คำวินิจฉัยที่ 136/2561

แหล่งที่มา : สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่เอกชนยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ และเอกชนด้วยกันเป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ โดยอ้างว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ที่ดินตามหลักฐานแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) เลขที่ ๔๔ โดยครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าวต่อจากบิดาของผู้ฟ้องคดี มาตั้งแต่ปี ๒๕๑๕ จนถึงปัจจุบัน โดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งการครอบครองหรือเข้าครอบครอง เมื่อผู้ฟ้องคดีได้นำแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) เป็นหลักฐานในการยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสุรินทร์ สาขาชุมพลบุรี ทำให้ทราบว่า นางส. แจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานปฏิรูปที่ดินว่าได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินของผู้ฟ้องคดี จนมีการออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. ๔-๐๑) เลขที่ ๑๕๕๕ ให้แก่นาง ส. ทับที่ดิน ส.ค. ๑ ที่ผู้ฟ้องคดีครอบครองทำประโยชน์อยู่ทั้งแปลง เมื่อ นางส. เสียชีวิต ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้อนุญาตให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ซึ่งเป็นหลานของนาง ส. เข้าทำประโยชน์ในที่ดินแปลงพิพาท อันเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ เพิกถอนหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. ๔-๐๑) เลขที่ ๑๕๕๕ ซึ่งออกทับที่ดิน ส.ค. ๑ ที่ผู้ฟ้องคดีครอบครอง ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ ให้การโดยสรุปว่า การจัดที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินจังหวัดสุรินทร์ฉบับพิพาทได้ดำเนินการตามกระบวนการและขั้นตอนตามกฎหมายและระเบียบที่ ส.ป.ก. กำหนดแล้ว และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ให้การว่า ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. ๔-๐๑) ฉบับดังกล่าวตลอดมา เห็นว่า แม้คดีมีประเด็นเกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการออกคำสั่งที่มีผลกระทบต่อสิทธิของผู้ฟ้องคดีและผู้ฟ้องคดีได้กล่าวอ้างถึงการที่ผู้ฟ้องคดีมีหนังสือรวมสองฉบับร้องขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เพิกถอนหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. ๔-๐๑) ฉบับพิพาท แต่การที่ผู้ฟ้องคดีบรรยายฟ้องยืนยันสิทธิในที่ดินพิพาท โดยกล่าวอ้างว่าการออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. ๔-๐๑) เลขที่ ๑๕๕๕ เป็นการออกทับที่ดินของผู้ฟ้องคดีและมีคำขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ ดำเนินการเพิกถอนหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. ๔-๐๑) ดังกล่าว ประเด็นสำคัญที่ต้องวินิจฉัยจึงมีว่าผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทหรือไม่ แล้วจึงจะพิจารณาวินิจฉัยประเด็นอื่นได้ต่อไป ประกอบกับเมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของผู้ฟ้องคดีในการใช้สิทธิทางศาลก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิและพิสูจน์สิทธิในที่ดินของตนเป็นสำคัญ กรณีจึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

Share