แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จากบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4 และมาตรา 6 ประกอบกับหลักปรัชญาแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ งานสร้างสรรค์ประเภทศิลปกรรมที่มีลักษณะเป็นงานประติมากรรมจะเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ที่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 นั้น ต้องเป็นงานที่ผู้สร้างสรรค์ได้ทำหรือก่อให้เกิดงานนั้นด้วยการริเริ่มขึ้นเอง (Originality) โดยมิได้ทำซ้ำหรือดัดแปลงจากงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต งานอันมีลิขสิทธิ์ไม่จำต้องเป็นงานใหม่อย่างเช่นกรณีของสิทธิบัตรการประดิษฐ์ซึ่งจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายสิทธิบัตรต่อเมื่อเป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่หรือต้องไม่เป็นงานที่ปรากฏอยู่แล้ว งานอันมีลิขสิทธิ์จึงอาจเหมือนหรือคล้ายกับงานอันมีลิขสิทธิ์ที่ปรากฏอยู่แล้วได้ แต่งานที่เหมือนหรือคล้ายกันนั้นต้องเกิดจากการริเริ่มสร้างสรรค์ขึ้นเองของผู้สร้างสรรค์โดยมิได้ทำซ้ำหรือดัดแปลงจากงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต คุณค่าของงานหรือคุณค่าทางศิลปะไม่ใช่เงื่อนไขของการคุ้มครองลิขสิทธิ์ แม้งานที่สร้างขึ้นนั้นจะไม่มีคุณค่าของงานหรือคุณค่าทางศิลปะ หากผู้สร้างสรรค์ได้ทำขึ้นด้วยความวิริยะอุตสาหะด้วยการทุ่มเทกำลังสติปัญญา ความรู้ความสามารถ ใช้ประสบการณ์และวิจารณญาณในการสร้างงานนั้น มิใช่สักแต่ทำขึ้น งานนั้นก็ได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ การคุ้มครองลิขสิทธิ์เป็นการให้ความคุ้มครองรูปแบบของการแสดงออกซึ่งความคิด ไม่คุ้มครองความคิดหรือแนวความคิด ปรากฏตามสินค้าของโจทก์ว่าเป็นรูปปั้นพระพักตร์พระพุทธรูปบนใบโพธิ์ซึ่งมีลักษณะเป็นงานสร้างสรรค์รูปทรงที่เกี่ยวกับปริมาตรที่สัมผัสและจับต้องได้เป็นรูปสามมิติ รูปปั้นพระพักตร์พระพุทธรูปบนใบโพธิ์นั้นจึงเป็นงานที่ผู้สร้างสรรค์ได้แสดงออกโดยรูปแบบของงานประติมากรรมอันเป็นงานสร้างสรรค์ประเภทศิลปกรรมอย่างหนึ่งตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4 แม้จะรับฟังข้อเท็จจริงที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยมาว่ารูปปั้นนั้นผู้สร้างสรรค์ได้ทำขึ้นโดยเลียนแบบธรรมชาติหรือสิ่งที่ปรากฏมีอยู่ก่อนแล้วคือพระพักตร์พระพุทธเจ้าหรือพระพุทธรูปซึ่งมีอยู่มานานนับพันปีแล้วก็ตาม ก็ถือได้ว่าผู้สร้างสรรค์งานรูปปั้นพระพักตร์พระพุทธรูปบนใบโพธิ์ได้สร้างสรรค์งานนั้นด้วยการริเริ่มขึ้นเองและด้วยความวิริยะอุตสาหะแล้ว เพราะมิใช่การสร้างงานนั้นขึ้นโดยทำซ้ำหรือดัดแปลงจากงานประติมากรรมรูปปั้นพระพักตร์พระพุทธรูปอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่น เมื่อปรากฏว่าโจทก์เป็นผู้แจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ในผลงานประติมากรรมรูปปั้นพระพักตร์พระพุทธรูปบนใบโพธิ์ดังกล่าวในชื่อผลงาน “คุ้มครอง” และ “โพธิพักตร์” ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา จึงมีเหตุผลให้เชื่อว่าโจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์งานประติมากรรมรูปปั้นพระพักตร์พระพุทธรูปบนใบโพธิ์ดังกล่าว โจทก์ย่อมเป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในงานประติมากรรมนั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69, 70 และ 76 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และ 90
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไต่สวนมูลฟ้อง ให้ประทับฟ้องตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (1) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ไว้พิจารณา
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ปรากฏว่าศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางประทับรับฟ้องไว้พิจารณาเฉพาะข้อหาความผิดฐานร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์โดยทำซ้ำหรือดัดแปลงงานประติมากรรมรูปปั้นพระพักตร์พระพุทธรูปอันมีลิขสิทธิ์เพื่อการค้า ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (1) และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 มิได้ประทับรับฟ้องไว้พิจารณาในข้อหาความผิดฐานร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์ โดยขายงานประติมากรรมรูปปั้นพระพักตร์พระพุทธรูปที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์เพื่อการค้า ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (1) และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 โจทก์มิได้อุทธรณ์ ข้อหาความผิดที่มิได้ประทับรับฟ้องไว้พิจารณาดังกล่าวจึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ชิ้นงานรูปปั้นพระพักตร์พระพุทธรูปบนใบโพธิ์ เป็นงานประติมากรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์หรือไม่ และจำเลยทั้งสองร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์โดยทำซ้ำหรือดัดแปลงงานประติมากรรมรูปปั้นพระพักตร์พระพุทธรูปบนใบโพธิ์ อันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์เพื่อการค้าตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (1) และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 หรือไม่ ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยทั้งสองไม่โต้แย้งกันในชั้นอุทธรณ์รับฟังได้ว่า ในปี 2546 โจทก์ได้เป็นสมาชิกโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์หรือโอทอป (OTOP) ของจังหวัดสระแก้ว ต่อมาโจทก์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานกรรมการเครือข่าย โอทอป ระดับประเทศ โจทก์ได้จดทะเบียนนิติบุคคลเป็นบริษัทศิลปะหินทราย จำกัด เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2550 เอกสารแนะนำสินค้าของโจทก์ ร้านค้าของโจทก์ที่อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว และร้านค้าของโจทก์ในห้างเจ.เจ.มอลล์ ตลาดนัดสวนจตุจักร เว็บไซต์ของโจทก์ โจทก์ได้แจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ในงานรูปปั้นพระพักตร์พระพุทธรูปบนใบโพธิ์ในลักษณะงานประติมากรรม ชื่อผลงาน “คุ้มครอง” และ “โพธิพักตร์” ทะเบียนข้อมูลเลขที่ ศ2. 4080 และ ศ2. 4081 ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา ตามสำเนาหนังสือรับรองการแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ลงวันที่ 2 มิถุนายน 2551 ชิ้นงานของโจทก์ปรากฏตามวัตถุพยาน ส่วนจำเลยที่ 1 ได้แจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ในงานประติมากรรมรูปปั้นพระพักตร์พระพุทธรูปเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2553 ไว้ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวโจทก์นำสืบโดยมีโจทก์ นายกมล นางสาวทิฌา และนางสาวปลิดา มาเบิกความเป็นพยานได้ความว่า นายกมลได้แนะนำให้จำเลยที่ 2 มาทำงานกับโจทก์ จำเลยที่ 2 ไม่มีความรู้เกี่ยวกับงานทางด้านที่โจทก์ค้าขายมาก่อน โจทก์เป็นผู้แนะนำวิธีการปั้นขึ้นรูปให้แก่จำเลยที่ 2 ทราบ จำเลยที่ 1 ได้มาขอสินค้าจากโจทก์ไปจำหน่ายและต่อมาภายหลังจำเลยที่ 1 ก็ขอเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าของโจทก์ โดยเปิดร้านอยู่ที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพลาซ่า สาขาพระราม 3 ตามบิลเงินสดลงวันที่ 16 กันยายน 2550 วันที่ 10 ตุลาคม 2551 และวันที่ 24 ตุลาคม 2552 จำนวน 3 ฉบับ เมื่อประมาณปี 2552 นางสาวทิฌาผู้ขายสินค้าที่ระลึกได้ซื้อสินค้ารูปปั้นพระพักตร์พระพุทธรูปบนใบโพธิ์จากจำเลยที่ 1 เนื่องจากได้รับคำสั่งซื้อจากชาวอินเดียจำนวนประมาณ 300 ชิ้น โดยส่งให้แล้วจำนวน 100 ชิ้น ไม่มีปัญหาอะไร แต่สินค้าจำนวนอีก 200 ชิ้น ชาวอินเดียคนดังกล่าวไม่ยอมรับสินค้าเนื่องจากบอกว่าสินค้าคุณภาพไม่ดี โจทก์จึงทราบเรื่องว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้นำสินค้าที่ทำซ้ำงานของโจทก์ส่งให้แก่นางสาวทิฌา โจทก์จึงไปร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจคดีเศรษฐกิจ ตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีลงวันที่ 13 ตุลาคม 2552 โดยระบุสถานที่เกิดเหตุเป็นร้านค้าของจำเลยที่ 1 ภายในห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพลาซ่า สาขาพระราม 3 นางปลิดาภริยาโจทก์ได้โทรศัพท์ไปต่อว่าจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว โดยจำเลยที่ 1 ยอมรับว่าเป็นผู้นำสินค้าดังกล่าวมาจำหน่ายจริง จากเหตุการณ์ดังกล่าวโจทก์ไม่ได้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 เนื่องจากจำเลยที่ 1 กำลังตั้งครรภ์ ภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าวโจทก์ได้ตรวจสอบตามเว็บไซต์ปรากฏว่ามีการขายสินค้าที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์อยู่ด้วย จากการตรวจสอบพบว่าเกิดขึ้นที่จังหวัดพิษณุโลก โจทก์จึงไปแจ้งความไว้ และนำเจ้าพนักงานตำรวจไปตรวจค้นบ้านพัก ซึ่งด้านหลังเป็นสถานที่ผลิตสินค้าที่ละเมิดลิขสิทธิ์ในงานประติมากรรมรูปปั้นพระพักตร์พระพุทธรูปบนใบโพธิ์ของโจทก์ ตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2554 และบันทึกการตรวจค้นลงวันที่ 17 มีนาคม 2554 และมีการยึดของกลางมาด้วย โดยโจทก์ได้ถ่ายรูปบริเวณบ้านที่ทำการตรวจค้นซึ่งแสดงสินค้ารูปปั้นพระพักตร์พระพุทธรูปบนใบโพธิ์ที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ไว้ด้วย และพบมารดาจำเลยที่ 1 อยู่ในบ้าน โดยมารดาจำเลยที่ 1 แจ้งว่า สินค้าภายในบ้านเป็นลิขสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้จดแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ในงานประติมากรรม “พระพักตร์” “พระพักตร์กลาง” “พระพักตร์กลางเล็กใบโพธิ์” “พระพักตร์จิ๋วใบโพธิ์” “พระพักตร์จิ๋วดอกบัว” และ “ความสำเร็จ” เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2553 วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2553 วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2553 วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2553 วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2553 และวันที่ 28 มกราคม 2553 ตามลำดับ ไว้ ตามสำเนาหนังสือรับรองการแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์จำนวน 6 ฉบับ กระป๋องสีที่ใช้ผลิตรองพื้นหรือทับหน้าเป็นสี ชนิด และประเภท รวมถึงยี่ห้อเดียวกันกับที่โจทก์ใช้ การใช้สีสำหรับสินค้านั้น แต่เดิมสินค้าจะดูสวยงามจากการใช้ไฟส่อง โจทก์ได้คิดทดลองโดยใช้สีนานาชนิดและหลายประเภทเพื่อทดสอบจนลงตัวที่สีรองพื้นและสีทับหน้าเป็นคนละชนิดและยี่ห้อ จึงทำให้สินค้าดูลงตัวสวยงาม ซึ่งบุคคลทั่วไปจะไม่ทราบในทันทีว่าจะต้องใช้สีชนิดใดและยี่ห้อใด นอกจากนี้ ในวันที่ทำการตรวจค้นยังพบสินค้ารูปปั้นพระพักตร์พระพุทธรูปบนใบโพธิ์ที่ผลิตเสร็จแล้วเตรียมส่งให้แก่ลูกค้า จำเลยที่ 2 มาเกี่ยวข้องด้วยเนื่องจากโจทก์พบของชำร่วยในงานแต่งงานของโจทก์ซึ่งจำเลยที่ 2 เป็นผู้ปั้นให้แก่โจทก์ในบ้านที่ทำการตรวจค้น โจทก์จึงสอบถามคนงานภายในบ้านและทราบว่าคนปั้นสินค้ารูปปั้นพระพักตร์พระพุทธรูปบนใบโพธิ์ภายในบ้านคือจำเลยที่ 2 โจทก์พบแม่พิมพ์ชิ้นงานซึ่งเป็นซิลิโคนมีลักษณะเกือบเหมือนชิ้นงานของโจทก์ภายในบ้านนั้นด้วย ซึ่งน่าจะใช้เป็นแม่พิมพ์ในการผลิตเป็นสินค้ารูปปั้นพระพักตร์พระพุทธรูปบนใบโพธิ์ โดยมีลักษณะคล้ายกับสินค้ารูปปั้นพระพักตร์พระพุทธรูปบนใบโพธิ์ของโจทก์ โดยมีข้อแตกต่างกันเพียงที่เปลวไฟด้านบนพระพักตร์ ส่วนใหญ่ก้นหอยมีการจัดเรียง ใบหูที่แนบกับใบหน้า การมีคอสองชั้น พระเนตรปิดเนื่องจากต้องการให้เป็นงานออกแบบที่ให้เกิดความสงบ มีลักษณะเหมือนกัน ลายเส้นจะใกล้เคียงกันมาก และใบโพธิ์ถูกดัดแปลงให้แตกต่างออกไป สินค้าของจำเลยที่ 1 จะมีตามเว็บไซต์ โจทก์ยังได้ผลิตสินค้ารุ่นจิ๋ว ซึ่งต่อมาโจทก์พบชิ้นงานรุ่นจิ๋วแต่ไม่ใช่ของโจทก์โดยมีสติกเกอร์ติดไว้ว่า “สิทธิของศิลปะสยาม 999” โดยคำว่า “ศิลปะสยาม 999” จะตรงกับที่ระบุไว้ในเว็บไซต์ และโรงหล่อภูชญาซึ่งเป็นสถานที่ที่โจทก์เข้าร่วมตรวจค้น งานคุ้มครองชิ้นกลางเป็นของโจทก์ เดิมนายกมลเป็นผู้ปั้นแต่ผลงานออกมาทำให้หน้าดุ โจทก์จึงให้จำเลยที่ 2 แต่งให้ลดความดุทำให้พระพักตร์ดูหวานขึ้น เคยมีลูกค้าขอให้ปั้นชิ้นงานเป็นพระเยซูและพระแม่มารีแต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้ปั้นแล้วผลงานไม่ผ่านเนื่องจากการหลบมุมหลบแสงยังไม่ดีพอ ภาพรวมยังไม่สวยงาม ต่อมานายกมลได้กลับมาปั้นชิ้นงานพระเยซูและพระแม่มารีให้แก่โจทก์ ซึ่งผลงานสามารถนำออกจำหน่ายได้ การจำหน่ายสินค้าทุกชิ้นจะมีใบแทรกซึ่งระบุชื่อผลงานและชื่อผู้ปั้นเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษด้วย ในปี 2546 โจทก์จดทะเบียนพาณิชย์ในการประกอบพาณิชยกิจ ศิลปะหินทราย ความคิดในการผลิตสินค้าภาพเว้านั้นเกิดขึ้นเมื่อปี 2546 โดยโจทก์ไปดูที่ศูนย์วิทยาศาสตร์คลอง 6 พบว่ามีการจัดแสดงการสะท้อนแสงเป็นภาพคาวบอย โจทก์จึงสนใจและนำกลับมาทดลองกับหน้ากากยอดมนุษย์ พบว่าด้านในหน้ากากเมื่อนำแสงส่องแล้วก็จะสะท้อนออกมาเป็นภาพยอดมนุษย์ดูเคลื่อนไหวได้ โจทก์จึงได้ผลิตขึ้นมาเป็นชิ้นงานราชัญขอม ซึ่งมีหน้าพระชื่องานความสงบรวมอยู่ด้วย โดยชิ้นงานทุกชิ้นจะมีลักษณะเหมือนหน้ากากมีหูแนบใบหน้าทุกชิ้น ในการจำหน่ายจะตั้งบนแท่นแล้วนำแสงไฟฉายเพื่อสะท้อนภาพออกมาด้วย โดยชิ้นงานส่วนแรกจะยังไม่ได้ลงสีทอง ต่อมาจึงนำสีทองมาลงเพื่อให้ดูสะท้อนแสงขึ้นมา ในปัจจุบันคนที่สำรวจตลาดได้แจ้งว่ายังพบสินค้าของจำเลยที่ 1 ที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์วางจำหน่ายอยู่ โจทก์ร้องทุกข์แล้ว แต่ประสงค์จะดำเนินคดีด้วยตนเอง ผลงานประติมากรรมชื่อ ความสงบ โจทก์ได้จดแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ไว้เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2546 การที่จำเลยทั้งสองจำหน่ายสินค้าที่เลียนแบบสินค้าของโจทก์ ทำให้คุณภาพของสินค้าต่ำลงและผู้ซื้อเข้าใจผิดคิดว่าเป็นสินค้าของโจทก์ งานรูปปั้นพระพักตร์พระพุทธรูปบนใบโพธิ์ของโจทก์ได้พัฒนามาแล้วประมาณ 3 ปี โดยได้มีการคิดก้นหอยมีขนาดเล็กใหญ่ต่างกันเพื่อให้ได้องศา มีคอสองชั้นเพื่อรับกับใบหู ใส่ลายเส้นให้มีความหวานเกิดขึ้น
ส่วนจำเลยทั้งสองนำสืบโดยจำเลยทั้งสองอ้างตนเองเป็นพยานกับมีนายสุรภูมิ และนางสาวณรุจลดา มาเบิกความเป็นพยานได้ความว่า จำเลยที่ 1 จบการศึกษาชั้นปริญญาตรี สาขาการเงินการธนาคาร จากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มีพื้นฐานด้านศิลปะในระหว่างการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยเรียนพื้นฐานทางด้านศิลปะเกี่ยวกับการออกแบบและการระบายสี จำเลยที่ 1 เคยเปิดร้านค้าอยู่ที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพลาซ่า สาขาพระราม 3 ขายสินค้าที่ระลึกและสินค้าตกแต่งบ้าน เช่น ภาพนูนต่ำ รูปพระมหากษัตริย์ไทย รูปพระพุทธรูป เป็นต้น ส่วนสินค้าที่ระลึกอื่น เช่น รูปปั้นช้าง ม้า โค กระบือ เป็นต้น โดยจำเลยที่ 1 เดินทางไปซื้อจากผู้ผลิตโดยตรง หรือฝ่ายขายของผู้ผลิตมาติดต่อเสนอขายสินค้าให้ที่ร้าน การชำระราคาสินค้าให้แก่ผู้ขายมีทั้งชำระด้วยเงินสดหรือให้เครดิต นอกจากนี้ ยังมีสินค้าที่ผู้ผลิตนำมาฝากวางจำหน่ายโดยคิดราคาทุนไว้ แล้วจำเลยที่ 1 เป็นผู้กำหนดราคาขาย จำเลยที่ 1 พบเห็นสินค้าของโจทก์ตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.1 