐.๖๐ บาท ให้แก่จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นบริษัทมหาชนจำกัด ผู้ประกอบกิจการค้าขายแช่แข็งและแช่เย็น เพื่อจำหน่ายในประเทศและนำส่งออกต่างประเทศ แม้สัญญาซื้อขายดังกล่าวจะเป็นไปเพื่อระบายสินค้าที่โจทก์รับจำนำจากเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งตามโครงการแทรกแซงตลาดกุ้ง ปี ๒๕๔๘/๔๙ แต่ก็มิใช่สัญญารับจำนำกุ้งจากเกษตรกร อันจะถือเป็นมาตรการของรัฐในการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งโดยการพยุงราคากุ้งตามกลไกของตลาดปกติ แต่มีลักษณะเป็นสัญญาซื้อขายเพื่อการพาณิชย์และหวังผลกำไรในการประกอบธุรกิจเช่นเดียวกับสัญญาซื้อขายในทางแพ่งทั่วไป ทั้งข้อกำหนดของสัญญาดังกล่าวไม่มีลักษณะพิเศษที่แสดงถึงเอกสิทธิ์ของรัฐ อันจะแสดงให้เห็นว่าเป็นข้อแตกต่างจากสัญญาทางแพ่ง ประกอบกับสัญญาซื้อขายดังกล่าวไม่มีลักษณะเป็นสัญญาประเภทหนึ่งประเภทใดตามบทนิยามของสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ สัญญาซื้อขายกุ้ง ปี ๒๕๔๘/๔๙ ตามสัญญาเลขที่ คชก.กข. (ซข.) ๐๑/๒๕๔๙ จึงไม่ใช่สัญญาทางปกครอง ข้อพิพาทในคดีนี้จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ที่จะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน แต่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางแพ่งที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ส่วนสัญญาค้ำประกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๒ เป็นการค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายกุ้ง ปี ๒๕๔๘/๔๙ ตามสัญญาเลขที่ คชก.กข. (ซข.) ๐๑/๒๕๔๙ ซึ่งเป็นสัญญาหลัก เมื่อข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาหลักอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม ข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาค้ำประกันซึ่งเป็นสัญญาอุปกรณ์ จึงอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางแพ่งที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม