แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๙/๒๕๔๕
วันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๔๕
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง
ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลแพ่งธนบุรี
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๒ วรรคสอง ซึ่งเป็นกรณีที่ศาลหนึ่งไม่รับฟ้อง เพราะเห็นว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจของอีกศาลหนึ่ง เมื่อมีการฟ้องคดีต่ออีกศาลหนึ่งแล้ว ศาลดังกล่าวเห็นว่าคดีนั้นไม่อยู่ในเขตอำนาจเช่นกัน ให้ศาลนั้นส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาด
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๔ นางประสงค์ และนายประวิทย์ พินเผือก โดยนายธวัชชัย ประทุมมา ผู้รับมอบอำนาจ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องร้อยตำรวจโท สวัสดิ์ ภักดี รองสารวัตรแผนกสืบตรวจตราและควบคุม สังกัดกองกำกับการสวัสดิภาพเด็กและเยาวชน กองบัญชาการตำรวจนครบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นจำเลยต่อศาลแพ่งธนบุรี ความว่า เมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ ร้อยตำรวจโทสวัสดิ์ ภักดี จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในสังกัดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จำเลยที่ ๒ ได้เข้าตรวจค้นและจับกุมนายประวิทย์หรือนุ้ย พินเผือก ในข้อหาจำหน่ายยาเสพติดให้โทษประเภท ๑ (ยาบ้า) ณ บริเวณนอกรั้วบ้านของนายวันชัย และนางประสงค์ พินเผือก ซึ่งเป็นบิดามารดาของนายประวิทย์ แต่เนื่องจากขณะเกิดเหตุจำเลยที่ ๑ กับพวก แต่งกายนอกเครื่องแบบและไม่ได้แจ้งหรือแสดงตนให้นายประวิทย์ทราบว่า จำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าพนักงานตำรวจทั้งไม่มีหมายจับและหมายค้นมาแสดง นายประวิทย์จึงสำคัญข้อเท็จจริงผิดไปว่าจำเลยที่ ๑ กับพวก เป็นคนร้ายกำลังจะเข้าทำร้ายตนและได้ร้องเรียกนายวันชัย ผู้เป็นบิดา ให้ช่วยเหลือ นายวันชัย พินเผือก และนางตุ๊กตา ไทยบรรจงได้ออกจากบ้านมายังบริเวณประตูรั้วพร้อมอาวุธปืนที่ยังไม่ได้บรรจุกระสุนเพื่อที่จะช่วยเหลือนายประวิทย์โดยไม่ทราบว่าจำเลยที่ ๑ กับพวกเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ หลังจากนั้นจำเลยที่ ๑ ได้แสดงตัวเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ นางตุ๊กตาจึงได้กระชากแขนนายวันชัยเพื่อให้เข้าไปในบ้านจนนายวันชัยล้มลง จำเลยที่ ๑ จึงตามเข้าไปในบริเวณบ้านและใช้อาวุธปืนยิงนายวันชัยจนถึงแก่ความตายโดยนายวันชัยไม่ได้ต่อสู้หรือขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจแต่อย่างใด ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่เป็นจำนวนเงิน ๗๖๗,๗๖๕ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปีของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ตลอดจนให้จำเลยทั้งสองชำระค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความในอัตราอย่างสูงแทน ศาลแพ่งธนบุรีเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐให้รับผิดในทางละเมิดเนื่องจากการปฏิบัติตามหน้าที่ และฟ้องจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่จำเลยที่ ๑ อยู่ในสังกัดร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดของจำเลยที่ ๑ คดีโจทก์จึงต้องห้ามมิให้ฟ้องจำเลยที่ ๑ ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๕ ส่วนจำเลยที่ ๒ นั้นคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๑๑ และมาตรา ๑๔ และตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) คดีไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม จึงมีคำสั่งไม่รับฟ้อง
นางประสงค์ พินเผือก จึงยื่นฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติต่อศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๔๔ ซึ่งศาลปกครองกลางเห็นว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจในการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญา จึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองกลางที่จะมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งแต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งของศาลยุติธรรมตามนัยมาตรา ๒๗๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ จึงให้ รอการพิจารณาสั่งรับคดีนี้ไว้พิจารณาชั่วคราวและส่งความเห็นให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๒ วรรคสอง
