คำวินิจฉัยที่ 21/2547

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒๑/๒๕๔๗

วันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๔๗

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลจังหวัดพัทยา

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามมาตรา ๑๐ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งเป็นกรณีศาลที่รับฟ้องคดีเห็นว่าคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจและศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
ศาลปกครองกลางได้รับคำฟ้องคดีหมายเลขดำที่ ๖๑๒/๒๕๔๔ ระหว่าง นายไพบูลย์ ศิริมาก โดยนางตุ๊กตา ศิริมาก ผู้ฟ้องคดี นายอำเภอบางละมุง ผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งโอนมาจากคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ ตามมาตรา ๑๐๓ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ความว่า บิดามารดาของผู้ฟ้องคดีได้ครอบครองที่ดินตาม ส.ค. ๑ เลขที่ ๑๙๑ตำบลห้วยใหญ่ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๕ และเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๖ ได้ยกที่ดินส่วนหนึ่งของที่ดินดังกล่าว จำนวน ๑๙ ไร่เศษ ให้แก่ผู้ฟ้องคดีและภรรยาของผู้ฟ้องคดี โดยผู้ฟ้องคดีและภรรยาได้ครอบครองทำประโยชน์ตลอดมา ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๔๐ ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นขอออกโฉนดที่ดินต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาบางละมุง ระหว่างมีการออกประกาศเพื่อออกโฉนดตามที่กฎหมายกำหนด ผู้ถูกฟ้องคดี เจ้าหน้าที่บริหารงานที่ดิน อำเภอบางละมุง (นายจงกล มาบรรยงค์) และผู้ใหญ่บ้านได้คัดค้านการออกโฉนดดังกล่าว โดยกล่าวอ้างว่าเป็นที่สาธารณประโยชน์ ซึ่งผู้ฟ้องคดีเห็นว่าที่ดินสาธารณประโยชน์ดังกล่าวกับที่ดินของผู้ฟ้องคดีมิใช่แปลงเดียวกัน อีกทั้งเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาบางละมุง และคณะกรรมการแก้ปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐส่วนจังหวัดชลบุรีได้เคยตรวจสอบที่ดินแปลงพิพาทแล้ว เห็นว่ามิใช่เป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ยอมถอนคำคัดค้านการออกโฉนดดังกล่าว ทำให้ผู้ฟ้องคดีไม่ได้รับโฉนดที่ดิน จึงขอให้ห้ามมิให้ผู้ถูกฟ้องคดีคัดค้านการออกโฉนดที่ดินของผู้ฟ้องคดี
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้มีปัญหาที่จะต้องพิจารณาสองประเด็นประเด็นแรก คือการคัดค้านการขอออกโฉนดที่ดินของผู้ฟ้องคดี เป็นการกระทำที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองหรือไม่ ซึ่งเห็นว่าการคัดค้านการออกโฉนดที่ดินมิใช่เป็นการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใด เนื่องจากกระทำการโดยไม่มีอำนาจ หรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่ หรือไม่ถูกต้อง ตามกฎหมาย กรณีจึงมิต้องด้วยมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ประกอบกับ ศาลปกครองไม่มีอำนาจสั่งห้ามการคัดค้านการออกโฉนดที่ดินพิพาท ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกันได้ ดังนั้นศาลยุติธรรมจึงเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาในประเด็นนี้
ประเด็นที่สอง การคัดค้านการขอออกโฉนดที่ดินของผู้ฟ้องคดีเป็นการโต้แย้งสิทธิในที่ดินหรือไม่ ซึ่งศาลปกครองกลางเห็นว่า การที่จะพิจารณาการออกโฉนดที่ดินให้กับผู้ฟ้องคดีได้หรือไม่นั้นศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีตามที่ได้กล่าวอ้าง หรือเป็นที่สาธารณประโยชน์ตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีคัดค้าน ซึ่งการพิจารณาสิทธิในที่ดินพิพาทระหว่างคู่กรณีศาลจำต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และประมวลกฎหมายที่ดินประกอบกัน จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ทั้งนี้ตามนัยคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๒๘/๒๕๔๕
ศาลจังหวัดพัทยาพิจารณาแล้วเห็นว่า ประเด็นแห่งคดีที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่าได้ครอบครองที่ดินต่อจากบิดา มาตั้งแต่ ปี ๒๔๙๖ ตลอดมา เมื่อผู้ฟ้องคดีได้ยื่นขอออกโฉนดที่ดิน ในระหว่าง มีการออกประกาศเพื่อออกโฉนดตามที่กฎหมายกำหนดนั้น ผู้ถูกฟ้องคดี เจ้าหน้าที่บริหารงานที่ดิน อำเภอบางละมุง (นายจงกล มาบรรยงค์) และผู้ใหญ่บ้านได้คัดค้าน โดยอ้างว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่สาธารณประโยชน์ จึงมีประเด็นว่าที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีขอออกโฉนดนั้นเป็นที่สาธารณประโยชน์หรือไม่ กรณีจึงเป็นการโต้แย้งสิทธิอันเกี่ยวด้วยการก่อตั้งทรัพยสิทธิ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๔ทรัพย์สิน มาตรา ๑๒๘๙ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
สำหรับประเด็นที่ผู้ฟ้องคดีมีคำขอให้ห้ามผู้ถูกฟ้องคดีคัดค้านการขอออกโฉนดที่ดินนั้นศาลจังหวัดพัทยาเห็นว่า เป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ประเด็นตามคำขอในส่วนนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒

