คำวินิจฉัยที่ 13/2560

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่เอกชนทั้งสองยื่นฟ้องหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ร่วมกันรังวัดและออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงทับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) ของผู้ฟ้องคดีทั้งสองและปักป้ายประกาศว่าเป็นที่สาธารณประโยชน์รุกล้ำที่ดินพิพาท ขอให้เพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงและให้คืนสิทธิในที่ดินแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสอง ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทพลเมืองใช้ร่วมกัน การออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า แม้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองจะมีคำขอให้ศาลเพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง โดยอ้างว่าเป็นการออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ตาม แต่การที่ศาลจะมีคำพิพากษาตามคำขอของผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีทั้งสองตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๓/๒๕๖๐

วันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลปกครองนครราชสีมา
ระหว่าง
ศาลจังหวัดบุรีรัมย์

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองนครราชสีมาโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ นางปาน ลาจำนงค์ ผู้จัดการมรดกของนายโอ๊ะ ลาจำนงค์ ที่ ๑ นางอนงค์ กุมรัมย์ ผู้จัดการมรดกของนายจันทร์ เกตุชาติ ที่ ๒ ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้อง อธิบดีกรมที่ดิน ที่ ๑ สำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ สาขาลำปลายมาศ ที่ ๒ องค์การบริหารส่วนตำบลเมืองยาง ที่ ๓ องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านยาง ที่ ๔ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองนครราชสีมา เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๒๘๖/๒๕๕๘ ต่อมานางสง่า เกตุชาติ ยื่นคำร้องขอเข้าแทนที่ผู้ฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งถึงแก่ความตาย ศาลปกครองนครราชสีมามีคำสั่งอนุญาตสรุปได้ความว่า ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ และผู้ฟ้องคดีที่ ๒ เป็นผู้จัดการมรดกของนายโอ๊ะ ลาจำนงค์และนายจันทร์ เกตุชาติ ซึ่งครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๑๙๘๒ ตำบลนายาง อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ เนื้อที่ ๓๒ ไร่ ๒ งาน ๓๐ ตารางวา และหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓) เลขที่ ๓๙๔ หมู่ ๑๐ ตำบลเมืองยาง (หนองปล่อง) อำเภอชำนิ (นางรอง) จังหวัดบุรีรัมย์ เนื้อที่ ๙๐ ไร่ ๑ งาน ๗๐ ตารางวา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ บร ๔๗๐๒ สำหรับที่ดินสาธารณประโยชน์ “โคกขามสาธารณประโยชน์” เนื้อที่ ๙๙๑ ไร่ ๑ งาน ๑๗ ตารางวา โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ขอรังวัดสอบเขตที่ดินสาธารณประโยชน์ดังกล่าวต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เจ้าหน้าที่รังวัดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ รวมทั้งตัวแทนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ และที่ ๔ ร่วมกันนำชี้แนวเขตและปักป้ายประกาศเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์รุกล้ำเข้ามาในที่ดินทั้งสองแปลง โดยอ้างว่ารังวัดแนวเขตที่ดินตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ บร ๔๗๐๒ ผู้ฟ้องคดีทั้งสองจึงยื่นหนังสือคัดค้านการรังวัดสอบเขต โดยเห็นว่าการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ บร ๔๗๐๒ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเป็นการออกทับที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง ซึ่งมีเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ออกโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่ก่อนแล้ว และการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ถึงที่ ๔ ร่วมกันรังวัดและรับรองแนวเขตที่ดินสาธารณประโยชน์และปักป้ายประกาศเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์รุกล้ำที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ บร ๔๗๐๒ ตำบลเมืองยาง อำเภอชำนิ จังหวัดบุรีรัมย์ และแผนที่ท้ายหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง กับให้คืนสิทธิในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก. ) เลขที่ ๑๙๘๒ ตำบลบ้านยาง อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์แก่ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ และคืนสิทธิในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓) เลขที่ ๓๙๔ หมู่ที่ ๑๐ ตำบลเมืองยาง (หนองปล่อง) อำเภอชำนิ (นางรอง) จังหวัดบุรีรัมย์ แก่ผู้ฟ้องคดีที่ ๒