ครั้งแรกที่ห้างสรรพสินค้าซีคอนสแควร์ จึงทดลองซื้อมาจำหน่ายจำนวน 2 ถึง 3 ชิ้น จากนั้นจึงติดต่อกับโจทก์โดยตรงแต่โจทก์แจ้งให้ติดต่อผ่านภริยาโจทก์ จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าให้แก่โจทก์ โดยมีสินค้าอื่นที่โจทก์มอบให้จำหน่ายด้วย เช่น รูปปั้นพระพักตร์พระพุทธรูป พระพิฆเนศ พระสังกัจจายน์ และเจ้าแม่กวนอิม ทั้งรูปภาพหน้าเว้าและมีลักษณะให้มิติ นอกจากรับสินค้าจากโจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 ยังรับรูปปั้นพระพักตร์พระพุทธรูปมีลักษณะเว้าจากผู้ผลิตรายอื่นด้วย แต่วัสดุที่ทำนั้นทำด้วยเรซิ่นและปูนขาวหรือปูนพลาสเตอร์ ในการค้าขายของจำเลยที่ 1 มุ่งประสงค์แต่กำไรไม่ได้คำนึงถึงลิขสิทธิ์ ซึ่งสินค้าบางตัวแม้ว่าจะมีการลอกเลียนแบบหรือทำซ้ำสินค้าของผู้อื่นแต่สามารถขายได้กำไร จำเลยที่ 1 ก็จะนำมาขาย สำหรับนางสาวทิฌาได้สั่งสินค้าคล้ายวัตถุพยานหมาย ว.จ.1 ของโจทก์และของผู้อื่นจากจำเลยที่ 1 ไปขาย โดยซื้อสินค้าของนายบอยไปเป็นตัวอย่าง แล้วมีการสั่งซื้อสินค้าลักษณะนั้นจำนวน 300 ชิ้น และเพื่อให้ได้ราคาต่ำเป็นพิเศษ ไม่เอากล่องบรรจุภัณฑ์และไม่เอาป้ายข้อความคำว่า “คุ้มครอง” ซึ่งสินค้าของนายบอยก็ไม่มีคำว่า “คุ้มครอง” และได้ราคาต่ำกว่าของโจทก์ แต่ปรากฏว่ามีสินค้าที่คุณภาพไม่ผ่านจำนวน 200 ชิ้น จำเลยที่ 1 จึงขอรับสินค้าทั้งหมดคืนและส่งคืนให้แก่นายบอย จำเลยที่ 1 ต้องการเป็นผู้ผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายด้วยตนเองจึงเปิดร้านค้าในต้นปี 2552 จำเลยที่ 1 รู้จักจำเลยที่ 2 ตั้งแต่ปี 2551 จากนั้นจำเลยที่ 2 ได้นำชิ้นงานแม่แบบรูปภาพประเภทอื่นๆ มาทยอยขายให้จำเลยที่ 1 หลายชิ้น และจำเลยที่ 2 แจ้งว่าไม่ได้รับจ้างอยู่กับโจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 จึงชักชวนจำเลยที่ 2 มาร่วมงานที่จังหวัดพิษณุโลก โดยจ้างจำเลยที่ 2 ให้เป็นช่างปั้น เมื่อทำต้นแบบได้แล้ว จำเลยที่ 1 จึงได้จดแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ไว้ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาในผลงานประติมากรรมรูปปั้นพระพักตร์พระพุทธรูปบนใบโพธิ์เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2553 วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2553 และวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2553 เจ้าหน้าที่แจ้งว่าสามารถนำชิ้นงานที่ได้จดแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์นั้นไปผลิตจำหน่ายได้ จากนั้นจำเลยที่ 1 ได้ผลิตชิ้นงานเพื่อจำหน่ายตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.2 ตามที่ได้จดแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ในงานประติมากรรมรูปปั้นพระพักตร์พระพุทธรูปบนใบโพธิ์ไว้ ตามสำเนาคำขอแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์เลขที่ 229625 ลงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2553 ซึ่งจำเลยที่ 1 ใช้ชื่อ “ศิลปะสยาม 999” เป็นชื่อโรงงานผลิตชิ้นงาน จำเลยทั้งสองไม่ได้เลียนแบบสินค้าของโจทก์แต่เป็นการผลิตชิ้นงานโดยจำเลยที่ 1 มีแรงบันดาลใจเนื่องจากจังหวัดพิษณุโลกมีพระพุทธรูปสำคัญคือ พระพุทธชินราช ซึ่งเป็นศิลปะสมัยสุโขทัย ชิ้นงานของจำเลยที่ 1 จึงใช้รูปพระพักตร์พระพุทธรูปศิลปะสมัยสุโขทัยเป็นหลัก ส่วนด้านหลังหรือเรียกว่า พื้นหลังของจำเลยที่ 1 มี 2 แบบ คือ ดอกบัว และใบโพธิ์ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ประจำศาสนาพุทธ มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ปั้นโดยไม่ได้มีการลอกเลียนแบบรูปใบหน้าหรือพื้นหลังตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.1 สำหรับวัสดุที่ใช้จำเลยที่ 1 ใช้ผงหินอ่อน เนื่องจากเป็นวัสดุที่มีจำหน่ายตามท้องตลาดทั่วไป หาซื้อง่าย ราคาถูก และสวยงาม ส่วนสินค้าของโจทก์เป็นวัสดุที่ทำจากหินทราย เมื่อเปรียบเทียบวัตถุพยานหมาย ว.จ.1 และ ว.จ.2 แล้วจะแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ร้านค้าที่รับสินค้าของจำเลยที่ 1 ไปวางจำหน่ายบางร้านมีสินค้าของโจทก์วางจำหน่ายด้วย ร้านค้าดังกล่าวและลูกค้าสามารถแยกแยะสินค้าของจำเลยที่ 1 และของโจทก์ได้
ปัญหาว่า ชิ้นงานรูปปั้นพระพักตร์พระพุทธรูปบนใบโพธิ์ตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.1 เป็นงานประติมากรรมอันมีลิขสิทธิ์หรือไม่ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยในปัญหานี้ว่า งานประติมากรรมซึ่งเป็นงานศิลปกรรมที่จะได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง จะต้องเป็นงานปั้นที่แสดงให้เห็นถึงความสุนทรียภาพหรือคุณค่าในชิ้นงานที่ได้สร้างสรรค์ขึ้นโดยผู้สร้างสรรค์จะต้องใช้ความวิริยะอุตสาหะหรือความคิดริเริ่มในการสร้างสรรค์ชิ้นงานด้วยตนเอง มิใช่นำสิ่งที่ปรากฏอยู่ก่อนแล้วมาปั้นเป็นชิ้นงานของตน หากผู้สร้างสรรค์ประสงค์จะปั้นชิ้นงานโดยเลียนแบบธรรมชาติหรือสิ่งที่ปรากฏมีอยู่ก่อนแล้ว งานปั้นดังกล่าวนั้นจะต้องมีคุณค่าหรือลักษณะพิเศษหรือมีการสร้างสรรค์สิ่งใหม่เพิ่มขึ้นในชิ้นงานให้ดูแตกต่างไปจากของเดิมที่มีอยู่ก่อนแล้วตามธรรมชาติ และจะต้องมีเอกลักษณ์เฉพาะของชิ้นงานให้เพียงพอเพื่อแสดงถึงคุณค่าของงานนั้นด้วย จากวัตถุพยานหมาย ว.