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา การฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากการที่เจ้าพนักงานตำรวจ ทำการตรวจค้นจับกุมบุคคลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว เห็นว่า โดยหลักการดำเนินกิจการหรือการกระทำต่าง ๆ ของรัฐทุกระบบจะต้องถูกตรวจสอบได้โดยศาล สำหรับศาลปกครองมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบการกระทำทางปกครองซึ่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๗๖ ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีที่มีการฟ้องว่า หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือในคดีที่มีการฟ้องว่าหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร หรือในคดีที่มีการฟ้องเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร หรือเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองอันเป็นการตรวจสอบการกระทำทางปกครอง ส่วนศาลยุติธรรมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวงที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลอื่น ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๗๑ ซึ่งได้แก่ คดีแพ่ง คดีอาญา และคดีอื่น ๆ ที่มีกฎหมายกำหนดไว้เป็นการเฉพาะ
สำหรับในคดีอาญานั้น เป็นเรื่องของขั้นตอนการดำเนินการเพื่อนำไปสู่การลงโทษผู้กระทำความผิดทางอาญา อย่างไรก็ตาม ในขั้นตอนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐ คือพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการนั้น อาจจะมีการกระทำทางปกครองปะปนอยู่ด้วย ถ้าขั้นตอนใดเป็นการกระทำที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดให้อำนาจไว้เป็นการเฉพาะโดยตรง การกระทำดังกล่าวจะอยู่ในอำนาจการควบคุมตรวจสอบของศาลยุติธรรม แต่ถ้าการกระทำใดที่พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการกระทำนอกเหนือหรือมิได้กระทำตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และเป็นการกระทำที่เข้าเกณฑ์เป็นกรณีพิพาทตามมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดี ปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ การกระทำนั้น จะอยู่ในอำนาจการควบคุมตรวจสอบของศาลปกครอง
การที่ผู้ฟ้องคดียื่นฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐว่าเจ้าพนักงานตำรวจซึ่งเป็น เจ้าหน้าที่ในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีไปทำการจับกุมตรวจค้นตัวคนร้ายแล้วก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีและขอให้ชดใช้ค่าเสียหายนั้น เห็นได้ว่าผู้ฟ้องคดีมุ่งประสงค์จะเรียกค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการที่เจ้าพนักงานตำรวจเข้าไปทำการจับกุมตรวจค้นตัวบุคคลแล้วก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีซึ่งการ จับกุมตรวจค้นดังกล่าวถือได้ว่าเป็นขั้นตอนการดำเนินการของเจ้าพนักงานตามที่ประมวลกฎหมายพิจารณาความอาญากำหนดให้อำนาจไว้เป็นการเฉพาะโดยตรงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และศาลยุติธรรม มีอำนาจที่จะเยียวยาความเสียหายดังกล่าวได้
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากการที่เจ้าพนักงานตำรวจทำการตรวจค้นจับกุมบุคคลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาระหว่างนางประสงค์ พินเผือก ผู้ฟ้องคดี และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิพากษาของศาลยุติธรรม ซึ่งในคดีนี้ได้แก่ ศาลแพ่งธนบุรี ทั้งนี้ ตามนัยคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๖/๒๕๔๕
นายสันติ ทักราล หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
นายอักขราทร จุฬารัตน นายโภคิน พลกุล
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
พลโท สมัยรบ สุทธิวาทนฤพุฒิ พลโท อาชวัน อินทรเกสร
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
นายพรชัย รัศมีแพทย์
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