คำวินิจฉัยที่ 20/2558

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

สัญญาที่หน่วยงานทางปกครองว่าจ้างเอกชนให้ทำการตลาดบริการวิทยุคมนาคม กับสัญญาให้ทำการตลาดบริการโทรข้ามแดนอัตโนมัติ และสัญญาดูแลผู้ใช้บริการวิทยุคมนาคม เป็นสัญญาเพื่อให้บริการด้านโทรคมนาคมแก่ประชาชนผู้ใช้บริการเป็นการจัดทำบริการสาธารณะ สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาทางปกครอง ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒๐/๒๕๕๘

วันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๕๘

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔)

ศาลแพ่ง
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแพ่งโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ บริษัทฮัทชิสัน ซีเอที ไวร์เลส มัลติมีเดีย จำกัด โจทก์ ยื่นฟ้อง บริษัทกสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) จำเลย ต่อศาลแพ่ง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๖๓๕/๒๕๕๗ ความว่า โจทก์กับจำเลยได้ทำสัญญาทำการตลาดบริการวิทยุคมนาคมระบบเซลลูล่า DIGITAL AMPS ๘๐๐ BAND A ลงวันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๓๙ และโจทก์กับจำเลยได้ตกลงทำสัญญาทำการตลาดบริการโทรข้ามแดนอัตโนมัติ ลงวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๔๖ ซึ่งเป็นสัญญาอุปกรณ์และเกี่ยวเนื่องกับสัญญาทำการตลาดฯ โดยในการทำสัญญาดังกล่าว โจทก์ได้ส่งมอบหนังสือค้ำประกันของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) จำนวน ๓ ฉบับ ไว้ให้แก่จำเลย ต่อมาจำเลยมีนโยบายเปลี่ยนแปลงการดำเนินการโครงการเดิม ดังนั้น เมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๕๔ โจทก์และจำเลยจึงได้ตกลงทำสัญญายกเลิกสัญญาทำการตลาดฯ ดังกล่าว และได้ตกลงทำสัญญาการดูแลผู้ใช้บริการวิทยุคมนาคมระบบเซลลูล่า CDMA โดยโจทก์ได้ส่งมอบหนังสือค้ำประกันของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ไว้ให้แก่จำเลย ภายหลังการทำสัญญาดังกล่าว ปรากฏว่า จำเลยจงใจประพฤติผิดสัญญา โดยการมีหนังสือเรียกให้ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ชำระเงินตามหนังสือค้ำประกัน เป็นเงิน ๖๓,๐๐๒,๐๐๐ บาท อ้างว่า โจทก์กระทำผิดสัญญาทำการตลาดฯ สัญญาทำการตลาดโทรข้ามแดนอัตโนมัติฯ และสัญญาการดูแลผู้ใช้บริการฯ ซึ่งเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เพราะโจทก์มิได้กระทำผิดสัญญา หากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ชำระเงินให้แก่จำเลยทั้งที่มูลหนี้ที่กล่าวอ้างยังไม่มีความแน่นอนว่าโจทก์ผิดสัญญาหรือไม่ เป็นเงินเท่าใด ย่อมทำให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนเสียหายต่อฐานะทางการเงิน ชื่อเสียง ความน่าเชื่อถือทางการเงิน และการประกอบกิจการของโจทก์ ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยหยุดกระทำผิดสัญญาหรือละเมิด โดยหยุดเรียกร้องให้ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ชำระเงิน และมิให้รับเงินตามหนังสือค้ำประกัน รวม ๔ ฉบับ จากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) โดยให้จำเลยมีหนังสือยกเลิกการทวงถามธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และให้ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ระงับการชำระเงินตามหนังสือสัญญาค้ำประกัน โดยมิให้จำเลยเรียกหนังสือค้ำประกันในส่วนที่เพิ่มอีก จำนวน ๖๓,๐๐๒,๐๐๐ บาท พร้อมทั้งให้จำเลยชำระเงินค่าเสียหาย เป็นเงิน ๖๓,๐๐๒,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า โจทก์ใช้สิทธิฟ้องจำเลยโดยไม่สุจริต จำเลยไม่ได้กระทำละเมิดหรือผิดสัญญาต่อโจทก์แต่อย่างใด เพราะจำเลยได้ปฏิบัติต่อโจทก์ตามข้อสัญญาทุกประการ โจทก์จึงไม่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด ค่าเสียหายตามที่โจทก์ฟ้องมาสูงเกินจริง ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้อง
จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นกรณีพิพาทอันเนื่องมาจากการเรียกร้องให้จำเลยหยุดกระทำผิดสัญญาหรือละเมิด กับให้จำเลยยกเลิกการทวงถามธนาคาร ซึ่งสืบเนื่องจากการโต้แย้งสิทธิกันตามสัญญา ซึ่งเป็นสัญญาทางปกครอง จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลแพ่งพิจารณาแล้ว เห็นว่า แม้จำเลยเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่ตามคำฟ้องของโจทก์ เป็นกรณีที่โจทก์ และจำเลยพิพาทกันฐานผิดสัญญาทำการตลาดบริการวิทยุคมนาคม ระบบเซลลูล่า DIGITAL AMPS ๘๐๐ BAND A และสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ ๑/๒๕๔๐ ครั้งที่ ๒/๒๕๔๓ และครั้งที่ ๓/๒๕๔๖ และสัญญาทำการตลาดบริการโทรข้ามแดนอัตโนมัติ สัญญาตกลงยกเลิกสัญญาทำการตลาดบริการวิทยุคมนาคมระบบเซลลูล่า DIGITAL AMPS ๘๐๐ BAND A สัญญาการดูแลผู้ใช้บริการวิทยุโทรคมนาคมระบบเซลลูล่า CDMA เห็นว่า สัญญาต่างๆ ที่โจทก์จำเลยพิพาทกันในคดีนี้ มีลักษณะเป็นสัญญาที่โจทก์และจำเลยทำขึ้นโดยมุ่งผูกพัน โดยสมัครใจบนพื้นฐานแห่งความเสมอภาค และเป็นกรณีที่จำเลยใช้สิทธิทำนิติกรรมเทียบเท่าเอกชน ถือเป็นการใช้สิทธิทำนิติกรรมสัญญาระหว่างคู่สัญญาที่มีฐานะเป็นเอกชนเท่าเทียมกัน จึงมีลักษณะเป็นสัญญาทางแพ่ง ลักษณะสัญญาดังกล่าวระหว่างโจทก์กับจำเลยมีลักษณะเป็นเพียงสัญญาธรรมดาที่สนับสนุนการจัดทำบริการสาธารณะเท่านั้น ไม่มีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะหรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค หรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ หรือเป็นสัญญาที่หน่วยงานทางปกครองให้โจทก์เข้าดำเนินการหรือเข้าร่วมดำเนินการบริการสาธารณะโดยตรง หรือเป็นสัญญาที่มีข้อกำหนดในลักษณะซึ่งมีลักษณะพิเศษที่แสดงเอกสิทธิ์ของรัฐ เพื่อให้ดำเนินกิจการทางปกครองอันเป็นกิจการบริการสาธารณะบรรลุผลแต่อย่างใด สัญญาดังกล่าวจึงไม่ใช่สัญญาทางปกครอง แต่เป็นสัญญาทางแพ่งที่มีจำเลยในฐานะหน่วยงานทางปกครองเป็นคู่สัญญาเท่านั้น ข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยในคดีนี้จึงไม่ใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) กรณีพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลย จึงไม่ได้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แต่เป็นอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้ว เห็นว่า จำเลยเป็นหน่วยงานของรัฐและเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครองในการดำเนินกิจการโทรคมนาคม จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยที่จำเลยมีอำนาจหน้าที่และวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการโทรคมนาคม รวมถึงกิจการที่ต่อเนื่องหรือใกล้เคียงกันหรือที่เกี่ยวกับหรือซึ่งเป็นประโยชน์แก่การประกอบกิจการโทรคมนาคม และให้บริการทางด้านโทรคมนาคม จำเลยจึงได้ตกลงทำสัญญาทำการตลาดบริการวิทยุคมนาคมแบบระบบเซลลูล่า DIGITAL AMPS ๘๐๐ Band A ลงวันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๓๙ และฉบับที่แก้ไขเพิ่มเติม กับโจทก์ เมื่อพิจารณาข้อกำหนดในสัญญาดังกล่าว จะเห็นได้ว่าเป็นกรณีที่จำเลยได้มอบหมายให้โจทก์เข้าดำเนินการหรือเข้าร่วมดำเนินการในการประกอบกิจการโทรคมนาคมและให้บริการทางด้านโทรคมนาคมอันเป็นการจัดทำบริการสาธารณะ สัญญาทำการตลาดฯ ดังกล่าว จึงเป็นสัญญาทางปกครอง ส่วนสัญญาทำการตลาดบริการข้ามแดนอัตโนมัติเป็นสัญญาที่ต่อเนื่องหรือเกี่ยวเนื่องกับสัญญาทำการตลาดบริการวิทยุคมนาคมฯ เพื่อผู้ใช้บริการได้ใช้บริการข้ามแดนอัตโนมัติของจำเลย อันมีลักษณะเป็นการมอบหมายให้โจทก์เข้าดำเนินการหรือเข้าร่วมดำเนินการจัดทำบริการสาธารณะ จึงเป็นสัญญาทางปกครองเช่นเดียวกัน สำหรับสัญญาการดูแลผู้ใช้บริการวิทยุคมนาคมระบบเซลลูล่า CDMA เป็นสัญญาที่ต่อเนื่องหรือเกี่ยวเนื่องกับสัญญาทำการตลาดบริการวิทยุคมนาคมระบบเซลลูล่า DIGITAL AMPS ๘๐๐ Band A ระหว่างโจทก์กับจำเลย เพื่อให้ผู้ใช้บริการตามสัญญาทำการตลาดยังสามารถใช้บริการในระบบ CDMA จนกว่าจะมีการให้การบริการระบบ CDMA รวมถึงส่งเสริมให้ผู้ใช้บริการตามสัญญาทำการตลาดในส่วนกลางเปลี่ยนมาใช้บริการวิทยุคมนาคมระบบ HSPA ของจำเลย