จ.1 แสดงให้เห็นถึงความมีสุนทรียภาพในชิ้นงานอยู่สองประการคือ พระพักตร์พระพุทธเจ้าหรือพระพุทธรูปในลักษณะเว้าและใบโพธิ์ ส่วนกระบวนการผลิตชิ้นงานให้มีลักษณะพื้นผิวสัมผัสคล้ายหินทรายนั้นไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความมีสุนทรียภาพของการปั้นโดยตรง เพราะหินทรายเป็นสิ่งสามัญตามธรรมชาติ ผู้ใดจะนำมาแกะสลักและอาจลงสีให้สวยงามเหมือนอย่างชิ้นงานของโจทก์ก็สามารถกระทำได้ เมื่อพิจารณาโดยรวมแล้วพระพักตร์พระพุทธเจ้าหรือพระพุทธรูปในวัตถุพยานหมาย ว.จ.1 ก็ยังคงสื่อความหมายถึงพระพักตร์พระพุทธเจ้าหรือพระพุทธรูปซึ่งมีอยู่มานานนับพันปีแล้ว จึงยังถือไม่ได้ว่าชิ้นงานตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.1 เป็นการสร้างสรรค์หรือใช้ความวิริยะอุตสาหะในการคิดริเริ่มขึ้นใหม่ ชิ้นงานตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.1 จึงไม่ถือเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง เห็นว่า พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4 บัญญัติว่า “ในพระราชบัญญัตินี้
“ผู้สร้างสรรค์” หมายความว่า ผู้ทำหรือผู้ก่อให้เกิดงานสร้างสรรค์อย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้…
“ศิลปกรรม” หมายความว่า งานอันมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดหรือหลายอย่างดังต่อไปนี้…
(2) งานประติมากรรม ได้แก่ งานสร้างสรรค์รูปทรงที่เกี่ยวกับปริมาตรที่สัมผัสและจับต้องได้…
ทั้งนี้ไม่ว่างานตาม (1) ถึง (7) จะมีคุณค่าทางศิลปะหรือไม่…” และมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า “งานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ได้แก่ งานสร้างสรรค์ประเภทวรรณกรรม นาฏกรรม ศิลปกรรม ดนตรีกรรม โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียง งานแพร่เสียงแพร่ภาพ หรืองานอื่นใดในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ ของผู้สร้างสรรค์ ไม่ว่างานดังกล่าวจะแสดงออกโดยวิธีหรือรูปแบบอย่างใด
การคุ้มครองลิขสิทธิ์ไม่คลุมถึงความคิด หรือขั้นตอน กรรมวิธีหรือระบบ หรือวิธีใช้หรือทำงาน หรือแนวความคิด หลักการ การค้นพบ หรือทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์” จากบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวประกอบกับหลักปรัชญาแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ งานสร้างสรรค์ประเภทศิลปกรรมที่มีลักษณะเป็นงานประติมากรรมจะเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ที่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 นั้น ต้องเป็นงานที่ผู้สร้างสรรค์ได้ทำหรือก่อให้เกิดงานนั้นด้วยการริเริ่มขึ้นเอง (Originality) โดยมิได้ทำซ้ำหรือดัดแปลงจากงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต งานอันมีลิขสิทธิ์ไม่จำต้องเป็นงานใหม่อย่างเช่นกรณีของสิทธิบัตรการประดิษฐ์ซึ่งจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายสิทธิบัตรต่อเมื่อเป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่หรือต้องไม่เป็นงานที่ปรากฏอยู่แล้ว งานอันมีลิขสิทธิ์จึงอาจเหมือนหรือคล้ายกับงานอันมีลิขสิทธิ์ที่ปรากฏอยู่แล้วได้ แต่งานที่เหมือนหรือคล้ายกันนั้นต้องเกิดจากการริเริ่มสร้างสรรค์ขึ้นเองของผู้สร้างสรรค์โดยมิได้ทำซ้ำหรือดัดแปลงจากงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต คุณค่าของงานหรือคุณค่าทางศิลปะไม่ใช่เงื่อนไขของการคุ้มครองลิขสิทธิ์ แม้งานที่สร้างขึ้นนั้นจะไม่มีคุณค่าของงานหรือคุณค่าทางศิลปะหากผู้สร้างสรรค์ได้ทำขึ้นด้วยความวิริยะอุตสาหะ ด้วยการทุ่มเทกำลังสติปัญญา ความรู้ความสามารถ ใช้ประสบการณ์และวิจารณญาณในการสร้างงานนั้น มิใช่สักแต่ทำขึ้น งานนั้นก็ได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ การคุ้มครองลิขสิทธิ์เป็นการให้ความคุ้มครองรูปแบบของการแสดงออกซึ่งความคิด ไม่คุ้มครองความคิดหรือแนวความคิด ปรากฏตามสินค้าวัตถุพยานหมาย ว.จ.1 ของโจทก์ว่าเป็นรูปปั้นพระพักตร์พระพุทธรูปบนใบโพธิ์ซึ่งมีลักษณะเป็นงานสร้างสรรค์รูปทรงที่เกี่ยวกับปริมาตรที่สัมผัสและจับต้องได้เป็นรูปสามมิติ รูปปั้นพระพักตร์พระพุทธรูปบนใบโพธิ์ตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.1 จึงเป็นงานที่ผู้สร้างสรรค์ได้แสดงออกโดยรูปแบบของงานประติมากรรมอันเป็นงานสร้างสรรค์ประเภทศิลปกรรมอย่างหนึ่ง ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4 แม้จะรับฟังข้อเท็จจริงดังที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยมาว่ารูปปั้นพระพักตร์พระพุทธรูปบนใบโพธิ์ตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.1 ผู้สร้างสรรค์ได้ทำขึ้นโดยเลียนแบบธรรมชาติหรือสิ่งที่ปรากฏมีอยู่ก่อนแล้วคือพระพักตร์พระพุทธเจ้าหรือพระพุทธรูปซึ่งมีอยู่มานานนับพันปีแล้วก็ตาม ก็ถือได้ว่าผู้สร้างสรรค์งานรูปปั้นพระพักตร์พระพุทธรูปบนใบโพธิ์ตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.1 ได้สร้างสรรค์งานนั้นด้วยการริเริ่มขึ้นเองและด้วยความวิริยะอุตสาหะแล้ว เพราะมิใช่การสร้างงานนั้นขึ้นโดยทำซ้ำหรือดัดแปลงจากงานประติมากรรมรูปปั้นพระพักตร์พระพุทธรูปอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่น เมื่อปรากฏว่าโจทก์เป็นผู้แจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ในผลงานประติมากรรมรูปปั้นพระพักตร์พระพุทธรูปบนใบโพธิ์ดังกล่าวในชื่อผลงาน “คุ้มครอง” และ “โพธิพักตร์” ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2551 คำขอเลขที่ 186774 ทะเบียนข้อมูลเลขที่ ศ2. 