คำวินิจฉัยที่ 20/2547

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒๐/๒๕๔๗

วันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๔๗

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) และมาตรา ๓

ศาลแพ่ง
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแพ่งโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามมาตรา ๑๒ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งเป็นกรณีที่ศาลหนึ่งไม่รับฟ้อง เพราะเห็นว่าคดีอยู่ในอำนาจของอีกศาลหนึ่ง เมื่อมีการฟ้องคดีต่ออีกศาลหนึ่งแล้ว ศาลดังกล่าวเห็นว่าคดีนั้นไม่อยู่ในอำนาจเช่นกัน

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๔๔ นางศรียงค์ วิมลสรกิจ ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายอาวุธ วิมลสรกิจ ที่ ๑ พลโท สมศักดิ์ เผ่านาค ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางวิศิษฐ์ เผ่านาคที่ ๒ โจทก์ ยื่นฟ้องกรุงเทพมหานคร จำเลย ต่อศาลแพ่ง เป็นคดีหมายเลขแดงที่ ๘๓๗๙/๒๕๔๔ความว่า โจทก์ทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกของนายอาวุธ และนางวิศิษฐ์ ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๘๕๔ ตำบลทวีวัฒนา (บางพรม) อำเภอตลิ่งชัน (ทวีวัฒนา) กรุงเทพมหานครเนื้อที่ ๑๖ ไร่ ๓ งาน ๒ ตารางวา เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๕๓๙ จำเลยต้องการที่ดินบริเวณดังกล่าวจำนวน ๙ ไร่ ๓ งาน ๖๐ ตารางวา เพื่อสร้างเป็นถนนพุทธมณฑลสาย ๓ แต่เนื่องจากพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนหมดอายุ ทำให้จำเลยไม่สามารถเวนคืนที่ดินตามพระราชกฤษฎีกาได้ จึงทำความตกลงกับโจทก์ทั้งสองให้จดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวให้เป็นถนนพุทธมณฑลสาย ๓ โดยจำเลยจะจ่ายค่าตอบแทนให้ตารางวาละ ๑๓,๗๕๐ บาท คิดเป็นเงินทั้งสิ้น ๕๔,๔๕๐,๐๐๐ บาท ต่อมา โจทก์ทั้งสองดำเนินการจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินตามข้อตกลงแต่จำเลยจ่ายเงินค่าตอบแทนให้ไม่ครบจำนวนที่ตกลงไว้ นอกจากนี้ จำเลยยังไม่ดำเนินการจ่ายค่าตอบแทนจากการที่ได้ตัดถนนสาธารณะผ่านทางตอนใต้ของที่ดินแปลงดังกล่าว (โฉนดเลขที่๔๘๕๔ ในส่วนที่ไม่ได้แบ่งแยกให้เป็นถนนพุทธมณฑลสาย ๓)คิดเป็นเนื้อที่ ๐-๒-๑.๖ ไร่ ซึ่งสำนักโยธาได้แจ้งให้จำเลยจ่ายเงินค่าตอบแทนให้แก่โจทก์ทั้งสองตามราคาที่ดินปัจจุบันเป็นเงิน๒,๗๗๒,๐๐๐ บาท โจทก์ทั้งสองติดตามทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ทั้งสองจำนวนดังกล่าวตลอดมาแต่จำเลยอ้างว่าอยู่ระหว่างดำเนินการ จึงขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน๔๓,๖๐๙,๕๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้ชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนด้วย
ศาลแพ่งมีคำสั่งไม่รับฟ้องและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ เนื่องจากตามคำฟ้องเป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลย ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองซึ่งกระทำการแทนรัฐ อันมีลักษณะเป็นการจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคชำระเงินตามสัญญาที่โจทก์ทั้งสองได้โอนที่ดินให้เป็นถนนพุทธมณฑลสาย ๓ สัญญาระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยจึงเป็นสัญญาทางปกครอง เมื่อมีข้อพิพาทเกิดขึ้นเกี่ยวกับสัญญาดังกล่าวจึงต้องเสนอคดีต่อศาลปกครอง ศาลยุติธรรมไม่มีอำนาจที่จะรับคดีไว้พิจารณาพิพากษาได้ โจทก์ทั้งสองจึงอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฟ้องของศาลแพ่งต่อศาลอุทธรณ์ โดยเห็นว่า ข้อตกลงดังกล่าวเป็นสัญญาทางแพ่ง มิใช่สัญญาทางปกครองคดีจึงอยู่ในอำนาจศาลยุติธรรม ประกอบกับโจทก์ทั้งสองได้เคยฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครองกลางแล้วแต่ศาลปกครองกลางไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา โดยวินิจฉัยว่าข้อตกลงระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยเป็นสัญญาทางแพ่ง มิใช่สัญญาทางปกครองตามนัยมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ต่อมา ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้ยกคำสั่งของศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยตามมาตรา ๑๒ วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ ศาลแพ่งโดยสำนักงานศาลยุติธรรมจึงส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒มาตรา ๑๒ วรรคสอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่จะต้องพิจารณา คือ คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินซึ่งจะถูกเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนฯ เป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองหรือไม่
