แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
คดีที่โจทก์ซึ่งเป็นนักศึกษาระดับปริญญาโทยื่นฟ้องผู้บริหารมหาวิทยาลัยและเจ้าหน้าที่ในสังกัด โดยอ้างว่าได้รับความเสียหายกรณีไม่ได้รับวุฒิการศึกษาในระดับปริญญาโททั้งที่ได้ศึกษาครบตามหลักสูตรและตามกำหนดเวลาที่มหาวิทยาลัยกำหนดไว้ เนื่องจากจำเลยกระทำการโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อจนทำให้กระทรวงศึกษาธิการมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตจัดตั้งมหาวิทยาลัย เห็นว่า แม้มหาวิทยาลัยที่โจทก์กล่าวอ้างจะเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนที่ได้รับมอบอำนาจจากรัฐให้จัดบริการสาธารณะด้านการศึกษาในระดับอุดมศึกษาตามพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. ๒๕๔๖ แต่มูลเหตุที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายนั้น มิได้เกิดจากการที่มหาวิทยาลัยไม่พิจารณาอนุมัติปริญญาให้แก่โจทก์ หรือฟ้องว่าจำเลยไม่จัดการศึกษาให้มีมาตรฐานตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด อันจะเป็นการใช้อำนาจตามที่ได้รับมอบอำนาจจากรัฐ แต่เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากการจงใจหรือประมาทเลินเล่อในการบริหารจัดการกิจการของมหาวิทยาลัยผิดพลาดและเพิกเฉยไม่ให้ความร่วมมือกับคณะกรรมการควบคุมมหาวิทยาลัย อันเป็นเหตุให้กระทรวงศึกษาธิการมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาต ทำให้โจทก์ไม่ได้รับวุฒิการศึกษา กรณีจึงมิใช่เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายที่เกิดจากการกระทำละเมิดของจำเลยในการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แต่เป็นคดีละเมิดทั่วไปซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒/๒๕๕๘
วันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)
ศาลแขวงขอนแก่น
ระหว่าง
ศาลปกครองขอนแก่น
การยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแขวงขอนแก่นโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๕๕ นาวาตรีหญิง รัชนี ป้อมสนาม โจทก์ ยื่นฟ้อง นายสุมนต์ สกลไชย ที่ ๑ นางจรรยา แสวงการ ที่ ๒ นายอัษฎางค์ แสวงการ ที่ ๓ และนายธนวัฒน์ น้อยหา ที่ ๔ จำเลย ต่อศาลแขวงขอนแก่น เป็นคดีหมายเลขดำที่ ผบ.๔๘๓๖/๒๕๕๕ หมายเลขแดงที่ ๒๔๕๗/๒๕๕๗ ความว่า โจทก์สมัครเข้าเป็นนักศึกษาหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิตของมหาวิทยาลัยอีสาน ณ ศูนย์การเรียนการสอนโรงเรียนเลิศปัญญา อำเภอสัตหีบ โดยชำระเงินค่าลงทะเบียนและค่าธรรมเนียมการศึกษาให้แก่มหาวิทยาลัยมาโดยตลอด โจทก์จึงเป็นผู้ได้รับบริการด้านการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอีสานและเป็นผู้บริโภค แต่หลังจากที่โจทก์เรียนจบตามหลักสูตรที่มหาวิทยาลัยอีสานกำหนดไว้ กระทรวงศึกษาธิการได้มีคำสั่งให้มหาวิทยาลัยอีสานอยู่ในความควบคุมของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาและแต่งตั้งคณะกรรมการควบคุมมหาวิทยาลัยอีสาน ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๕๕ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้มีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตจัดตั้งมหาวิทยาลัยอีสาน ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นเงินค่าลงทะเบียนและค่าใช้จ่ายต่างๆ เกี่ยวกับการเรียนการสอนให้แก่มหาวิทยาลัยอีสานจำนวน ๑๑๐,๐๐๐ บาท และเป็นเงินค่าเสียหายกรณีจงใจหรือประมาทเลินเล่อจนทำให้มหาวิทยาลัยอีสานถูกเพิกถอนใบอนุญาตจัดตั้งมหาวิทยาลัย จนทำให้โจทก์ไม่ได้วุฒิการศึกษาในระดับปริญญาโทหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิตตามกำหนดเวลาที่จำเลยทั้งสี่ให้คำมั่นไว้เป็นเงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท จำเลยที่ ๑ ในฐานะผู้ชำระบัญชีของมหาวิทยาลัยอีสานที่มีหน้าที่ดำเนินการชำระสะสางกิจการของมหาวิทยาลัยอีสานให้เสร็จไปด้วยดี จำเลยที่ ๒ ในฐานะผู้รับใบอนุญาตจัดตั้งมหาวิทยาลัยอีสาน จำเลยที่ ๓ ในฐานะอธิการบดีมหาวิทยาลัยอีสาน จำเลยที่ ๔ ในฐานะผู้จัดการศูนย์การเรียนของมหาวิทยาลัยอีสาน จึงต้องร่วมกันหรือแทนกันรับผิดชดใช้เงินให้แก่โจทก์รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๒๑๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า คดีนี้ไม่ใช่คดีผู้บริโภคตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๕๑ จำเลยทั้งสี่จัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรที่กระทรวงศึกษาธิการอนุมัติโดยถูกต้องตามกฎหมายและครบถ้วน