4080 และคำขอเลขที่ 186775 ทะเบียนข้อมูลเลขที่ ศ2. 4081 ตามสำเนาหนังสือรับรองการแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ลงวันที่ 2 มิถุนายน 2551 จำนวน 2 ฉบับ จึงมีเหตุผลให้เชื่อว่าโจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์งานประติมากรรมรูปปั้นพระพักตร์พระพุทธรูปบนใบโพธิ์ดังกล่าว โจทก์ย่อมเป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในงานประติมากรรมตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.1 ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่าพระพักตร์พระพุทธเจ้าหรือพระพุทธรูปในวัตถุพยานหมาย ว.จ.1 สื่อความหมายถึงพระพักตร์พระพุทธเจ้าหรือพระพุทธรูปซึ่งมีอยู่มานานนับพันปีแล้ว จึงยังถือไม่ได้ว่าชิ้นงานตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.1 เป็นการสร้างสรรค์หรือใช้ความวิริยะอุตสาหะในการคิดริเริ่มขึ้นใหม่ ชิ้นงานตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.1 จึงไม่ถือเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย
ปัญหาว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์โดยทำซ้ำหรือดัดแปลงงานประติมากรรมรูปปั้นพระพักตร์พระพุทธรูปบนใบโพธิ์ตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.1 อันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์เพื่อการค้าอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (1) และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 หรือไม่นั้น ในปัญหานี้ปรากฏจากทางนำสืบของโจทก์ข้างต้นว่านายกมลได้แนะนำให้จำเลยที่ 2 มาทำงานกับโจทก์ โจทก์เป็นผู้แนะนำวิธีการปั้นขึ้นรูปให้แก่จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ได้มาขอสินค้าจากโจทก์ไปจำหน่ายและต่อมาภายหลังจำเลยที่ 1 ก็ขอเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าของโจทก์ โดยเปิดร้านอยู่ที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพลาซ่า สาขาพระราม 3 ในช่วงปี 2550 ถึงปี 2552 เมื่อประมาณปี 2552 นางสาวทิฌา ผู้ขายสินค้าที่ระลึกได้ซื้อสินค้ารูปปั้นพระพักตร์พระพุทธรูปบนใบโพธิ์จากจำเลยที่ 1 เนื่องจากได้รับคำสั่งซื้อจากชาวอินเดียจำนวน 300 ชิ้น โดยส่งให้แล้วจำนวน 100 ชิ้น ไม่มีปัญหาอะไร แต่สินค้าจำนวนอีก 200 ชิ้น ชาวอินเดียคนดังกล่าวไม่ยอมรับสินค้าเนื่องจากบอกว่าสินค้าคุณภาพไม่ดี โจทก์จึงทราบเรื่องว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้นำสินค้าที่ทำซ้ำงานประติมากรรมรูปปั้นพระพักตร์พระพุทธรูปอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ส่งให้แก่นางสาวทิฌา นางปลิดาภริยาโจทก์โทรศัพท์ไปต่อว่าจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ยอมรับว่าเป็นผู้นำสินค้าดังกล่าวมาจำหน่ายจริง โจทก์ไม่ได้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ในกรณีดังกล่าวเนื่องจากจำเลยที่ 1 กำลังตั้งครรภ์ ภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าวโจทก์ได้ตรวจสอบตามเว็บไซต์ปรากฏว่ามีการขายสินค้ารูปปั้นพระพักตร์พระพุทธรูปบนใบโพธิ์ที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ที่จังหวัดพิษณุโลก เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2554 ซึ่งเป็นวันเกิดเหตุโจทก์ไปแจ้งความและนำเจ้าพนักงานตำรวจไปตรวจค้นบ้านพักพบมารดาจำเลยที่ 1 อยู่ในบ้านและพบสินค้ารูปปั้นพระพักตร์พระพุทธรูปบนใบโพธิ์ที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ตามภาพถ่ายจำนวน 4 ภาพ จึงยึดเป็นของกลาง มารดาจำเลยที่ 1 แจ้งว่าสินค้าภายในบ้านเป็นลิขสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้จดแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ไว้ นอกจากนี้ในวันเกิดเหตุยังพบสินค้ารูปปั้นพระพักตร์พระพุทธรูปบนใบโพธิ์ที่ผลิตเสร็จแล้วเตรียมส่งให้แก่ลูกค้าด้วย จำเลยที่ 2 มาเกี่ยวข้องกับเหตุคดีนี้เนื่องจากโจทก์พบของชำร่วยในงานแต่งงานของโจทก์ซึ่งจำเลยที่ 2 เป็นผู้ปั้นให้แก่โจทก์ในบ้านที่ทำการตรวจค้นด้วย โจทก์จึงสอบถามคนงานภายในบ้านและทราบว่าคนปั้นสินค้ารูปปั้นพระพักตร์พระพุทธรูปบนใบโพธิ์ภายในบ้านคือจำเลยที่ 2 โจทก์พบแม่พิมพ์ชิ้นงานซึ่งเป็นซิลิโคนมีลักษณะเกือบเหมือนชิ้นงานของโจทก์ภายในบ้านนั้นด้วย ซึ่งน่าจะใช้เป็นแม่พิมพ์ในการผลิตเป็นสินค้ารูปปั้นพระพักตร์พระพุทธรูปบนใบโพธิ์ ตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.2 โดยมีลักษณะคล้ายกับสินค้ารูปปั้นพระพักตร์พระพุทธรูปบนใบโพธิ์ของโจทก์ ตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.1 