อันมีลักษณะเป็นการมอบหมายให้โจทก์เข้าดำเนินการหรือเข้าร่วมดำเนินการในการประกอบกิจการโทรคมนาคมและให้บริการทางด้านโทรคมนาคมอันเป็นการจัดทำบริการสาธารณะตามวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ของจำเลย สัญญาการดูแลผู้ใช้บริการวิทยุคมนาคมระบบเซลลูล่า CDMA ระหว่างโจทก์กับจำเลย จึงเป็นสัญญาทางปกครองเช่นเดียวกัน เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยประพฤติผิดสัญญา โดยมีหนังสือเรียกให้ธนาคารชำระเงินตามหนังสือค้ำประกัน ซึ่งเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย กรณีจึงมีข้อพิพาทเกี่ยวกับการปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าว คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน ส่วนหนังสือค้ำประกันที่ออกโดยธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) นั้น เป็นสัญญาอุปกรณ์ของสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ทำขึ้นเพื่อเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาของโจทก์ต่อจำเลย เมื่อข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาประธานระหว่างโจทก์กับจำเลยอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองแล้ว ข้อพิพาทเกี่ยวกับการใช้สิทธิเรียกร้องตามสัญญาค้ำประกันซึ่งเป็นสัญญาอุปกรณ์จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองด้วย คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ทำการตลาดบริการวิทยุคมนาคมระบบเซลลูล่า DIGITAL AMPS ๘๐๐ BAND A และทำสัญญาทำการตลาดบริการโทรข้ามแดนอัตโนมัติ ซึ่งเป็นสัญญาอุปกรณ์และเกี่ยวเนื่องกับสัญญาฉบับแรก ต่อมาจำเลยมีนโยบายเปลี่ยนแปลงการดำเนินการโครงการเดิมในระบบ CDMA เป็นระบบ HSPA โจทก์และจำเลยจึงทำสัญญายกเลิกสัญญาทำการตลาดฯ ดังกล่าว และทำสัญญาการดูแลผู้ใช้บริการวิทยุคมนาคมระบบเซลลูล่า CDMA โดยโจทก์ได้ส่งมอบหนังสือค้ำประกันของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ไว้ให้แก่จำเลย แต่จำเลยจงใจประพฤติผิดสัญญายกเลิกสัญญาทำการตลาดฯ และสัญญาการดูแลผู้ใช้บริการฯ โดยการมีหนังสือเรียกให้ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ชำระเงินตามหนังสือค้ำประกัน อ้างว่า โจทก์กระทำผิดสัญญาทำการตลาดฯ สัญญาทำการตลาดโทรข้ามแดนอัตโนมัติฯ และสัญญาการดูแลผู้ใช้บริการฯ ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยหยุดกระทำผิดสัญญาหรือละเมิด และให้จำเลยชำระเงินค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย จึงต้องพิจารณาว่าสัญญาดังกล่าว เป็นสัญญาทางแพ่งหรือสัญญาทางปกครอง เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง และมาตรา ๓ บัญญัติให้สัญญาทางปกครองหมายความรวมถึง สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคล ซึ่งกระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ คดีนี้ จำเลยเป็นบริษัทมหาชน จำกัด แปรรูปและรับโอนกิจการมาจากการสื่อสารแห่งประเทศไทย ตามพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๔๒ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการโทรคมนาคม และให้บริการด้านโทรคมนาคม การที่จำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์ทำการตลาดบริการวิทยุคมนาคมฯ สัญญาทำการตลาดโทรข้ามแดนอัตโนมัติฯ และสัญญาดูแลผู้ใช้บริการวิทยุคมนาคมฯ ก็เพื่อให้บริการด้านโทรคมนาคมแก่ประชาชนผู้ใช้บริการ อันเป็นการจัดทำบริการสาธารณะ สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาทางปกครอง ข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยในคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง บริษัทฮัทชิสัน ซีเอที ไวร์เลส มัลติมีเดีย จำกัด โจทก์ บริษัทกสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) ติดราชการ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายจรัญ หัตถกรรม)
รองประธานศาลปกครองสูงสุดคนที่หนึ่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานศาลปกครองสูงสุด

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share