คำวินิจฉัยที่ 21/2545

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒๑/๒๕๔๕

วันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๔๕

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๒)

ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลแขวงพระโขนง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาล

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๔๔ บริษัทเสรีชัยยุทธภัณฑ์ จำกัด ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องกรมศุลกากร ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลาง ความว่า ผู้ฟ้องคดี ได้ประมูลซื้อน้ำมันเตาของกลางจากการขายทอดตลาดของผู้ถูกฟ้องคดี จำนวน ๒๗,๐๐๐ ลิตร ซึ่งแยกเก็บบรรจุไว้สองแห่ง คือ บรรจุอยู่ในรถยนต์บรรทุก จำนวน ๑๒,๐๐๐ ลิตร และบรรจุอยู่ในเรือเหล็กชื่อ “วิกรม” จำนวน ๑๕,๐๐๐ ลิตร เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น ๑๓๕,๐๐๐ บาท โดยผู้ฟ้องคดีได้ชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีครบถ้วนแล้วเมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๔๔ ต่อมา ผู้ฟ้องคดีได้รับมอบน้ำมันเตาที่บรรจุอยู่ในรถยนต์บรรทุกจำนวน ๑๒,๐๐๐ ลิตรเรียบร้อยแล้ว ส่วนน้ำมันเตาที่เหลือจำนวน ๑๕,๐๐๐ ลิตร ซึ่งบรรจุอยู่ในเรือ “วิกรม” ผู้ฟ้องคดีได้ติดต่อขอรับมอบจากผู้ถูกฟ้องคดีมาโดยตลอด แต่ผู้ถูกฟ้องคดีไม่สามารถส่งมอบได้เนื่องจากเรืออยู่ในสภาพชำรุดผุกร่อนมาก และเรือได้จมลงเมื่อวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ ผู้ฟ้องคดีจึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญาซื้อขายน้ำมันเตา ดังกล่าว กับขอรับเงินจำนวน ๗๕,๐๐๐ บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปีคืนจากผู้ถูกฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดียื่นคำให้การและยื่นคำร้องว่าคดีมิได้อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองกลาง แต่อยู่ในเขตอำนาจของศาลแพ่ง ศาลปกครองกลางเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีมิเคยได้โต้แย้งสิทธิหรือปฏิเสธสิทธิของผู้ฟ้องคดีตามสัญญาซื้อขายภายใต้หลักกฎหมายแพ่ง แต่อย่างใด รวมทั้งผู้ฟ้องคดีมิเคยได้รับแจ้งเหตุใดๆ ของการไม่คืนเงินหรือความล่าช้านั้นอย่างเป็นทางการอันเป็นกรณีของการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทั่วไปของผู้ถูกฟ้องคดี และหากผู้ถูกฟ้องคดีประสงค์จะโต้แย้งสิทธิของผู้ฟ้องคดีตามสัญญาซื้อขาย ผู้ถูกฟ้องคดีก็สมควรกระทำโดยการมีหนังสือแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทราบ เพราะฉะนั้น เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ จึงเกิดจากการที่ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีละเลยหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควรตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๒) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองกลาง
ศาลแขวงพระโขนงเห็นว่า คดีนี้แม้ผู้ถูกฟ้องคดีจะเป็นหน่วยงานของรัฐ แต่ตามคำฟ้อง ของผู้ฟ้องคดีได้แสดงโดยแจ้งชัดถึงเหตุแห่งการฟ้องว่า เป็นเรื่องสืบเนื่องจากการผิดสัญญาซื้อขายน้ำมันเตา เพราะผู้ถูกฟ้องคดีไม่สามารถส่งมอบน้ำมันเตาที่ขาดหายไปจำนวน ๑๕,๐๐๐ ลิตร ให้แก่ ผู้ฟ้องคดีได้ ผู้ฟ้องคดีจึงขอให้ชำระเงินคืนจำนวน ๗๕,๐๐๐ บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี จนกว่าจะชำระเสร็จ แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่าผู้ถูกฟ้องคดีละเลยหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร อันถือเป็นการเพิกเฉยปฏิเสธไม่ชำระหนี้ซึ่งเป็นกรณีลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ธรรมดา อันเป็นการผิดสัญญาทางแพ่ง