คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 149/2503

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฟ้องข้อ ค. ระบุวันเดือนปีที่จำเลยทำผิดแม้ไม่ได้ระบุว่าเป็นเวลากลางวันหรือกลางคืนแต่เมื่อข้อความในฟ้อง ข้อ ค. ต่อเนื่องกับฟ้อง ข้อข. ซึ่งระบุวันเดือนปีตรงกับฟ้อง ข้อค. และระบุเวลากลางวันไว้ด้วย ทำให้เข้าใจได้ดีว่าการกระทำของจำเลยตามฟ้อง ข้อ ค. ได้เกิดขึ้นแล้วในฟ้อง ข้อ ข. อันเป็นวันเวลาเดียวกันนั้นเอง เช่นนี้ ฟ้องข้อ ค. ไม่เคลือบคลุมในข้อที่ไม่ระบุเวลาว่า กลางวันหรือกลางคืน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยสมคบกันใช้อำนาจตำแหน่งหน้าที่ในทางทุจริตขอให้ลงโทษ

จำเลยทุกคนปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162 ซึ่งเป็นบทหนัก จำคุก 3 ปี จำเลยนอกนั้นให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 162 กะทงเดียว กำหนดโทษคงเดิม

จำเลยที่ 1 ฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาจำเลยในปัญหาข้อกฎหมายเพียงข้อเดียวว่า ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่

ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์บรรยายข้อความในฟ้องข้อ ข. ไว้ชัดว่า”วันที่ 16 ตุลาคม 2498 เวลากลางวัน จำเลยได้สมคบกันใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยทางมิชอบ บังคับให้นายยาโก๊ะเอาเงิน 500 บาทให้แก่จำเลย แล้วจำเลยจะคืนเสื้อผ้าให้แก่นายยาโก๊ะ ๆ ได้มอบเงิน 500 บาท แก่จำเลย ๆ ก็คืนเสื้อผ้าเก่า ๆ ให้ ฯลฯ” ดังนั้น ที่โจทก์กล่าวฟ้องใน ข้อ ค. ว่า “วันที่ 16 ตุลาคม 2498 จำเลยสมคบกันยักยอกเอาสิ่งของซึ่งจำเลยได้ยึดไปปกครองรักษาไว้ดังกล่าวในฟ้องข้อ ข. ไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวโดยมิได้มีอำนาจที่จะทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย และจำเลยได้บังอาจสมคบกันทำรายงานเท็จ…ฯลฯ” จำเลยจะคัดค้านว่าโจทก์ไม่ระบุว่าเป็นเวลากลางวันหรือกลางคืนในฟ้องข้อ ค. จึงเป็นฟ้องเคลือบคลุมหาได้ไม่ เพราะข้อความในฟ้อง ข้อ ค.ย่อมต่อเนื่องกับฟ้องข้อ ข. ทำให้เข้าใจได้ดีว่า การกระทำของจำเลยกับพวกตามฟ้อง ข้อ ค. ได้เกิดมีขึ้นในวันที่ 16 ตุลาคม ภายหลังจากการกระทำที่ได้เกิดขึ้นแล้วในฟ้อง ข้อ ข. อันเป็นวันเวลาเดียวกันนั้นเอง ไม่มีทางที่จะเข้าใจเป็นอย่างอื่นได้ พิพากษายืน

Share