คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2216/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์นำส่งภาพถ่ายสำเนาหนังสือมอบอำนาจเป็นพยานเอกสารต่อศาล จำเลยที่ 2 ไม่ได้คัดค้านหรือนำสืบโต้แย้งว่าโจทท์มิได้ส่งต้นฉบับหนังสือมอบอำนาจและนำสำเนาหนังสือมอบอำนาจมาสืบแต่อย่างใด จึงเท่ากับว่าคู่ความที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายตกลงกันว่าสำเนาเอกสารนั้นถูกต้องแล้ว จึงให้ศาลยอมรับฟังสำเนาเช่นว่านั้นเป็นพยานหลักฐานได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 93 (1) สำเนาหนังสือมอบอำนาจจึงรับฟังเป็นพยานเอกสารได้ เมื่อเป็นการรับฟังสำเนาเอกสารเป็นพยานหลักฐานแทนต้นฉบับเอกสาร จึงหาใช่เป็นการรับฟังต้นฉบับเอกสารเป็นพยานหลักฐานอันจะต้องปิดอากรแสตมป์ไม่ และสำเนาหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวก็มิใช่คู่ฉบับหรือคู่ฉีกแห่งตราสารไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องปิดอากรแสตมป์ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2547 จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน กข 2102 สมุทรสาคร ไปจากโจทก์ในราคา 586,627.50 บาท โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาและไม่ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อแก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา 529,765.88 บาท และค่าขาดประโยชน์นับแต่วันผิดนัดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 30,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15.75 ต่อปี ของต้นเงิน 559,765.88 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป และให้ชำระค่าขาดประโยชน์อีกเดือนละ 5,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะส่งมอบรถคืนหรือใช้ราคารถแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา 415,667 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 5.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้ใช้ค่าเสียหาย 12,000 บาท และค่าเสียหายเดือนละ 2,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะส่งมอบรถคืนแก่โจทก์แต่ไม่เกิน 6 เดือน กับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 เพียงประเด็นเดียวว่า สำเนาหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์ใช้รับฟังเป็นพยานหลักฐานได้หรือไม่ โดยจำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ในวันนัดพิจารณาสืบพยานโจทก์และจำเลยเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2548 ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เข้าเบิกความและอ้างหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดี ฉบับลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2547 โดยได้นำต้นฉบับหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวให้ศาลชั้นต้นที่พิจารณาดูพร้อมกับขอส่งสำเนาเอกสารแทนต้นฉบับ ศาลได้ตรวจสอบและให้ทนายจำเลยทั้งสองตรวจสอบแล้ว เห็นว่าต้นฉบับและสำเนาเอกสารที่อ้างส่งศาลตรงกันจึงรับนำเสาเอกสารแทนต้นฉบับเป็นเอกสารหมาย จ.2 ซึ่งไม่มีการติดอากรแสตมป์ จึงรับฟังไม่ได้นั้น เห็นว่า คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์นำสืบส่งภาพถ่ายสำเนาหนังสือมอบอำนาจเป็นพยานเอกสารหมาย จ.2 ต่อศาล จำเลยที่ 2 ไม่ได้คัดค้านหรือนำสืบโต้แย้งว่าโจทก์มิได้ส่งต้นฉบับหนังสือมอบอำนาจและนำสำเนาหนังสือมอบอำนาจมาสืบแต่อย่างใด จึงเท่ากับว่าคู่ความที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายตกลงกันว่าสำเนาเอกสารนั้นถูกต้องแล้ว จึงให้ศาลยอมรับฟังสำเนาเช่นว่านั้นเป็นพยานหลักฐานได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93 (1) สำเนาหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 จึงรับฟังเป็นพยานเอกสารได้ เมื่อปรากฏว่าเป็นการรับฟังสำเนาเอกสารเป็นพยานหลักฐานแทนต้นฉบับเอกสารจึงหาใช่เป็นการรับฟังต้นฉบับเอกสารเป็นพยานหลักฐานอันจะต้องปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากรดังที่จำเลยที่ 2 อ้างไม่ และสำเนาหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวก็มิใช่คู่ฉบับหรือคู่ฉีกแห่งตราสาร ไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องปิดอากรแสตมป์ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยังปรากฏว่าโจทก์ได้แนบสำเนาหนังสือมอบอำนาจฉบับเดียวกันนี้มาท้ายฟ้องอีกฉบับหนึ่งคือเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 มีภาพถ่ายอากรแสตมป์อยู่ที่ด้านหลังของเอกสารแผ่นแรก แสดงว่าต้นฉบับหนังสือมอบอำนาจฉบับนี้ได้มีการปิดอากรแสตมป์ไว้เรียบร้อยแล้ว สำเนาหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 จึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ไม่ต้องห้ามตามประมวลรัษฎากรแต่อย่างใด ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share