แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ป.พ.พ. มาตรา 1058 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เมื่อเหตุอันใดอันหนึ่งเกิดขึ้นเกี่ยวด้วยผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่ง ซึ่งตามความในมาตรา 1057 หรือมาตรา 1067 เป็นเหตุให้ผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหลายนอกนั้นมีสิทธิจะเรียกให้เลิกห้างหุ้นส่วนได้ไซร้ ในเมื่อผู้เป็นหุ้นส่วนเหล่านั้นยื่นคำร้อง ท่านว่าศาลจะสั่งให้กำจัดหุ้นส่วนผู้ต้นเหตุคนนั้นออกเสียจากห้างหุ้นส่วนแทนสั่งให้เลิกห้างหุ้นส่วนก็ได้” กับมาตรา 1057 บัญญัติว่า “ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดร้องขอเมื่อมีกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังจะกล่าวต่อไปนี้ ศาลอาจสั่งให้หุ้นส่วนสามัญเลิกกันเสียก็ได้คือ (1) เมื่อผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งนอกจากผู้ร้องฟ้องนั้น ล่วงละเมิดบทบังคับใด ๆ อันเป็นข้อสาระสำคัญซึ่งสัญญาหุ้นส่วนกำหนดไว้แก่ตน โดยจงใจหรือเลินเล่ออย่างร้ายแรง (2) เมื่อกิจการของห้างหุ้นส่วนนั้นจะทำไปก็มีแต่ขาดทุนอย่างเดียวและไม่มีหวังจะกลับฟื้นตัวได้อีก (3) เมื่อมีเหตุอื่นใด ๆ ทำให้ห้างหุ้นส่วนนั้นเหลือวิสัยที่จะดำรงคงอยู่ต่อไปได้” บทบัญญัติสองมาตราดังกล่าวนี้ชี้ชัดถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายมุ่งประสงค์ให้ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจว่าจะสั่งให้กำจัดผู้เป็นหุ้นส่วนแทนการให้เลิกห้าง จึงได้กำหนดในมาตรา 1058 วรรคหนึ่ง ให้ชัดแจ้งว่าศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจสั่งให้กำจัดผู้เป็นหุ้นส่วนแทนการเลิกห้างเพื่อคุ้มครองผู้เป็นหุ้นส่วนอันจะส่งผลก่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย โจทก์ทั้งหกบรรยายฟ้องระบุว่า จำเลยล่วงละเมิดบทบังคับใด ๆ อันเป็นข้อสาระสำคัญซึ่งเป็นสัญญาหุ้นส่วน ตามมาตรา 1057 (1) คือ จำเลยได้ยักยอกเงินของห้างหุ้นส่วนจำกัด ท. ไป และโจทก์ที่ 1 ได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลย ดังนี้ เมื่อการปรับใช้กฎหมายพึงต้องอนุวัตให้ต้องตามเจตนารมณ์ที่บัญญัติกฎหมายนั้นจึงไม่มีเหตุที่จะแปลกฎหมายในทางที่ไม่ให้อำนาจผู้เป็นหุ้นส่วนขอให้กำจัดผู้เป็นหุ้นส่วนอื่นที่เป็นเหตุให้เรียกให้เลิกห้างหุ้นส่วนแทนการขอให้เลิกห้างหุ้นส่วนแต่เพียงอย่างเดียว ผู้เป็นหุ้นส่วนจึงอาจมีคำขอให้กำจัดผู้เป็นหุ้นส่วนอื่นแทนการให้เลิกห้างหุ้นส่วนได้ ตามมาตรา 1058 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 1080 วรรคหนึ่ง
การที่หุ้นส่วนคนหนึ่งคนใดหรือหลายคนฟ้องขอให้หุ้นส่วนอื่นออกจากห้างหุ้นส่วนจำกัดเนื่องจากมีเหตุอันใดอันหนึ่งเกิดขึ้นเกี่ยวด้วยหุ้นส่วนอื่นนั้น อันเป็นเหตุให้หุ้นส่วนที่ไม่ได้กระทำผิดนั้นมีสิทธิฟ้องร้องต่อศาล กรณีจึงเป็นข้อพิพาทโดยตรงในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกันโจทก์ทั้งหกจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ หาใช่มีข้อพิพาทโต้แย้งสิทธิเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจำกัดซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างหากจากผู้เป็นหุ้นส่วนแต่อย่างใด และหากศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้หุ้นส่วนคนหนึ่งคนใดออกจากห้างแล้ว การดำเนินการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนก็สามารถดำเนินการได้โดยบุคคลที่เกี่ยวข้องนั้นยื่นสำเนาคำพิพากษาต่อนายทะเบียนเพื่อดำเนินการต่อไป
ย่อยาว
โจทก์ทั้งหกฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งกำจัดจำเลยออกจากการเป็นหุ้นส่วนของห้างหุ้นส่วนจำกัดทศพลสเตชั่นเนอรี่ (2000) แทนการสั่งเลิกห้างหุ้นส่วนและแต่งตั้งโจทก์ที่ 1 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดทศพล สเตชั่นเนอรี่ (2000)