โดยมีข้อแตกต่างกันเพียงที่เปลวไฟด้านบนพระพักตร์ ส่วนใหญ่ก้นหอยมีการจัดเรียง ใบหูที่แนบกับใบหน้า การมีคอสองชั้น พระเนตรปิดเนื่องจากต้องการให้เป็นงานออกแบบที่ให้เกิดความสงบ มีลักษณะเหมือนกัน ลายเส้นจะใกล้เคียงกันมาก และใบโพธิ์ถูกดัดแปลงให้แตกต่างออกไป ซึ่งข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบดังกล่าวจำเลยทั้งสองนำสืบข้อเท็จจริงเจือสมกับทางนำสืบของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 เคยเปิดร้านค้าที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพลาซ่า สาขาพระราม 3 ขายสินค้าที่ระลึกและสินค้าตกแต่งบ้าน เช่น รูปพระมหากษัตริย์ไทย รูปพระพุทธรูป เป็นต้น ส่วนสินค้าที่ระลึกอื่น เช่น รูปปั้นช้าง ม้า โค กระบือ เป็นต้น จำเลยที่ 1 พบเห็นสินค้ารูปปั้นพระพักตร์พระพุทธรูปบนใบโพธิ์ของโจทก์ตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.1 ครั้งแรกที่ห้างสรรพสินค้าซีคอนสแควร์ จึงทดลองซื้อมาจำหน่ายจำนวน 2 ถึง 3 ชิ้น จากนั้นจึงติดต่อกับโจทก์โดยตรงแต่โจทก์แจ้งให้ติดต่อผ่านภริยาโจทก์ จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าให้แก่โจทก์ ในการค้าขายของจำเลยที่ 1 มุ่งประสงค์แต่กำไรไม่ได้คำนึงถึงลิขสิทธิ์ ซึ่งสินค้าบางตัวแม้จะมีการลอกเลียนแบบหรือทำซ้ำสินค้าของผู้อื่นแต่สามารถขายได้กำไร จำเลยที่ 1 ก็จะนำมาขาย สำหรับนางสาวทิฌาได้สั่งสินค้าคล้ายวัตถุพยานหมาย ว.จ.1 ของโจทก์และของผู้อื่นจากจำเลยที่ 1 ไปขายโดยซื้อสินค้าของนายบอยไปเป็นตัวอย่าง แล้วมีการสั่งซื้อสินค้าลักษณะนั้นจำนวน 300 ชิ้น แต่ปรากฏว่ามีสินค้าที่คุณภาพไม่ผ่านจำนวน 200 ชิ้น จำเลยที่ 1 จึงขอรับสินค้าทั้งหมดคืนและส่งคืนให้แก่นายบอย จำเลยที่ 1 ต้องการเป็นผู้ผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายด้วยตนเอง จึงเปิดร้านค้าในต้นปี 2552 จำเลยที่ 1 รู้จักจำเลยที่ 2 ตั้งแต่ปี 2551 จากนั้นจำเลยที่ 2 ได้นำชิ้นงานแม่แบบรูปภาพประเภทอื่นๆ มาทยอยขายให้จำเลยที่ 1 หลายชิ้น และจำเลยที่ 2 แจ้งว่าไม่ได้รับจ้างอยู่กับโจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 จึงชักชวนจำเลยที่ 2 มาร่วมงานที่จังหวัดพิษณุโลก โดยจ้างจำเลยที่ 2 ให้เป็นช่างปั้น เมื่อทำต้นแบบได้แล้วจำเลยที่ 1 ได้ไปจดแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ไว้ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาในผลงานประติมากรรมรูปปั้นพระพักตร์พระพุทธรูปบนใบโพธิ์เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2553 วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2553 และวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2553 ตามสำเนาคำขอแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์จำนวน 7 ฉบับ จากนั้นจำเลยที่ 1 ได้ผลิตชิ้นงานเพื่อจำหน่ายตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.2 ตามที่ได้จดแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ไว้ในงานประติมากรรมรูปปั้นพระพักตร์พระพุทธรูปบนใบโพธิ์ ตามสำเนาคำขอแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์เลขที่ 229625 ลงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2553 ซึ่งจำเลยที่ 1 ใช้ชื่อ “ศิลปะสยาม 999” เป็นชื่อโรงงานผลิตชิ้นงานตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.2 จำเลยทั้งสองไม่ได้เลียนแบบสินค้าของโจทก์แต่เป็นการผลิตชิ้นงานโดยจำเลยที่ 1 มีแรงบันดาลใจเนื่องจากจังหวัดพิษณุโลกมีพระพุทธรูปสำคัญคือ พระพุทธชินราช ซึ่งเป็นศิลปะสมัยสุโขทัย ชิ้นงานของจำเลยที่ 1 จึงใช้รูปพระพักตร์พระพุทธรูปศิลปะสมัยสุโขทัยเป็นหลัก ส่วนด้านหลังหรือเรียกว่าพื้นหลังของจำเลยที่ 1 มี 2 แบบ คือ ดอกบัวและใบโพธิ์ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ประจำศาสนาพุทธ มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ปั้นโดยไม่ได้ลอกเลียนแบบรูปใบหน้าหรือพื้นหลังตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.1 เห็นว่า รูปปั้นพระพักตร์พระพุทธรูปบนใบโพธิ์ตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.1 ซึ่งเป็นงานสร้างสรรค์ประเภทศิลปกรรมลักษณะงานประติมากรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์กับรูปปั้นพระพักตร์พระพุทธรูปบนใบโพธิ์ตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.2 ซึ่งจำเลยที่ 1 ผลิตโดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ปั้นมีลักษณะคล้ายคลึงกันมาก หากไม่สังเกตให้ดีจะไม่เห็นความแตกต่างดังปรากฏตามภาพถ่ายวัตถุพยานหมาย ว.จ.1 เปรียบเทียบกับภาพถ่ายวัตถุพยานหมาย ว.จ.2 โจทก์ได้แจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาสำหรับงานประติมากรรมรูปปั้นพระพักตร์พระพุทธรูปบนใบโพธิ์ตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.1 ไว้เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2551 ในชื่อผลงาน “คุ้มครอง” และ “โพธิพักตร์” ตามสำเนาหนังสือรับรองการแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ทะเบียนข้อมูลเลขที่ ศ2. 