และได้นำเงินของโจทก์ไปใช้จ่ายในการจัดการศึกษาสมประโยชน์ของโจทก์แล้ว จึงเป็นการปฏิบัติตามสัญญาครบถ้วนและไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาในอันที่จะต้องคืนเงินให้แก่โจทก์ นอกจากนี้หลังจากที่มหาวิทยาลัยอีสานถูกควบคุมและเพิกถอนใบอนุญาตแล้ว จำเลยได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายที่ทางกระทรวงศึกษาธิการและคณะกรรมการควบคุมมหาวิทยาลัยกำหนด โดยเฉพาะการดำเนินการตรวจสอบให้ความช่วยเหลือนักศึกษาที่ได้ศึกษาครบถ้วนตามหลักสูตรแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างรออนุมัติให้จบและรับใบปริญญาบัตรภายใต้การดำเนินการของคณะกรรมการควบคุมมหาวิทยาลัยอีสาน ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแขวงขอนแก่นเห็นว่า กรณีมีปัญหาว่าคดีนี้เป็นคดีผู้บริโภคหรือไม่ จึงส่งคดีให้ประธานศาลอุทธรณ์วินิจฉัยตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๕๑ ประธานศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าคดีของโจทก์เป็นคดีผู้บริโภค
จำเลยทั้งสี่ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลแขวงขอนแก่นพิจารณาแล้วเห็นว่า มูลพิพาทเกี่ยวกับคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสี่ในฐานะผู้บริหารงานของมหาวิทยาลัยอีสานได้ทำการบริหารงานโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อจนทำให้มหาวิทยาลัยอีสานถูกเพิกถอนใบอนุญาตจัดตั้งมหาวิทยาลัย ทำให้โจทก์ไม่สามารถเป็นผู้สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาโทหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย กรณีจึงเป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองขอนแก่นพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อมหาวิทยาลัยอีสานเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจากรัฐให้ดำเนินกิจการบริการสาธารณะด้านการศึกษาอันเป็นกิจการทางปกครองและใช้อำนาจทางปกครองในการดำเนินกิจการดังกล่าวตามกฎหมาย จึงมีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครอง มีจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ เป็นผู้ปฏิบัติงานของมหาวิทยาลัยอีสานจึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ การที่มหาวิทยาลัยอีสานเปิดสอนหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิตรับโจทก์เข้าเป็นนักศึกษาตามหลักสูตรดังกล่าว และจัดให้มีการเรียนการสอนกระทั่งโจทก์ลงทะเบียนเรียนครบหลักสูตรนั้น แต่โจทก์ไม่ได้รับวุฒิการศึกษาเนื่องจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตจัดตั้งมหาวิทยาลัยอีสาน จึงเป็นกรณีที่มหาวิทยาลัยอีสานได้ให้บริการสาธารณะด้านการศึกษาแก่โจทก์ตามที่ได้รับมอบหมายจากรัฐให้ดำเนินกิจการทางปกครองตามกฎหมาย นอกจากนี้ เหตุผลในคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตจัดตั้งมหาวิทยาลัยอีสาน เนื่องจากจำเลยที่ ๒ ผู้ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยอีสาน จำเลยที่ ๓ อธิการบดีมหาวิทยาลัยอีสาน ไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายโดยไม่นำส่งเงินค่าธรรมเนียมการศึกษาให้แก่มหาวิทยาลัยอีสานและไม่นำเงินมาเพิ่มในกองทุนทั่วไปดังที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. ๒๕๔๖ ทำให้สถานการณ์การเงินของมหาวิทยาลัยอีสานไม่เพียงพอที่จะจัดการศึกษา อีกทั้งการบริหารจัดการการศึกษาก็ไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด ความสัมพันธ์ระหว่างมหาวิทยาลัยอีสานกับโจทก์ซึ่งเป็นนักศึกษาจึงเป็นความสัมพันธ์ตามกฎหมายระหว่างหน่วยงานทางปกครองที่จัดทำบริการสาธารณะทางปกครองกับผู้รับบริการสาธารณะทางปกครอง มิใช่เป็นความสัมพันธ์ตามสัญญาการให้บริการด้านการศึกษาระหว่างผู้ประกอบธุรกิจกับผู้บริโภคตามที่โจทก์บรรยายฟ้อง หรือมีลักษณะเป็นการรับจัดทำการงานตามความหมายของนิยามคำว่า บริการ ในพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ หรือเป็นความสัมพันธ์ตามกฎหมายแพ่ง ดังนั้น ความเสียหายของโจทก์ที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้จึงเกิดจากการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมายและการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติของมหาวิทยาลัยอีสานในฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครอง และจำเลยที่ ๓ ในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยที่ ๑ ในฐานะผู้ชำระบัญชีของมหาวิทยาลัยอีสานที่ได้รับการแต่งตั้งตามมาตรา ๙๓ แห่งพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. ๒๕๔๖ ซึ่งมีหน้าที่ชำระสะสางการงานของมหาวิทยาลัยอีสานให้เสร็จสิ้นไป กับการใช้หนี้เงินและแจกจ่ายทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยอีสานตามบทบัญญัติดังกล่าว จำเลยที่ ๒ ในฐานะผู้รับใบอนุญาตจัดตั้งมหาวิทยาลัยอีสาน จำเลยที่ ๓ ในฐานะอธิการบดีของมหาวิทยาลัยอีสาน และจำเลยที่ ๔ ในฐานะผู้ดูแลศูนย์การเรียนการสอนนอกสถานที่ตั้งของมหาวิทยาลัยอีสาน โดยให้จำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐในส่วนที่เป็นการดำเนินกิจการทางปกครองหรือใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมาย ร่วมกันรับผิดและชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดจากการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมายและการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดในกรณีดำเนินกิจการทางปกครองของมหาวิทยาลัยอีสานในการจัดทำบริการสาธารณะด้านการศึกษา กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงคดีนี้ โจทก์ซึ่งเป็นนักศึกษาระดับปริญญาโทหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิตยื่นฟ้องจำเลยทั้งสี่โดยอ้างว่าได้รับความเสียหายกรณีโจทก์ไม่ได้รับวุฒิการศึกษาในระดับปริญญาโทหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิตของมหาวิทยาลัยอีสานทั้งที่ได้ศึกษาครบตามหลักสูตรและตามกำหนดเวลาที่มหาวิทยาลัยกำหนดไว้ เนื่องจากจำเลยทั้งสี่ได้กระทำการโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อจนทำให้กระทรวงศึกษาธิการมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตจัดตั้งมหาวิทยาลัยอีสาน ขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันรับผิดชดใช้เงินค่าลงทะเบียนและค่าใช้จ่ายต่างๆ เกี่ยวกับการเรียนการสอนทั้งหมดที่โจทก์จ่ายให้แก่มหาวิทยาลัย และค่าเสียหายอื่นๆ เป็นเงินรวม ๒๑๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย เห็นว่า แม้มหาวิทยาลัยอีสานจะเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนที่ได้รับมอบอำนาจจากรัฐให้จัดบริการสาธารณะด้านการศึกษาในระดับอุดมศึกษาตามพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. ๒๕๔๖ โดยมีสภาสถาบันมีอำนาจหน้าที่วางนโยบายและควบคุมดูแลกิจการทั่วไปของมหาวิทยาลัย เช่น การอนุมัติและการปรับปรุงหลักสูตร การอนุมัติและการเพิกถอนปริญญา ฯลฯ แต่มูลเหตุที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสี่นั้น มิได้เกิดจากการที่มหาวิทยาลัยไม่พิจารณาอนุมัติปริญญาให้แก่โจทก์ หรือฟ้องว่าจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ไม่จัดการศึกษาให้มีมาตรฐานตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด อันจะเป็นการใช้อำนาจตามที่ได้รับมอบอำนาจจากรัฐ แต่เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากการจงใจหรือประมาทเลินเล่อในการบริหารจัดการกิจการของมหาวิทยาลัยผิดพลาดจนกระทรวงศึกษาธิการมีคำสั่งให้มหาวิทยาลัยอยู่ในความควบคุมของคณะกรรมการการอุดมศึกษา และนับแต่ถูกควบคุม จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นผู้รับใบอนุญาตก็เพิกเฉยและไม่ให้ความร่วมมือกับคณะกรรมการควบคุมมหาวิทยาลัยอีสาน จนเป็นเหตุให้คณะกรรมการการอุดมศึกษาเห็นว่ามหาวิทยาลัยอีสานไม่อาจดำเนินกิจการต่อไปได้ ปรากฏตามเหตุผลในคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการที่ ๗๑๕/๒๕๕๕ เรื่อง เพิกถอนใบอนุญาตจัดตั้งมหาวิทยาลัยอีสาน การเพิกเฉยและไม่ให้ความร่วมมือกับคณะกรรมการควบคุมมหาวิทยาลัยอีสาน อันเป็นเหตุให้กระทรวงศึกษาธิการมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตดังกล่าวส่งผลให้โจทก์ไม่ได้รับวุฒิการศึกษาในระดับปริญญาโทหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิตของมหาวิทยาลัยอีสานทั้งที่ได้ศึกษาครบหลักสูตรและตามกำหนดเวลาที่มหาวิทยาลัยกำหนดไว้ กรณีจึงมิใช่เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายที่เกิดจากการกระทำละเมิดของจำเลยทั้งสี่ในการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) อันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แต่เป็นคดีละเมิดทั่วไปซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นาวาตรีหญิง รัชนี ป้อมสนาม โจทก์ นายสุมนต์ สกลไชย ที่ ๑ นางจรรยา แสวงการ ที่ ๒ นายอัษฎางค์ แสวงการ ที่ ๓ นายธนวัฒน์ น้อยหา ที่ ๔ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