ซึ่งต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยซื้อขายและว่าด้วยหนี้ คดีนี้จึงอยู่ในเขตอำนาจของศาลแขวงพระโขนง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คือ คดีพิพาทเกี่ยวกับการขายทอดตลาดทรัพย์ของกลางของกรมศุลกากร อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๗๖ ประกอบกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๒) บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีที่มีการฟ้องว่า หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
คดีนี้ เอกชนผู้ฟ้องคดีประมูลซื้อน้ำมันเตาทรัพย์ของกลาง จำนวน ๒๗,๐๐๐ ลิตร จากการขายทอดตลาดของกรมศุลกากร ผู้ถูกฟ้องคดี และได้ชำระเงินครบถ้วนแล้ว แต่ผู้ถูกฟ้องคดีสามารถส่งมอบน้ำมันเตาให้แก่ผู้ฟ้องคดีได้เพียงบางส่วนเท่านั้น ผู้ฟ้องคดีจึงติดต่อขอรับเงินค่าน้ำมันเตาในส่วนที่ขาดคืนจากผู้ถูกฟ้องคดีและบอกเลิกสัญญา ดังนั้น ผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีจึงมีนิติสัมพันธ์กัน อันเนื่องมาจากการขายทอดตลาดทรัพย์ของกลาง การดำเนินการจัดการขายทอดตลาดทรัพย์ของกลางของ ผู้ถูกฟ้องคดีนั้น เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งเป็นการที่ผู้ซื้อและผู้ขายอยู่ในฐานะที่เท่าเทียมกัน การที่ผู้ถูกฟ้องคดีจะขายทรัพย์ของกลางให้แก่เอกชนผู้ใดนั้น โดยปกติทั่วไปแล้วจะต้องขายให้แก่ผู้สู้ราคาสูงสุด อันเป็นความผูกพันกันตามปกติระหว่างเอกชนกับเอกชน กรมศุลกากรมิได้อยู่ในฐานะที่เหนือกว่าเอกชนผู้ฟ้องคดีนี้แต่อย่างใด นอกจากนี้ ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช ๒๔๖๙ มาตรา ๑๑๒ เบญจ เพียงกำหนดให้อำนาจอธิบดีกรมศุลกากรที่จะนำของซึ่งกักไว้โดยมิได้ชำระอากรให้ถูกต้องออกขายทอดตลาดได้เท่านั้น แต่ไม่มีบทบัญญัติให้อำนาจเจ้าหน้าที่ของรัฐเกี่ยวกับการดำเนินการขายทอดตลาดไว้เป็นพิเศษ นอกเหนือหรือแตกต่างไปจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คงมีเพียงมาตรา ๓ เท่านั้นที่ให้อำนาจอธิบดีกรมศุลกากรออกข้อบังคับตามที่เห็นจำเป็น และแม้อธิบดีกรมศุลกากรจะได้ออกข้อบังคับเกี่ยวกับการขายของกลางไว้แล้วก็ตาม แต่หามีแนวปฏิบัติหรือรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ไม่ กรณีจึงมีข้ออ้างเพียงว่าผู้ถูกฟ้องคดีกระทำผิดสัญญาซื้อขาย ซึ่งผู้ฟ้องคดีบอกเลิกสัญญาแล้ว ดังนั้นสิทธิหน้าที่ของผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีจึงต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยการซื้อขายและว่าด้วยหนี้ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีได้รับหนังสือทวงถามแล้วไม่มีการตอบรับหรือยืนยันว่าจะชำระหนี้ให้ตามที่ทวงถามซึ่งอาจถือได้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามนั้น แต่กลับเพิกเฉยโดยมิได้แจ้งเหตุผลใดๆ ให้ผู้ฟ้องคดีทราบ จึงเป็นเรื่องปกติธรรมดาของบุคคลที่มีข้อโต้แย้งสิทธิตามสัญญาทางแพ่งกัน คดีนี้จึงมิใช่คดีที่ฟ้องว่า หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร อันอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีพิพาทเกี่ยวกับการขายทอดตลาดทรัพย์ของกลางของกรมศุลกากร ระหว่าง บริษัท เสรียุทธภัณฑ์ จำกัด ผู้ฟ้องคดี และ กรมศุลกากร ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ซึ่งในคดีนี้ได้แก่ ศาลแขวงพระโขนง

นายสันติ ทักราล หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

นายอักขราทร จุฬารัตน นายโภคิน พลกุล
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

พลโท สมัยรบ สุทธิวาทนฤพุฒิ พลโท อาชวัน อินทรเกสร
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

นายพรชัย รัศมีแพทย์
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share