4080 และเลขที่ ศ2.4081 ส่วนจำเลยที่ 1 แจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์สำหรับงานประติมากรรมรูปปั้นพระพักตร์พระพุทธรูปบนใบโพธิ์ตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.2 ไว้ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2553 โดยอ้างว่าสร้างสรรค์ขึ้นเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2552 ตามสำเนาคำขอแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์เลขที่ 229625 ซึ่งเป็นการที่จำเลยทั้งสองได้สร้างงานประติมากรรมรูปปั้นพระพักตร์พระพุทธรูปบนใบโพธิ์ตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.2 หลังจากโจทก์ได้สร้างสรรค์งานประติมากรรมรูปปั้นพระพักตร์พระพุทธรูปบนใบโพธิ์ตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.1 แล้ว ข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบว่าจำเลยที่ 2 เคยทำงานกับโจทก์มาก่อนที่จำเลยที่ 2 จะมาเป็นช่างปั้นให้จำเลยที่ 1 ในการปั้นรูปปั้นพระพักตร์พระพุทธรูปบนใบโพธิ์ตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.2 โดยโจทก์เป็นผู้แนะนำวิธีการปั้นขึ้นรูปให้แก่จำเลยที่ 2 นั้นมีน้ำหนักและเหตุผลให้เชื่อว่าจำเลยที่ 2 ได้ปั้นรูปปั้นพระพักตร์พระพุทธรูปบนใบโพธิ์ตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.2 โดยลอกเลียนแบบหรือทำซ้ำจากงานประติมากรรมรูปปั้นพระพักตร์พระพุทธรูปบนใบโพธิ์อันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.1 ในส่วนอันเป็นสาระสำคัญโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์เพราะงานประติมากรรมตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.2 ที่จำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 ปั้นขึ้นนั้นคล้ายคลึงกับงานประติมากรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.1 มากจนหากไม่สังเกตให้ดีจะไม่อาจแยกแยะความแตกต่างของงานประติมากรรมสองชิ้นดังกล่าวได้ กรณีไม่มีน้ำหนักและเหตุผลให้เชื่อว่าจำเลยที่ 2 ปั้นรูปปั้นพระพักตร์พระพุทธรูปบนใบโพธิ์ตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.2 ด้วยการริเริ่มขึ้นเองดังที่จำเลยที่ 1 อ้างว่ามีแรงบันดาลใจมาจากจังหวัดพิษณุโลกที่มีพระพุทธชินราชเป็นพระพุทธรูปสำคัญ จึงให้จำเลยที่ 2 ปั้นรูปปั้นพระพักตร์พระพุทธรูปบนใบโพธิ์ตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.2 เป็นศิลปะสมัยสุโขทัย แม้จะปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้แจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์สำหรับงานประติมากรรมรูปปั้นพระพักตร์พระพุทธรูปบนใบโพธิ์ตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.2 ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2553 ตามสำเนาคำขอแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์เลขที่ 229625 ก็ไม่ทำให้จำเลยทั้งสองได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ในงานประติมากรรมตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.2 ที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ในงานประติมากรรมตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.1 ของโจทก์ เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ผลิตสินค้ารูปปั้นพระพักตร์พระพุทธรูปบนใบโพธิ์ตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.2 ออกจำหน่ายดังปรากฏตามภาพถ่ายสินค้ารูปปั้นพระพักตร์พระพุทธรูปบนใบโพธิ์ที่ผลิตเสร็จแล้วเตรียมส่งให้แก่ลูกค้าจำนวน 3 ภาพ ที่โจทก์พบในบ้านของจำเลยที่ 1 ในวันเกิดเหตุ พยานหลักฐานของโจทก์ประกอบกับพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสองที่นำสืบเจือสมกับพยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าวจึงมีน้ำหนักและเหตุผลให้รับฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์โดยทำซ้ำงานประติมากรรมรูปปั้นพระพักตร์พระพุทธรูปบนใบโพธิ์ตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.1 อันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์เพื่อการค้าอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (1) และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (1) และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำคุกคนละ 6 เดือน และปรับคนละ 120,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยทั้งสองเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 4 เดือน และปรับคนละ 80,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงให้รอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยทั้งสองไว้มีกำหนดคนละ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระค่าปรับ ให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30 โดยให้กักขังแทนค่าปรับเป็นระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี ค่าปรับที่จำเลยทั้งสองชำระให้จ่ายแก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์จำนวนกึ่งหนึ่ง ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 76