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้สืบเนื่องมาจากจำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอยานนาวา อำเภอพระโขนง จังหวัดพระนคร อำเภอบางขุนเทียน อำเภอธนบุรีอำเภอบางกอกน้อย อำเภอตลิ่งชัน อำเภอภาษีเจริญ กิ่งอำเภอหนองแขม จังหวัดธนบุรีอำเภอบางกรวย อำเภอบางใหญ่ อำเภอบางบัวทอง อำเภอเมืองนนทบุรี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร อำเภอสามพราน และอำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม พ.ศ. ๒๔๙๗ กับเจ้าของที่ดิน ซึ่งตามพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้กำหนดให้จำเลยเป็นเจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินการเวนคืนที่ดินและเวนคืนที่ดินพิพาทเพื่อก่อสร้างถนนพุทธมณฑล สาย ๓ ในการทำสัญญาจำเลยต้องปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี ปี๒๕๐๐ (หนังสือที่นว. ๑๕๕/๒๕๐๐) กล่าวคือ จำเลยจะต้องปรึกษาตกลงกับเจ้าของที่ดินเสียก่อนหากตกลงซื้อขายกันได้ก็ไม่ต้องออกพระราชบัญญัติเวนคืน แต่หากตกลงกันไม่ได้และทางราชการจำเป็นต้องใช้ที่ดินนั้นก็ให้ออกพระราชบัญญัติเวนคืน พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๓ และมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองซึ่งสัญญาทางปกครองมีความหมายรวมถึงสัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐและมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะหรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ จำเลยเป็นคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งและมีฐานะเป็นหน่วยราชการบริหารส่วนท้องถิ่น ทั้งเป็นเจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินการเวนคืน ในการตกลงทำสัญญาพิพาท หากเจ้าของที่ดินพิพาทไม่ยินยอมขาย ทางราชการก็จะดำเนินการออกพระราชบัญญัติเวนคืนที่ดินพิพาทต่อไป จึงเป็นกรณีที่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองและเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ โดยใช้อำนาจทางปกครองบังคับซื้อที่ดินจากเอกชน ทั้งการเวนคืนที่ดินพิพาทก็เพื่อใช้ในการก่อสร้างถนนซึ่งเป็นสาธารณูปโภคที่ประชาชนเป็นผู้ใช้และได้รับประโยชน์โดยตรง อันมีลักษณะเป็นการจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทนี้ จึงเป็นสัญญาทางปกครอง
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินซึ่งจะถูกเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอยานนาวา อำเภอพระโขนงจังหวัดพระนคร อำเภอบางขุนเทียน อำเภอธนบุรี อำเภอบางกอกน้อย อำเภอตลิ่งชัน อำเภอภาษีเจริญ กิ่งอำเภอหนองแขม จังหวัดธนบุรี อำเภอบางกรวย อำเภอบางใหญ่ อำเภอบางบัวทองอำเภอเมืองนนทบุรี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร อำเภอสามพรานและอำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม พ.ศ.๒๔๙๗ ระหว่างนางศรียงค์ วิมลสรกิจ ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายอาวุธ วิมลสรกิจ ที่ ๑ พลโทสมศักดิ์ เผ่านาค ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางวิศิษฐ์ เผ่านาค ที่ ๒ โจทก์ กับกรุงเทพมหานครจำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ซึ่งในคดีนี้ได้แก่ ศาลปกครองกลาง

(ลงชื่อ) อรรถนิติ ดิษฐอำนาจ (ลงชื่อ) เฉลิมชัย เกษมสันต์
(นายอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ) (หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท อัฏฐพร เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(อัฏฐพร เจริญพานิช) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share