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ให้การทำนองเดียวกันว่า ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายโอ๊ะ ลาจำนงค์ ได้โอนมรดกที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยนช์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๑๙๘๒ ให้แก่บุคคลอื่นไปแล้ว ส่วนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓) เลขที่ ๓๙๔ ยังไม่ได้มีการออกเป็นหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงแต่อย่างใด ผู้ฟ้องคดีทั้งสองจึงไม่ถือว่าเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ที่จะมีสิทธิฟ้องคดี ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทพลเมืองใช้ร่วมกัน การออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ บร ๔๗๐๒ ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมศาลปกครองนครราชสีมาพิจารณาแล้วเห็นว่า การออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเป็นการใช้อำนาจทางปกครองที่มีผลกระทบต่อสิทธิหน้าที่ของบุคคล อันเป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ การที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองฟ้องว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ บร ๔๗๐๒ ตำบลเมืองยาง อำเภอชำนิจังหวัดบุรีรัมย์ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเป็นการออกทับที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง ซึ่งมีเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ออกโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่ก่อนแล้ว และการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ถึงที่ ๔ ร่วมกันรังวัดและรับรองแนวเขตที่ดินสาธารณประโยชน์รวมถึงปักป้ายประกาศเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์รุกล้ำที่ดินพิพาท เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และศาลปกครองมีอำนาจกำหนดคำบังคับให้เพิกถอนคำสั่งทางปกครอง รวมทั้งสั่งให้มีการถือปฏิบัติต่อสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลที่เกี่ยวข้องได้ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๔) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ส่วนประเด็นว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นผู้มีสิทธิครอบครองและทำประโยชน์หรือเป็นที่สาธารณประโยชน์นั้น ต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์รวมถึงประมวลกฎหมายที่ดินประกอบกัน ซึ่งเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการดูแลรักษาและคุ้มครองที่ดิน อันเป็นสาธารสมบัติของแผ่นดิน มีลักษณะเป็นเรื่องทางกฎหมายมหาชนและกฎหมายปกครอง จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดบุรีรัมย์พิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองขอให้เพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ บร ๔๗๐๒ เนื่องจากออกทับที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง แม้เป็นการฟ้องให้เพิกถอนคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) ประกอบมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่การที่ศาลจะวินิจฉัยคำขอของผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า เจ้ามรดกผู้มีชื่อในที่ดินทั้งสองแปลงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามกฎหมายหรือไม่เป็นสำคัญ แล้วจึงพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นเอกชนยื่นฟ้องหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกของนายโอ๊ะ ลาจำนงค์ และนายจันทร์ เกตุชาติ ซึ่งเป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๑๙๘๒ ตำบลบ้านยาง อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ และหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓) เลขที่ ๓๙๔ หมู่ที่ ๑๐ ตำบลเมืองยาง (หนองปล่อง) อำเภอชำนิ (นางรอง) จังหวัดบุรีรัมย์ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ บร ๔๗๐๒ ตำบลเมืองยาง อำเภอชำนิ จังหวัดบุรีรัมย์ ทับที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสองและการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ถึงที่ ๔ ร่วมกันรังวัดรับรองแนวเขตรวมถึงปักป้ายประกาศว่าเป็นที่สาธารณประโยชน์ “โคกขามสาธารณประโยชน์”อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทพลเมืองใช้ร่วมกัน เนื้อที่ ๙๙๑ ไร่ ๑ งาน ๑๗ ตารางวา รุกล้ำที่ดินพิพาท เป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ดินดังกล่าวไม่ใช่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ขอให้เพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ บร ๔๗๐๒ และให้คืนสิทธิในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสอง ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ให้การทำนองเดียวกันว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทพลเมืองใช้ร่วมกัน การออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ บร ๔๗๐๒ ชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า แม้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองจะมีคำขอให้ศาลเพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง โดยอ้างว่าเป็นการออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ตาม แต่การที่ศาลจะมีคำพิพากษาตามคำขอของผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีทั้งสองตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนางปาน ลาจำนงค์ ผู้จัดการมรดกของนายโอ๊ะ ลาจำนงค์ ที่ ๑ นางอนงค์ กุมรัมย์ ผู้จัดการมรดกของนายจันทร์ เกตุชาติ ที่ ๒ ผู้ฟ้องคดี อธิบดีกรมที่ดิน ที่ ๑ สำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ สาขาลำปลายมาศ ที่ ๒ องค์การบริหารส่วนตำบลเมืองยาง ที่ ๓ องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านยาง ที่ ๔ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) วีระพล ตั้งสุวรรณ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายวีระพล ตั้งสุวรรณ) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) ชาญชัย แสวงศักดิ์
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายชาญชัย แสวงศักดิ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share