แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒๐/๒๕๔๕
วันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๔๕
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) ประกอบกับพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙
ศาลแพ่ง
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแพ่งส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามมาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งเป็นกรณีที่คู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจของศาลที่รับฟ้อง และศาลที่ส่งความเห็นมีความเห็นว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของตน แต่ศาลที่รับความเห็นมีความเห็นว่า คดีนั้นอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของตนเช่นกัน ศาลผู้ส่งความเห็นจึงได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาด
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๔๔ สำนักงานปลัดทบวงมหาวิทยาลัยโดยรองศาสตราจารย์ วันชัย ศิริชนะ ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย ได้ยื่นฟ้องนายสุชาติ เมืองแก้ว ที่ ๑ และศาสตราจารย์เกษม
วัฒนชัย ที่ ๒ เป็นจำเลย ต่อศาลแพ่ง อ้างว่า ในขณะที่จำเลยที่ ๑ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนอุดมศึกษา และจำเลยที่ ๒ ดำรงตำแหน่งปลัดทบวงมหาวิทยาลัย มีหน้าที่ควบคุมดูแลการเก็บรักษาเงินและการเบิกจ่ายเงินในโครงการวิจัยเกี่ยวกับโรคเอดส์ของทบวงมหาวิทยาลัยได้ปล่อยปละละเลยไม่ควบคุมผู้ใต้บังคับบัญชา เป็นช่องทางให้นายทวีศักดิ์ บัวพนัส กับพวก กระทำการทุจริตปลอมใบถอนเงินและยักยอกเงินของโจทก์ไปจำนวน ๑๗,๔๑๗,๐๒๐ บาท ซึ่งโจทก์สามารถติดตามเงินคืนมาได้บางส่วนคงขาดอีก ๑๐,๑๔๖,๕๘๐ บาท ซึ่งจำเลยทั้งสองต้องร่วมรับผิดชอบใช้คืนโจทก์รวมต้นเงินและดอกเบี้ยจำนวน ๑๐,๗๙๐,๘๑๘.๓๓ บาท ต่อมาจำเลยทั้งสองให้การโต้แย้งว่า จำเลยทั้งสองเห็นว่า คดีนี้เป็นคดีที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองกลาง เนื่องจากมูลคดีในการฟ้องคดีนี้เกิดจากการที่กระทรวงการคลังมีคำสั่งให้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองในเรื่องความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๑๐ ทำให้จำเลยทั้งสองถูกกระทบกระเทือนสิทธิหรืออาจถูกกระทบกระเทือนสิทธิโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ จำเลยทั้งสองมีสิทธิที่จะดำเนินคดีโจทก์ต่อศาลปกครองกลางได้ และจำเลยทั้งสองได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลางและศาลปกครองกลางได้รับเรื่องไว้พิจารณาแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลแพ่งและขอให้ศาลแพ่งรอการพิจารณาคดีนี้ไว้และทำความเห็นส่งให้ศาลปกครองกลางตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลแพ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องโดยอาศัยนิติเหตุทางกฎหมายแพ่งเรื่องละเมิดเป็นฐานแห่งสิทธิโดยอ้างในคำฟ้องสรุปโดยย่อว่า จำเลยทั้งสองปฏิบัติหน้าที่ประมาทเลินเล่อ ไม่ควบคุมดูแลการเบิกจ่ายเงินตามระเบียบของราชการทำให้มีการปลอมใบถอนเงินไปเรียกเก็บเงินโดย ไม่ชอบแม้จำเลยทั้งสองจะอ้างว่ากระทรวงการคลังได้พิจารณาแล้วเห็นว่าจำเลยต้องร่วมรับผิดชดใช้เงินให้โจทก์จึงเป็นคำสั่งทางปกครอง แต่คำสั่งดังกล่าวมิใช่มูลเหตุแห่งคดีนี้ เพราะคำสั่งมิได้เป็นเหตุให้เกิดละเมิดตามฟ้อง ดังนั้น คดีนี้จึงมิใช่คดีพิพาทที่เกิดจากมูลเหตุทางปกครองตามกฎหมายมหาชนแต่มีมูลเหตุตามกฎหมายแพ่ง ศาลแพ่งจึงมีอำนาจพิจารณาคดีนี้ได้ ศาลแพ่งจึงส่งความเห็นไปยังศาลปกครองกลางตามมาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลปกครองกลางเห็นว่า คดีนี้โจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองฟ้องจำเลยทั้งสอง ซึ่งขณะเกิดเหตุเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัดของโจทก์กล่าวหาว่า จำเลยทั้งสองละเลยต่อหน้าที่ไม่ควบคุมตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของนายทวีศักดิ์ บัวพนัส ผู้ใต้บังคับบัญชา จนเป็นเหตุให้นายทวีศักดิ์ บัวพนัส กระทำการทุจริตปลอมใบถอนเงินและยักยอกเงินไปทำให้โจทก์เสียหาย กรณีจึงเป็นคดีพิพาทระหว่างหน่วยงานทางปกครองกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในบังคับบัญชาด้วยกัน ซึ่งเป็นข้อพิพาท อันเนื่องมาจากการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามนัยมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ดังนั้น คดีจึงอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองที่จะพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่ง ในเรื่องดังกล่าว
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่โดยประมาทของข้าราชการจนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ส่วนราชการอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๒๔ ประกอบมาตรา ๒๓ วรรคหนึ่ง กำหนดให้สำนักงานปลัดทบวงมหาวิทยาลัย มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการประจำทั่วไปของทบวงมหาวิทยาลัย และราชการที่คณะรัฐมนตรีมิได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของกรมใดกรมหนึ่งหรือมหาวิทยาลัยใดมหาวิทยาลัยหนึ่งในสังกัดทบวงโดยเฉพาะ รวมทั้งมีหน้าที่ดูแลการดำเนินงานของโครงการวิจัยเกี่ยวกับโรคเอดส์ตามนโยบายของรัฐบาล สำนักงานปลัดทบวงมหาวิทยาลัยจึงเป็นหน่วยงานของรัฐและเป็นหน่วยงานทางปกครองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๓ ขณะเกิดเหตุ นายสุชาติ เมืองแก้ว และศาสตราจารย์เกษม วัฒนชัย เป็นข้าราชการในสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย ย่อมเป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐตามมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ นายสุชาติและศาสตราจารย์เกษมได้รับแต่งตั้งเป็นอนุกรรมการบริหารโครงการวิจัยเกี่ยวกับโรคเอดส์ มีหน้าที่ควบคุมดูแลการเก็บรักษาและการเบิกจ่ายเงินของนายทวีศักดิ์ บัวพนัส ข้าราชการผู้ใต้บังคับบัญชา เมื่อสำนักงานปลัดทบวงมหาวิทยาลัย ยื่นฟ้องบุคคลทั้งสองว่าได้กระทำการโดยประมาทเลินเล่อลงลายมือชื่ออนุมัติให้มีการเบิกจ่ายในใบถอนเงินโดยมิได้ขีดเส้นหน้าจำนวนเงินและตัวอักษรเพื่อป้องกันมิให้มีการพิมพ์จำนวนเงินเพิ่มเติมอันเป็นการไม่ปฏิบัติตามทางปฏิบัติราชการเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงิน จนเป็นเหตุให้สำนักงานปลัดทบวงมหาวิทยาลัยได้รับความเสียหาย กรณีนี้จึงถือได้ว่าเป็นคดีละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาล ปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ทั้งนี้ ตามนัยคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๗/๒๕๔๕
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่โดยประมาทของข้าราชการจนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ส่วนราชการ ระหว่าง สำนักงานปลัดทบวงมหาวิทยาลัยโจทก์ กับนายสุชาติ เมืองแก้ว จำเลยที่ ๑ และศาสตราจารย์เกษม วัฒนชัย จำเลยที่ ๒ อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง ซึ่งในคดีนี้ ได้แก่ ศาลปกครองกลาง
นายสันติ ทักราล หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
นายอักขราทร จุฬารัตน นายโภคิน พลกุล
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
พลโท สมัยรบ สุทธิวาทนฤพุฒิ พลโท อาชวัน อินทรเกสร
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
นายพรชัย รัศมีแพทย์
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