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาคำฟ้องและคำให้การแล้ว เห็นว่า มีปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับอำนาจฟ้องที่สมควรหยิบยกขึ้นพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นก่อนดำเนินกระบวนพิจารณาคดีต่อไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 แล้ววินิจฉัยว่าคำฟ้องของโจทก์ทั้งหกไม่มีกฎหมายบัญญัติรับรองให้ใช้สิทธิกำจัดจำเลยออกจากการเป็นหุ้นส่วน โดยไม่ได้ขอให้เลิกห้างหุ้นส่วนได้ เป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบที่ศาลจะรับไว้พิจารณาพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งหกอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งหกในข้อกฎหมายว่า ผู้เป็นหุ้นส่วนมีอำนาจฟ้องขอให้กำจัดหุ้นส่วนอื่น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1058 วรรคหนึ่งหรือไม่ เห็นว่า มาตรา 1058 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เมื่อเหตุอันใดอันหนึ่งเกิดขึ้นเกี่ยวด้วยผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่ง ซึ่งตามความในมาตรา 1057 หรือมาตรา 1067 เป็นเหตุให้ผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหลายนอกนั้นมีสิทธิจะเรียกให้เลิกห้างหุ้นส่วนได้ไซร้ ในเมื่อผู้เป็นหุ้นส่วนเหล่านั้นยื่นคำร้อง ท่านว่าศาลจะสั่งให้กำจัดหุ้นส่วนผู้ต้นเหตุคนนั้นออกเสียจากห้างหุ้นส่วนแทนสั่งให้เลิกห้างหุ้นส่วนก็ได้” กับมาตรา 1057 บัญญัติว่า “ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดร้องขอเมื่อมีกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดั่งจะกล่าวต่อไปนี้ ศาลอาจสั่งให้หุ้นส่วนสามัญเลิกกันเสียก็ได้คือ (1) เมื่อผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งนอกจากผู้ร้องฟ้องนั้น ล่วงละเมิดบทบังคับใด ๆอันเป็นข้อสาระสำคัญซึ่งสัญญาหุ้นส่วนกำหนดไว้แก่ตน โดยจงใจหรือเลินเล่ออย่างร้ายแรง (2) เมื่อกิจการของห้างหุ้นส่วนนั้นจะทำไปก็มีแต่ขาดทุนอย่างเดียวและไม่มีหวังจะกลับฟื้นตัวได้อีก (3) เมื่อมีเหตุอื่นใด ๆ ทำให้ห้างหุ้นส่วนนั้นเหลือวิสัยที่จะดำรงคงอยู่ต่อไปได้”บทบัญญัติสองมาตราดังกล่าวนี้ชี้ชัดถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายมุ่งประสงค์ให้ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจว่าจะสั่งให้กำจัดผู้เป็นหุ้นส่วนแทนการให้เลิกห้าง จึงได้กำหนดในมาตรา 1058 วรรคหนึ่ง ให้ชัดแจ้งว่าศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจสั่งให้กำจัดผู้เป็นหุ้นส่วนแทนการเลิกห้างเพื่อคุ้มครองผู้เป็นหุ้นส่วนอันจะส่งผลก่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย สำหรับคดีนี้โจทก์ทั้งหกได้บรรยายฟ้องระบุว่า จำเลยได้ล่วงละเมิดบทบังคับใด ๆ อันเป็นข้อสาระสำคัญซึ่งเป็นสัญญาหุ้นส่วน ตามมาตรา 1057 (1) คือ จำเลยได้ยักยอกเงินของห้างหุ้นส่วนจำกัดทศพลสเตชั่นเนอรี่ (2000) ไป 6,641,309.32 บาท และโจทก์ที่ 1 ได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลย ดังนี้ เมื่อการปรับใช้กฎหมายพึงต้องอนุวัตให้ต้องตามเจตนารมณ์ที่บัญญัติกฎหมายนั้นตามที่ได้วินิจฉัยมาแล้วในเบื้องต้น จึงไม่มีเหตุที่จะแปลกฎหมายในทางที่ไม่ให้อำนาจผู้เป็นหุ้นส่วนขอให้กำจัดผู้เป็นหุ้นส่วนอื่นที่เป็นเหตุให้เรียกให้เลิกห้างหุ้นส่วนแทนการขอให้เลิกห้างหุ้นส่วนแต่เพียงอย่างเดียว ผู้เป็นหุ้นส่วนจึงอาจมีคำขอให้กำจัดผู้เป็นหุ้นส่วนอื่นแทนการให้เลิกห้างหุ้นส่วนได้ ตามมาตรา 1058 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 1080 วรรคหนึ่ง และการที่หุ้นส่วนคนหนึ่งคนใดหรือหลายคนฟ้องขอให้หุ้นส่วนอื่นออกจากห้างหุ้นส่วนจำกัดเนื่องจากมีเหตุอันใดอันหนึ่งเกิดขึ้นเกี่ยวด้วย หุ้นส่วนอื่นนั้น อันเป็นเหตุให้หุ้นส่วนที่ไม่ได้กระทำผิดนั้นมีสิทธิฟ้องร้องต่อศาลเช่นนี้ กรณีจึงเป็นข้อพิพาทโดยตรงในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกันโจทก์ทั้งหกจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ หาใช่มีข้อพิพาทโต้แย้งสิทธิเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจำกัดซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างหากจากผู้เป็นหุ้นส่วนแต่อย่างใด และหากศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้หุ้นส่วนคนหนึ่งคนใดออกจากห้างแล้ว การดำเนินการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนก็สามารถดำเนินการได้โดยบุคคลที่เกี่ยวข้องนั้นยื่นสำเนาคำพิพากษาต่อนายทะเบียนเพื่อดำเนินการต่อไป ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งหกมานั้น จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษากลับ ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาพิพากษาต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่