คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3125/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362,364,365 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 362 จำคุก 3 เดือน ปรับ 1,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงอาญาไว้มีกำหนด 2 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 ประกอบด้วยมาตรา 362 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ดังนี้ ศาลอุทธรณ์แก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นเพียงเล็กน้อยโดยเพิ่มบทมาตรา 365 เป็นบทมาตราที่จำเลยกระทำผิดเพิ่มขึ้นอีกบทหนึ่ง และคงลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 5 ปีสิทธิฎีกาของคู่ความจึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรก ซึ่งห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ร่วมมิใช่เจ้าของห้องแถวพิพาท จึงไม่เป็นผู้เสียหายและไม่มีอำนาจร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยนั้นคดีนี้ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ร่วมเป็นเจ้าของห้องแถวพิพาท ฎีกาของจำเลยเท่ากับโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ฟังมาเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยยกขึ้นอ้าง จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ร่วมมิได้ร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลย ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 ภายในเวลา 3 เดือนคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 จึงขาดอายุความนั้นจำเลยมิได้ยกปัญหานี้ขั้นว่ากล่าวในศาลอุทธรณ์ จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 ประกอบมาตรา 225 แม้เป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจฟ้องอันเป็นข้อกฎหมาย ที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยก็ตาม แต่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 ด้วย ซึ่งมิใช่ความผิดอันยอมความได้แม้โจทก์ร่วมมิได้ร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลย โจทก์ก็มีอำนาจฟ้องจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 ได้อยู่แล้ว การวินิจฉัยว่าโจทก์ร่วมได้ร้องทุกข์ ดำเนินคดีแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 หรือไม่ จึงไม่เป็นสาระแก่คดีศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ปัญหาว่าจำเลยมีเจตนากระทำผิดหรือไม่ เป็นปัญหาข้อเท็จจริง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 364, 365
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางส่งศรี มาเมือง ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362จำคุก 3 เดือน ปรับ 1,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงอาญาไว้มีกำหนด 2 ปี
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 365 ประกอบมาตรา 362 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 จำคุก 3 เดือน ปรับ 1,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงอาญาไว้มีกำหนด 2 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 ประกอบด้วยมาตรา 362 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์แก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นเพียงเล็กน้อยโดยเพิ่มบทมาตรา 365 เป็นบทมาตราที่จำเลยกระทำผิดเพิ่มขึ้นอีกบทหนึ่งและคงลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 5 ปี สิทธิฎีกาของคู่ความจึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรก ซึ่งห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จำเลยฎีกาข้อหนึ่งว่า โจทก์ร่วมมิใช่เจ้าของห้องแถวพิพาทจึงไม่เป็นผู้เสียหาย และไม่มีอำนาจร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลย เห็นว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ร่วมเป็นเจ้าของห้องแถวพิพาท ฎีกาของจำเลยจึงเท่ากับโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ฟังมา เพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยยกขึ้นอ้างจึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามตามกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยส่วนที่จำเลยฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า โจทก์ร่วมมิได้ร้องทุกข์ขอให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 ภายในเวลา 3 เดือน คดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 จึงขาดอายุความนั้น เห็นว่า จำเลยมิได้ยกปัญหานี้ขึ้นว่ากล่าวในศาลอุทธรณ์ จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 ประกอบมาตรา 225 แม้เป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจฟ้องอันเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยก็ตาม แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 ด้วย ซึ่งมิใช่ความผิดอันยอมความได้ แม้โจทก์ร่วมมิได้ร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลย โจทก์ก็มีอำนาจฟ้องจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 ได้อยู่แล้ว การวินิจฉัยว่าโจทก์ร่วมได้ร้องทุกข์ขอให้ดำเนินคดีแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 หรือไม่จึงไม่เป็นสาระแก่คดี ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยมิได้มีเจตนาในการกระทำผิดนั้น เห็นว่า เจตนาของจำเลยเป็นอย่างไรเป็นปัญหาข้อเท็จจริงฎีกาของจำเลยจึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรก ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายกฎีกาจำเลย

Share