คำวินิจฉัย
คดีนี้ ทั้งสองศาลมีความเห็นสอดคล้องกันในประเด็นแห่งคดีที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่าได้ครอบครองที่ดินต่อมาจากบิดาตั้งแต่ปี ๒๔๙๖ ตลอดมา เมื่อผู้ฟ้องคดีได้ยื่นขอออกโฉนดที่ดินระหว่าง มีการออกประกาศเพื่อออกโฉนดตามที่กฎหมายกำหนดนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีคัดค้านโดยอ้างว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่สาธารณประโยชน์ จึงเป็นประเด็นพิพาทว่าที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีขอออกโฉนดนั้นเป็นที่สาธารณประโยชน์หรือไม่ กรณีเป็นการโต้แย้งสิทธิอันเกี่ยวด้วยการก่อตั้งทรัพยสิทธิ อันเป็นคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ศาลทั้งสองมีความเห็นแย้งเฉพาะประเด็นที่ผู้ฟ้องคดีมีคำขอให้ห้ามมิให้ผู้ถูกฟ้องคดีคัดค้านการขอออกโฉนดที่ดินว่าอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
ปัญหาที่จะต้องพิจารณา คือการขอให้ห้ามมิให้ผู้ถูกฟ้องคดีคัดค้านการออกโฉนดที่ดินของผู้ฟ้องคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครองการที่ผู้ฟ้องคดีมีคำขอให้ห้ามมิให้ผู้ถูกฟ้องคดีคัดค้านการออกโฉนดที่ดินแปลงพิพาทนั้น เป็นกรณีโต้แย้งว่าการใช้อำนาจคัดค้านของผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งการพิจารณาประเด็นดังกล่าวนั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินแปลงพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีหรือเป็นที่สาธารณประโยชน์ซึ่งประเด็นนี้ทั้งสองศาลมีความเห็นสอดคล้องกันมาแต่ต้นว่าอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ดังนั้น คดีนี้ทั้งคดีจึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินของบุคคล อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม มิใช่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยมิชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๒) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีฟ้องขอให้ห้ามมิให้ผู้ถูกฟ้องคดีคัดค้านการออกโฉนดที่ดินของผู้ฟ้องคดี ระหว่าง นายไพบูลย์ ศิริมาก โดยนางตุ๊กตา ศิริมาก ผู้ฟ้องคดี นายอำเภอบางละมุงผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ซึ่งในคดีนี้ได้แก่ ศาลจังหวัดพัทยา

(ลงชื่อ) อรรถนิติ ดิษฐอำนาจ (ลงชื่อ) เฉลิมชัย เกษมสันต์
(นายอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ) (หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท อัฏฐพร เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(อัฏฐพร เจริญพานิช) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share